ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ต้องเปลี่ยนนายกฯ ก่อนวันที่ 24 ส.ค.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

การเมืองไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งใหม่อย่างเต็มตัว ถึงไม่มีใครรู้ว่าคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภาวันไหน และแม้ทุกคนจะมองออกว่าคุณประยุทธ์เป็นคนหวงอำนาจจนวินาทีสุดท้าย แต่ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อคุณประยุทธ์ก็ทำให้ทุกพรรคเห็นว่าการยุบสภาเกิดได้ตลอดเวลา

ไม่มีอะไรทำให้คนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลได้เท่าวาระการดำรงตำแหน่งของหัวหน้ารัฐบาล เพราะต่อให้คุณประยุทธ์จะดิ้นรนเป็นนายกรัฐมนตรีตลอดชาติแค่ไหน ในที่สุดการเป็นนายกฯ ก็ต้องยุติลงตามกติกาที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี

จริงอยู่ว่าคุณประยุทธ์ทำทุกทางให้นับการเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 2562 อันจะทำให้เป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2570 ซึ่งหากนับตั้งแต่ปี 2557 ที่คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ จริงๆ ก็เท่ากับเป็นนายกฯ ติดต่อกัน 13 ปี หรือถ้าไม่ได้แบบนี้ก็ให้นับตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะทำให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ถึงปี 2568 หรือ 11 ปี

วิธีนับแบบนี้ทำให้คุณประยุทธ์หวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะยึดทำเนียบเกินกว่าบรรทัดฐานได้ถึง 5 ปี แต่คุณประยุทธ์เองก็มองออกว่าพฤติกรรมนี้กะล่อนจนสังคมรังเกียจ

คุณประยุทธ์จึงกลายเป็นลุงแก่ๆ ที่เดินหนีสื่อเพื่อหนีคำถามนี้จนถึงขั้นตอบโต้โดยตะโกนด่าสื่อกลางที่สาธารณะตลอดเวลา

รัฐมนตรีทุกคนยืนยันว่าคุณประยุทธ์ไม่หวั่นไหวเรื่องวาระ 8 ปี แต่พฤติกรรมคุณประยุทธ์คือสิ่งที่ยืนยันกับสังคมมากที่สุดว่าคุณประยุทธ์หวั่นไหวจนคุมสติไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่คนที่ออกมาบอกว่าต้องนับวาระคุณประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 เท่ากับต้องพ้นตำแหน่งวันที่ 24 สิงหาคม

ถ้าคนที่ออกมาพูดแบบนี้มีแค่ฝ่ายค้านคงไม่เป็นไร เพราะสี่ปีที่ผ่านมาคุณประยุทธ์ก็เผชิญการโจมตีของฝ่ายค้านโดยไม่สะทกสะท้าน

และถ้าคนที่พูดแบบนี้มีแค่ประชาชนก็ไม่เป็นไรอีก เพราะรัฐมนตรีบางคนก็พูดในที่ประชุม ครม.ว่าประชาชนที่พูดเรื่องนี้มีไม่เกิน 10 คน

อย่างไรก็ดี คนที่ออกมาไล่ประยุทธ์รอบนี้มี “พวกประยุทธ์” และ “พวกต้านทักษิณ” เต็มไปหมด

ตัวอย่างเช่น คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยุคปี 2557, คุณปราโมทย์ นาครทรรพ ซึ่งเคยโจมตีคุณทักษิณเรื่อง “ปฏิญญาฟินแลนด์”, ไชยันต์ ไชยพร ฯลฯ

พูดให้ถึงที่สุด การดำรงตำแหน่งนายกฯ นานเกิน 8 ปี ทำให้กองหนุนประยุทธ์กลายเป็นฝ่ายไล่ประยุทธ์ มิหนำซ้ำยังเป็นฝ่ายไล่ที่เปิดประเด็นเหมือนเพื่อไทยว่าปัญหาวาระดำรงตำแหน่งไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องสำนึกทางจริยธรรมของคุณประยุทธ์ว่าไม่ควรผูกขาดอำนาจการเมือง

คุณประยุทธ์พูดบ่อยๆ ว่าให้ทุกฝ่ายฟังคำวินิจฉัยศาลเรื่องการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี แต่ด้วยการชี้เป้าว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำนึกมากกว่ากฎหมาย ถึงศาลตัดสินให้คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ ถึงปี 2570 หรือเป็นนายกฯ ติดต่อกัน 13 ปี ความรู้สึกว่าคุณประยุทธ์ไม่มีสำนึกก็จะยิ่งรุนแรงในประชาชน

แปดปีของคุณประยุทธ์ทำให้กองหนุนคุณประยุทธ์น้อยลงเรื่อยๆ จนอาจหดเหลือแค่ทหารและนักการเมืองที่หวังกอบโกยจำนวนรวมกันไม่เกิน 100 คน ที่เป็นใหญ่เป็นโตในกองทัพ, ในทำเนียบ, ในวุฒิสมาชิก และในพรรคการเมืองที่กลายเป็นสมรภุมิให้ประชาชนด่ารายวัน

ล่าสุด ด้วยการใช้สภาเพื่อผลักดันกติกาเลือกตั้งที่คุณประยุทธ์ได้เปรียบเหนือทุกพรรคการเมือง คุณประยุทธ์ได้ทำให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความเป็นนักฉวยโอกาส เพราะคุณประยุทธ์เป็นคนทำทุกทางให้กติกาเลือกตั้งจากหาร 100 เป็นหาร 500 และจากนั้นก็กลับไปหาร 100 ด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าการกระทำแบบนี้น่าอาย แต่สิ่งที่เลวร้ายสำหรับคุณประยุทธ์ยิ่งกว่าความน่าอับอายก็คือการเป็นผู้นำรัฐบาลที่กุมสภาพทางการเมืองไม่ได้ ไม่เข้าใจว่ากติกาแบบไหนจะทำให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด และไม่รู้แม้กระทั่งสถานภาพที่แท้จริงของเครือข่ายทางการเมืองของตัวเอง

ทั้งที่คุณประยุทธ์นั่งหัวโด่อยู่ในทำเนียบโดยไม่เคยปกปิดความต้องการผูกขาดอำนาจตลอดกาล พรรคร่วมรัฐบาลกลับหาเสียงโดยไม่เห็นหัวคุณประยุทธ์ต่อไปอีก คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปราศรัยว่าพร้อมเป็นนายกฯ แบบคุณประยุทธ์ ส่วนคุณประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยึกยักจนไม่มีใครเชื่อว่าหนุนคุณประยุทธ์จริงๆ

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะกระแสตกจนคนสนใจเรื่องพรรคแตกมากกว่าอนาคตทางการเมืองของคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แต่ด้วยคำประกาศของคุณจุรินทร์ในอดีตและประเพณีของพรรคเอง ประชาธิปัตย์ต้องส่งหัวหน้าพรรคชิงตำแหน่งนายกฯ อย่างแน่ๆ ถึงจะยังไม่มีวี่แววสร้างความฮือฮาได้ก็ตาม

พูดตรงๆ พรรคการเมืองที่ประกาศตัวชัดๆ ว่าอยู่ข้างคุณประยุทธ์ล้วนตั้งโดยนักการเมืองซึ่งแทบหมดสภาพจนไม่มีข้างไหนให้เลือก เกือบทั้งหมดชนะเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในปี 2554 หรือ 11 ปีที่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นคนที่เผชิญปัญหาต่างๆ จนไม่มีอนาคตในพรรคเดิมของตัวเอง

สำหรับคนที่คิดแต่เรื่องแสวงหาอำนาจแบบคุณประยุทธ์ คำถามที่ควรคิดคือทำไมตำแหน่งนายกฯ ไม่สามารถทำให้อำนาจของคุณประยุทธ์เป็นปึกแผ่นได้

และทำไมพรรคการเมืองที่อยู่ข้างคุณประยุทธ์แน่ๆ กลับเป็นพรรคการเมืองของนักการเมืองที่แทบไม่เหลืออนาคตทางการเมือง

พรรคการเมืองที่ลงพื้นที่อย่างคึกคักตอนนี้ประกอบด้วยเพื่อไทย, พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย แต่ขณะที่ประชาธิปัตย์กระแสตกจนคนออกจากพรรคพุ่งขั้นเปิดตัวผู้สมัครในนามพรรคได้ยาก เพื่อไทย, พลังประชารัฐ และภูมิใจไทยกลับเปิดตัวผู้สมัครไปพอสมควร

อย่างไรก็ดี แม้แต่ละพรรคจะมีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ผู้สมัครที่แทบทุกพรรคเปิดตัวกลับเป็นนักการเมืองแนว “บ้านใหญ่” หรือกลุ่มการเมืองตระกูลเก่าแก่ในแต่ละพื้นที่แทบทั้งหมด หรือถ้าเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานตระกูลการเมืองในพื้นที่เช่นเดียวกัน

นอกจากการเปิดตัวผู้สมัครที่เป็นตัวแทนกลุ่มการเมืองเก่าแก่ตามพื้นที่ต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ ปรากฏการณ์อีกอย่างคือการรวบรวมกลุ่มการเมืองที่เคยแข่งขันในแต่ละจังหวัดให้มาอยู่สังกัดพรรคเดียวกันด้วย ตัวอย่างเช่น ภูมิใจไทยทำแบบนี้ที่พิษณุโลก ส่วนเพื่อไทยทำแบบนี้ที่เชียงราย

สำหรับพรรคที่ดูดนักการเมืองกลุ่ม “บ้านใหญ่” ทุกกลุ่มให้มาเป็นพวกเดียวกันสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้โดยตรงคือโอกาสได้ ส.ส.เขตยกจังหวัด ส่วนผลพลอยได้คือได้คะแนนบัญชีรายชื่อเป็นของแถมมาด้วย คำประกาศให้ตำแหน่งรัฐมนตรีหากชนะทั้งจังหวัดจึงแพร่ระบาดอย่างที่ไม่เคยเป็น

สำหรับนักการเมืองกลุ่ม “บ้านใหญ่” การจับมือเป็นพวกเดียวกันของกลุ่มที่เคยขัดแย้งกันทำให้ต้นทุนการแข่งขันทางการเมืองลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเมื่อคู่แข่งกลายเป็นคนร่วมพรรคเดียวกัน การแข่งขันก็กลายเป็นการฮั้วและการเจรจาต่อรองเพื่อจัดสรรผลประโยชน์โดยปริยาย

ปรากฏการณ์ “บ้านใหญ่” หรือ “ตระกูลการเมือง” คือหนึ่งในความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนของการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เพราะถึงคนเหล่านี้จะเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่คนเหล่านี้ก็ใช้การเลือกตั้งแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ จนต้องยึดครองตำแหน่งการเมืองไว้ตลอดไป

พูดก็พูดเถอะ ตระกูลการเมืองมักเติบโตในจังหวัดที่การพัฒนาโดยรัฐน้อยจนจังหวัดแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง บางกรณีพ่อเป็น ส.ส.หลายสมัยแต่จังหวัดไม่มีอะไรดีขึ้น พี่ทำบ่อน น้องยึด อบจ. ส่วนลูกเป็น ส.ส. และสิ่งที่ได้คือการจัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อธุรกิจในเครือข่ายตัวเอง

สำหรับจังหวัดที่อยู่ในชะตากรรมนี้ “บ้านใหญ่” หรือตระกูลการเมืองก็คือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจังหวัด เพราะไม่ยอมให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ สร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่กระทบการผูกขาด

รวมทั้งกีดกันให้คู่แข่งทางการเมืองหน้าใหม่ๆ นำเสนอตัวเองต่อประชาชน

 

ในช่วงที่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง บทบาทของนักการเมืองแนวบ้านใหญ่ลดลงจากกระแสเลือกพรรครุนแรงไม่หยุด ตัวอย่างเช่น ภาคเหนือกับอีสานต้องเลือกไทยรักไทย ถ้าภาคใต้ต้องเลือกประชาธิปัตย์ และหากเข้าพรรคผิดก็แพ้ได้เลย

เมื่อคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยจงใจทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ วิธีเดียวที่พรรคจะประกันการได้ ส.ส.คือการเจรจากับนักการเมืองแนวบ้านใหญ่แต่ละพื้นที่ให้มาเป็นพวกตัวเองให้มากที่สุด หรือพูดง่ายๆ คือพรรคการเมืองแข่งกันระดมผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นโดยให้ตำแหน่งต่างๆ ตอบแทน

ภายใต้การพยายามยึดประเทศตลอดกาลของคุณประยุทธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือความไม่พอใจที่คนมีต่อคุณประยุทธ์กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เส้นทางการรักษาอำนาจของคุณประยุทธ์กำลังทำให้ระบบการเมืองถอยหลังไปสู่การระดมผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างที่ไม่ควรเป็น

เวลาของคุณประยุทธ์จบลงแล้ว คุณประยุทธ์ไม่ควรอยู่ในทำเนียบต่อไปอีก และทุกวินาทีที่คุณประยุทธ์มีอำนาจคือทุกวินาทีที่การเมืองไทยถดถอยลงไปทุกวัน