กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย : คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย

: คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (3)

 

“…ธรรมดาวิศวกแล้วเขาคงรังเกียจที่จะให้ใครมาเรียกเขาว่าสถาปนิก ตัวฉันเอง เขาจะให้เข้าสโมสรนายช่าง ฉันยังไม่กล้าเล่นด้วยเพราะฉันถือตัวว่าฉันเป็นสถาปนิก…”

(ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร)

 

ดังที่กล่าวไปในสัปดาห์ก่อนแล้วว่า ราวทศวรรษ 2470 (อันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของกำเนิดวิชาชีพสถาปนิก) มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ทำงานในวิชาชีพที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า “สถาปนิก” ได้สมัครเป็นสมาชิกของ “สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม” (สมาคมซึ่งส่วนใหญ่ของสมาชิกคือกลุ่มคนที่ทำงานในวิชาชีพที่เรียกกันในปัจจุบันว่า วิศวกร) เพราะในช่วงเวลานั้น สำนึกของวิชาชีพสถาปนิกที่แยกตัวออกมาต่างหากยังมิได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างจริงจัง

ความคลุมเครือที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่าง “สถาปนิก” กับ “นายช่าง” และ “วิศวกร” จะเริ่มถูกนิยามอย่างแยกขาดจากกันชัดเจนผ่านข้อเขียนหลายชิ้นของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร นักเรียนไทยรุ่นบุกเบิกที่มีโอกาสได้ไปเรียนวิชาสถาปัตยกรรมโดยตรงมาจาก ?cole des Beaux-Arts ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงราวทศวรรษที่ 2450

ม.จ.อิทธิเทพสรรค์เป็นสถาปนิกที่มีผลงานออกแบบชิ้นสำคัญหลายชิ้น เช่น พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล แต่นอกจากงานออกแบบแล้ว ท่านยังเป็นนักเขียนที่มีบทความชิ้นสำคัญต่อวงการสถาปัตยกรรมหลายชิ้น ซึ่งเกือบทั้งหมดมีเนื้อหาเน้นไปที่การตีกรอบและสร้างนิยามของความเป็นสถาปนิก และสถาปัตยกรรม ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิยามว่า สถาปัตยกรรม คือ ผลรวมของศาสตร์ 2 ประเภทเข้าด้วยกัน คือ วิทยาศาสตร์+ศิลปะ โดยท่านได้เขียนเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง (ภายหลังถูกนำมารวมเล่มเป็นหนังสือชื่อ “เรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม”) ว่า

“…สถาปัตยกรรม หมายถึง ศิลปและวิทยาแห่งการก่อสร้างที่เฉลียวฉลาด และประกอบทำขึ้นด้วยศิลปลักษณะ…”

หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร (ซ้าย) และนารถ โพธิประสาท (ขวา)
ที่มา : หนังสือ สถาปนิกสยาม : พื้นฐาน บทบาท ผลงาน และแนวคิด (พ.ศ.2475-2537)

นอกจากการนิยามตนเองหรือวิชาชีพของตนว่าคืออะไรแล้ว อีกกลวิธีหนึ่งที่ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์นิยมใช้เพื่อชี้ให้เห็นความเป็นตัวตนของวิชาชีพตนเอง คือการนิยามคนอื่น (วิชาชีพอื่น) ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะวิชาชีพ วิศวกร (ซึ่ง ณ ขณะนั้น เป็นวิชาชีพที่ซ้อนทับกันอยู่กับสถาปนิก) ดังตัวอย่างข้อเขียนหลายครั้ง ดังนี้

“…สถาปนิก คือ ผู้ชำนาญในศิลปและวิทยาแห่งการนฤมิตคิดออกแบบและก่อสร้าง และวิศวก คือ ผู้ชำนาญในศิลปและวิทยาในวิชาเมคานิกในการก่อสร้างและเครื่องยนต์…การให้กำเนิดนั้น เริ่มต้นในสมอง ในจิตต์และในดวงจิตต์ (Brain, Mind, Spirit) ในอาการที่คิดเห็นเป็นรูปขึ้นก่อน (Imagination) เป็นอาการกระทำขั้นต้นของช่างศิลป คือ สถาปนิก การกระทำจากมูลเหตุและตัวเลข (Facts & Figures) เป็นวิธีการของวิศวก…”

“…สถาปนิกมีหน้าที่ทำการก่อสร้างด้วยอาการ ‘นฤมิต’ คิดให้กำเนิดแก่งานให้สดชื่น ‘เป็นทำนองใหม่’ ฝ่ายวิศวกมีหน้าที่หาวิธีกระทำการงานที่มุ่งฉะเพาะในส่วนที่เป็นประโยชน และประหยัด คือ หมายถึง ‘วิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปศาสตร์’ ฝ่ายสถาปนิกนั้น หมายถึง ‘ศิลปะศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์’…”

ตามทัศนะของ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ สถาปัตยกรรม คือ “สิ่งก่อสร้าง+ศิลปะ” หรือ “วิทยาศาสตร์+ศิลปะ” และมีแต่สถาปนิกเท่านั้นที่จะทำขึ้นได้

แนวคิดนี้ได้รับการหนุนเสริมเป็นอย่างดีจาก นารถ โพธิประสาท สถาปนิกไทยยุคบุกเบิกอีกท่านที่ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (ต่อมาได้เข้ามามีบทความสำคัญในการก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งแรกของไทยที่ทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี) โดยนารถได้เคยเขียนบทความขยายไอเดียนี้ลงใน “จดหมายเหตุสมาคมสถาปนิกสยาม” เมื่อ พ.ศ.2477 ความตอนหนึ่งว่า

“… ‘สถาปัตยะกรรม’ บางทีเข้าใจกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ของการก่อสร้างบ้านเรือนหรือถาวรวัตถุที่ได้ก่อสร้างขึ้นเช่นโบราณวัตถุเป็นพะยาน หรือเป็นชะนิดของตึกรามบ้านเรือน ความเข้าใจเหล่านี้ยังไม่เป็นของที่ถูกต้องทีเดียว และไม่ใกล้เคียงกับคำแปลเลย…เมื่อพูดถึงตึกรามบ้านเรือนที่เป็นงานสถาปัตยะกรรม จะแตกต่างกับการก่อสร้างที่ให้เป็นตามบุญตามกรรม, มิได้เล็งถึงความมั่นคงของการก่อสร้างอย่างเดียว, เล็งถึงความคิดอ่านที่ปรากฏที่ตัวตึก…ในขั้นนี้อาจรวมความได้ว่าสถาปัตยะกรรม ก็คือ อารฺทของการคิดออกแบบแผนผัง กับวิทยาศาสตร์ของการก่อสร้าง มารวมกันเข้า…”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าเราจะตัดสินว่าไหนเป็นสถาปัตยะวัตถุ และไหนไม่เป็น เราจะต้องอาศัยหลักบางอย่างเป็นเครื่องวินิจฉัย…สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะใช้หลักวินิจฉัยได้ก็คือ การก่อสร้างที่เป็นอารฺทให้ความเบิกบานแด่คนทั่วไป และมีคุณสมบัติเหมือนกับความสวยของธรรมชาติ…”

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่กลุ่มสถาปนิกพยายามนิยามว่า สถาปัตยกรรม คือ วิทยาศาสตร์+ศิลปะ ซึ่งมีแต่สถาปนิกเท่านั้นที่ทำได้ น่าสนใจว่า สมาคมนายช่างฯ (กลุ่มวิศวกรยุคแรก) กลับมิได้มองตนเองว่า เป็นเพียงผู้ชำนาญแต่เรื่องวิทยาศาสตร์การก่อสร้างแต่เพียงอย่างเดียว (ตามแบบที่สถาปนิกพยายามจะนิยามให้) แต่งานของพวกวิศวกรนั้นแท้จริงแล้วก็ประกอบด้วยคุณลักษณะทางศิลปะไม่ต่างกัน ดังที่หลวงวิเทตยนตรกิจ เขียนไว้ในวารสาร “ข่าวช่าง” ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันว่า

“…การช่างเป็นวิทยาศาสตร์ และศิลป…เหตุที่การช่างเป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลป เพราะว่า การช่างต้องอาศัยวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ว่าด้วยความรู้อันแท้จริงของกฎธรรมชาติ และต้องอาศัยศิลปอีกอย่างหนึ่งที่ต้องพึ่งความชำนาญและฝีมือในการกระทำด้วย…นายช่างที่ดีจะมีแต่ความรู้เลิศอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความชำนาญและฝีมือดีประกอบอีกส่วนหนึ่ง…”

การแย่งชิงความเป็นศิลปะระหว่างกลุ่มสถาปนิกและวิศวกรจากตัวอย่างข้างต้น สะท้อนให้เราเห็นว่า สถาปนิกยุคแรกประสบปัญหาพอสมควรในการกำหนดนิยาม “ตัวตน” ของวิชาชีพตัวเองในทางสังคม เพราะไม่สามารถแยกได้ว่า สถาปนิก กับวิศวกร หรือนายช่าง นั้นแตกต่างกันอย่างไร และสถาปัตยกรรม กับอาคาร คือสิ่งเดียวกันหรือไม่

และความคลุมเครือดังกล่าวนี้เองที่ได้สร้างความหงุดหงิดรำคาญให้แก่ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ จนถึงกับเขียนระบายเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…การที่บ้านเมืองทั้งๆ ประเทศ รกรุงรังเกะกะไปด้วย ‘อาคาร’ อันเป็นสิ่งที่น่าละอายขายหน้าแก่ชนชาติอื่นเขาเป็นหนักหนา…เพราะการกระทำอย่างไร้ความสอดส่องไหวพริบ คิดล่วงหน้าอันสมควร…และ ‘อาคาร’ และตึกเจ้ากรรมเหล่านี้บางแห่ง ก็ช่างแน่นหนาแข็งแรงทนทานเสียนี่กระไร เพราะเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยความรู้เทคนิคพอสมควร โดย วิศวก, ผู้รับเหมา ข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนแทบทุกชั้นแทบทุกตำแหน่งต่างคนต่างก็เป็นผู้ชำนาญกันไปหมด…”

และท่านยังได้สรุปอย่างเด็ดขาดเอาไว้ด้วยว่า

“…วิศวก ไม่ปรากฏว่าเคยกลายเป็นผู้วิเศษทางสถาปัตยการกับเขาเลย…”

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการต่อสู้แย่งชิงความหมายและการนิยามพื้นที่วิชาชีพของตนเองอย่างมากในช่วงแรก แต่สุดท้ายวงการสถาปนิกก็ได้สถาปนาความเชื่อว่าด้วย “สถาปัตยกรรม คือ วิทยาศาสตร์+ศิลปะ” ได้สำเร็จ และสามารถทำให้ให้สังคมไทยกระแสหลักคิดว่า วิชาชีพวิศวกร เป็นวิชาชีพที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะเท่าใดนัก เป็นแค่เพียงกลุ่มที่สร้างงานบนฐานของวิทยาศาสตร์ การคำนวณ และเป็นพวกประโยชน์ใช้สอยนิยม เพียงอย่างเดียว โดยไม่ค่อยสนใจ (หรือไปจนถึงว่า ไม่มีความรู้) ทางด้านศิลปะ

ซึ่งน่าแปลกเช่นกันที่กลุ่มวิชาชีพวิศวกรในเวลาต่อมา ก็ดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจนักต่อการมีภาพลักษณ์ที่เป็นกลุ่มคนไร้ซึ่งศิลปะเช่นนี้ และสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นอาณาบริเวณหรือขอบเขตสำคัญที่แยกวงการสถาปนิกออกจากวงการวิศวกรในสังคมไทยปัจจุบัน

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า การแยกขาดเช่นนี้มิใช่รูปแบบสากลแต่อย่างใด ตัวอย่างที่สะท้อนชัดเจนคือ ในหลายๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและบางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย การเรียนวิชาสถาปัตยกรรมกับวิศวกรรมถูกรวบรวมอยู่ในคณะวิชาเดียวกันคือ Faculty of Engineering มิได้แยกออกเป็น 2 คณะวิชาเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมไทย

แน่นอน เราคงไม่ปฏิเสธว่าความแตกต่างในด้านเนื้องานระหว่างสองวิชาชีพนี้มีอยู่จริง แต่การแบ่งแยกตัดขาดออกจากกันอย่างชัดเจนเช่นที่เป็นอยู่ในสังคมไทยดูจะเป็นลักษณะเฉพาะที่สะท้อนการต่อสู้แย่งชิงการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวงการต่างๆ ของสังคมไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจากสยามเก่าสู่สยามใหม่ได้พอสมควร