ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งสัมภาษณ์ “ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในประเด็นเกี่ยวกับ “บทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในห้วงเวลาที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึงปัญหาเรื่อง “วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อาจารย์พรสันต์เริ่มต้นด้วยที่มาของแนวคิดเรื่องการจำกัดวาระผู้นำประเทศ
“เรื่องที่เรากำลังถกเถียงกันอยู่ในทางหลักการของรัฐธรรมนูญเขาเรียกว่า ‘บทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ คือการที่รัฐธรรมนูญพยายามที่จะมุ่งหมายในการเข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจ และป้องกันการผูกขาดการใช้อำนาจ
“จริงๆ บทบัญญัตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเป็นประเทศแรก ถ้าสืบสาวไป มันมาตั้งแต่สมัยโบราณ มันโด่งดังจากรัฐธรรมนูญอเมริกา ที่เข้าไปควบคุมกำกับการใช้อำนาจของประธานาธิบดี ฉะนั้น เขาจะอยู่ได้ไม่เกิน 2 วาระ จริงๆ เราได้รับอิทธิพลจากเขามานี่แหละ
“ประเด็นที่ผมอยากจะเพิ่มเติมและทำให้คนเข้าใจวัตถุประสงค์ของมันลึกซึ้งมากขึ้น ผมคิดว่ามันมีมากกว่าเรื่องการผูกขาดการใช้อำนาจ การผูกขาดการใช้อำนาจเป็นวัตถุประสงค์ใหญ่ที่ตัวบทบัญญัติรัฐธรรมนูญพยายามป้องกัน แต่เราต้องเข้าใจว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงพยายามป้องกันการผูกขาด เพราะมันมีผลกระทบที่รุนแรงมาก
“หนึ่ง คนที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ มีแนวโน้มผูกขาดอำนาจ อันนี้ผมไม่ได้พูดเอง มันเป็นหลักการในทางรัฐธรรมนูญ แล้วก็เป็นงานวิจัยทั่วโลกในทางรัฐธรรมนูญ เขาทำกันมาหมดแล้ว ก็คือว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ มีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าไปแทรกแซงการทำงาน ไปควบคุมการทำงานของสถาบัน องค์กรทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ
“สอง เมื่อเขาควบคุมตัวหน่วยงานองค์กรต่างๆ ได้ เขาก็จะควบคุมกฎหมายได้ นั่นหมายถึงว่า บางครั้งการใช้กฎหมายก็จะไปยึดโยงกับผู้มีอำนาจที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วผูกขาดการใช้อำนาจ บางครั้งมันส่งผลทำให้ตรวจสอบไม่ได้ เพราะว่าเขาควบคุมองค์กรไปแล้ว มันจึงเริ่มที่จะมีประเด็น ที่ในทางรัฐธรรมนูญเขาเริ่มให้ความวิตกกังวลพอสมควร
“นอกจากนั้น ถ้าสมมุติไม่ได้มีการจำกัดวาระ แล้วปล่อยให้มีการอยู่ยั้งยืนยงแบบนี้ มีการผูกขาดการใช้อำนาจแบบนี้ เมื่อเขาควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรต่างๆ ได้ เขาควบคุมการใช้อำนาจผ่านตัวบทกฎหมายได้ ผลการเลือกตั้งก็จะถูกควบคุมกำกับได้
“ลองสังเกตให้ดีจะพบว่า ถ้ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหาศาล ไม่ได้มีการกระทำที่มันผิดต่อตัวบทกฎหมายอย่างชัดเจนรุนแรง โดยมากประธานาธิบดีหรือใครที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หัวหน้าของฝ่ายรัฐบาล ในต่างประเทศ ถ้าเขาชนะการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปเขาไม่พลาดหรอก
“เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาได้เปรียบ เขามีข้อมูล มีเครื่องมือกลไกต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ในภาครัฐ ที่อยู่ในการควบคุมของเขา ฉะนั้น มันจึงส่งผลเกี่ยวกับเรื่องของการควบคุมผลการเลือกตั้งได้ ตรงนี้จึงเป็นผลที่ทำไมคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญถึงเสนอแนวความคิดพวกนี้เข้ามา และพยายามป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการใช้อำนาจ
“สี่ คือถ้าเขาอยู่นานๆ เขามีอำนาจเยอะๆ แน่นอนว่าสุดท้ายแล้ว เสียงประชาชนจะไม่ได้รับการฟัง เขาจะไม่ค่อยสนใจประชาชนมาก เพราะว่าอำนาจทุกอย่างอยู่กับเขา เขาสามารถสั่งการตรงนู้น ตรงนี้ ตรงนั้นได้ บางครั้งการที่จะมีการคัดค้านอะไรต่างๆ นานา มันอาจจะไม่ได้เป็นผลมากนัก
“เมื่อเสียงประชาชนเริ่มไม่ได้รับความสนใจ เราเริ่มเห็นภาพแล้วว่ามันกระทบกับระบอบประชาธิปไตย และมันกระทบกับโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่พยายามวางไว้ ถ้าคุณไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชนมันไม่ใช่ประชาธิปไตย
“แล้วที่สำคัญ หลักการของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่มองว่า ถ้าสมมติเราไม่ได้มีการเข้าไปจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือตัวนายกฯ มันเป็นอุปสรรค มันเป็นการขัดขวงแนวความคิดใหม่ๆ คนที่อยากจะมาเป็นตัวเลือก อยากจะเข้ามาแทนที่เขา มันเข้ามาไม่ได้
“สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี่คือวัตถุประสงค์สำคัญ ความมุ่งหมายของตัวบทบัญญัติ ว่าทำไมต้องจำกัดวาระของตัวนายกรัฐมนตรีว่าห้ามเกิน 8 ปี”
อีกประเด็นที่คนไทยสนใจ คือ เราควรนับวาระ “8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไร? ซึ่งในทรรศนะนักกฎหมายมหาชนหนุ่ม เขาไม่เห็นด้วยกับการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2560 หรือ 2562
“แน่นอนว่าหลายคน นักวิชาการต่างๆ นานาอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างไป บางคนบอก (เริ่มนับที่) 2560 ซึ่งพอรับฟังได้ที่เขาบอกว่าบทเฉพาะกาลไปย้อนหลังถึงตัวนายกฯ ที่เข้ามาจากปี 2557 ไม่ได้ ฉะนั้น ก็ต้องมานับวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2560 ก็ไปหมดที่ 2568
“แต่ผมมองแบบนี้ว่า ตัวเลือกแรกที่ต้องตัดไปคือการเริ่มนับในปี 2562 อันนี้ต้องตัดไปเลย ถามว่าทำไมต้องตัดไป? ผมอธิบายแบบนี้ โดยหลักการของรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องของบทบัญญัติการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขาเป็นเครื่องมือในการเข้าไปควบคุมความประพฤติของตัวนักการเมืองในทางข้อเท็จจริง
“ข้อเท็จจริงมันเกิดขึ้นมาแล้วว่า คุณประยุทธ์เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 สภานิติบัญญัติฯ ลงมติแต่งตั้งคุณประยุทธ์ตั้งแต่สิงหาคม 2557
“เมื่อประจักษ์ชัดแจ้งแบบนี้อยู่แล้ว อยู่ดีๆ คุณไปนับตั้งแต่ปี 2562 ถ้ามองแบบนี้ทางกฎหมาย คุณตีความแล้วอยู่ยาวไปถึงปี 2570 มันจึงเป็นการตีความที่แปลกประหลาดมาก
“เราก็จะเหลืออีกสองตัวเลือก (เริ่มนับ) ปี 2560 เขาบอกว่าไม่ควรไปนับตอนปี 2557 เพราะว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องของการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
“แต่สำหรับผมไม่ได้มองแบบนั้น ผมกลับมองว่าเรื่องบทบัญญัติการกำหนดวาระผู้ดำรงตำแหน่งของตัวนายกฯ 8 ปี มันมีของมันตลอด ในรัฐธรรมนูญ 2557 ก็มี
“ถ้าเราไปอ่านรัฐธรรมนูญ 2557 จะพบว่าในมาตรา 5 บอกว่า ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมบอกว่าขีดเส้นใต้คำนี้ มันเป็นคำที่รวมถึงบทบัญญัติว่าด้วยการจำกัดวาระของนายกฯ ห้ามอยู่เกิน 8 ปี
“ถามว่าทำไมพูดอย่างนั้น เพราะคำคำนี้มันวิ่งกลับไปหารัฐธรรมนูญปี 2550 บทจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายกฯ ไม่เกิน 8 ปี เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550
“คราวนี้หลายคนมองว่ารัฐประหารไปแล้ว ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปแล้ว มีรัฐธรรมนูญ 2557 ไม่ได้เขียนเรื่องพวกนี้เอาไว้ แล้วไปโผล่อีกทีรัฐธรรมนูญ 2560 ฉะนั้น มันจึงเกิดดีเบตว่า มันจุดไฟตอนแรก หลังจากนั้นไฟมันดับ แล้วมาติดอีกทีตอนปี 2560 เขาบอกว่าไฟติดในปี 2560 คุณก็ไปนับปีที่ไฟติด
“แต่ผมบอกว่าไม่ใช่ ไฟมันติดตลอด ไฟไม่เคยดับ ไฟมันติดที่รัฐธรรมนูญ 2550 แล้วรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 คำว่าประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยฯ มันดึงเอาบทบัญญัตินี้มาใส่ไว้ในมาตรา 5 แต่เขาไม่ได้เขียนเป็นการแยกแยะเฉพาะขึ้นมา เพราะว่าโดยธรรมชาติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มันจะเขียนสั้นๆ เขาไม่เขียนเยอะ เขาไม่ไปลงรายละเอียดแบบนั้นหรอก
“กระนั้นก็ตาม ไม่ได้หมายถึงว่าเมื่อเขาไม่เขียนแล้วมันไม่มี มันมีครับ เพราะตราบใดที่รัฐธรรมนูญปี 2557 มีการเขียนเอาไว้ว่ามีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในบทบัญญัติไหน แสดงว่ามันมีบทบัญญัติควบคุมวาระของตัวนายกฯ อยู่เสมอ ในรัฐธรรมนูญ 2557 มันไม่ได้มีแค่หัวหน้า คสช. แต่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย
“คุณประยุทธ์เข้าไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 2557 ฉะนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 5 ซึ่งมันมีเรื่องของวาระ 8 ปีอยู่ มันจึงคุมตัวคุณประยุทธ์ มันต้องเริ่มนับตั้งแต่ปี 2557
“สิ่งที่ผมพูดมา ไม่ใช่ผมตีความมั่วๆ แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา เคยวินิจฉัยแบบผม เรื่องของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไทยในตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราว สามารถไปค้นได้”
ดร.พรสันต์ คืออีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันหนักแน่นว่าวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุติลงในเดือนสิงหาคมนี้
“เมื่อมันปรากฏข้อเท็จจริงแบบนี้ว่าคุณประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ ในปี 2557 มันก็มาจบที่เดือนนี้แหละ (สิงหาคม 2557)
“ถ้าคุณจะมาเถียงบอกว่าไม่ใช่ เหมือนกับใครหลายๆ คนที่บอกว่าเมื่อเป็นนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2557 กระบวนการที่มาไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2560 พอเป็นแบบนี้ เขาบอกว่าไม่ใช่นายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน
“ผมบอกว่าการที่คุณพูดแบบนี้ คุณกำลังปนเปเรื่องที่มาของนายกฯ กับเรื่องบทบัญญัติการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ มันเป็นคนละเรื่อง
“ผมบอกแล้วตั้งแต่ต้นว่า บทบัญญัติการจำกัดวาระผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือตัวนายกฯ เขาดูข้อเท็จจริงเป็นหลักว่า ถ้าคุณเข้าไปนั่งเป็นนายกฯ และคุณใช้อำนาจ เริ่มนับหนึ่งเลย เขานับกันแบบนั้น ฉะนั้น เขาไม่สนหรอกคุณมาอย่างไร คุณใช้อำนาจเมื่อไหร่ เราคุมเลย
“ประเด็นตรงนี้ผมคิดว่ามันเคลียร์อยู่แล้ว ไม่ต้องเถียงกันหรอก จะไปนับ 2562 เพื่อให้จบที่ 2570 มันเป็นไปไม่ได้ แต่บางคนบอกว่านับ 2560 ถึง 2568 ฟังดูมันก็พอกล้อมแกล้ม แต่สำหรับผม ผมว่าไม่ใช่ ผมเองคิดว่าต้องนับที่ 2557 แล้วไปจบที่สิงหาคมนี้”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022