เคยจับปืนสู้อำนาจรัฐมาแล้ว/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

เคยจับปืนสู้อำนาจรัฐมาแล้ว

 

สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่คนไทยนิยมไปเยี่ยมเยือนกันมาก โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ได้บรรยากาศป่าเขาอากาศหนาวเย็นสบาย ถ้าได้ไปแถวเขาค้อ ภูหินร่องกล้า ยังได้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ สมัยการสู้รบระหว่างทหารป่ากับทหารรัฐบาล มีทั้งอาวุธ ภาพถ่าย ค่าย ไปจนถึงถ้ำที่ใช้พักพิง

ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้รู้ว่าในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน มีสงครามการต่อสู้ทางความคิดทางอุดมการณ์ มีการจับปืนสู้กับอำนาจรัฐมาแล้ว

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการทบทวนเหตุการณ์สำคัญ วันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม ปี 2508 โดยเสียงปืนดังขึ้นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

เป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ในการต่อสู้กับรัฐบาล

จากนั้นด้วยแนวทางเน้นการปราบปรามของรัฐบาล ส่งกำลังตำรวจทหารออกเปิดศึกสงครามกับฝ่ายป่า จึงเข้าตำรา ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต

เพราะทหารรัฐบาลมักใช้ความรุนแรง สงสัยหมู่บ้านไหนก็เข้าข่มขู่คุกคาม ไปจนถึงทำลายบ้านเรือนของประชาชน ขณะที่พื้นฐานของชาวบ้านในชนบทนั้นอดอยากยากจนอยู่แล้ว เมื่อโดนมาตรการปราบปรามแข็งกร้าวของรัฐ ก็ยิ่งผลักให้คนเข้าป่า ไปร่วมกับคอมมิวนิสต์

พื้นที่สู้รบจากภูพาน อีสานเหนือ ลุกลามขยายตัวไปทั่วประเทศ ไปทั้งอีสานใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคกลาง

รัฐบาลยิ่งทุ่มกำลังทหารเข้าปราบ เขตสีแดงก็ยิ่งแผ่กว้างออกไปเรื่อย

เท่านั้นยังไม่พอ โหมปราบปรามในชนบทจนทำให้คนแห่เข้าป่ามากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว ยังปราบปรามนักศึกษาในเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่ากับผลักนักศึกษาปัญญาชนหลายพันคน เข้าป่าไปเสริมกำลังให้กับคอมมิวนิสต์อีก

*แถมการเข้าร่วมจับปืนสู้ของปัญญาชน ยิ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยยกระดับในสายตาสื่อมวลชนทั่วโลก มีนักข่าวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวทำสกู๊ปในฐานที่มั่นของทหารป่า เพื่อติดตามการร่วมจับปืนของเหล่าปัญญาชน ทำให้สถานะของคอมมิวนิสต์ไทยยิ่งน่าเกรงขาม*

สงครามคอมมิวนิสต์กับทหารรัฐบาล สู้รบกันหนัก เปิดยุทธการชื่อต่างๆ ในหลายพื้นที่ สูญเสียไปมากมาย

จนกระทั่งกองทัพไทยต้องหันไปจัดตั้งอาสาสมัครทหารพราน รวมทั้งดึงชนกลุ่มน้อย เช่น อดีตกองพล 93 เข้ามาร่วมในสงครามสู้กับคอมมิวนิสต์ เพื่อลดการสูญเสียของทหารหลัก

โดยทหารพรานนั้นจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยง และมีแรงจูงใจว่าหากยึดพื้นที่จากฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ ก็จะจัดสรรที่ดินให้เป็นรางวัล อดีตกองพลก๊กมินตั๋ง ก็มีการให้สัญชาติไทยเป็นข้อแลกเปลี่ยน

แต่รัฐบาลก็ยังเดินหน้าใช้สงครามแก้สงคราม ไฟสงครามจึงยิ่งลุกโชน จนกระทั่งเขตคอมมิวนิสต์เข้ามาจ่อใกล้ กทม. ลงมาถึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี รุกขึ้นมาถึง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี

จนกระทั่งปี 2523 สถานการณ์จึงเปลี่ยนแปลง เมื่อกองทัพในยุคใช้มันสมอง พลิกแนวทางเอาการเมืองนำการทหาร และใช้สันติวิธีการเจรจาเข้าคลี่คลายสงคราม

 

ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายทหารมันสมอง ได้พบจุดพลิกสถานการณ์ เมื่อโลกคอมมิวนิสต์เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ระหว่างขั้วโซเวียต กับขั้วจีน ทำให้ขบวนการคอมมิวนิสต์ระส่ำระสายไปหมด ไม่เว้นในป่าไทย

ขณะที่นักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เริ่มมีประเด็นปัญหาทางความคิดกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่จะเอาแต่เดินแนวทางเดิมๆ และยึดมั่นในการเป็นสายจีน ไปจนถึงเริ่มคิดแนวทางปฏิวัติใหม่ๆ

จังหวะนั้นเอง นายทหารมันสมองของกองทัพ จึงผลักดันคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร ใช้สันติวิธีนำหน้า เปิดเจรจาให้คนในป่าสามารถกลับคืนเมืองได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมายอาญา กลับมาใช้ชีวิตปกติได้

ป่าจึงเริ่มแตก และจากนั้นอีก 2-3 ปี คอมมิวนิสต์จึงวางปืนหมดสิ้น

เป็นการยุติสงครามที่เริ่มรบกันตั้งแต่ปี 2508 ยาวนานกว่า 15 ปี ให้สิ้นสุดลงได้ เพราะทหารไทยยอมรับความผิดพลาดของการปราบ หันมาใช้สันติวิธีแทน ประกอบกับความขัดแย้งในป่าอย่างรุนแรงผสมผสานกัน

ในวาระครบรอบวันที่ 7 สิงหาคม จึงมักมีการนำประวัติศาสตร์มาทบทวนเรียนรู้

อย่างแรก ได้รู้ว่าสมัยหนึ่งคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยยึดแนวทางของคอมมิวนิสต์ จึงมีการจับปืนสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อปลดปล่อยสังคมไทย อีกทั้งกองกำลังยังขยายตัวมากขึ้น จนสงครามความคิดอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์ไทยขยายตัวอย่างมากมาย

อีกประการ ได้เรียนรู้ว่า รัฐบาลในอดีตใช้อำนาจใช้ทหารเข้าปราบปราม ยิ่งทำให้สงครามลุกลามไปกันใหญ่ สุดท้ายได้เรียนรู้และยอมรับความผิดพลาด จึงเกิดแนวทางการเมืองนำการทหาร และประสบความสำเร็จในการยุติสงครามได้ในที่สุด

แต่น่าแปลกตรงที่ รัฐบาลต่อมา กองทัพต่อมา ไม่เคยเข้าใจในความสำเร็จนี้อย่างถ่องแท้

จนทำให้สถานการณ์ใน 3 จังหวัดใต้ก็ยังคงรุนแรง มีคนในพื้นที่เลือกแนวทางก่อการร้ายเพื่อตอบโต้กับอำนาจรัฐ

คอมมิวนิสต์ไทยในอดีตก็คือคนไทย ที่มีแนวคิดอุดมการณ์ และชาวบ้านที่ทนความยากลำบาก ทนการถูกรัฐกดขี่ข่มเหงไม่ไหว ร่วมกันจับปืนสู้ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์จากนอกประเทศแต่อย่างใด

ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดใต้ ก็คือคนไทยในพื้นที่ ซึ่งมีปัญหาถูกข่มเหงเหยียดหยาม มีความขัดแย้งด้านเชื้อชาติศาสนา ไม่ใช่กองโจรจากนอกประเทศ ที่จะมาแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดแต่อย่างใด!?

 

อุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้น ถึงจุดล่มสลายไปแล้วแทบทั่วโลก เหลือเพียงไม่กี่ประเทศ อีกทั้งพบว่าระบบการเมืองที่เป็นทางออกของคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น คือระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสงบสันติ และให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจ

ในสังคมไทยเอง ปัญญาชนที่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง ได้ผ่านยุคเชื่อในสังคมนิยม เชื่อในคอมมิวนิสต์ไปแล้ว

รวมทั้งพบว่าประชาธิปไตย การเลือกตั้งและรัฐสภา เป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า ลดการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อได้

แต่เราก็พบว่า ผู้กุมอำนาจในบ้านเรานั้น ไม่เคยคิดพัฒนาตัวเอง ยังวนเวียนอยู่กับการใช้กองทัพรัฐประหาร ยึดอำนาจอยู่เป็นระยะๆ

ไม่ยอมให้ประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตยที่เสรีสมบูรณ์แบบ

ส่วนหนึ่งเราจะพบว่า ไม่ทบทวนบทเรียนจากการยุติสงครามคอมมิวนิสต์ เพราะการปราบปรามเหมือนยุคสู้รบกับคอมมิวนิสต์ ก็ยังเข้มข้นอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ ทำให้การก่อความไม่สงบก็ยังรุนแรงต่อไป

อีกส่วนหนึ่ง ไม่ยอมเปิดกว้างการเมืองประชาธิปไตย และเมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ก็ยังใช้การสลายม็อบ ใช้กฎหมายจับกุมคุมขัง

ไม่ทบทวนและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในอดีต ว่าเคยมีคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ใช้แนวทางจับปืนสู้กับรัฐมาแล้ว อย่างเป็นจริงเป็นจังเข้มข้นและแผ่กว้าง

ยังดีที่สงครามนั้นยุติได้ ทำให้ทหาร ตำรวจ และประชาชนไม่ต้องล้มตายมากมายอีก

แต่พฤติกรรมการใช้อำนาจอย่างแข็งกร้าว การไม่เปิดกว้างของประชาธิปไตยรัฐสภา ยังกุมเก้าอี้นายกฯ โดยตัวแทนจากกองทัพ

ช่างไม่ระมัดระวังเลยว่า อาจจะนำไปสู่จุดแตกหักรุนแรงจนได้ ถ้าไม่รีบทบทวนตัวเอง!