ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

ประจำวันที่ 19-25 สิงหาคม 2565 ฉบับที่ 2192

 

ขอแสดงความนับถือ

 

นาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในตอนนี้

ในฐานะ “ตัวอย่างเปรียบเทียบ” กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี

โดยยุค พล.อ.เปรม มิได้มีรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

พล.อ.เปรมมีสิทธิโดยสมบูรณ์ ที่จะ “ไปต่อ”

แต่ “ประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ได้บันทึกในเชิงยกย่อง และเป็นเกียรติประวัติ ที่ทำให้ พล.อ.เปรมเป็น “รัฐบุรุษ”

คือวาทะอมตะ” ผมพอแล้ว”

ยุติการเมืองแบบป๋า-ป๋า ลงอย่างสง่างาม

 

มาถึงยุคการเมืองแบบลุง-ลุง

คณะรัฐประหารตั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของตนเองขึ้นมา ภายใต้เป้าหมายที่สะท้อนผ่านคำพูดของเนติบริกรฝั่งฟากเดียวกัน ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”

จึงวางกรอบป้องกัน (คนที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม) นั่งนายกฯ เกิน 8 ปี

โดยลืมๆ ไปว่ากฎเกณฑ์นี้ก็มีผลบังคับต่อทุกคน รวมถึง “ลุง” ด้วย

เมื่อ “ลุง” อยากไปต่อ มิได้มีความรู้สึก “ผมพอแล้ว” อย่างป๋า

จำต้องหาช่อง-หาทางออก เพื่ออยู่นานเกิน 8 ปี โดยมอบภารกิจนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย

ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย

แต่หลาย-หลายคน ดูจะเชื่อ และมีคำตอบในใจแล้ว

โดยมีแนวโน้มที่จะสนองความใฝ่ฝันของ “ลุง” ที่อยากเห็นเลข 8 ตะแคง

ตะแคง อันไม่ใช่ “ตะแบง” ให้เป็นสัญลักษณ์ “อินฟินิตี้” อันมีความหมายถึงภาวะ “อนันต์”

อำนาจ ที่ อนันต์!!

เรื่องหยุด-ไม่หยุด บนเส้นทางแห่งอำนาจนั้น

น่าสังเกตว่าในยุค พล.อ.เปรมแล้ว

มีผู้พยายามให้ป๋า “หยุด” อยู่หลายครั้ง

และการพยายามให้หยุดนั้น มิได้เป็นการขอให้หยุดโดย “สันติ”

หากแต่จะให้หยุดโดยวิธีการรุนแรง นั่นคือ “การลอบสังหาร” หลายครั้ง

เพื่อเป็นการทบทวนถึงเหตุดังกล่าว

คอลัมน์ My Country Thailand ของ “ณัฐพล ใจจริง” ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

พาเราย้อนทวนไปถึง “การลอบสังหาร พล.อ.เปรม ทศวรรษ 2520” ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง

“ณัฐพล ใจจริง” ตั้งข้อสังเกตว่า การถูกลอบสังหารนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งภายในกองทัพ

โดยเฉพาะกับกลุ่มทหารยังเติร์ก ที่เคยมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน พล.อ.เปรมขึ้นสู่อำนาจ

และต่อมา กลุ่มทหารยังเติร์กนี้เองที่เป็นขั้วขัดแย้งกับ พล.อ.เปรม

กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “กบฏเมษาฮาวาย” อันนำไปสู่ความรุนแรงในทางการเมืองหลายรูปแบบที่ต้องเรียนรู้

รวมถึงลุงที่จะ “ไปต่อ” ด้วย

 

เมื่อกล่าวถึงกลุ่มทหารยังเติร์ก หรือคณะทหารหนุ่มแล้ว

น่ายินดีที่ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ หลังจากจบข้อเขียน “2503 สงครามลับ สงครามลาว” ลงในฉบับที่แล้ว

มาในฉบับนี้ ได้นำเสนองานเขียนชุดใหม่ “คณะทหารหนุ่ม”

สอดรับกับสิ่งที่ “ณัฐพล ใจจริง” อย่างพอเหมาะพอเจาะ

คนรุ่นหลังที่อาจไม่รู้จักกลุ่มทหารยังเติร์ก

หลังจากอ่านงาน พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ เชื่อว่าจะเข้าใจแนวคิดของนายทหารกลุ่มนี้ ซึ่งมีบทบาททั้งบวกและลบต่อการเมืองไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

คณะนายทหารหนุ่ม “ยังเติร์ก” ก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ประกอบด้วยนายทหาร จปร.7 เป็นหลัก

มีคำขวัญของกลุ่มว่า “เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ”

ซึ่งการเลือก “เสี่ยง” บนเส้นทางแห่งอำนาจดังกล่าว

ได้นำพาประเทศและการเมืองไทยโลดโผนโจนทะยานอย่างไร

ต้องติดตาม •