ในประเทศ : ก้าวข้าม “ตูน บอดี้สแลม” จำเลยรักน่องเหล็ก “ร.พ.ลายพราง” โผล่

“ตูน บอดี้สแลม” นายอาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องน่องเหล็ก หลังเคยวิ่งจากกรุงเทพฯ ไป อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ กว่า 400 กิโลเมตร ได้รับยอดบริจาคกว่า 78 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลบางสะพานมาแล้ว

ต่อมา โครงการ “1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต” ระดมทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช เริ่มต้นจาก จ.เชียงใหม่ สิ้นสุดที่โรงพยาบาลศิริราช ได้เงินบริจาคราว 125 ล้านบาท

ล่าสุด “หนุ่มตูน” เตรียมตัววิ่งจาก อ.เบตง จ.ยะลา ใต้สุดแดนสยาม ไป อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหนือสุดแดนสยาม กว่า 2,191 กิโลเมตร กับโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” เพื่อมอบเงินให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ โรงพยาบาลยะลา, โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี, โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี, โรงพยาบาลสระบุรี, โรงพยาบาลขอนแก่น, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี, โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่, โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลน่าน และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ครั้งนี้ “หนุ่มตูน” ต้องการให้คนไทยช่วยกันคนละ 10 บาท เพื่อให้ได้เงิน 700 ล้านบาท โดยเริ่มวิ่งตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ถึง 25 ธันวาคมนี้ รวม 55 วัน

“ขอบคุณตูนที่จะมาช่วยทหาร หลังทราบข่าวว่ามาเยี่ยมทหารบาดเจ็บและจะช่วยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งผมเองก็ชื่นชมในตัวตูนอยู่แล้ว เพียงแต่ร้องเพลงของบอดี้สแลมไม่เป็นแค่นั้น ถ้ามีโอกาสก็จะจัดงานขอบคุณอย่างเป็นทางการ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว (5 สิงหาคม 2560) หลัง “หนุ่มตูน” เยี่ยมทหารบาดเจ็บที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ถือเป็นการวิ่งที่เป็นการใช้แบรนด์ความเป็น “หนุ่มตูน” ที่ชื่นชอบการวิ่ง กับวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่นิยมการ “วิ่ง” ออกกำลังกาย จึงเป็นการใช้แบรนด์ส่วนตัวบวกกับวิถีชีวิตคนเข้าไป รวมถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน การวิ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสุขภาพ จึงทำให้ทุกอย่าง “สอดรับ” กันได้อย่าง “ลงตัว”

แต่ก็เกิดคำถามต่างๆ ขึ้นในสังคมตามมาเช่นกัน โดย ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในแต่ละปีคนไทยบริจาคเงินกันกว่า 70,000 ล้านบาท มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี (ขอบคุณเนื้อหาจาก GM Live คลิกอ่านบทความเต็ม)

จึงเกิดคำถามว่าเงินส่วนนี้ถูกนำไปใช้อะไรบ้าง

กิจกรรมลักษณะการวิ่งนี้ไม่ต่างจากการจัดรายการโทรทัศน์ให้คนโทรศัพท์เข้าไปบริจาค เช่น น้ำท่วมใหญ่ หรือภัยพิบัติต่างๆ ทุกยุคสมัยไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม ตามหลักแล้วจะต้องนำงบประมาณกลางมาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งงบประมาณกลางก็ได้รับการจัดสรรมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

จึงเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมไม่เพียงพอ เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน?

ในสมัยก่อนก็มีปรากฏการณ์ลักษณะนี้เช่นกัน ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการเชิญชวนให้ประชาชน “ผู้รักชาติ” บริจาคเงินคนละ 1 บาท เพื่อสู้คดีหลังประเทศกัมพูชายื่นเรื่องฟ้องศาลโลกให้ตัดสินว่า “ปราสาทเขาพระวิหาร” เป็นของไทยหรือกัมพูชา ช่วงปี 2502

ศาลใช้เวลาพิจารณาคดี 3 ปี โดยเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกตัดสินด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ตกเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหาร ตำรวจ ออกนอกพื้นที่

สะท้อนว่า ไม่ว่าจะยุคสมัยใด สิ่งเหล่านี้คือวิธีการ “ปลุกชาตินิยม” ที่มีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยอย่างลงตัว โดยเฉพาะคำว่า “น้ำใจไทย” ที่คนไทยถือว่าเป็นอุปนิสัยประจำชาติ อีกทั้งคนไทยเป็นคน “ขี้สงสาร” ด้วย จึงทำให้สังคมไทยประสบความสำเร็จไม่น้อยกับการ “รับบริจาค” ในแต่ละครั้ง

และสังคมไทยเชื่อว่าการทำแบบนี้จะ “ได้บุญ” จึงบวกเรื่องพลังของ “ศรัทธา” มาเกี่ยวข้องด้วย

ตรงกับสิ่งที่ รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องค่านิยมสังคมไทยที่มองว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นเรื่องความเมตตาและการทำบุญ มากกว่าเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรได้รับ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ “งบประมาณแผ่นดิน” ที่จัดเก็บได้จากภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ ถูกนำไปใช้อะไรบ้าง

หรือการจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบประมาณแผ่นดินอยู่ตรงไหน

ซึ่งจุดนี้เองแต่ละประเทศก็มีบริบทแตกต่างกัน

จากงบประมาณแผ่นดินปี 2561 รวม 2.9 ล้านล้านบาท โดย 5 อันดับแรก ไม่มีกระทรวงสาธารณสุข อันดับที่ 1 กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท อันดับที่ 2 งบกลาง 394,326 ล้านบาท อันดับที่ 3 กระทรวงมหาดไทย 355,995.34 ล้านบาท อันดับที่ 4 กระทรวงการคลัง 238,356 ล้านบาท และอันดับที่ 5 กระทรวงกลาโหม 222,436 ล้านบาท

ประเด็นคือ 1 ใน 11 โรงพยาบาล มีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหาร ที่เปิดรักษาทั้งทหารและพลเรือน สังกัดกรมแพทย์ทหารบก กองทัพบก จึงเกิดคำถามว่า เหตุผลใดต้องเป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ทั้งๆ ที่กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณมากเป็นอันดับที่ 3

และกองทัพก็ยังสามารถจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ได้ ทั้งเพื่อเสริมศักยภาพและทดแทนของเก่าที่ต้องปลดประจำการ เพื่อลดความเสี่ยงต่อกำลังพลในการใช้อาวุธ

จึงต้องมองว่าการจัดสรรงบประมาณของกองทัพระหว่างการส่งกำลังบำรุง (อาวุธ) และกิจการกำลังพล มีการจัดสรรงบประมาณ 2 ด้านนี้อย่างไร?

พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทสส. กล่าวถึงกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดียถึงกรณี “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งรับบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาล 11 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่กองทัพนำเงินไปจัดซื้ออาวุธเพิ่ม ว่า องค์ประกอบการทำงานของประเทศไทยมีหลายส่วน ทางด้านความมั่นคงในด้านการสนับสนุนและการสร้างขวัญ อีกทั้งการเตรียมกำลังแบบทั้งมีตัวตนและไม่มีตัวตน กองทัพเราได้เฉลี่ยกันไปทั้งหมดแล้ว แต่ไม่สามารถทุ่มไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ฉะนั้น ขั้นตอนการเตรียมการแต่ละอย่างนั้น มีองค์ประกอบเรื่องเวลา เช่น การซื้ออาวุธ ก็ต้องใช้เวลาและคิดวางแผน ส่วนการสร้างโรงพยาบาลก็ต้องคิดเรื่องอัตราประชากร หมอ และพยาบาลที่จะเข้ามาดูแล ซึ่งมีองค์ประกอบเยอะมาก ส่วนเรื่องดราม่าต่างๆ ต้องถามคนพูดแทน

ส่วนที่มีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่เป็นโรงพยาบาลทหารบก ล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย ผบ.ทบ. ขอไม่ตอบโต้ปมดราม่านี้ แต่ขอขอบคุณและให้กำลังใจ “ตูน” แทน

ในส่วน “หนุ่มตูน” ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า ไม่ได้รู้สึกท้อ แต่มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการของทุกๆ การทำงาน จึงต้องก้าวข้ามและแก้ไขและจัดการให้ได้ อีกทั้งการจัดการกับอารมณ์ด้วย เพื่อนึกถึงปลายทางที่ตั้งใจคือทำเพื่อประโยชน์ของคนที่กำลังรักษาตัว เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเองต่อไป

เรื่องนี้อาจไม่มีคำตอบ “ผิด” หรือ “ถูก” เด่นชัด แต่การ “วิ่ง” ครั้งนี้ ก็ทำให้คนไทยได้เห็นอะไรตามเส้นทางการ “วิ่ง” ของนักร้องดังมากขึ้น!!