‘ในแง่ร้าย’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ในแง่ร้าย’

 

ในระยะหลังๆ มานี้ หากนั่งทบทวนตัวเอง คล้ายกับว่า บทเรียนต่างๆ ที่ผม “เรียน” จากป่าอันเปรียบเสมือนโรงเรียนโดยมีเหล่าสัตว์ป่าเป็น “ครู” ผู้สอนนั้น คล้ายจะ “เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา” โดยเฉพาะบทที่สอนให้ชีวิตมีความหวัง ไม่ท้อถอยกับความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ ปรับตัว รู้ตัวว่าเป็นสัตว์ชนิดใด คือบทเรียนแรก เพราะเมื่อรู้แล้วจึงจะเข้าใจว่าเราปรับตัวได้แค่ไหน วิธีการปรับตัวนั้น สัตว์หลายชนิดสอนให้รู้ว่า ปรับเพียงวิธีการ ไม่ใช่เปลี่ยนตัวเองให้เป็นอย่างอื่น

เหล่าสัตว์ผู้ล่า มันเพียงเลือกเหยื่อที่มีขนาดย่อมกว่าที่เคยล่า ไม่ได้เปลี่ยนลายให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

“เรียน” มาเนิ่นนาน ผมปฏิบัติตามได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ทุกชีวิตหากพบการเปลี่ยนแปลง อาจไม่ต่างกันนัก ปรับกายนั้นไม่ยาก ความยากนั้นอยู่ที่การปรับใจ

หลายๆ ครั้ง เมื่อมีคำถามว่า การสื่อสารเรื่องราวของสัตว์ป่าที่ผมทำมานานนั้น มีความก้าวหน้าไหม

“ล้มเหลว” เป็นคำตอบทันที เพราะผมรู้ดีว่า “สาร” ที่สื่อออกมานั้น ส่งไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ

 

ถึงวันนี้แล้ว การมีอยู่ของสัตว์ป่า รวมทั้งวิถีชีวิตของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เคยลึกลับพบเจอได้ยาก เป็นเรื่องที่รับรู้ได้โดยทั่วไปแล้ว

ความสำคัญในบทบาทหน้าที่ของสัตว์ป่า ก็เป็นสิ่งที่คนบนโลกนี้จำนวนมากยอมรับ อีกทั้งการปกป้องแหล่งอาศัย หลายพื้นที่บนโลกนี้ก็เอาจริง ปกป้อง “บ้าน” ของสัตว์ป่าไว้ได้

วิถีชีวิตของสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร อย่างเสือก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับอีกต่อไป นักวิจัยนำความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือศึกษาวิถีชีวิตพวกมัน มีข้อมูลมากขึ้น รู้ถึงปัญหาที่พวกมันต้องเผชิญ

คนพูดถึงสถานะของพวกมันอย่างกว้างขวางจริงจัง

ทุกปี จากการสำรวจพบว่า มีประชากรเสือเพิ่มขึ้น และมีข้อมูลเช่นกันว่า บางตัวหายไป

จากข้อมูลกล้องดักถ่ายภาพในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเสือ นักวิจัยพบแม่กับลูกเสืออายุยังไม่เกินสองปีอาศัยร่วมกันเสมอ

“ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของเสือโคร่งนะครับ” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง ซึ่งมีงานวิจัยเรื่องเสือทั่วโลกบอก

“แต่น่าเสียดายว่าเสือโคร่งที่ยังเหลือบนโลกนี้สถานภาพพวกมันไม่แจ่มใสเอาเสียเลย”

ผมมองหน้าชายอาวุโส ผู้ใช้ชีวิตกับเรื่องราวของเสือมากว่าค่อนชีวิต ผมเห็นผู้ชายคนหนึ่งที่มองเห็นเรื่องราวในแง่ร้าย

 

“หลายๆ พื้นที่ สถานการณ์แย่มาก” เขาพูดต่อ

“การล่าเสือเพื่อขายอวัยวะมากขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ”

ในพื้นที่ซึ่งเขาพูดถึง มีการป้องกันอย่างเข้มงวด เอาจริง ระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ อันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลชีวิตสัตว์ป่า เป็นเครื่องมือที่ใช้ทั่วโลกอย่างได้ผล แต่ก็ยังปกป้องชีวิตเสือไว้ไม่ได้ทุกตัว

คนบนโลกรับรู้ว่าหากไม่ดูแลอย่างเอาจริง เสือจะสูญพันธุ์หมดไปจากโลก

เพราะสถานภาพอันอยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหาร การดูแลให้เสือได้ดำเนินไปตามวิถี นั่นหมายถึง การดูแลทุกชีวิตในป่า ให้ป่าได้มีวิถีอย่างที่ควรเป็น

กระทิง – ในบางพื้นที่ เมื่อได้รับการปกป้องดูแลแหล่งอาศัยจริงจัง สัตว์ป่าเพิ่มจำนวน แต่การหายไปของเสือโคร่งที่จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณ ทำให้การเพิ่มจำนวนประชากร พบกับปัญหาหลายประการ

เสือโคร่ง ในป่าด้านตะวันตกของประเทศไทย นักวิจัยมีข้อมูลว่า เสือโคร่งตัวผู้ใช้พื้นที่หรือมีอาณาเขตร่วม 300 ตารางกิโลเมตร และตัวเมียมีพื้นที่ราวกว่า 70 ตารางกิโลเมตร

การใช้พื้นที่ของตัวเมียนั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชาการสัตว์ที่เป็นเหยื่อด้วย มีเหยื่อมาก พื้นที่ก็ลดลง

สำหรับเสือ คล้ายกับว่า พวกมันจะมีพื้นที่กว้างขวาง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายของเสือนัก เพราะทุกพื้นที่มีเจ้าของ การจะครอบครองพื้นที่ได้ ต้องรอเวลาอันเหมาะสม ต้อง แกร่งพอ

ก่อนหน้านั้น การใช้ชีวิตอย่างเสือพเนจร จึงจำเป็นต้องเดินทางไปตามสันเขาสูงๆ ล่าเหยื่อขนาดเล็กๆ อย่างหมูป่า เมื่อล่าได้จะใช้เหยื่ออย่างคุ้มค่า

ชีวิตช่วงนี้อาจไม่ใช่ความยากลำบากอันแท้จริงเมื่อเข้มแข็งพอ สามารถ “เบียด” เจ้าถิ่นเดิมออกไป ครอบครองพื้นที่แทน นั่นอาจเป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมใจพร้อมรับการถูกเบียดจากเสือที่เข้มแข็งกว่าเหมือนเช่นที่มันเคยทำมา

สำหรับเสือ ผมไม่แน่ใจนักว่า ในช่วงที่ครอบครองพื้นที่ และช่วงที่ต้องกลับไปเป็นเสือพเนจร อยู่ในที่กันดาร พร้อมกับวัยที่โรยรา

ช่วงเวลาใดยากลำบากกว่ากัน

 

ในเรื่องราวของสัตว์ป่า มีความจริงอยู่ว่า มีเส้นทางอยู่สองเส้นทาง

เส้นทางหนึ่ง ที่มีคนจำนวนมากรับรู้ถึงการมีอยู่และความสำคัญ และจำเป็นต้องรักษาแหล่งอาศัย หรือพูดให้ถูก บ้านพวกมันไว้ สัตว์ป่าหลายชนิดมีโอกาสเพิ่มจำนวน

อีกเส้นทางหนึ่ง อาจมีคนไม่มากเท่าเส้นทางแรก ที่เชื่อว่าสัตว์ป่าที่ดี คือสัตว์ป่าที่ตายแล้ว

อีกทั้งการรักษาบ้านพวกมัน จำเป็นและสำคัญน้อยกว่าเร่งพัฒนา ปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นอย่างอื่น

เส้นทางนี้มีคนน้อยกว่า แต่มีความจริงที่เป็นเช่นเดียวกันทั้งโลก คือ เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจในประเทศ

 

ผมเชื่อในเรื่องความหวัง สัตว์ป่าพวกมันไม่เคยท้อถอย และไม่ใช้เวลาฟูมฟาย อยู่กับความสูญเสียนาน พร้อมเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พวกมันยังดำเนินวิถีไปตามปกติ ปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ยังเดินทางยาวไกลในช่วงที่อาหารขาดแคลน

เชื่อในเรื่องความหวัง

แต่ความเป็นจริงที่พบ คล้ายจะทำให้เห็น “ในแง่ร้าย”

แต่ก็เถอะ บทเรียนจากสัตว์ป่าทำให้รู้ว่า ในแง่ร้ายนั้น

ยังมีความหวัง

หวังว่า วันหนึ่งสารที่หลายๆ คนพยายามสื่อ จะส่งถึงผู้รับ •