โลกยุคความปกติ ‘ใหม่’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

โลกยุคความปกติ ‘ใหม่’

 

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติแปรปรวนสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก จากฝนตกหนักในซีกโลกตะวันออกตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศไทย ขณะที่อีกซีกโลกในฝั่งยุโรป เกิดภาวะแห้งแล้งหนักหน่วงเลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปี โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ รัฐบาลขู่เอาผิดผู้ใช้น้ำฟุ่มเฟือย

ที่ประเทศจีน รัฐบาลเพิ่งประกาศเตือนให้รับมือกับอุณหภูมิที่อาจพุ่งทะลุ 40 องศาเซลเซียส หลังจากเกิดภัยแล้งในบางพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำเหลือต่ำกว่า 5 เมตร แต่อีกฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้กลับเจอฝนตกหนักน้ำทะลักล้นจากภูเขาสูงซัดกระหน่ำพื้นที่ด้านล่างมีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน เจ็บอีก 9 คน

ที่ญี่ปุ่น พายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเป็นลูกที่ 8 ในฤดูมรสุมของปีนี้ เกิดฝนตกหนัก กระแสลมแรงจัด เทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนต้องเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับสายการบินในประเทศยกเลิกเที่ยวบิน หลายพื้นที่ของจังหวัดชิซูโอกะอพยพผู้คนกว่า 72,000 คนออกจากพื้นที่ เกรงอันตรายจากดินโคลนถล่ม

ด้านกรุงโซล เกาหลีใต้ ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน แค่เพียง 2 วัน ปริมาณน้ำวัดได้ถึง 20 นิ้ว บางจุดปริมาณน้ำฝนตก 1 ชั่วโมง วัดได้ 5 นิ้ว ทำลายสถิติที่บันทึกเอาไว้ในรอบ 80 ปี

มวลน้ำซัดกระหน่ำทำให้มีผู้เสียชีวิตกลางกรุงโซลถึง 9 คน บาดเจ็บอีกหลายคน น้ำไหลทะลักท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน การจราจรชะงักงัน อุโมงค์บางแห่งรถวิ่งผ่านไม่ได้

ปกติแล้ว ช่วงนี้เกาหลีใต้อยู่ในห้วงมรสุม มีฝนตกบ่อยสภาพอากาศเหมือนๆ ญี่ปุ่น แต่ปีนี้ฝนตกหนักเกินเลยความเป็นปกติ สาเหตุมาจากอุณหภูมิบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มสูงขึ้น 1.9 ํc นับตั้งแต่ปี 2455 เป็นต้นมา

อากาศร้อนขึ้นทำให้เกิดความชื้นมากขึ้นและเกิดฝนตกหนักบ่อยครั้ง

ส่วนบ้านเรานั้น อิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลาน ที่พัดผ่านทางตอนเหนือและตอนกลางของไทยทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายและยังคงมีฝนตกเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

 

หันไปดูฝั่งทวีปยุโรป มี 6 ประเทศประกอบด้วยอิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี โปรตุเกส และอังกฤษ เผชิญกับวิกฤตการณ์ร้อนแล้งและไฟป่ารุนแรง

ประเทศอิตาลี นับได้ว่าเจอภัยแล้งเลวร้ายที่สุดในรอบสิบปี ระดับน้ำในทะเลสาบการ์ดา ซึ่งเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดของอิตาลีตั้งอยู่ทางตอนเหนือใกล้กับเทือกเขาแอลป์ แห้งขอดจนหินใต้น้ำโผล่

นักท่องเที่ยวรู้สึกช็อกเพราะนึกไม่ถึงว่าทะเลสาบที่เคยเห็นเป็นภาพทิวทัศน์สวยสดงดงามเมื่อปีที่แล้วกลับมีสภาพเลวร้ายเช่นนี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศ สำรวจอุณหภูมิของทะเลสาบการ์ดา พบว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26 ํc สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนสิงหาคมปีก่อนๆ ซึ่งอยู่ที่ 22 ํc

แม่น้ำโป เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของอิตาลี ไหลผ่านพื้นที่เกษตรและแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญเกิดภาวะแห้งขอดจนเกิดผลกระทบต่อผลิตผลทางเกษตร แถมยังเกิดเรื่องตื่นตระหนกตกใจ เมื่อชาวประมงไปเจอลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โผล่กลางแม่น้ำโป ต้องระดมทหารเข้ามาช่วยกู้ทำลายทิ้ง

ฝรั่งเศสอยู่ติดๆ กับอิตาลี เจอภัยแล้งสาหัสสากรรจ์ไม่น้อยไปกว่ากัน รัฐบาลฝรั่งเศสต้องงัดมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดออกมาใช้บังคับ

หลายพื้นที่ของฝรั่งเศสร้อนแล้งยังไม่พอ ยังเจอไฟป่าเผาซ้ำจนป่าราบเป็นหน้ากลอง ดูจากข้อมูลดาวเทียมโคเปอร์นิคัสพบว่า ช่วงฤดูร้อนปีนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากไฟป่าในฝรั่งเศสมีมากกว่า 1 ล้านตัน มากกว่าฤดูร้อนใดๆ ในช่วง 2 ทศวรรษ

เจ้าหน้าที่ผจญภัยฝรั่งเศสเจอภารกิจที่ท้าทายในการดับไฟป่า นั่นคือ อุณหภูมิร้อนระอุ กระแสลมแรง ผืนดินแห้งกรอบ ต้องวางแผนอย่างรอบคอบว่าจะหาแหล่งน้ำเพื่อดึงน้ำมาฉีดให้ดินชุ่มน้ำมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะดินชุ่มมากเท่าไหร่ไฟก็ดับมอดลงเร็วเท่านั้น

โปรตุเกสเผชิญกับไฟป่าหนักพอๆ กับฝรั่งเศส เฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติเซียร่า เด เอสเตรลา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกสูญเสียไปแล้ว 1 แสนไร่ ถือเป็นโศกนาฏกรรมทางสิ่งแวดล้อม

ที่สเปน ระดับน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางตอนใต้แห้งขอดจนเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ต้องคิดหาวิธีจัดการนำน้ำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันน้ำรั่วไหลน้อยที่สุด

ชาวสวนของสเปนบอกกับสื่อว่า ยุโรปเจอไฟป่า ภัยแล้งมาอย่างต่อเนื่องเป็นเพราะฝีมือของพวกเราทั้งหลายที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเช่นนี้เอง

หันไปดูเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี กำลังอลหม่านกับการดับไฟป่าในพื้นที่ “กรุนวาลด์” เนื่องจากไฟเผาป่าไปแล้ว 4,000 ตารางเมตร

แม่น้ำไรน์เป็นแม่น้ำสายหลักของเยอรมนี เจอภัยแล้ง ระดับน้ำลดลงจนเรือขนส่งต้องหยุดจอดรอน้ำขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้ว

ผู้คนริมแม่น้ำไรน์พากันงงๆ กับวิกฤตการณ์ภูมิอากาศ เพราะไม่กี่เดือนก่อน น้ำในแม่น้ำไรน์เอ่อทะลักท่วมบ้านเรือน มาตอนนี้น้ำในแม่น้ำกลับแห้งขอดอย่างน่าใจหาย

เป็นความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นถี่บ่อยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

สำหรับอังกฤษนั้น ดูเหมือนว่าหนักกว่าใครๆ เพราะคลื่นความร้อนถล่มและอากาศที่ร้อนแล้ง ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาตลอดเดือนกรกฎาคมมีเพียง 35 เปอร์เซ็นต์

ภาพถ่ายดาวเทียมของอังกฤษโชว์ผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งแผ่ขยายไปทั่วเกาะจนพื้นที่ที่เขียวชอุ่มกลายเป็นสีน้ำตาลหรือเหลืองซีด

พื้นที่ 8 แห่งจาก 14 แห่งรวมทั้งกรุงลอนดอนของอังกฤษได้รับผลกระทบกับภัยแล้งจนต้องประกาศควบคุมการใช้น้ำอย่างเข้มงวด ในกิจกรรม เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ เติมน้ำในสระ ล้างกำแพงหรือหน้าต่าง ห้ามอย่างเด็ดขาดเพราะเป็นการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ใครฝ่าฝืนมีโทษปรับถึง 1,000 ปอนด์ (ราว 43,000 บาท)

ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อเขื่อนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของยุโรป ยิ่งน้ำแล้งมากเท่าไหร่ การผลิตไฟฟ้ายิ่งมีผลกระทบมากเท่านั้น

โรงไฟฟ้าพลังน้ำในอิตาลี ผลิตไฟลดลง 40% ในรอบปี พอๆ กับสเปน การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนลดไป 44%

ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า ล้วนมาจากสาเหตุหลักคือวิกฤตการณ์สภาวะภูมิอากาศที่เป็นความปกติใหม่จนกลายเป็นคำถามตอกย้ำว่าชาวโลกและรัฐบาลทุกประเทศจะปรับตัวเองเพื่อให้อยู่รอดในท่ามกลางวิกฤตนี้ต่อไปได้อย่างไร? •