คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค 31 ปีอิสรภาพจากโซเวียต วันนี้ยูเครนเจอศึกยืดเยื้อกับรัสเซีย (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค

31 ปีอิสรภาพจากโซเวียต

วันนี้ยูเครนเจอศึกยืดเยื้อกับรัสเซีย (1)

 

ยูเครนและรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานับพันปี ตั้งแต่อาณาจักรเคียฟรุส (Kyivan Rus) ซึ่งเป็นรัฐแห่งแรกของชาวสลาฟ ต้นกำเนิดของทั้งประเทศยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเคียฟ (Kiev) เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบันเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเคียฟรุส

ในปี ค.ศ.988 เจ้าชายวลาดิมีร์ที่ 1 (Vladimir I) ผู้เป็นเจ้าเหนือชาวรุสทั้งปวง อันรวมถึงแคว้นนอฟโกรอด (Novgorod) หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน ทรงเข้าพิธีรับศีลล้างบาปและได้เปลี่ยนชาวรุสให้เป็นคริสตชนซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) เคยกล่าวว่า “ทั้งชาวรัสเซียและยูเครนต่างเป็นหนึ่งเดียวกัน (Russians and Ukrainians were one people – a single whole) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

ดินแดนในยูเครนได้กลายเป็นที่แย่งชิงของหลากหลายมหาอำนาจในหลายศตวรรษต่อมา เมื่ออาณาจักรเคียพรุสล่มสลายจากการบุกรุกของกองทัพมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 และการบุกรุกดินแดนจากทางตะวันตกโดยอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนียในคริสต์ศตวรรษที่ 16

การต่อสู้แย่งดินแดนระหว่างเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) และอาณาจักรซาร์รัสเซีย (Tsardom of Russia) ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นจุดสิ้นสุดในการแบ่งแยกดินแดนยูเครนออกเป็นสองฝั่งซึ่งกินเวลานานกว่าร้อยปี โดยฝั่งทิศตะวันตกเป็นของเครือจักรภพและทิศตะวันออกเป็นของอาณาจักรซาร์รัสเซีย มีแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) กั้นระหว่างสองฝั่ง

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย

ในปี ค.ศ.1793 ยูเครนฝั่งตะวันตกก็ถูกผนวกกับจักรวรรดิรัสเซีย นำไปสู่การใช้นโยบาย “การทำให้เป็นรัสเซีย” (Russification) ซึ่งห้ามการใช้และสอนภาษายูเครน ส่วนประชากรก็ถูกกดดันให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ (Orthodox)

คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่ยูเครนต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัสที่สุดยุคหนึ่ง เนื่องจากเกิดการปฏิวัติรัสเซียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ.1917 ดินแดนยูเครนส่วนใหญ่จึงถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต (Soviet Union) หลังผ่านการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองปี ค.ศ.1922

ต่อมา ภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำโซเวียตในช่วงปี ค.ศ.1930 ประชากรจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานในฟาร์มรวม ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวยูเครนหลายล้านคน จนมีนโยบายให้นำประชากรชาวรัสเซียและชนชาติอื่นๆ ในสหภาพโซเวียตมาเพิ่มพลเรือนในยูเครนทางตะวันออก ซึ่งประชากรเหล่านั้นไม่พูดภาษายูเครนและไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นใดๆ

มรดกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นดั่งรอยร้าวแบ่งแยกชาวยูเครน ยูเครนทางตะวันออกกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัสเซียอยู่เสมอ ในขณะที่ยูเครนตะวันตกมักอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจของยุโรป ความแตกต่างนี้ทำให้ชาวยูเครนทางตะวันออกมีแนวโน้มสนับสนุนนักการเมืองที่มีจุดยืนเข้าข้างรัสเซีย

ในทางกลับกัน ยูเครนตะวันตกมักสนับสนุนนักการเมืองที่เข้าข้างชาติตะวันตก ขณะที่ชาวยูเครนตะวันออกมักพูดภาษารัสเซียและนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ (Orthodox) แต่ชาวยูเครนตะวันตกมักพูดภาษายูเครนและนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

เด็กถ่ายรูปอาคารศูนย์ธุรกิจที่เสียหายหลังจากรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธตอนเช้า วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 ภาพโดย มิโคไลฟ (Mykolaiv)

ในปี ค.ศ.1991 เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่ละประเทศแยกกันไปมีเอกราชของตัวเอง และยูเครนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น

แต่ความแตกต่างยังคงเป็นอุปสรรคของความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศเนื่องจากยังมีชาวรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ในยูเครนโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออก

ทั้งนี้ ยูเครนกลายเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์นัก และมีนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนไปมาเป็นช่วงๆ ระหว่างการสนับสนุนยุโรป สลับกับการสนับสนุนรัสเซีย

ช่วง 10 ปีแรกหลังจากได้รับเอกราช ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ชาติตะวันตก หันไปให้ความสำคัญกับสหรัฐ และชาติยุโรป พยายามหลีกหนีอิทธิพลของรัสเซีย

ขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ยอมรับเอกราชอย่างสมบูรณ์ของยูเครน เนื่องจากรัสเซียมองยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองมาโดยตลอด และเรียกยูเครนว่า “Little Russia”

จนเมื่อปี 2010 ยูเครนก็หันไปให้ความสำคัญรัสเซียอย่างเห็นได้ชัดภายใต้การนำของประธานาธิบดีวิกตอร์ ยากูโนวิช (Viktor Yanukovych) ทำให้ประชาชนชาวยูเครนนับแสนคนออกมาประท้วงขับไล่ประธานาธิบดียากูโนวิชในปลายปี ค.ศ.2013 จากการคว่ำแผนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประท้วงมองว่าเท่ากับเป็นการปฏิเสธโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเครน

มีการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงจนทำให้สถานการณ์บานปลายเป็นเหตุการณ์นองเลือด

ในที่สุดประธานาธิบดียากูโนวิชได้ถูกถอดถอนและหลบหนีออกนอกประเทศ ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวยูเครน

หญิงชราวัย 86 ปี ในบ้านของเธอในมาคาริฟ (Makariv) หลังถูกรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022

ในปี 2014 รัสเซียจึงเข้ายึดครองและผนวกรวมดินแดนไครเมีย ซึ่งอยู่ทางตอนใต้และเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน หลังผลการลงประชามติของชาวไครเมีย ได้ข้อสรุปเป็นเสียงข้างมากถึง 96% ว่า ยูเครนจะประกาศเอกราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

เป็นเหตุให้ดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนคือ โดเนตสค์และลูฮานสค์ (Donetsk/Luhansk) พากันทำประชามติเพื่อประกาศอิสรภาพจากยูเครนบ้าง

แต่กลับกลายเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบัส (Donbas) นี้อย่างต่อเนื่อง

จนมาถึงล่าสุด ที่รัสเซียประกาศรับรองความเป็นรัฐอิสระของทั้งสองดินแดนด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์-ลูฮานสค์ (People’s Republic of Donetsk/Luhansk) ในภูมิภาคดอนบัส และนำทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในสองดินแดนดังกล่าว

ในทางภูมิศาสตร์ ยูเครนตั้งอยู่ระหว่างรัสเซียและชาติยุโรปต่างๆ ไม่ต่างจากความเป็นรัฐกันชน ที่ผ่านมา การที่ยูเครนพยายามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต (NATO) โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ซึ่งมีสาระสำคัญในสนธิสัญญาว่า “หากประเทศพันธมิตรนาโตถูกรุกรานหรือโจมตีโดยประเทศนอกกลุ่มสมาชิก ประเทศพันธมิตรทั้งหมดต้องยื่นมือเข้าปกป้อง” ทำให้รัสเซียรู้สึกถึงภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศตน เพราะจะถูกล้อมด้วยชาติสมาชิกนาโตที่ดาหน้ารุมมาถึงหน้าประตูบ้าน ทั้งนี้ ความพยายามเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญหรือเป็นดั่งเชื้อไฟที่เร่งให้รัสเซียแสดงท่าทีแข็งกร้าวและตอบโต้ยูเครนอย่างรุนแรง

ดังที่ปรากฏในสถานการณ์ปัจจุบัน

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย

ในขณะที่ใกล้เข้าสู่เดือนที่หก นับจากปฏิบัติการทางทหารของกองทัพรัสเซียในยูเครนซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และวาระครบรอบ 31 ปีของการประกาศเอกราชหรือวันชาติของยูเครน ซึ่งตรงกับวันที่ 24 สิงหาคมนี้

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย เปิดเผยว่า

“การเข้ารุกรานเพื่อขยายขอบเขตของรัสเซียในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป ยิ่งกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัสเซียยังได้สารภาพว่า ตั้งใจที่จะยึดครองดินแดนยูเครนให้มากขึ้น ทั้งยังปฏิเสธการเจรจาต่อรอง โดยมุ่งเน้นไปที่การทำสงครามและการก่อการร้าย”

“รัสเซียในวันนี้เป็นอย่างไรและอะไรคือเบื้องหลังของสงครามครั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์ได้ยากมากในบทความเดียว ลองพิจารณาจากเหตุการณ์ดังต่อไปนี้”

ทหารปืนใหญ่ กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ ขณะทำการยิงด้วยปืนต่อต้านรถถัง MT-12 Rapir เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2022

“เมื่อศตวรรษที่ 13 ราชรัฐมอสโก (จักรวรรดิรัสเซียตั้งแต่ยุค 1720) ในฐานะข้าราชบริพารของโกลเดนฮอร์ด (Golden Horde) มักจะดำรงอยู่ด้วยการพิชิตดินแดนใหม่ โดยมีจุดประสงค์ในการปล้นสะดมและนำผู้คนของชาติที่เอาชนะได้มาเป็นทาส ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียได้ขโมยผู้คน วัฒนธรรม เทคโนโลยี และแม้แต่ประวัติศาสตร์”

โกลเดนฮอร์ดเป็นคำที่สลาฟตะวันออกใช้เรียกมองโกลที่ต่อมากลายเป็นกลุ่มชนเติร์ก มุสลิม อาณาจักรข่าน ก่อตั้งขึ้นทางตะวันตกของจักรวรรดิมองโกลหลังจากการรุกรานของมองโกลในรุสในคริสต์ศตวรรษ 1240 (ปัจจุบัน คือ บริเวณรัสเซีย, ยูเครน, มอลโดวา, คาซัคสถาน และคอเคซัส)

“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ รูปปั้นของเจ้าชายแห่งเคียร์ฟ (Kyivan prince) หรืออนุสาวรีย์ของนักบุญวลาดิมีร์ หรือวลาดิมีร์มหาราช (Vladimir the Great) ได้ถูกนำมาตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเครมลิน ในกรุงมอสโกเมื่อปลายปี 2016 ทำให้ชาวยูเครนรู้สึกเหมือนถูกขโมยอัตลักษณ์ประจำชนชาติของตัวเองไป”

นักบุญวลาดิมีร์ หรือวลาดิมีร์มหาราช (Vladimir the Great) คือเจ้าผู้ครองแคว้น “เคียฟ” เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบัน พระองค์คือผู้ที่สามารถรวบรวมแคว้นเคียฟกับนอฟโกรอด (Novgorod) เข้าเป็นหนึ่ง และเป็นผู้ที่เปลี่ยนให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นอาณาจักรแห่งคริสเตียนออร์โธดอกซ์

“รัสเซียและผู้นำล้วนมีชีวิตล้าหลังอยู่หลายศตวรรษ ต่างกับชนชาติสมัยใหม่ส่วนใหญ่ ในโลกปัจจุบันที่มีการค้าขายและความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นตัวกำหนดชีวิตของเรา เกิดเทคโนโลยีชั้นสูง การเดินทางข้ามทวีป (และการเดินทางสู่ดาวเคราะห์ดวงใหม่ในเร็ววันนี้) ที่ซึ่งการติดต่อกับผู้เป็นที่รักของเราที่อยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตรสามารถทำได้ทันทีกลายเป็นบรรทัดฐาน”

“แต่รัสเซียยังคงอยู่ในกระบวนทัศน์ก่อนศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งกระบวนทัศน์นี้ไม่มีที่สำหรับประเทศชาติ สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพดังในโลกปัจจุบัน แต่เป็นกระบวนทัศน์ที่ความโหดร้ายมีความสำคัญมากกว่าชีวิตมนุษย์ ที่ซึ่งอำนาจของประเทศ ถูกกำหนดโดยพื้นที่และจำนวนทหาร”

“ทุกวันนี้ ภาพทหารรัสเซียเข้าขโมยเครื่องใช้ในบ้าน ตลอดจนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ และสิ่งของอื่นๆ จากยูเครน เท่ากับเป็นการยืนยันว่า รัสเซียยังคงยึดมั่นใน ‘ประเพณี’ แบบเดิมของตน แม้ว่าโลกจะมีการพัฒนามาหลายศตวรรษแล้วก็ตาม” •