อัพเดต พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ‘สอบสวนกลาง’ โฉมใหม่ สไตล์ทำงาน ‘สนุก-มัน-สุข’/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

อัพเดต พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช

‘สอบสวนกลาง’ โฉมใหม่

สไตล์ทำงาน ‘สนุก-มัน-สุข’

 

หลังจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช หรือ “ก้อง” ผบช.ก. นั่งในตำแหน่งมาเกือบปี ได้เปิดโอกาสให้ “มติชนสุดสัปดาห์” อัพเดตการทำงาน ภายใต้ม็อตโต “มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน” ที่ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น

เริ่มตั้งแต่ไอเดียผลักดันให้ “สอบสวนกลาง” และ บก.ในสังกัด มาอยู่รวมกันริมถนนพหลโยธินข้างสวนสนุกแดนเนรมิตเก่า ที่วงการสีกากีแซ่ซ้องกันว่า ต้องมีบารมีจริงๆ ถึงจะทำได้ ถือเป็นการปรับโฉมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้การบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว

นั่นคือ นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ 5 กองบังคับการ (บก.) ในสังกัด คือ บก.ปคม., บก.ปคบ., บก.ปอท. และ บก.ปอท. ที่เคยตั้งอยู่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ และ บก.ปอศ. ตั้งอยู่ถนนสาทร ย้ายมายังอาคาร 30 ชั้น ชายคาเดียวกับ บก.ป. ที่ถนนพหลโยธิน พร้อมเปิดศูนย์รับแจ้งความตำรวจสอบสวนกลาง มีร้อยเวรประจำการตลอด

หมดปัญหาแจ้งความไม่ถูกที่ เป็น “วัน สต๊อป เซอร์วิส” ในจุดเดียว

ที่สำคัญยังแก้อุปสรรคข้อกฎหมาย เวลาออกหมายอาญา ต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อก่อน บช.ก.ตั้งอยู่อยู่ที่เมืองทองธานี นนทบุรี เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถขอหมายจากศาลอาญาได้

 

เมื่อพูดถึงเนื้องานสอบสวนกลาง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานรัฐบาล ที่ทางการสหรัฐออกทิปรีพอร์ต 2565 ปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย จาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” เป็น “เทียร์ 2” กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เป็นหนึ่งใน “ทีมประเทศไทย” ที่ดำเนินการร่วมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จนเกิดเป็นผลรูปธรรม

ผู้บัญชาการหนุ่มยืนยันว่าการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ให้ความสำคัญเรื่อยมา จากนี้ไปจะศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการปรับอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสมือนใช้เป็นกระจกส่องปัญหา เพื่อแก้ไขให้ตรงจุด ว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับอันดับ “เทียร์”

ที่ผ่านมาการค้ามนุษย์ในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และการใช้แรงงานบนเรือประมงโดยผิดกฎหมาย นำมาสู่การแก้ปัญหาแบบจริงจัง โดยใช้ บก.ปคม.เป็นหัวหอก และใช้หน่วยงานในสังกัด เช่น บก.ป. ร่วมสนับสนุน พร้อมประสานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน รวมไปถึงเอ็นจีโอ ตัวอย่างเช่น ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว หรือ Stella Maris ที่แจ้งเบาะแสเรื่องการค้ามนุษย์มายังรัฐบาลไทย และมีการส่งเรื่องผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มาจนถึงสอบสวนกลาง ซึ่งไม่รอช้า มอบหมาย บก.ป. ทำการสืบสวนเรื่องดังกล่าว พบว่ามีการหลอกลวงผู้คนตามหัวลำโพง พาไปเสพยาเสพติดและพาขึ้นเรือเพื่อบังคับใช้แรงงาน อ้างหนี้จากยาที่เสพไป เกิดเป็นวงจรนรก ต้องทำงานใช้หนี้กลางทะเล ทรมานแค่ไหนก็ไม่ได้กลับบ้าน

เมื่อมีมูลเหตุความจริงแล้ว ก็มอบหมายให้ บก.ปคม. ตั้งสำนวนการสอบสวน และสืบสวนสอบสวน จนออกหมายจับได้ยกขบวนการ ตั้งแต่นายหน้าหาคน ไต้ก๋งเรือ รวมไปถึงนายทุน

ปัญหาการการค้ามนุษย์ในผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ไม่น้อยหน้า เพราะในปี 2564 มีคดีค้ามนุษย์เกิดขึ้นถึง 189 คดี และสอบสวนกลางเป็นหน่วยงานที่ทำคดีถึง 71 คดี โดยมี บก.ปคม.เป็นหลัก

จนผลงานเข้าตากรรมการ ได้รางวัลโล่เกียรติยศ หน่วยงานดีเด่นด้านการดำเนินคดีการค้ามนุษย์ จากนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “No Victims No Tears”

“ถ้าเกิดได้เบาะแสมาก็ต้องทำงานอย่างจริงจัง กวาดล้างให้มันสิ้นซาก ถอนรากถอนโคน” ผบช.ก.ประกาศถึงแนวทางการแก้ปัญหาค้ามนุษย์

 

อีกปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย คือเหล่าผู้มีอิทธิพล มือปืน และปืนเถื่อนที่มีขายว่อนโซเชียล ซึ่ง พล.ต.ท.จิรภพเผยว่า เลือกไม่ใช้วิธีการระดมกวาดล้าง แต่ใช้การสืบสวนขยายผล จากคดีอุจฉกรรจ์ต่างๆ เพื่อตัดวงจรอำนาจมืด

ตัวอย่างเช่น คดีหนึ่งที่จังหวัดตรัง จากคดีกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นบุกยิงนักการเมืองท้องถิ่นอีกราย นำไปสู่การสืบสวนขยายผล จนพบความเชื่อมโยงถึงการจัดซื้อจัดจ้างผิดกฎหมาย และการค้ายาเสพติด จนมีการออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 10 ราย และเข้าปิดล้อมตรวจค้นกว่า 10 จุด

หรือคดีของ “เบล พันกระบอก” ซึ่งเป็นขบวนการทำใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (ป.3) ปลอม โดยที่ข้าราชการในพื้นที่มีส่วนร่วม และนำอาวุธปืนที่ซื้อมา ส่งขายทั้งภายในและต่างประเทศ นำมาสู่การจับกุมผู้ต้องหา 17 ราย ยึดทรัพย์กว่า 50 ล้านบาท

ส่วนเรื่องผู้มีอิทธิพล ที่เจ้าตัวกังวล พอขยับใกล้เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ปกติตำรวจจะต้องไปค้นตามนักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มหัวคะแนนเพื่อป้องปรามนั้น แม่ทัพสอบสวนกลางประกาศว่า ไม่ว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ทุกคนเท่ากัน หากมีเหตุทำผิดกฎหมาย ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง ดำเนินการตามกฎหมาย

แต่ใช่ว่าจะไม่มีการตรวจค้น เพราะหากมีใครแจ้งเบาะแส ตำรวจสอบสวนกลางก็พร้อมเข้าสืบสวน หากพบว่าเป็นเรื่องจริง ก็จะลงพื้นที่ตรวจค้นทุกที่

“ผมไม่สนใจว่านักการเมืองจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ถ้ากลุ่มไหนทำอะไรผิดกฎหมาย ผมเอาจริง ดำเนินการตามจริง ตรงไปตรงมา ถ้าทำผิดก็ว่าไปตามผิด” พล.ต.ท.จิรภพกล่าว

 

นอกจากเรื่องงานแล้ว “บิ๊กก้อง” ยังให้ความสำคัญกับสุขภาพ โดยปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เห็น ด้วยการเล่นกีฬา โดยเฉพาะเทนนิส ได้นำทีมนักกีฬา ตร.เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาตำรวจและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงโลก โดยสามารถคว้าแชมป์ รับรางวัลชนะเลิศในประเภทชายคู่ รุ่นอายุ 40 ปีได้ ถือเป็นครั้งแรกของทีมนักเทนนิสตำรวจไทย ที่ได้รับเหรียญทองในรายการนี้

ดังนั้น ภายในองค์กรเอง จึงมีการจัดการทดสอบสมรรถภาพร่างกายอย่างจริงจัง ปีละ 2 ครั้ง ว่าจ้างบุคลภายนอกมาเป็นผู้ทดสอบ มีการเก็บสถิติชัดเจน ปลูกฝังและสร้างแรงกระตุ้น ให้ตำรวจสอบสวนกลางดูแลตัวเอง

รวมไปถึงสร้างสนามกีฬาหลากชนิด และโครงการนักกีฬาจิตอาสา สอนกีฬาให้ตำรวจสอบสวนกลางและครอบครัว อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ช่วยส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและใจ

ทั้งหมดสะท้อนบุคลิก จริงจังทั้งการงาน จริงจังทั้งการใช้ชีวิต ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

“ทำงานด้วยความสนุก มัน ทำแล้วมีความสุข เหมือนสอบสวนกลางเป็นบ้าน” พล.ต.ท.จิรภพกล่าว