ระยะเปลี่ยนผ่าน ธนาคารไทยพาณิชย์ / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

ระยะเปลี่ยนผ่าน

ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ธนาคารใหญ่ไทยแห่งนี้ กำลังผ่านช่วงขยับปรับตัวครั้งใหญ่ เข้าสู่ภาวะระยะเปลี่ยนผ่านสร้างสมดุล

จากเรื่องราวกระตุ้นความสนใจสังคมธุรกิจไทย เกือบจะหนึ่งปีเต็มแล้ว (กันยายน 2564) เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ เรียกตนเองว่า SCB Group ได้จัดตั้ง “ยานแม่” ภายใต้ชื่อ SCBX (เอสซีบี เอกซ์) “เพิ่มความคล่องตัวและขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค…” จนเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ (1 มีนาคม 2565) มีประกาศ กำหนดการซื้อหลักทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งก็เป็นตามแผนด้วยดี

กระบวนการสำคัญที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นสิ้นสุดลง เมื่อประกาศให้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งยังใช้เชื่อย่อเหมือนเดิม-SCB) เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เริ่มซื้อขายวันที่ 27 เมษายน 2565 ขณะเดียวกันได้เพิกถอนธนาคารไทยพาณิชย์ (ใช้ชื่อย่อใหม่-SCBB) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน “SCB ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก”

คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับลักษณะธุรกิจซึ่งสัมพันธ์กันระห่าง SCB กับ SCBB อย่างแยกไม่ออก

 

มีเหตุการณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่ง มีขึ้นตั้งแต่ต้นปี (21 มกราคม 2565) ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศแต่งตั้งประธานกรรมการบริหารคนใหม่-กฤษณ์ จันทโนทก เพิ่งจะมีผลและเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนนี้เอง (1 สิงหาคม 2565)

โปรไฟล์อย่างย่อของเขาอย่างที่เคยว่าไว้ยังน่าสนใจ “…ดูเป็นแบบฉบับเดียวกันกับอาทิตย์ นันทวิทยา (ผู้บริหารคนก่อนหน้า) ด้วยวัยไม่เกิน 50 ปี มีการศึกษาในประเทศ และมีประสบการณ์โลกมาบ้าง กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าธุรกิจหลักทรัพย์ และประกัน โดยผ่านประสบการณ์การบริหารธุรกิจระดับ กฤษณ์ จันทโนทก ในตำแหน่งล่าสุดเป็นประธานกรรมการบริหารเอไอเอช่วงสั้นๆ”

ผู้นำธนาคารไทยพาณิชย์คนใหม่ เข้ามาในช่วงเวลาค่อนข้างเงียบๆ ด้วยความเคลื่อนไหวโดยรวมของเอสซีบี เอกซ์ด้วย เชื่อว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการปรับขบวน และสร้างสมดุล

กฤษณ์ จันทโนทก เตรียมตัวค่อนข้างนานก่อนเข้ารับตำแหน่ง เชื่อว่าเขาคงมีเวลาศึกษาเรื่องราวและบทเรียนธนาคารไทยพาณิชย์มาอย่างจริงจัง อย่างที่เขาใช้คำว่า “ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ธนาคารไทยพาณิชย์” ปรากฏในข้อความ (message) ส่วนตัวที่ส่งถึงผมสั้นๆ ไว้อย่างน่าคิด (ขออนุญาตเปิดเผยวงกว้าง) “ลูกศรยิงไกลได้แค่ไหน ก็ต้องน้าวไปข้างหลังให้ไกลได้เท่านั้น”

เชื่อว่าบทเรียนการปรับตัวและกระบวนการสร้างสมดุล จะอยู่ในช่วงระยะหนึ่งๆ เสมอ ที่สำคัญเป็นไปตามมุมมองและบทวิเคราะห์ของผู้นำระบบธนาคารไทย ว่าไปแล้วดูจะคล้ายๆ กัน

บทเรียนธนาคารใหญ่ไทยทั้งสามแห่ง กรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ดูรวมๆ สะท้อนภาพองค์รวมแห่งความสมดุล อาจสะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวธนาคารกสิกรไทยได้ระดับหนึ่ง ขณะเสมือนเป็นคู่แข่งสำคัญในกระบวนการปรับตัวในทางเดียวกันกับธนาคารไทยพาณิชย์มาในช่วงใหญ่ๆ เมื่อไม่นานมานี้ อีกด้านพยายามขยับทิศทางสู่อีกมุมมองอีกแนวทางหนึ่งซึ่งให้น้ำหนักให้ความสำคัญมากขึ้นในเวลานี้ ดูหมือนจะสอดคล้องกับแนวทางธนาคารกรุงเทพ

อันที่จริงอย่างหลังสอดคล้องกับแนวทางธุรกิจหลักอย่างหนึ่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย “…มุ่งสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาค…” อย่างที่อ้างไว้ตอนต้นๆ ทว่า ยังไม่เห็นแผนการอย่างจริงจัง ชัดเจน แผนการซึ่งเชื่อว่าจะแผ้วทางโดยภูมิศาสตร์ก่อน จะเข้าสู่โลกไซเบอร์ ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน พรมแดนแห่งระบบเศรษฐกิจที่เป็นจริง มีกำแพงมากขึ้น ขณะมีความสำคัญอ่อนไหวมากขึ้นๆ

อันที่จริงธนาคารไทยพาณิชย์ กับยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายในภูมิภาค เป็นไปอย่างเข้มข้นครั้งแรก ในยุค ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) สอดรับกับบทวิเคราะห์ว่าด้วยโอกาสใหม่ในยุคนั้น หลังสงครามเวียดนามและสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เป็นไปในวิตกใหญ่ ว่าด้วยทฤษฎีโดมิโน มาพร้อมๆ กับนโยบายรัฐบาลยุคนั้น “แปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า”

บวกกับสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ด้วยดัชนีที่น่าตื่นเต้น ทั้งกระแสขาขึ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความพยายามครั้งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจไทย เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา

ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นธุรกิจไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปบุกเบิก

 

ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ (Cambodian Commercial Bank หรือ CCB) มีสถานะเป็นธนาคารเต็มรูปแบบเพียงธนาคารเดียวของไทยในกัมพูชา ในฐานะเครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2534 โดยสาขาพนมเปญ ถือเป็นสำนักงานใหญ่ และมีสาขาในเมืองสำคัญอีก 3 แห่งที่พระตะบอง เสียมเรียบ และสีหนุวิลล์

ถือเป็นแผนการเชิงรุกที่มองไปข้างหน้าอย่างน่าสนใจ ด้วยจากนั้นอีกราวทศวรรษถัดมา ขบวนธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชาอย่างคึกคัก ต่อเนื่อง ไม่ว่ากิจการโรงแรม อุตสาหกรรมการเกษตร หรืออุตสาหกรรมพื้นฐาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย ไม่ว่ากลุ่มทีซีซี ซีพี รวมทั้งเอสซีจี

การสร้างเครือข่ายในระลอกนั้น รวมทั้งในประเทศลาวด้วย ด้วยมีสาขานครเวียงจันทน์ (2535)

ว่าเฉพาะเครือข่ายในประเทศเวียดนาม มีมาก่อนธนาคารกสิกรไทยเสียอีก (อ้างอิงจากข้อเขียนในตอนที่แล้ว-KBANK เส้นทางธนาคารแห่งภูมิภาค มติชนสุดสัปดาห์ 12 สิงหาคม 2565 ) ตามข่าวที่ว่า ธนาคารชาติเวียดนาม (State Bank of Vietnam หรือ SBV) ให้ใบอนุญาตธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งสาขาในนครโฮจิมินห์ (17 ธันวาคม 2558) ทั้งนี้ ถือว่าเป็นแผนการในระลอกใหม่ ตอบสนองกับสถานการณ์อีกช่วงหนึ่ง การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเชียน (ASEAN Economic Community) กับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนอันท่วมท้น

แผนการข้างต้นอยู่ในยุค วิชิต สุรพงษ์ชัย (ประธานกรรมการบริหาร 2542-2562 นายกกรรมการ 2562-ปัจจุบัน) และ อาทิตย์ นันทวิทยา (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 2559-2565 และประธานกรรมการบริหาร 2562-2565) ดูรวมๆ เหมือนว่าธนาคารไทยพาณิชย์มีความเฉื่อยเนือยมากกว่าธนาคารใหญ่ของไทยอีกสองแห่ง โดยเฉพาะเครือข่ายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งๆ ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาในฮ่องกงมานาน (2521) ตั้งแต่ยุค ประจิตร์ ยศสุนทร (ผู้จัดการใหญ่ 2516-2527) ที่มี ชฎา วัฒนศิริธรรม (ผู้จัดการใหญ่ 2542-2550) เพิ่งเข้ามาร่วมงานบุกเบิกเครือข่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะศูนย์กลางการเงินระดับโลก จนมาถึงยุคปัจจุบันซึ่งผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ จึงมีสำนักงานตัวแทนปักกิ่ง (2556) ถือว่าตามหลังธนาคารอีกสองแห่งหลายปี และเพิ่งมีสาขาเซี่ยงไฮ้ เมื่อไม่นานมานี้เอง (2561)

เชื่อว่าภาพนี้ อาจเปลี่ยนไปในไม่ช้าก็เป็นได้ •