ลือหึ่งจะชิงลงมือ “ยุบสภา”/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

ลือหึ่งจะชิงลงมือ “ยุบสภา”

 

เชื่อแน่ว่า หากหยิบยกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มากาง เปิดดูหมวดหมู่ “คณะรัฐมนตรี” จากมาตรา 158 ซึ่งบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”

ต่อด้วยวรรคสี่ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

แล้วไปหยิบประกาศราชกิจจานุเบกษา พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 โดยให้ประกาศว่า

“โดยที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2557 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้สนองพระบรมราชโองการ โดย “นายพรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นำมาตรา 158 วรรคสี่ กับประกาศราชกิจจานุเบกษา ให้ประกาศว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 มาเป็นปัจจัยในการแสวงหาความนิยามเพื่อตอบโจทย์ ย่อมกระจ่างชัดว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 การดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีบริบูรณ์ คือวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2560

แม้จะเอาสิ่งที่เห็นต่างมาเป็นตัวชี้วัด คือ “บทเฉพาะกาล” รัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 264 ที่บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญัติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเข้ารับหน้าที่”

ทั้งนี้ กรอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ฉบับ พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์ที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้นายกรัฐมนตรีครองอำนาจ ผูกขาดอำนาจนานเกินไป ป้องกันการสร้างอิทธิพลทางการเมือง แบบไม่มีที่สิ้นสุด จึงกำหนดกรอบเวลาไว้เป็นกติการ่วม แค่ 8 ปี 2 สมัยของการเลือกตั้ง

 

กระนั้นก็ตาม เนื่องจาก “ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์” ถึงไม่ได้หล่นมาจาก “ดาวอังคาร” ก็จริง แต่มีความพิสดารพันลึกมากพอสมควร ห้องเครื่องแรกมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร โค่นรัฐบาลพลเรือนของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม แล้วค่อยๆ ปรับโฉม ถอดรูป เปลี่ยนร่าง หลายคาบช่วง

จึงเกิดความเห็นต่างหลายขั้นตอน บ้างอยากขออีกคืบก็ยังดี มองว่า การนับเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์” บนเก้าอี้นายกฯ ต้องเริ่มนับหนึ่งจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560

จะครบ 8 ปีเต็มในวันที่ 6 เมษายน 2568 อย่างน้อยๆ หากยืนหยัดอยู่ได้ครบเทอม “บิ๊กตู่” ลงสมัครรับเลือกตั้ง และต้นสังกัดที่ส่งเข้าประกวด คุมเสียงข้างมากได้ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีก 2 ปี ครึ่งเทอม

ขณะที่อีกกลุ่ม อยากเอาศอก สรุปว่า “พล.อ.ประยุทธ์” แก่ยังเก่งอยู่นะ เยี่ยมหลายเรื่อง พูดก็เก่ง ร้องเพลงได้ เล่นตลกก็เป็น ชาติบ้านเมืองมันจำเป็นต้องมีคนแบบนี้ ต้องอยู่ต่ออีกนาน

สรุปว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” จะไปเริ่มนับหนึ่งจากเขาวงกตไม่ได้ ต้องหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด จากวันเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 คือวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จะขี่พายุต่อไปได้ถึงปี 2570

หากลากยาวไปถึงตอนนั้น ต้องตัวใครตัวมัน น้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินถล่มทลาย ไม่กลัว…กลัวผู้นำล้าสมัย บ้านเมืองไม่รู้ไปทางทิศไหนกันมากกว่า

อย่างไรก็ตาม “พล.อ.ประยุทธ์” แกไม่ได้กินแกลบ ลาภ สักการะ เสียงสรรเสริญเยินยอจากคนรอบข้าง ดีครับนาย สบายครับพ้ม เป็นอันตราย ที่ทารุณโหดร้ายสำหรับ “บิ๊กตู่” มาก

ตอนปฏิวัติ-รัฐประหารใหม่ๆ มีดาบอาญาสิทธิ์ ชี้นกเป็นนก แต่คนคนเดียวกัน ตำแหน่งเดิม ใน พ.ศ.ปัจจุบัน ถูกลบเลือนหมดไป ไม่เหลือสภาพ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด กลิ่นการดูถูกดูแคลนฟุ้งกระจาย หมดลาย ไร้มนต์ขลัง

ปม “นายกฯ 8 ปี” เหมือนจะรอด อีหรอบเดียวกับกรณีอื่นๆ แต่ข่าววงในระบุว่า “ไม่แน่” จุดที่ “บิ๊กตู่” หนักใจมากสุดคือ การไม่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562

อ้างว่า เคยยื่นมาก่อนแล้ว เท่ากับยอมรับ และยืนยันว่า ตัวเองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ นี่คือจุดสลบ

ล่าสุด มีสัญญาณทางการเมืองแปลกๆ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี “ที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ถูกเร่งคีย์ ตีจังหวะ เลื่อนลำดับขึ้นมาพิจารณาเร็วกว่าปกติ

“งบประมาณ” คืองานแนวร่วมของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งซีกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน อาจจะมีรายการ “ตบจูบ” โชว์บ้างพอเป็นพิธี แต่สุดท้ายผ่านฉลุย ไม่งั้นจะพากัน “ไส้แห้ง” ลำบากด้วยกัน

ประเด็นมีข่าวลือหึ่ง เชื่อถือได้บ้าง ไม่ได้บ้างว่า เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณ ปิดจ๊อบเรียบร้อย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะชิงลงมือ “ยุบสภา” ก่อนเข้าข่ายเหตุเกิดขึ้นแล้ว ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

จริงเท็จประการใด ตาอย่ากะพริบ