กำเนิดคณะทหารหนุ่ม (1) : ทหารปฏิวัติทำไม?

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

“เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ”
คณะทหารหนุ่ม

ทหารปฏิวัติทำไม?

“…แรงกดดันในจิตใจของนายทหารแห่งกองทัพไทยผู้หนึ่งซึ่งสุดแสนที่จะทนทานต่อคำถามต่างๆ ที่ประดังขึ้นมา…ท่ามกลางเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองที่นำสถาบันทหาร…สถาบันที่เขารักและอุทิศชีวิตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงส่วนที่เป็นกระพี้ แต่เขาก็เต็มใจที่จะยึดมั่นเป็นอาชีพไปโดยตลอด…เข้าไปเกี่ยวพันกับการเมืองมากขึ้นทุกทีอย่างปราศจากทิศทางและอย่างไม่อาจกำหนดอนาคตได้

แรงกดดันนั้น…ทำให้เขาต้องหยิบปากกาขึ้น…เขียนมันลงไป…เขียนทั้งๆ ที่รู้ว่ากระพี้อย่างเขาด้อยทั้งประสบการณ์ในการเขียนและภูมิหลังทางการเมือง อันจะได้อาศัยกลั่นกรองออกมาเป็นตัวอักษร หากแต่เขียนมันออกมาจากหัวใจ จากความรู้สึกที่ไร้มารยา

…อภัยเขาด้วยถ้าไม่สบอารมณ์”

พ.ต.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ บรรยายความรู้สึกของทหารหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไว้ในหนังสือเล่มเล็กๆ “ทหารปฏิวัติทำไม?” ก่อนจะวางปากกาลงแล้วจับอาวุธเข้าร่วม “คณะทหารหนุ่ม” และจะอยู่ร่วมจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งการล่มสลายหลัง “กบฏเมษาฮาวาย”

คำถามของทหารหลัง 14 ตุลาคม 2516

ความเปลี่ยนแปลงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ในด้านหลักมิได้มีเพียงการพังทลายของ “ระบอบถนอม-ประภาส” เท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อขวัญกำลังใจของเหล่าทหารเป็นส่วนรวมอีกด้วยเมื่อถูกตั้งข้อรังเกียจกระทั่งถูกเหยียดหยามแบบเหมารวมว่าทหารคือ “เสนียดจัญไร” ของบ้านเมือง กระทั่งเมื่อสิ้นสุดเหตุการณ์จลาจลไปแล้วก็ยังไม่สามารถแต่งเครื่องแบบเข้าไปในที่สาธารณะบางแห่งได้ ทหารในกรุงเทพฯ ต้องแต่งชุดพลเรือนเข้าปฏิบัติงานนานนับเดือน

มีเรื่องเล่าในหมู่ทหารแบบปากต่อปากว่า นักเรียนนายร้อยในเครื่องแบบบางคนถูกชี้หน้าด่าว่าซึ่งๆ หน้า กระทั่งบางคนถูกกระชากหมวกออกจากศีรษะมาเหยียบย่ำต่อหน้า

พ.ศ.2516 ในยุคสงครามเย็น มีการสู้รบในหลายพื้นที่ของโลก ทหารไทยต่างภาคภูมิใจที่ธงชัยเฉลิมพลของกองทัพไทยได้มีโอกาสโบกสะบัดอวดโฉมเคียงบ่าเคียงไหล่กองทัพฝ่ายโลกเสรี ทั้งในสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม รวมทั้ง “สงครามลับ” ที่พวกเขาต้องลาออกจากราชการแฝงตัวเป็น “นักรบนิรนาม” ไร้ยศ ไร้ตำแหน่ง ไร้กระทั่งชื่อนามสกุล เสี่ยงชีวิตเข้าไปในสมรภูมิลับแห่ง “ประเทศที่สาม” – ลาว

พ.ต.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ ก็เพิ่งเดินทางกลับจากสมรภูมิลับในลาวหลังการรบดุเดือดถึงเลือดถึงเนื้อกับทหารแห่งกองทัพเวียดนามเหนือที่ทุ่งไหหินเมื่อกลางปี พ.ศ.2514 ขณะที่สงครามภายในประเทศระหว่างกองทัพแห่งชาติกับกองทัพปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็กำลังดุเดือดรุนแรงอย่างถึงที่สุด ยอดผู้สละชีพเพื่อชาติเข้ารับพระราชทานเพลิงศพที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่กระนั้นทหารก็มิได้หวั่นไหว เสียชีวิตในสนามรบโดยมีธงชาติไทยห่มคลุมถือได้ว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดที่ได้เกิดมาเป็นชายชาติทหารแล้ว

แต่ไฉนจึงถูกรังเกียจจากสังคมถึงเพียงนี้?

คำถามติดค้างอยู่ในห้วงความคิดคำนึง ขณะที่มือทั้งสองยังคงยึดกุมอาวุธประจำกายไว้ สายตาทั้งสองข้างยังคงสอดส่ายหาศัตรูเพื่อรักษาแผ่นดินไทย

แต่ยังมีนายทหารจำนวนหนึ่งที่ไม่เพียงหยุดตัวเองอยู่เพียงความสงสัย พวกเขาเริ่มจับกลุ่มพูดคุยปรึกษากันเพื่อหาคำตอบ

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ อีกหนึ่งในคณะทหารหนุ่มก็บันทึกไว้ใน “พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ” ว่า

“อาศัยสถานการณ์ภายในที่ความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาลพลเรือนกับทหารก็ดี หรือความไร้ระเบียบของกลุ่มพลังมากมายในสังคมก็ดี หรือความไม่เป็นเอกภาพของกลุ่มนายทหารเบื้องสูงก็ดี เป็นช่องว่างที่เอื้ออำนวยให้นายทหารระดับกลางหลายกลุ่มได้มีโอกาสฟักตัวและรวมกลุ่มกันเข้ามาอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทหารระดับกลางของพี่นูญ หรือกลุ่มทหารระดับกลางของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ หรือกลุ่มทหารประชาธิปไตยก็ตาม”

“กลุ่มทหารระดับกลางของพี่นูญ” ล้วนจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า “จปร.7” และกำลังรับราชการในชั้นยศพันตรี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ “เจ็บจริง พิการจริง และตายจริง” ในสนามรบทั้งในและนอกประเทศขณะนั้น

ลักษณะเด่นของนายทหารรุ่นนี้คือกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าก้าวออกจากกรอบธรรมเนียมประเพณี หากเชื่อว่าถูกต้องมาตั้งแต่ครั้งใช้ชีวิตใน “รั้วแดง-กำแพงเหลือง”

พวกเขาจะเรียกตัวเองในเวลาต่อมาว่า “คณะทหารหนุ่ม-ยังเติร์ก”

 

กำเนิดคณะทหารหนุ่ม

คณะนายทหารหนุ่ม “ยังเติร์ก” ก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยเริ่มจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อย จปร.7 ซึ่งจบการศึกษาเมื่อ พ.ศ.2503 เกี่ยวกับปัญหาภายในกองทัพบก และผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อกองทัพบกและต่อคณะทหารโดยส่วนรวม

นายทหารกลุ่มนี้เห็นว่า ผู้นำระดับสูงไม่เอาใจใส่ในในการพัฒนากองทัพ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง-การค้า มากจนเกินไป จนมีผลทำให้กองทัพบกอ่อนแอและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลนอกกองทัพ ทำให้กองทัพเสื่อมคุณค่าและเกียรติภูมิ

การพบปะพูดคุยในระยะแรกระหว่างนายทหาร จปร.7 กลุ่มเล็กๆ นี้ไม่มีการจัดตั้ง และยังไม่มีเป้าหมายที่แน่ชัด เป็นลักษณะของการพูดคุยกัน ไม่ใช่การประชุมปรึกษาหารือ ซึ่ง พ.อ.จำลอง ศรีเมือง เรียกในเวลาต่อมาว่าเป็นการ “นินทาเจ้านาย” และปรับทุกข์กันมากกว่าอย่างอื่น

ในระยะแรกเริ่ม กลุ่มนินทาเจ้านายที่พบปะกันเป็นครั้งคราวประกอบด้วยนายทหาร จปร.7 จำนวน 6 นายคือ

พ.ต.มนูญ รูปขจร รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4

พ.ต.จำลอง ศรีเมือง ประจำกองแผนและโครงการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

พ.ต.ชูพงศ์ มัทวพันธ์ รองผู้บังคับกองพันทหารม้า กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ต.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล รองผู้บังคับกองพันทหารราบ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์

พ.ต.แสงศักดิ์ มังคละศิริ รองผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์

พ.ต.ปรีดี รามสูตร ประจำกรมกำลังพลทหารบก

ต่อมาภายหลังการปฏิรูปการปกครอง 6 ตุลาคม 2519 จึงมีเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ เข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้น เช่น พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง พ.ต.บวร งามเกษม พ.ต.บุลศักดิ์ โพธิ์เจริญ พ.ต.พัลลภ ปิ่นมณี พ.ต.วีรยุทธ อินวะษา พ.ต.สาคร กิจวิริยะ และ พ.ต.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นต้น รวมทั้งนายทหาร จปร.รุ่นหลังๆ อีกจำนวนหนึ่ง

พ.อ.มนูญ รูปขจร กล่าวต่อที่ประชุมคณะทหารหนุ่ม ในวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2523 ว่า “กลุ่มทหารหนุ่มกำเนิดขึ้นและเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองท่ามกลางวิกฤตการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลา 3 ปีแห่งความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบในสังคมไทยยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน”

เมื่อการรวมตัวของคณะทหารหนุ่มขยายตัวมากขึ้น และแต่ละคนมีตำแหน่งสูงขึ้น ในที่สุดก็มิได้จำกัดบทบาทอยู่เฉพาะกิจการภายในกองทัพบกเท่านั้น แต่ได้ขยายไปสู่ประเด็น “ความมั่นคง” ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานดังกล่าว คณะทหารหนุ่มจะมีคำขวัญในเวลาต่อมาว่า “เราจะเสี่ยงเพื่อชาติและราชบัลลังก์ โดยไม่หวังลาภสักการะใดๆ”

มนูญ รูปขจร

เกิด พ.ศ.2478 ที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาเป็นนายทหารเสนารักษ์ประจำกองพันทหารม้าที่ 1 ต่อมาย้ายไปประจำกองพันทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาได้ลาออกจากราชการไปประกอบอาชีพค้าขายที่ อ.ท่าเรือ ฐานะทางครอบครัวค่อนข้างยากจนแต่ไม่ถึงกับลำบากขัดสน

ในวัยเด็ก ต้องย้ายโรงเรียนตามการย้ายทางราชการของบิดาเสมอ ศึกษาชั้นประถมต้นจากโรงเรียนประชาบาล

หลังจากนั้นเข้าโรงเรียนมัธยมที่โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนท่าเรือนิตยานุกูล และโรงเรียนไพศาลศิลป์

เข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 7 สำเร็จการศึกษาเดือนมกราคม พ.ศ.2503

เลือกรับราชการเหล่าทหารม้า ออกรับราชการครั้งแรกที่สระบุรี เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้บังคับหมวดทหารม้าและยานเกราะแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับหมวดลาดตระเวน กองพันทหารม้าที่ 8 นครราชสีมา

หลังจากที่ประจำอยู่หน่วยดังกล่าวเป็นเวลา 4 ปีได้เข้าเรียนหลักสูตรผู้บังคับกองร้อยที่สระบุรีและสอบได้เป็นที่หนึ่งของหลักสูตร จึงได้รับสิทธิ์เข้าเรียนในโรงเรียนผู้บังคับกองพันของสหรัฐอเมริกาที่ฟอร์ดนอกซ์ มลรัฐเคนทักกี

จบแล้วได้ประจำอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 4 กรุงเทพฯ และต่อมาในปี พ.ศ 2510 ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก แล้วอาสาสมัครไปราชการสนามที่สาธารณรัฐเวียดนามใต้ ในกองพันทหารม้ายานเกราะ เป็นเวลา 1 ปี แล้วเข้ารับราชการที่กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์

ขณะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นผู้บังคับกองพัน