แรงกดดันต่อ ‘ประยุทธ์’ กรณีนั่งนายกฯ ครบ 8 ปี เปิดบันทึก ‘มีชัย-สุพจน์’ วิกฤตเส้นตาย 24 ส.ค. 2565/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

แรงกดดันต่อ ‘ประยุทธ์’

กรณีนั่งนายกฯ ครบ 8 ปี

เปิดบันทึก ‘มีชัย-สุพจน์’

วิกฤตเส้นตาย 24 ส.ค. 2565

 

ใกล้ 24 สิงหาคม 2565 ประเด็นวาระนายกรัฐมนตรี 8 ปี เป็นแรงกดดันโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เขียนไว้ชัดเจน “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

สอดรับมาตรา 170 ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย

ขณะที่มาตรา 264 บทเฉพาะกาลรับรองความต่อเนื่องไว้ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

กระนั้นก็ยังมีบุคคลบางกลุ่มที่ผูกติดอยู่กับอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ นำเสนอตีความต่างออกไป

โต้แย้งว่า วาระ 8 ปีไม่ควรเริ่มนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 ในปีของการทำรัฐประหาร ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 23 สิงหาคม 2565

แต่ควรเริ่มนับจาก 6 เมษายน 2560 วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั่นเท่ากับจะครบ 8 ปีวันที่ 5 เมษายน 2568 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า

บางความเห็นไปไกลกว่า ให้นับจากหลังเลือกตั้ง 2562 ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ระยะเวลารวมกันไม่เกิน 8 ปี สิ้นสุดวันที่ 8 มิถุนายน 2570

ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ สังคมรับรู้กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ 24 สิงหาคม 2557

หากนับวันเดือนปีตามปฏิทิน ก็ชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปี วันที่ 23 สิงหาคม 2565 มิอาจไปต่อได้ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้ความเห็นทั้งหมดอาจต้องไปจบด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิน

แต่เมื่อข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และข้อเท็จจริงชัดเจน ฝ่ายอำนาจจึงไม่ควรซื้อเวลา เพราะกระบวนการวินิจฉัยของศาลอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น

หากแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับความจริง ลงจากตำแหน่งก่อน 24 สิงหาคม 2565

อาจทำให้เสียงก่นประณามเบาบางลง

 

ประเด็นนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเคลื่อนไหวกดดันจากหลายกลุ่ม

กลุ่ม 99 พลเมือง ทั้งนักคิด นักเขียน นักกิจกรรม อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิชาการ ปัญญาชน หลายขั้วหลายสี ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก่อนถึงเส้นตาย

เพราะตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ไม่อาจตีความเป็นอื่นได้

การเคลื่อนไหวของ 99 พลเมืองกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อปี 2531 มีการล่ารายชื่อปัญญาชนและนักวิชาการ 99 คน เรียกร้องไม่ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยจนสำเร็จ หลังดำรงตำแหน่งมานาน 8 ปี 5 เดือน

จึงอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์เรียนรู้บทเรียนและเดินตามรอยอดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

นายโอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งใน 99 พลเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องเลิกคิดว่าประเทศขาดตัวเองไม่ได้ เพราะ 8 ปีประชาชนเห็นฝีมือพอสมควรแล้ว

ถ้าหลัง 24 สิงหาคม ยังไม่ลาออก แรงกดดันจะถูกส่งต่อไปยังสังคม และสังคมจะไปกดดัน พล.อ.ประยุทธ์

ตอนนี้ 3 ป.กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อสืบทอดอำนาจและทำลายระบบการเมืองย่อยยับ รัฐบาลไม่เรียนรู้ว่าสังคมโตขึ้น ไม่ประเมินความรู้สึกของสังคม อาจมีผลต่อการเลือกตั้งเพราะประชาชนรับไม่ได้กับการเมืองแบบนี้

ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีความเห็นประเด็นนี้ว่า

นายกฯ ควรหาทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องลาออก หรือตัดสินใจยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ เรื่องนี้ไม่ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

ทั้งหมดเป็นปัญหาสำคัญของนายกฯ และเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัย คสช.มาสู่หลังเลือกตั้ง 2562

 

นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจประชาชน หัวข้อ “8 ปี นายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป.”

ถามถึงการตัดสินใจของนายกฯ เกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี

พบว่า ร้อยละ 64.25 ระบุนายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปีคือ อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม 2565

รองลงมาร้อยละ 32.93 ระบุควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน และร้อยละ 2.82 ระบุไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ

เป็นเสียงประชาชนจำนวนหนึ่งสะท้อนออกมา

การเคลื่อนไหวกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ปะทุต่อเนื่องทั้งในสภาและนอกสภา

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง จัดกิจกรรม “โกง…ความตาย 8 ปีไม่ไป คนไทยจัดการอย่างไร? กับประยุทธ์”

ประกาศนัดมวลชนชุมนุมวันที่ 23 สิงหาคม เพื่อส่ง พล.อ.ประยุทธ์ลงจากตำแหน่ง ถ้าอยู่ต่อจะถือเป็นนายกฯ เถื่อน

ฟากฝั่งฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติร่วมกันใช้ช่องทางรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 ตรวจสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี

ด้วยการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 สิงหาคม เพื่อขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

คำร้องจะระบุถึงการให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ รักษาการแทน

ด้านนายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน มองว่า พล.อ.ประยุทธ์นับเลข 1 ถึง 8 ได้อยู่แล้ว จึงอย่าให้เป็นภาระศาลรัฐธรรมนูญ หรือภาระประชาชนที่ต้องออกมาแสดงความแตกต่าง

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์คิดไม่ได้ หรือไม่มีสำนึก นั่นจึงจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรยื่น เพราะจะเข้าทางรัฐบาล เนื่องจากมาท้า มาเชิญชวนให้ไปยื่น เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว แค่ต้องการให้ฝ่ายค้านประทับตรารับรองให้ ทางที่ดีควรให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงสปิริตเอง

ขณะเดียวกันสังคมเริ่มเรียกร้องว่า การอยู่เพื่อรอคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างทำได้ แต่ระหว่างนั้นนายกฯ ควรยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวหรือไม่ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

 

ปฏิกิริยา พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้แรงกดดันประเด็นนายกฯ 8 ปี

แสดงอาการหงุดหงิด เมื่อถูกนักข่าวซักถามว่ากังวลหรือไม่ “จะกังวลอะไรเล่า” พล.อ.ประยุทธ์ตอบกลับ พร้อมไล่นักข่าว “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ”

ส่วนที่กลุ่มนักวิชาการเรียกร้องให้เดินตามรอย พล.อ.เปรม เพื่อความสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์เพียงแต่ส่ายศีรษะ ไม่ตอบคำถาม ก่อนเดินจากไป

พล.อ.ประยุทธ์เมินเฉยต่อแรงกดดันจากทุกสารทิศ ท้าทาย ฝากความหวังทั้งหมดทั้งมวลไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จนหลายคนประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เตรียมข้อต่อสู้หักล้างเรื่องนี้ไว้แล้ว รอแค่มีคนไปยื่นตีความเท่านั้น

“ผมจะไปพร้อมได้อย่างไร ยังไม่ได้คิดเลย นายกฯ ยังอยู่ต่ออีก 2 ปี” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวตอบสื่อมวลชนที่ถามว่า พร้อมเป็นนายกฯ หรือไม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุ พล.อ.ประยุทธ์ยังทำได้ทุกอย่าง ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณี พล.อ.เปรมไม่ได้

“คนละเรื่องกันเลย รัฐธรรมนูญเขียนคนละอย่าง”

หลายคนเชื่อว่าถูกกดดันอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ลาออกแน่นอน สุดท้ายเรื่องนี้คงต้องไปจบในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

แต่แล้วจู่ๆ กลับมีการเปิดเผยบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน วันที่ 7 กันยายน 2561 แพร่กระจายตามสื่อต่างๆ

ในบันทึกตอนหนึ่ง ระบุประเด็นพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรารัฐธรรมนูญปี 2560 ในประเด็นกำหนดหลักการเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นายมีชัยสอบถามความเห็นในที่ประชุมว่า ผู้เป็นนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ สามารถนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ เข้ากับวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่ 1 กล่าวว่า หากนายกฯ ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับ ควรนับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งรวมเข้ากับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย

นายมีชัยจึงกล่าวว่า เมื่อพิจารณาบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้–

การบัญญัติในลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้จะดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวรวมกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปี

 

แม้จะมีการโต้แย้งจากรัฐบาลว่า บันทึกดังกล่าวเป็นเพียงบันทึกความเห็นของนายมีชัยกับนายสุพจน์ ไม่ใช่มติ กรธ. จึงไม่ควรนำมาใช้อ้างอิง

“มีความพยายามของคนบางกลุ่ม ต้องการกดดันหวังสร้างประเด็นให้ พล.อ.ประยุทธ์ โดยหยิบเอาบางช่วงบางตอนของเอกสาร ที่เป็นความเห็นของกรรมการเพียงไม่กี่คนมานำเสนอจนเกิดความสับสน” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาลกล่าว

อย่างไรก็ตาม บันทึกดังกล่าวถูกมองว่าถึงไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็เป็นการเปิดเผยเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ชัดเจนในประเด็นวาระการดำรงแหน่งนายกฯ

ถึงจะเป็นกรรมการไม่กี่คน แต่คนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อีกคนเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ซึ่งต่างมีความคิดเห็นสอดรับไปในทิศทางเดียวกัน

ที่สำคัญ เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แต่งตั้งโดยหัวหน้า คสช.ตอนนั้น ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ คนปัจจุบัน ที่สืบต่ออำนาจมา

บันทึกประชุม กรธ. จึงถือเป็นหลักฐานมีน้ำหนัก กดทับเส้นทางอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ หลังวันที่ 24 สิงหาคม ให้ตีบตัน ถึงขั้นไปต่อไม่ได้

อย่างที่ รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก

“หากศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ และตามจารีตประเพณีในทางรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย ผลของการตีความไม่อาจจะเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565”