สงครามในยุ้งฉางของโลก สงครามระเบิดในยุ้งฉาง/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามในยุ้งฉางของโลก

สงครามระเบิดในยุ้งฉาง

 

ตามรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) การเปิดฉากสงครามรัสเซีย รุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ศกนี้ ส่งผลเฉียบพลันให้ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์อาหารโลกพุ่งขึ้นไปถึง 30% ในเดือนมีนาคมถัดมา (ดูกราฟทางซ้าย)

ในยามปกติ รัสเซียกับยูเครนส่งเมล็ดธัญพืชออกขายหลายล้านตันในตลาดโลก ทว่า ครั้นเกิดสงคราม ก็ยากแสนเข็ญที่จะส่งสินค้าเหล่านี้ออกไปได้ เมื่ออุปทานเมล็ดธัญพืชลดลง ราคาของมันย่อมพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

ครั้งล่าสุดที่ราคาเมล็ดธัญพืชสูงเกือบเท่าปัจจุบันเป็นเมื่อปี 2011 (ดูแท่งแดงในกราฟทางขวา) ตอนนั้นมันมีส่วนเกี่ยวพันกับภาวะแห้งแล้งใหญ่ในรัสเซีย และส่งผลสมทบให้กระแสการลุกฮือของมวลชนที่เรียกว่า “อาหรับสปริง” ปะทุขึ้น (https://www.bbc.com/thai/international-56043450) เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ อาหารกลายเป็นภาระหนักแก่ประชากร หลังมวลชนตูนิเซียลุกขึ้นสู้ก่อนเพื่อน อียิปต์อันเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในโลกอาหรับก็ลุกฮือเป็นแห่งที่สอง ตามมาด้วยลิเบีย ซีเรีย และเยเมน

ทุกวันนี้ก็กำลังเกิดเหตุไม่สงบในหลายประเทศ ที่เห็นเด่นชัดได้แก่ศรีลังกา คำถามคือโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การจลาจลเพราะความหิวโหยระลอกใหม่หรือเปล่า?

รัสเซียกับยูเครนมักได้สมญาว่าเป็น “ยุ้งฉางของโลก” ค่าที่สองประเทศนี้สนองสัดส่วนสำคัญของอาหารพื้นฐานหลายอย่างแก่ผู้คนบนโลกไม่ว่าข้าวสาลี (ผลิตรวมกัน 30% ของทั้งโลก) ข้าวโพด (20%) ข้าวบาร์เลย์ น้ำมันเมล็ดทานตะวัน (75-90%) เมล็ดเรพซีดที่ใช้สกัดน้ำมันพืชคาโนล่า เป็นต้น (https://www.springnews.co.th/news/822678)

ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์อาหารโลก : มีนาคม 2021-มีนาคม 2022 & ปี 1990-มีนาคม 2022, ข้อมูล FAO https://www.lemonde.fr/international/video/2022/05/22/ukraine-russie-la-guerre-peut-elle-provoquer-une-famine-mondiale_6127211_3210.html)

 

ส่งไม่ได้ขายไม่ออก

สําหรับยูเครนนั้น ปกติแล้วสินค้ากว่า 90% ของประเทศส่งออกทางเรือจากทะเลดำ ผ่านช่องแคบบอสพอรัสในตุรกี ไปลอดคลองสุเอซในอียิปต์ซึ่งเชื่อมต่อได้กับทั่วทั้งโลก

อย่างไรก็ตาม หลังสงครามปะทุต้นปีนี้ ปรากฏรายงานพบทุ่นระเบิดใต้น้ำกระจายอยู่ในทะเลดำ และท่าเรือหลักทุกแห่งของยูเครนต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากการสู้รบ แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลยูเครนก็หาทางขนส่งสินค้าออกไปทางรถไฟผ่านประเทศภาคีสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหลายแทน ทว่า ในสภาพที่ผู้ลี้ภัยสงคราม ทะลักหลั่งไหลจากยูเครนออกสู่ยุโรปถึง 5.8 ล้านคน (ข้อมูลสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติถึง 13 กรกฎาคมศกนี้ ดู https://data.unhcr.org/en/situations/ukraine) จึงพลอยทำให้เครือข่ายทางรถไฟคับคั่ง แน่นขนัดไปด้วย

หรือต่อให้ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าออกวิ่งได้ ก็ยังติดอีกปัญหาหนึ่งอยู่ดี กล่าวคือ ขนาดความกว้างของรางรถไฟ (track gauge) ในยูเครนกับโปแลนด์ที่มีพรมแดนติดต่อกันนั้นแตกต่างกัน (ในยูเครน = 1,520 มิลลิเมตร ส่วนในโปแลนด์ = 1,435 มิลลิเมตร) ทำให้ต้องขนถ่ายสินค้าจากขบวนรถไฟยูเครนมาบรรทุกในขบวนรถไฟโปแลนด์แทน ยิ่งเสียเวลาเข้าไปอีก

อาทิ เมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ ปรากฏว่ายูเครนส่งสินค้าเมล็ดธัญพืชออกได้ต่ำกว่าเดือนกุมภาพันธ์ก่อนหน้าถึงสี่เท่าตามคำกล่าวของรัฐมนตรีเศรษฐกิจยูเครนเอง

ส่วนสถานการณ์ในรัสเซียก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาการจำหน่ายกระจายอาหารให้หนักขึ้น ในฐานะประเทศผู้รุกราน รัสเซียถูกนานาประเทศตะวันตกเล่นงานด้วยมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งไปจำกัดเหนี่ยวรั้งการค้าขายกับต่างประเทศให้ลดน้อยถอยลง

กล่าวโดยสรุป สงครามรัสเซียรุกรานยูเครนอาจนำมาซึ่งความขาดแคลนอาหาร และเหนืออื่นใดคือ ดันราคาอาหารเช่นเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ ขึ้นสูงได้ มิเพียงเท่านั้น ข้าวโพดยังใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ด้วย ทำให้ราคาเนื้อสัตว์พลอยน่ากังวลพอๆ กัน

 

ยิ่งยืดเยื้อยิ่งย่ำแย่

ที่กล่าวมาเป็นเพียงขั้นตอนแรกของวิกฤตอาหาร สงครามในยูเครนกำลังจะสร้างสถานการณ์ที่ยิ่งย่ำแย่ในช่วงหนึ่งปีถึงปีครึ่งข้างหน้าเนื่องจากผลสืบเนื่องระยะยาวของการสู้รบต่อการผลิตอาหาร

ก่อนอื่นทางด้านยูเครน ในสถานการณ์สงคราม การรบพุ่ง ทิ้งระเบิด ยิงถล่มด้วยปืนใหญ่/จรวด และดักวางทุ่นระเบิด ฯลฯ ย่อมขัดขวางเกษตรกรจำนวนหนึ่งให้ทำงานไม่ได้ กระทรวงเกษตรยูเครนประเมินว่า ในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ จะไม่สามารถหว่านเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกบนหนึ่งในสามของพื้นที่การเกษตรได้ ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตลดน้อยถอยลงไปด้วยในช่วงหกเดือนถัดไป

ข้างรัสเซีย การถูกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจอาจพลอยทำให้ประเทศที่เหลือของโลกขาดสินค้าสำคัญอีกรายการไปได้แก่ปุ๋ยเคมีซึ่งผลิตขึ้นในรัสเซียราว 15% ของทั้งโลก สำหรับนานาประเทศที่พึ่งพาปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย เช่น บราซิลหรือสหรัฐอเมริกา การมีปุ๋ยเคมีใช้น้อยลงย่อมหมายถึงผลิตอาหารได้น้อยลงหรือทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้น สงครามในยูเครนจึงป่วนตลาดอาหารโลกให้สับสนวุ่นวายไปหมด เหนืออื่นใด มันจะยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาล้ำลึกกว่าที่ดำรงอยู่ก่อนแล้วให้หนักขึ้น

ทั้งนี้เพราะเอาเข้าจริง ราคาอาหารค่อยขยับไต่ขึ้นอย่างกึ่งคงเส้นคงวาต่อกันมาสองปีแล้ว (ดูกราฟข้างต้นประกอบ โดยเฉพาะเส้นกราฟที่กระดกขึ้นทางขวาสุด) ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสามประการ กล่าวคือ :

1. ในทวีปยุโรป ฤดูร้อนปี 2021 นับว่าร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา อากาศร้อนแล้งส่งผลลดทอนการผลิตอาหารในยุโรปลง

2. ในจีน สินค้าเข้าเพิ่มขึ้นนับแต่เริ่มปิดเมืองปิดประเทศตามนโยบายซีโร่โควิดเป็นต้นมา ในขณะเดียวกัน จีนก็หาทางฟื้นฟูฟาร์มหมูขึ้นใหม่หลังหมูล้มตายก่ายกองเนื่องจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาด การเพิ่มอุปสงค์อาหารดังกล่าวของจีนย่อมดันราคาอาหารในตลาดโลกให้สูงขึ้น

3. สถานการณ์อาหารขาดแคลนในโลกเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับราคาพลังงานอย่างน้ำมัน หลังผ่านช่วงถูกจี้จุดหยุดกึกเนื่องจากโควิด-19 ระบาดไป เศรษฐกิจโลกได้ค่อยฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การฟื้นตัวดังกล่าวได้เพิ่มอุปสงค์น้ำมันขึ้นพรวดพราดรวดเดียวจาก 20 US$/ถัง เป็นกว่า 110 US$/ถัง น้ำมันนั้นมีบทบาทสำคัญในการเพาะปลูกและขนส่งอาหาร พอราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตอาหารก็พลอยไต่สูงขึ้นด้วย

มิพักต้องพูดถึงก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีและอื่นๆ เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ราคาปุ๋ยเคมีย่อมไต่สูงขึ้นด้วย และปัญหาเป็นเช่นนี้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนรัสเซียเผชิญแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจรอบล่าสุดด้วยซ้ำไป

 

สรุปก็คือ ภาวะอากาศร้อนจัดในยุโรป อุปสงค์อาหารเพิ่มขึ้นในจีน และราคาพลังงานสูงขึ้นซึ่งกระทบต่อเนื่องไปดันราคาปุ๋ยเคมีให้เพิ่มขึ้นนั้นล้วนเป็นปัจจัยแต่เดิมที่ทำให้อาหารแพงขึ้นอยู่แล้ว สถานการณ์เจ้าปัญหานี้ยิ่งมาถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากสงครามในยูเครนเข้าไปอีก

ขณะที่ทั้งโลกเผชิญกับราคาข้าวของแพงขึ้น มีบางประเทศอยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงกว่าเพื่อนโดยเฉพาะ 36 ประเทศซึ่งนำเข้าข้าวสาลีที่ใช้บริโภคในประเทศเกินครึ่งจากยูเครนหรือรัสเซีย

อาทิ อียิปต์ซึ่งประชากร 103 ล้านคนกินขนมปังทำจากข้าวสาลีเป็นอาหารพื้นฐานและเป็นประเทศนำเข้าข้าวสาลีปริมาณมากที่สุดในโลก โดย 80% ของข้าวสาลีนำเข้าดังกล่าวมาจากยูเครนและรัสเซีย ปรากฏว่าถึงเดือนเมษายนศกนี้ ราคาอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิม 26% อันเป็นระดับเงินเฟ้อใกล้เคียงกับเมื่อปี 2011 ที่เกิดการลุกฮืออาหรับสปริงและมวลชนลงถนนจนนำไปสู่การโค่นระบอบประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ลง

เลบานอนเป็นอีกตัวอย่าง สถานการณ์ไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจเรื้อรังของประเทศนี้มาประสบวินาศภัยใหญ่ในเดือนสิงหาคมปี 2020 ที่คลังสินค้าท่าเรือเบรุตไฟลุกไหม้แล้วระเบิดรุนแรงราวแผ่นดินไหว จนทำลายอาคารบ้านเมืองพังพินาศเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งไซโลเก็บข้าวสาลีขนาดมหึมาต่างๆ ลงด้วย (https://www.bbc.com/thai/international-53675095) นับแต่นั้นมา เลบานอนสามารถเก็บข้าวสาลีสำรองในประเทศได้พอใช้แค่เดือนเดียว และฉะนั้นจึงล่อแหลมต่อราคาผันผวนขึ้นลงของข้าวสาลีในตลาดโลก

ตัวอย่างสุดท้ายคือเยเมนซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่ปี 2014 ชาวเยเมน 13 ล้านคนต้องพึ่งความช่วยเหลือด้านอาหารเพื่ออยู่รอด ในสภาพราคาอาหารพุ่งพรวดเช่นปัจจุบันนี้ โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติซึ่งเมล็ดธัญพืช 50% ที่โครงการซื้อเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน 125 ล้านคนทั่วโลกมาจากยูเครนนั้น ประกาศว่าอาจต้องลดทอนการแจกจ่ายอาหารในเยเมนลง

ในภาพรวม สหประชาชาติประเมินว่ามีประชากร 1.7 พันล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในอันตรายจากทุพภิกขภัย

ทางออกมีไม่มาก บางประเทศอาจสามารถหันไปซื้อหาข้าวเจ้าแทนข้าวสาลี แต่นั่นก็จะทำให้ข้าวเจ้าในตลาดโลกแพงขึ้นเหมือนกัน เหล่าประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารจากยูเครนและรัสเซียที่สุดอาจพยายามกระจายแหล่งนำเข้าให้หลากหลายขึ้น โดยสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และออสเตรเลียแทน ซึ่งยังพอมีสต๊อกข้าวสาลีให้ส่งออกได้อยู่ แต่เส้นทางขนส่งที่ห่างไกลขึ้นย่อมทำให้ราคาแพงขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายลงความเห็นว่าคงต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะคลี่คลายไปอย่างไรในปีหน้า