’13 ตุลา 59′ วันเปลี่ยนชีวิต “วีระศักดิ์ ขอบเขต” ผู้อ่านประกาศสำนักพระราชวัง ฉบับประวัติศาสตร์

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อ 13 ตุลาคม 2560 ในมติชนสุดสัปดาห์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมปี 2559 เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าเราจะได้เป็นคนทำหน้าที่นี้ ต้องประกาศในสิ่งที่ทุกคนไม่อยากได้ยิน ผมทั้งเครียด ทั้งกดดัน และในใจก็ขอพรพระองค์ท่านให้การทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตครั้งนี้ลุล่วงไปได้ คำบอกเล่าของ “วีระศักดิ์ ขอบเขต” ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ ช่อง 11 (NBT) ที่เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ ที่เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อ่านประกาศสำนักพระราชวังเรื่องในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่คนไทยทั้งประเทศต้องทุกข์ที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2559

แม้ว่าเหตุการณ์นี้ผ่านมาแล้ว 1 ปี แต่เป็นวันที่วีระศักดิ์ไม่มีวันลืม

ย้อนถึงที่มาที่ไปที่ต้องทำหน้าที่ในวันนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า วีระศักดิ์เล่าว่า

“เวรประจำอ่านข่าวของผมจะต้องอ่านข่าวภาคค่ำ เวลา 22.00 น. ผมจะเดินทางถึงสถานีประมาณ 20.00 น. แต่ว่าวันนั้นรู้สึกว่าจะมีข่าวลือเยอะหลากหลายกระแส เลยคิดว่าต้องเข้าสถานีเร็วหน่อย เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัวอ่านข่าวให้ถูกต้องแม่นยำที่สุด”

“วันนั้นผมถึงสถานีตั้งแต่เวลา 18.00 น. พอผู้อำนวยการศูนย์ข่าว เห็นเราเข้ามาที่สำนักงาน เลยเรียกให้ไปพบและบอกให้สแตนด์บายไว้ หากมีแถลงการณ์จากสำนักพระราชวัง นี่คือสิ่งที่เรารู้ ณ ตอนนั้น อย่างไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน”

สิ่งหนึ่งที่ผมถาม ผอ.ศูนย์ข่าวไป คือ ต้องเป็นผมหรือ?

ผอ. บอกว่าเรามีความพร้อมที่สุด เพราะว่าเราอ่านข่าวพระราชสำนักอยู่แล้ว และสามารถควบคุมตัวเองและทำหน้าที่ได้ดีกว่าน้องๆ ในสถานี ณ เวลานั้น

นั่นคือเหตุผลที่ ผอ. บอกกับผม

 

 

ผมมีเวลาเตรียมตัวไม่ถึง 30 นาที ทั้งเรื่องแต่งตัวและทำสมาธิต่างๆ ผมไม่รู้ว่าจะมีโทรสารที่เป็นทางการมาที่สถานีเมื่อไหร่

“ระหว่างที่นั่งรอสแตนด์บายเป็นช่วงที่ผมต้องทำสมาธิอยู่ที่โต๊ะกลางของกองบรรณาธิการ เพื่อให้เราพร้อมที่สุดในการทำหน้าที่ครั้งนี้

หลายคนสงสัยว่าผมเห็นประกาศก่อนนานหรือไม่ ต้องตอบว่าเป็นเวลาไม่กี่นาที ที่เปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนความทุกข์ ความเศร้าโศก ให้แก่คนไทยทั้งประเทศ

ทันทีที่เอกสารโทรสารจากสำนักพระราชวังมา ผมถูกเรียกไปว่าประกาศมาแล้ว ให้ไปเข้าห้องสตูดิโอ และอ่าน

ช่วงเวลาเพียงแค่รับประกาศแล้วเดินจากจุดรับไปเข้าห้องส่งเพื่อเตรียมออกอากาศ ผมมีเวลาเห็นประกาศเต็มๆ ช่วงระหว่างรอให้ทุกช่องเข้าสัญญาณพร้อมกัน 2-3 นาที แค่นั้นเอง นั่นคือสิ่งที่ผ่านตาผม

ทุกอย่างมันเกิดขึ้นสดๆ แทบจะพร้อมๆ กับที่ทุกคนได้เห็นผ่านจอโทรทัศน์ก็ว่าได้ ท่ามกลางความกดดันอย่างมากในการทำหน้าที่ตรงนี้ รวมทั้งมีความเครียดด้วย”

บรรยากาศในสตูดิโอและภายในกองบรรณาธิการ เต็มไปด้วย “ความเงียบงัน” ทุกคนได้แต่มองหน้ากัน บางคนน้ำตาไหลหลังจากที่ผมถูกสั่งให้เตรียมตัว เราก็เริ่มเสียใจตั้งแต่นาทีนั้น

แต่พอคิดถึงหน้าที่การงานที่เขามอบให้ เราต้องทำหน้าที่นี้ คิดแต่เพียงว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ โดยจรรยาบรรณของผู้ประกาศข่าวที่มักจะถูกสอนอยู่เสมอ ตั้งแต่ตอนฝึกตอนอบรมว่าการอ่านข่าวต้องไม่แสดงความรู้สึกอะไร แต่ว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก

ทุกคนในสถานีจะรู้ว่าผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะสนุกสนาน มีคนมาคุยมาเล่นด้วยตลอดเวลา

แต่บรรยากาศวันนั้นทุกคนอยู่ในความเงียบมากๆ ไม่มีใครอยากให้มีโทรสารมา ไม่มีใครพูดคุยกัน เพราะถ้ามีจะต้องมีคนร้องไห้ ฉะนั้น ทุกคนจะพยายามทำให้ผมมีสมาธิมากที่สุด

ประกาศที่ได้รับ ผมพยายามที่จะกวาดสายตาดูให้ครบทุกบรรทัด เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดทั้งเรื่องของพระนามและเรื่องของเหตุการณ์ที่สำนักพระราชวังต้องการที่จะประกาศให้ประชาชนคนไทยและคนทั่วโลกได้รับรู้ รวมถึงตั้งสติและทำสมาธิให้ดีที่สุด

ระหว่างนั้นในใจนึกเสมอว่าอยากจะขอพรจากพระองค์ท่าน ว่าขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

จากนั้นพอสัญญาณพร้อม ผู้กำกับรายการบอกว่าพร้อม 3, 2 คิว เราก็เริ่มอ่าน ความรู้สึกขนาดนั้น มันประเดประดัง มันกดดัน มันเครียด ว่าถ้าเราทำไม่ได้ ถ้าเราหลุด เราทำไม่ดี หรือเราร้องไห้ออกไป ส่วนตัวเราจะเป็นคนที่ต่อไม่ติดหากร้องไห้ไปแล้วยากที่จะดึงกลับมา เพราะนี่คือสิ่งที่หลายคนไม่อยากจะรับรู้ เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศ ถ้าเราทำไม่ได้ ไม่ดี มันจะเสียหาย แล้วมันจะเสียหมดเลย

นาทีตอนที่อ่านนั้นทำได้อย่างเดียว คือกลืนน้ำลาย ลืมตาให้กว้างๆ อ้าปากกว้างๆ เพื่อจะอ่านข้อความต่างๆ ให้เสร็จ

มันคือความกดดันและความเครียดมาก พออ่านเสร็จแล้ว แล้วกล้องตัด เพื่อเข้าสู่สารคดีพระองค์ท่าน ผมฟุบร้องไห้อยู่กับโต๊ะ

ผมร้องแบบหนักมาก แล้วทุกคนในสตูดิโอเขาก็ร้องไห้ หลังที่เราประกาศเสร็จ

แต่ระหว่างที่เราประกาศ ทุกคนจะก้มหน้าหมด พอเสร็จสิ้นแล้วเห็นแล้วร้องไห้

ผมได้แต่ถามตัวเองว่านี่มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วหรือ นี่คือบรรยากาศก่อนและหลังสิ่งที่ทุกคนเห็นบนหน้าจอ

ความทรงจำต่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ผมรู้สึกว่านี่คือการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตแล้วของการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในชีวิตการทำงาน ผมเองไม่เคยคาดฝันว่าตัวเองจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่นี้

และไม่เคยคิดว่าการทำหน้าที่นี้มันจะทำให้ทุกคนนึกถึงเหตุการณ์วันแห่งความเสียใจของคนไทยทั้งประเทศ กลายเป็นทุกคนจะจำได้ว่าเราคือผู้ประกาศความโศกเศร้าครั้งนี้

นี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิตและการทำงานของผม ทำให้เรารู้สึกว่า งานที่เราทำ เป็นงานที่สูงสุดในชีวิตของเราแล้ว คงจะไม่มีงานไหนอีกแล้วที่จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเกียรติต่อตัวเรา

ดังนั้น พอเรามีโอกาสทำหน้าที่เช่นนี้ เราได้เรียนรู้ว่าเวลาเราใช้ชีวิตหรือจะเดินทางไปไหน ถ้ามีคนเห็น คนจำได้

คนที่เขาจะทักสิ่งแรกที่เขาจะทัก นี่คือคนที่ประกาศข่าวในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เปลี่ยนชีวิตผมไปบางส่วนเหมือนกัน

จากวันนั้นมาผมต้องมีสติมากขึ้น ระวังตัวเองมากขึ้น คำว่าระวังตัวเองในที่นี้ หมายความว่าถ้าเกิดเราไม่ได้ระวัง หรือไม่มีสติในการใช้ชีวิต มันจะเสียหายต่อหลายๆ คน หากเราทำอะไรพลาด คนก็จะนึกได้ว่า “อ๋อ! คนนี้นะหรือ ที่ทำหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่”

ดังนั้น ทุกวันนี้ผมพยายามมีสติการดำเนินชีวิตให้มากขึ้น นำทั้งพระบรมราโชวาท แม้กระทั่งบทเพลงพระราชนิพนธ์ ถ้าเราฟังกันดีๆ จะมีคติสอนใจในเพลงพระราชนิพนธ์เกือบทุกเพลง ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในแต่ละช่วงของชีวิตได้

หลักสำคัญที่ผมน้อมนำมา คือสิ่งที่พระองค์พระราชทานไว้ในพระบรมราโชวาท ใจความว่า สิ่งที่คนเราจะต้องมี คือ “ความดี” จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทุกๆ อย่าง

พระองค์ท่านเคยมีพระราชดำรัสว่าความดีเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ว่าอย่าท้อในการทำความดี เพราะไม่อย่างนั้น คนจะหันไปทำชั่วกันหมด นั่นคือสิ่งที่ผมยึดหลักมาตลอด และอย่าลืมที่จะทำ บางทีความดีไม่ใช่การที่จะต้องทำอะไรใหญ่โต บางทีความดีเกิดขึ้นจากความมีน้ำใจ ผมคิดว่านิยามของคำว่าความดีกว้างมาก เราทุกคนต้องตระหนักและนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำและเป็นพสกนิกรที่ดีของพระองค์ท่านได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผมระลึกถึงพระองค์ท่านเสมอ ผมเองได้มีโอกาสเข้าไปกราบพระองค์ท่านหลายครั้ง แต่สิ่งที่ผมตั้งมั่นปณิธานไว้คือ ในช่วงที่ผ่านมามีงานต่างๆ ที่เข้ามา เป็นงานรำลึกถึงพระองค์ท่าน

ทั้งหมดผมขอกับทีมงานว่าขอให้บอกมา ผมยินดี เต็มใจจะไปทำในทันที ผมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และสุดความสามารถ

ทั้งการที่มีโอกาสได้เข้าไปกราบที่พระบรมมหาราชวัง ทุกครั้งที่มีโอกาสผ่านไปผ่านมาผมจะยกมือกราบและขอพรพระองค์ท่านตลอดเวลา ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านที่ผมสามารถทำได้ ผมยินดีและเต็มใจช่วยอย่างเต็มที่เสมอ

สิ่งหนึ่งที่ตั้งใจหลังจากนี้ต่อไปคือ ผมจะอ่านข่าวพระราชสำนักต่อไปเรื่อยๆ เพราะอยากเห็นถึงความทุ่มเทของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ในการทรงงานเพื่อบ้านเมือง เพื่อประเทศชาติ พสกนิกรของพระองค์ท่าน ทำให้ผมเกิดความภาคภูมิใจที่ได้อ่านข่าวนี้

และตั้งใจที่อยากจะอ่านข่าวในพระราชสำนักสืบต่อไป