มุกดา สุวรรณชาติ : 44 ปี 14 ตุลา… รอเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร คงอีกนาน…แล้วแต่ คสช.

มุกดา สุวรรณชาติ

อย่าคิดว่าการเลือกตั้งได้มาง่ายๆ

ตอนที่แล้วได้พูดถึงการเลือกเส้นทางการต่อสู้แบบที่ใช้การเลือกตั้งเป็นแนวทางหลัก ถ้าหากเราคิดว่าชี้ขาดแพ้ชนะได้ ลองมองย้อนหลังไปในอดีตจะพบว่า ถ้าคณะรัฐประหารไม่มั่นใจกำลังตนเองต่อสถานการณ์ ก็จะรีบประกาศเลือกตั้ง แต่ถ้ามีกำลังหนุนดี มีความแข็งแกร่งสูงก็สามารถยืดระยะเวลาออกไปได้นาน ไม่ใช่จะได้เลือกตั้งกันง่ายๆ

เช่น ในยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลถนอม กิตติขจร

 

16 กันยายน พ.ศ.2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร จอมพล ป. ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ เพียง 3 เดือนก็จัดการเลือกตั้งใหม่ ตั้งพลโทถนอม เป็นนายกฯ ตัวแทน

ตุลาคม 2501 กลับมายึดอำนาจ และใช้อำนาจแบบเผด็จการอย่างแท้จริง ระบบการปกครองเป็นรัฐทหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

ฝ่ายก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ก็ป่วยและเสียชีวิตลง ปกครองได้ 6 ปี

จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่ออย่างช้าๆ…กว่าจะประกาศใช้ก็… 10 มิถุนายน 2511 ใช้เวลาร่าง 9 ปีกับ 4 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 8 คล้ายกับให้ประชาชนได้ชิมรสประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และจะมาจากข้าราชการก็ได้

มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส. ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

17 พฤศจิกายน 2514 นายกรัฐมนตรีถนอมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้งไปเลย แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ จนกระทั่งถูกขับไล่ในปี 2516 เป็นช่วงเวลา 6+6+2 ปีที่ไม่มีการพัฒนาประชาธิปไตย แม้รัฐธรรมนูญเก๊ๆ ก็ทนไม่ได้

นี่คือข้อพิสูจน์ว่า

เมื่อเผด็จการมีอำนาจ เขาจะให้เลือกตั้งอย่างไรก็ได้ เลือกเมื่อไรก็ได้ ยุบเมื่อไรก็ได้

 

หลัง 14 ตุลา 2516
อำนาจของคณะรัฐประหาร คสช.
อยู่นานที่สุด ในรอบ 45 ปี

หลัง 14 ตุลาคม 2516 ไม่มีอำนาจเผด็จการเต็มใบอีก เพราะอำนาจนอกระบบไม่ได้รวมศูนย์ที่ทหารคนเดียวหรือกลุ่มเดียว แม้มีรัฐประหาร อำนาจก็ไม่สมบูรณ์ มีคณะรัฐบาลจากฝ่ายทหารเข้ามาบริหารประเทศหลังการยึดอำนาจหลายชุดจนถึงปัจจุบัน พบว่าคณะ คสช. ได้คงอำนาจของคณะรัฐประหารออกไปได้นานที่สุด

1. ลองย้อนไปดูก่อน 14 ตุลาคม 2516 การรัฐประหารครั้งสุดท้ายคือ เดือนพฤศจิกายน 2514 ถ้านับถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็ไม่ถึง 2 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 ปีจึงมีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 รวมทั้งหมดแล้วก็เพียงแค่ 3 ปี 2 เดือน

2. การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ต่อด้วยการรัฐประหารซ้อน 20 ตุลาคม 2520 มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ก็ยังมีการเลือกตั้งในเมษายน 2522 รวมแล้วก็ 2 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นก็อยู่ในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ แม้มีการพยายามรัฐประหารอีก แต่ก็ไม่สำเร็จ มีการเลือกตั้งมาโดยตลอด ในปี 2526…2529…2531

3. พอถึงปี 2534 เกิดการรัฐประหารโดยคณะ รสช. มีรัฐธรรมนูญ 2534 เพียงปีเดียวก็ยอมให้มีการเลือกตั้ง ต้นปี 2535 แล้วก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งซ้ำอีกครั้งในปี 2535 จากนั้นกระบวนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยก็เดินหน้าต่อ มีรัฐบาลอีกหลายรัฐบาล มีการเลือกตั้งในปี 2538…2539 มีรัฐธรรมนูญใหม่ 2540 มีการเลือกตั้งแบบใหม่ที่มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ในปี 2544…2548…นี่เป็นช่วงที่ประชาธิปไตย การเมืองในระบบ และเศรษฐกิจ พัฒนาต่อเนื่องยาวนานที่สุด 15 ปี

4. แล้วก็เกิดการรัฐประหารในปี 2549 โดยคณะ คมช. มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2550 และก็เลือกตั้งในปลายปีนั้น คณะรัฐประหารใช้เวลาปกครองโดยรัฐบาลชั่วคราวเพียงแค่ปีเศษก็มีการเลือกตั้งตามสัญญา

5. รัฐบาลนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกตั้ง ถูกล้มลงโดยม็อบและตุลาการภิวัฒน์ ปลายปี 2551 รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนขั้วได้ก็ปกครองต่อมาได้ประมาณ 2 ปีเศษก็มีการเลือกตั้งในปี 2554

6. รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศต่ออีก 2 ปีกว่าและถูกรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

การยึดอำนาจโดย คสช. จนถึงปัจจุบันมีระยะเวลาที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศนานถึง 3 ปี 4 เดือน ขณะนี้ลบสถิติอยู่นานที่สุดในรอบ 45 ปี

 

สัญญาเรื่องเลือกตั้ง
ต้องแปรตามสถานการณ์

ถ้าดูจาก road map ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ประกาศไว้ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าจะประกาศการเลือกตั้งในปี 2561 สมมุติว่าประกาศช่วงพฤษภาคม 2561 แสดงว่าอำนาจจากการรัฐประหารอยู่ครบ 4 ปีพอดี และการเลือกตั้งจะมีหลังจากนั้นแสดงว่าอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. สามารถดำรงอยู่ประมาณ 4 ปีกว่า ถ้าประกาศเลื่อนช้าออกไป เป็นปลายปี 2561 ก็จะนานเกือบ 5 ปี

วันเลือกตั้งกำหนดจากอะไร ทำไมคณะรัฐประหารหลายคณะ จึงใช้เวลาแค่ปีกว่า บางคณะ 2 ปีกว่า และบางคณะอาจยาวกว่านั้น ปัจจัยที่กำหนด ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจขณะนั้น พิจารณาตัวแปร…

สถานะการณ์ทางการเมืองทั่วไป ต้องไม่ปั่นป่วน

เศรษฐกิจ ไม่ควรตกต่ำมาก เพราะคนจะไม่ชอบรัฐบาล

สภาพของคู่แข่ง ต้องทำให้แตกแยก อ่อนแอ

ความพร้อมของฝ่ายกุมอำนาจ ภายในควรสามัคคี ภายนอกคนยอมรับ

มีพรรคการเมืองที่สนับสนุนหลายพรรค

ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ควรจัดการให้เรียบร้อย รัฐบาลใหม่อาจมีนโยบายใหม่ได้

รัฐธรรมนูญและกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง พร้อมตามต้องการ คือ…

1. ตามกฎที่ร่างขึ้นมาต้องคุมฝ่ายนิติบัญญัติให้ได้ วิธีการที่ง่ายที่สุดคืออย่าไปหวังว่าจะได้เสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งจากการเลือกตั้ง แต่จะต้องหาทางตั้งวุฒิสภาชิกขึ้นมาเองจำนวนมากและให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.

2. เสียงของ ส.ส. ก็จะต้องทำให้กระจายออก ให้พรรคใหญ่ได้ ส.ส. น้อยที่สุด และใช้วิธีเลือกตั้งแบบกำหนดเขต กำหนดพื้นที่ และวิธีการให้เสียง ส.ส. แตกกระจายออก ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้พรรคใหญ่ไม่ได้ ส.ส. มากเท่าเดิม แต่จะเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและขนาดกลางมีโอกาสมากขึ้น

3. การเลือกฝ่ายบริหารหรือนายกฯ จะให้ผ่านการเลือกของประชาชนโดยตรงไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีโอกาสพลิกผันเปลี่ยนแปลงจากแผนได้ ทางที่ปลอดภัยที่สุดจะต้องกำหนดให้นายกฯ มาจากไหนก็ได้แต่จะต้องผ่านสภาที่ควบคุมได้ ผ่านการตรวจสอบขององค์กรที่ควบคุมได้

 

เลือกตั้งแล้วได้อะไร

ในโลกยุคใหม่ คงไม่ได้รัฐบาลหลังเลือกตั้งแบบยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือยุคจอมพลถนอม แต่น่าจะเป็นแบบหลังการเลือกตั้ง ของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อการเลือกตั้งวันนี้ ก็จะได้เพียงแค่ย้อนหลังไปสู่ยุคประชาธิปไตย แบบ 40 ปีที่แล้ว

ปีนี้ครบรอบ 44 ปี 14 ตุลาม 2516 ซึ่งยุคนั้นเป็นการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร เพราะอยากได้รัฐธรรมนูญ อยากเป็นประชาธิปไตย อยากได้การเลือกตั้ง เพื่อจะได้เลือกผู้บริหารเอง

แต่ปัจจุบันการเมืองเปลี่ยนไป คนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อาจไม่อยากเลือกตั้งเร็วๆ

บางคนอาจอยากเป็น สนช. ไปเรื่อยๆ

บางคนอยากเป็น ส.ว. แบบแต่งตั้ง

บางกลุ่มอยากได้นายกฯ ที่ไม่ต้องให้ประชาชนเลือก

บางคนอยากให้ปกครองแบบนี้ไปเรื่อยๆ แบบที่เรียกกันว่า…อยากอยู่ยาว…ดังนั้น เรื่องวันเลือกตั้งจึงยังไม่แน่นอน

       แม้เพียงแค่เลือกตั้งเพื่อ…ประชาธิปไตยครึ่งใบ…ต้องรออีกนาน