กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (3)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (3)

 

งานแปลวรรณกรรมที่เกี่ยวกับอินเดีย (ต่อ)

แม่เฒ่าโนรี

เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของอินเดียที่บันทึกถึงผู้หญิงภายใต้วัฒนธรรมอินเดียเอาไว้อย่างน่าสนใจ นับเป็นรวมเรื่องสั้นชั้นยอดเยี่ยมของอินเดียอย่างแท้จริง กิติมา อมรทัต มอบหนังสือเล่มนี้ให้โดยเขียนเอาไว้ว่าให้มะห์ (ดร.จรัญ) 14 ธ.ค. 92

สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรสจัดพิมพ์ในปี 2535 เป็นงานชุดรวมเรื่องสั้นที่มูลนิธิเพื่อนหญิงสนับสนุนการจัดพิมพ์ เป็นหนังสือที่มีความยาว 194 หน้า ราคา 85 บาท

ในเล่มนี้ กิติมา อมรทัต ได้เล่าถึงชีวิตของผู้คนในอินเดียเอาไว้ว่า ยุคสมัยแห่งการกดขี่สตรีในอดีตกาลนั้น นักวิชาการบางท่านได้แบ่งไว้เป็น 2 ยุคสมัย

คือยุคแห่งความป่าเถื่อน ในยุคนี้ผู้หญิงไม่ได้รับการถือว่าเป็นมนุษย์ พวกเธอมีสถานภาพเท่ากับทาสหรือสัตว์ที่ต้องทำงานหนักเท่านั้น ผู้ชายสามารถซื้อขายผู้หญิงได้ สามีสามารถยกภรรยาให้ผู้อื่นเป็นการชดใช้หนี้สินได้

กับยุคแห่งอารยธรรมกรีก โรมัน อียิปต์ และเปอร์เซีย (ก่อนอิสลามเกิด) สถานภาพของผู้หญิงสูงขึ้นบ้างในด้านวัตถุ แต่ในด้านจิตใจและสังคมนั้นยังไม่ถือว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์และยังไม่มีสิทธิ์อันใดตามกฎหมาย ผู้หญิงยังคงเป็นสินค้าที่ถูกซื้อขายได้ และเมื่อจำเป็นก็ต้องยอมสละชีวิตได้ด้วย สำหรับผู้ชายนั้นเธอมิได้เป็นอะไรมากไปกว่าของเล่น เป็นเหมือนตุ๊กตาที่ได้รับการพะเน้าพะนอเอาใจในยามรัก แต่เมื่อหมดเสน่ห์เธอก็จะถูกทิ้งขว้าง เธอไม่มีสิทธิ์ทำตามความดีของตนเอง เพราะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของพ่อ ของผัว หรือลูกชาย

ในออสเตรเลีย ผู้หญิงถูกถือว่าเป็นวัวงาน ในยามข้าวยากหมากแพงผู้หญิงจะถูกฆ่าเอาเนื้อมากินเป็นอาหาร

ในกรุงบาเบลหญิงที่มีวัยย่างเข้าเขตมีเหย้ามีเรือนได้จะถูกพ่อแม่ขายไปในราคาแพงๆ ทั้งๆ ที่เธอไม่เต็มใจ

ในอินเดีย เมื่อสามีตายไป ภรรยาจะต้องเผาตัวตายตามไปด้วย ในหมู่ชาวยิว บิดาสามารถยกลูกผู้หญิงให้ใครก็ได้ ในแหลมอาระเบีย ลูกผู้หญิงถูกฝังทั้งเป็น ในประเทศกรีซ ผู้หญิงถูกซุกซ่อนไว้ในบ้าน ไม่มีบทบาทอันใดในสังคม

เดมอสคัน นักพูดผู้มีชื่อของกรีกเคยกล่าวว่า “เราต้องการผู้หญิงขี้เล่นไว้หาความสำราญ ส่วนเมียนั้นเอาไว้ทำลูก” มนูผู้ตรากฎหมายของชาวฮินดูกล่าวว่า “สตรีนั้นโสโครกเหมือนดังความเท็จ”

 

ในสมัยแห่งจักรวรรดินิยม สตรีก็ถูกกดขี่อีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้การกดขี่มีมาในนามแห่งเสรีภาพ ผู้หญิงกลายเป็นตุ๊กตาคอยโฆษณาสินค้าของนายทุน ศักดิ์ศรีของผู้หญิงถูกลดลงแค่เท่ากับขนาดของความสวยงามของเรือนร่าง ซึ่งมีไว้บำเรอกาม

ทัศนะของศาสนาและปรัชญาตะวันตกถือว่า ผู้หญิงคือกาฝาก ไม่มีสิทธิ์ได้รับพรของพระเจ้า ผู้หญิงคือสัตว์ต่ำต้อย สกปรกโสมม ในขณะที่ผู้ชายคือสัตว์ที่สูงส่ง ผู้หญิงเป็นเชื้อแห่งความบาป ผู้หญิงถูกสร้างมาเพื่อผู้ชาย แต่ผู้ชายไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อผู้หญิง

ยุคสมัยดังกล่าวได้ผ่านไปแล้ว แต่กระนั้นผู้หญิงก็ยังคงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ดีขึ้นนัก ผู้หญิงยังถูกกดขี่ทั้งในด้านความเป็นอยู่ส่วนตัว ได้รับความบีบคั้นทางจิตใจ ทางสังคม การเงิน จากขนบประเพณีและค่านิยมที่เอาเปรียบผู้หญิง จากความเห็นแก่ตัวของผู้ชายบางคน และจากการยอมจำนน การช่วยตนเองไม่ได้ของผู้หญิงเอง

ดังปรากฏอยู่ในบรรดาเรื่องสั้นต่างๆ เหล่านี้ที่มีผู้เขียนไว้แล้ว และที่ยังไม่มีผู้เขียนก็อีกมากมาย

 

การที่ผู้แปลได้รวบรวมเรื่องสั้นส่วนใหญ่มาจากนักเขียนอินเดียและอื่นๆ ในทวีปเอเชียนั้น มิได้หมายความว่าจะมีแค่ผู้หญิงในเอเชียหรือในตะวันออกเท่านั้นที่ถูกกดขี่ แม้สตรีในตะวันตกก็ยังมิพ้นจากการกดขี่ในอีกรูปแบบหนึ่ง คือรูปแบบที่มีคำว่า ความเสมอภาค และเสรีภาพ เป็นคำขวัญ และใช้กามารมณ์ และลัทธิทุนนิยมกับวัตถุนิยมเป็นเครื่องมือ

ดังนั้น เหตุผลที่ผู้แปลได้นำเอาเรื่องราวที่มีนักเขียนชาวอินเดียเป็นผู้เสนอเป็นส่วนใหญ่จึงเป็นเพราะว่าผู้แปลเห็นว่านักเขียนอินเดียนั้นมีความชำนาญและมีศิลปะในการเสนอเรื่องแบบนี้อย่างดียิ่ง มีความลึกซึ้งและจริงจัง

ผู้แปลได้พยายามเลือกสรรเรื่องราวในด้านต่างๆ มาเสนอเพื่อชี้ให้เห็นภาพการกดขี่ทางเพศที่ผู้หญิงได้รับอยู่อย่างรอบด้าน

อีกประการหนึ่ง นักเขียนที่ผู้แปลรวบรวมมาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนกลุ่มสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงของอินเดีย ผู้ล้วนแต่ไม่พอใจกับสภาพสังคมอันแข็งกร้าวของชาวฮินดู

เช่น สภาพของผู้หญิงหม้ายและผู้หญิงยากจน ซึ่งถือว่าเป็นกากเดนของสังคม การกีดกันการแต่งงานต่างวรรณะ การเรียกร้องเงินสินสอดสูงๆ ประเพณีที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นผู้ไร้สิทธิ์ไร้เสียง การทำร้ายและข่มขืนสตรีในยามสงคราม การแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยเกินไป ปัญหาโสเภณี ความไร้สุขของผู้หญิงที่มิอาจเลือกคู่ของตนเองได้ การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัวใหญ่แบบอินเดีย เป็นต้น

 

ตามประวัติวรรณกรรมของอินเดียนั้น การแหวกทางจากขนบธรรมเนียมโบราณอย่างจริงจังเกิดขึ้นใน ค.ศ.1934 เมื่อนักเขียนชื่อ พ.ย. เทศบัณเท ได้เขียนเรื่อง พันพันธะ ส่งเสริมการแต่งงานด้วยความรักระหว่างหนุ่มพราหมณ์ตระกูลสูง กับหญิงโสเภณีตระกูลต่ำ

งานวรรณกรรมภาษาฮินดีในระยะนี้เป็นสมัยของเปรมจันท์ โกชิค ประทาปนารายณ์ ศรีวัสตาวะ ผกาวาดี จรัญวรมา สุดาจันทร์ และนักเขียนอื่นๆ ผู้เดินตามรอยเท้าของเปรมจันท์

นักเขียนเหล่านี้ได้ใช้การเขียนนวนิยายสังคมเป็นเครื่องมือปฏิรูปสังคม และโฆษณาปลุกเร้ามนุษยธรรม นักเขียนดีๆ ส่วนใหญ่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมที่เขาได้เห็นอยู่ การเขียนของพวกเขาคือการต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม

สำหรับเปรมจันท์และนักเขียนที่ถืออุดมคติเดียวกับท่านนั้น การเขียนเรื่องคือกิจกรรมที่มีความมุ่งหมาย ดังที่เปรมจันท์เองได้กล่าวว่า “…เราจะต้องแน่ใจว่างานวรรณกรรมของเรามีคุณภาพที่จำเป็นเหล่านี้ คือ มีความคิดที่สูงส่ง มีลมหายใจของอิสรภาพ มีความงามและวิธีเขียนที่กระจ่างชัด และสะท้อนภาพความสงบหรือความวุ่นวายของชีวิตได้อย่างชัดเจน มันต้องให้จุดหมายแก่เรา ต้องทำให้เรามีชีวิตอยู่ ต้องทำให้เราคิด…”

บทบาทของนักเขียนกลุ่มก้าวหน้าเหล่านี้ก็คือ นำเรื่องที่เขาเขียนให้มาใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่น่าขนลุกขนพอง สกปรกโสมมและเปล่าเปลือยให้มากขึ้น คือเข้ามาใกล้ชีวิตที่เปล่าเปลือยไร้เครื่องตกแต่ง ชีวิตที่ไหวระริกอยู่ภายใต้ตะไคร่แห่งระบบศักดินาและใต้กองเศษเหล็กขี้สนิมเกรอะกรัง พวกเขาถือว่าการปฏิวัตินั้นต้องเป็นของจริง มิใช่เป็นเพียงความฝัน

ดังนั้น สตรีแบบใหม่ก็ผุดขึ้นมาในเรื่องราวที่พวกเขาเขียน เป็นผู้หญิงที่มีสิทธิอิสระ มีความรับผิดชอบทั้งในครอบครัวและในสังคมส่วนรวม แทนที่จะเป็นแต่ผู้หญิงอ่อนแอ เบื้อใบ้ ไร้การศึกษาและถูกลิดรอนอิสระเสรีในทางที่ถูกต้อง

 

งานแปลวรรณกรรมที่เกี่ยวกับรัสเซีย

ผลงานการแปลของกิติมา อมรทัต ที่เกี่ยวกับรัสเซียมีอยู่หลายเล่มที่มอบให้ผมไว้อ่าน ได้แก่ อีเดียด (The Idiot) ของฟีโอดอร์ ดอสโตยเยียฟสกี้ โดยกิติมา อมรทัต ใช้นามแปลว่ารติกร กีรติ กล่าวกันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในยอดวรรณกรรมคลาสสิกของดอสโตยเยียฟสกี้

โดยกิติมา อมรทัต ได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 โดยเขียนว่า สำหรับมะห์ และยังเขียนไว้ใกล้ๆ ข้อความที่มอบให้ด้วยว่า ต้องใช้เวลาอ่านหน่อยนะ ซึ่งก็น่าจะต้องใช้เวลาอ่านอยู่หรอกเพราะเมื่อแปลเป็นไทย รวมทั้งคำนำจากสำนักพิมพ์ก็จะมีความยาวถึง 824 หน้า จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมิต ชุดวรรณกรรมคลาสสิก ในปี 2541

เป็นผลงานก่อนนวนิยายอันยิ่งใหญ่ของดอสโตยเยียฟสกี้เรื่องพี่น้องคารามาซอฟ และเป็นผลงานในช่วงท้ายๆ ในชีวิตของเขา เป็นเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ที่เคารพตัวตนของตนเองเป็นด้านหลัก อีเดียด ราคา 597 บาท ความยาว 824 หน้า

 

นางในฝัน

เป็นงานรวมเรื่องสั้นของดอสโตยเยียฟสกี้ โดยกิติมา อมรทัต เขียนคำมอบหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า ขอมอบให้จรัญ-นิง ด้วยรัก ตามมาด้วยลายเซ็น และวันที่มอบหนังสือนี้ให้คือ 18 กรกฎาคม 2542 จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์สมิต ความยาว 180 หน้า ราคา 140 บาท

โดยนางในฝันมีอยู่ 2 ภาค ตามมาด้วยเรื่องสั้น ฝันของคนบ้า

แม้จะเป็นเรื่องสั้นแต่คุณค่าทางวรรณกรรมยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะท้อนชีวิตมนุษย์สามัญธรรมดาในสังคมที่เต็มไปด้วยฉากชีวิตอันหลากหลาย

 

มาการ คนยากไร้

เป็นผลงานของสำนักพิมพ์เดียวกัน และนักเขียนคนเดียวกันที่เน้นถึงวรรณกรรมของผู้ยากไร้

เป็นหนังสือที่มีความยาว 152 หน้า

ราคา 145 บาท

 

ปริศนาชีวิต

สําหรับหนังสือเล่มนี้ กิติมา อมรทัต เขียนคำมอบให้ผมว่า ให้มะห์ที่รัก-นิงที่รัก และตามมาด้วยลายเซ็น

เป็นชุดวรรณกรรมคลาสสิก โดยคนเขียนคนเดียวกัน คนแปลคนเดียวกัน และจัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์เดียวกัน ความยาว 127 หน้า

ปริศนาชีวิตเป็นงานว่าด้วยปรัชญาชีวิตที่เต็มไปด้วยแง่คิดและความงามของชีวิตมนุษย์

 

ความตายของฮัจญีมูร็อด

อาจเป็นงานเล่มเดียวของลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ที่ได้กล่าวถึงชีวิตการต่อสู้และชะตากรรมของชาวมุสลิมรัสเซีย อย่างฮัจญีมูร็อด

โดยหนังสือเล่มนี้โปรยหน้าปกเอาไว้ว่า เพียงคำว่าชนะ มนุษย์ก็ทำลายล้างกันสุดคณานับ มีบ้างไม่ยอมแพ้ แม้ต้องแลกกับความตาย

สำนักพิมพ์สมิตนำเสนอ เป็นผลงานชุดวรรณกรรมคลาสสิก ของสำนักพิมพ์สมิต ราคา 118 บาท

ความยาว 184 หน้า

 

วรรณกรรมจีน

แม้กิติมา อมรทัต จะมีงานแปลวรรณกรรมจีนไม่มากนัก

แต่ก็ให้ความสนใจวรรณกรรมจีนเช่นกัน

งานที่กิติมาแปลเอาไว้ก็เช่น ไฟแค้น

ไฟแค้นเป็นรวมเรื่องสั้นแปลจากจีน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์การเวก ในปี 2521 ความยาว 515 หน้า ราคา 68 บาท เรื่องสั้นที่โดดเด่นในเล่มคือ บันทึกของคนบ้า ของหลูซุ่น

นอกจากบันทึกของคนบ้าแล้ว ความน่าสนใจในเล่มนี้อยู่ที่การนำเสนอความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมของจีนใหม่ที่กล่าวถึงแวดวงวรรณกรรมจีน ประเทศที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นมาในโลกปัจจุบันได้อย่างเห็นภาพ