คนมองหนัง : เมื่อ “เทพสามฤดู 2560” ทำเรตติ้งเกิน 7 เป็นครั้งแรก!

คนมองหนัง

เรตติ้งเกิน 7!

ในที่สุด “เทพสามฤดู” ฉบับปี 2560 ก็ได้เรตติ้งเกิน 7 เป็นครั้งแรก ด้วยตัวเลขความนิยม “7.1” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม ซึ่งละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ แพร่ภาพออกอากาศเป็นตอนที่ 28

แม้ในสัปดาห์ถัดมา คือ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 7-8 ตุลาคม เรตติ้งของละครจะหวนกลับไปยังหลัก 6 กว่าๆ ตามเดิม

แต่ตัวเลขเรตติ้งเกิน 7 ที่ “เทพสามฤดู 2560” ทำได้ ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดและผลประกอบการทางธุรกิจอันซบเซาของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล ก็ช่วยยืนยันความนิยมของสื่อบันเทิงสำหรับมหาชน เช่น ละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ ได้เป็นอย่างดี

เมื่อย้อนดูตัวเลขเรตติ้ง 30 ตอนแรกของ “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นล่าสุด ที่สำรวจโดยเอจีบีนีลเซ่น จะพบว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ จากค่ายสามเศียร มีเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สม่ำเสมอจนน่าทึ่ง

และนี่คือสถิติเรตติ้งโดยละเอียดของละครเรื่องนี้

1-2 ก.ค. [5.7-5.7], 8-9 ก.ค. [5.2-5.4], 15-16 ก.ค. [6.3-6.2], 22-23 ก.ค. [6.2-5.9], 29-30 ก.ค. [6.5-6.5], 5-6 ส.ค. [5.8-6.0], 12-13 ส.ค. [6.2-6.8], 19-20 ส.ค. [6.7-6.0], 26-27 ส.ค. [6.1-6.9], 2-3 ก.ย. [6.2-6.7], 9-10 ก.ย. [6.6-6.1], 16-17 ก.ย. [6.0-6.3], 23-24 ก.ย. [5.8-6.6], 30 ก.ย.-1 ต.ค. [6.7-7.1], 7-8 ต.ค. [6.2-6.6]

หากเปรียบเทียบกับสื่อบันเทิงประเภทอื่นๆ ที่ออกอากาศในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แม้ “เทพสามฤดู” จะมีเรตติ้งสู้ตอนอวสานของละครหลังข่าวอย่าง “เพลิงบุญ” (8.9) และ “ยึดฟ้าหาพิกัดรัก” (8.4) ไม่ได้

แถมยังมีเรตติ้งน้อยกว่าละครเย็นของช่อง 7 คือ “ลูกหลง” เล็กน้อย

แต่เรตติ้งเฉลี่ย 6 กว่าๆ และจุดพีค 7.1 ของ “เทพสามฤดู 2560” ก็อยู่เหนือ “รากนครา” ตอนอวสาน (5.8) รวมถึงเรตติ้งช่วงหลังๆ ของรายการ “หน้ากากนักร้อง” จากช่องเวิร์คพอยท์

มุ่งหน้าสู่สนามแข่งใหม่

ที่น่าจับตาอีกข้อ คือ ดูเหมือนค่ายสามเศียรจะเล่นกับโซเชียลมีเดียได้เก่งขึ้น

เห็นได้จากการทยอยปล่อยภาพนิ่งและคลิปโปรโมตขนาดสั้นๆ ของละคร “เทพสามฤดู” ลงอินสตาแกรมอย่างค่อนข้างต่อเนื่อง

แต่ปรากฏการณ์น่าสนใจจริงๆ นั้นอยู่ตรงการเล่นกับพื้นที่ “ยูทูบ”

เนื่องเพราะละครจักรๆ วงศ์ๆ เป็นผลงานที่บริษัทสามเศียรถือลิขสิทธิ์แบบเต็มๆ และไปซื้อเวลาของช่อง 7 ในการออกอากาศ ไม่ใช่ผลงานซึ่งเป็นการรับจ้างผลิต

ทางค่ายจึงสามารถจัดการระบบสิทธิประโยชน์ของ “เทพสามฤดู” ได้อย่างเต็มที่และพลิกแพลงตามสมควร

กลยุทธ์ในการปล่อย “เทพสามฤดู” ลงยูทูบ มีความละเอียดลออมิใช่น้อย

เริ่มต้นด้วยการไลฟ์สดละครลงยูทูบพร้อมกับการออกอากาศทางโทรทัศน์ จากนั้น จึงตามด้วยการอัพโหลดคลิปย้อนหลังของละครทุกตอนลงยูทูบด้วยคุณภาพระดับ “ฟูล เอชดี”

ขณะที่จำนวนคนดูการไลฟ์สดละครมีตัวเลขเฉลี่ยประมาณ 4-5 แสนวิวต่อตอน

ตัวเลขจำนวนคนดูคลิปย้อนหลังกลับพุ่งกระฉูดไปไกลกว่านั้น โดยยอดชมคลิปละครในช่วงหลังๆ ล้วนเกิน 1 ล้านวิวเกือบทั้งสิ้น

คงต้องจับตาว่าสามเศียรจะได้อะไร “เพิ่มเติมเข้ามา” จากการลงเล่นในสนามแข่งใหม่ ไปพร้อมๆ กับการรักษาสถานภาพดั้งเดิมในสนามแข่งเก่า

ทีวี-ออนไลน์-ออฟไลน์

ไม่ใช่แค่การเพิ่มโอกาสให้ตัวเองผ่านทางพื้นที่ “ออนไลน์” อย่างเข้มข้น

แต่สามเศียรยังมุ่งทำกิจกรรมอีเวนท์เพื่อโปรโมต “เทพสามฤดู” ในพื้นที่ “ออฟไลน์” อย่างจริงจัง

ช่วงก่อนหน้านี้ ค่ายสามเศียรเคยจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต “จ๊ะทิงจา” เพื่อโปรโมตละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่นๆ เป็นวาระครั้งคราว

ทว่า ภายหลังการออกอากาศของ “เทพสามฤดู” ฉบับใหม่ น่าสังเกตว่า “คอนเสิร์ตจ๊ะทิงจา ไทยประกันชีวิต” นั้นได้สัญจรออกไปตามห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ บริเวณเขตชานเมืองแทบทุกเสาร์

นับเป็นจำนวนอีเวนท์ที่ถี่ยิบกว่าเดิม

นี่อาจเป็นกลยุทธ์เข้าหาและตรึงจำนวนคนดูในอีกรูปแบบหนึ่ง

ทั้งยังส่งผลให้พี่ป้าน้าอาลูกเล็กเด็กแดงที่เดินเที่ยว-กินข้าว-ซื้อของ มีโอกาสได้พบเห็นการระบำ “ศิวนาฏราช” ณ ห้างฯ ตามมุมเมืองบ่อยครั้งขึ้น

สถานะของ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ฉบับรีเมก”

แน่นอนว่า “เทพสามฤดู” นั้นเป็น “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ฉบับรีเมก” แต่ “กระบวนการสร้างใหม่” หนล่าสุดนี้ก็มีอะไรชวนขบคิดอยู่พอสมควร

ปกติ เวลาพูดถึง “หนัง/ละครรีเมก” เรามักนึกถึงภาพของ “หนัง/ละคร” ที่นำเรื่องราวเดิมๆ มาสร้างใหม่ พร้อมกับการตีความบทภาพยนตร์/บทละครในมุมมองใหม่ๆ หรือพยายามใส่รายละเอียดปลีกย่อยอันแตกต่างเพิ่มเติมลงไป

แต่ “สิ่งพิเศษ” ของ “เทพสามฤดู 2560” ก็คือ ร้อยละ 90 ของเนื้อหาในละครเวอร์ชั่นนี้แทบจะ “ทำซ้ำ” เรื่องราวของละครเวอร์ชั่นปี 2546 มาแบบช็อตต่อช็อต เหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ บทพูดต่อบทพูด

จะแตกต่างก็แค่ภาพที่คมชัดขึ้น ซีจีที่ทันสมัยขึ้น รวมถึงนักแสดงและฉากที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น เมื่อเรานั่งชม “เทพสามฤดู 2560” แล้วเห็นชื่อ “ภาวิต” (นามปากกาของ “รัมภา ภิรัมย์ภักดี” นักเขียนบทอาวุโสแห่งเครือดาราวิดีโอ) หวนกลับมาปรากฏบนเครดิตเริ่มต้นของละครจักรๆ วงศ์ๆ เป็นหนแรกในรอบหลายปี

นี่จึงอาจมิได้หมายความถึงการย้อนคืนมานั่งเขียนบทละครครั้งใหม่ของรัมภา ณ ยุคปัจจุบัน หากเป็นการนำบทละครชิ้นเดิมที่รัมภาเคยเขียนไว้ในอดีต กลับมาถ่ายทำใหม่มากกว่า

อินเดียนิยม

อย่างไรก็ดี ยังมีองค์ประกอบใหม่ๆ ที่ถูกแทรกเสริมเข้ามา และมีองค์ประกอบเดิมๆ ที่ถูกลดทอนออกไป ใน “เทพสามฤดู” ฉบับล่าสุด

ลักษณะเด่นของ “เทพสามฤดู” (อย่างน้อยใน) เวอร์ชั่นปี 2546 นั้นคือการนำเอาเทพปกรณัมนานาชาติมาสังเคราะห์รวมเข้ากับนิทานพื้นบ้านไทย

นอกจากอาวุธสุดวิเศษอย่าง “พัดชีวิต” ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก “ไซอิ๋ว” ที่เริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ในหนังสือนิทานกลอน “สามฤดู” ฉบับ “วรรณกรรมวัดเกาะ”

ละคร “เทพสามฤดู” เวอร์ชั่นที่แล้ว ยังมีการประดิษฐ์คิดค้น “ห่วงรัดศีรษะ” ซึ่งใช้ปราบพยศ “เจ้างั่ง กระหังป่า” โดยมีแนวโน้มจะได้รับอิทธิพลมาจาก “ไซอิ๋ว” เช่นกัน

ที่ร้ายกาจกว่านั้น คือ การกำหนดให้ตัวละครฝ่ายร้ายผู้อยู่ยงคงกระพันอย่าง “สามศรี” มีจุดตายอยู่ตรง “ข้อเท้า” เหมือนตัวละคร “อคิลลีส” ในเทพนิยายกรีกเป๊ะๆ

มาถึงละครฉบับปี 2560 แม้ “พัดชีวิต” และ “จุดตายที่ข้อเท้าของสามศรี” ยังมีปรากฏอยู่ตามเดิม ทว่า “ห่วงรัดศีรษะ” ของเจ้างั่ง กลับถูกลดรูปไปเป็น “บ่วงรัดคอ” เหมือนในละครฉบับปี 2530

แล้วอะไรคือรายละเอียดใหม่ๆ ที่เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นใน “เทพสามฤดู 2560”

แม้ “เทพสามฤดู 2546” จะมีจุดอ้างอิงเชื่อมโยงกับอิทธิพลของเทพปกรณัมแบบ “ภารตะสไตล์” อยู่บ้าง เช่น ฉากที่วานร “วิปริตนันทเสน” เข้าไปเจรจากับ “ท้าวตรีภพ” ในท้องพระโรง ก่อนจะเนรมิตหางขนาดยาวของตนเองให้กลายเป็นที่นั่งสูงส่งทัดเทียมบัลลังก์ของคู่เจรจา

ผู้ที่คุ้นเคยใน “รามายณะ-รามเกียรติ์” คงพอจะจำได้ว่าฉากทำนองนี้มีความสอดคล้องต้องตรงกับตอนที่ “องคต” รับบททูตเข้าไปเจรจากับ “ทศกัณฐ์” ณ กรุงลงกา

ฉากคลาสสิคนี้ยังคงถูก “ผลิตซ้ำ” (ด้วยรายละเอียดที่ประณีตกว่าเดิม) ในละคร “เทพสามฤดู” ฉบับปัจจุบัน

แต่คล้ายกับว่ายังมีอิทธิพล “อินเดีย” ประเภทอื่นๆ อีก ที่ถูกนำมาผนวกเพิ่มเติมเป็นรสชาติใหม่ๆ ในปี 2560

ตั้งแต่ฉากเริงระบำ “ศิวนาฏราช” ของตัวละคร “องค์อิศรา” ซึ่งถูกกล่าวถึงกันมากในหมู่แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ

รวมถึงการกำหนดบทพูดติดตลก “อาร้าย อาราย” ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเทวดาอย่าง “มาตุลีเทพบุตร” ซึ่งชี้ชวนให้นึกถึงตัวละคร “พระนารทฤๅษี” ผู้มีบทพูดอันเป็นเอกลักษณ์แสนจะติดหูว่า “นาร้ายณ์ นารายณ์” ในซีรี่ส์เทพปกรณัมอินเดียหลายต่อหลายเรื่อง

ไม่แน่ใจว่าจำนวนเรตติ้งที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จของกองทัพ “ซีรี่ส์อินเดีย” ในสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลไทยร่วมสมัย จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่งเกิดขึ้นใน “เทพสามฤดู 2560” เพียงใด?