พรรคร่วมรัฐบาล แย่งกันใหญ่ ส่งสัญญาณอะไร ทำไมรีบหาเสียง? ทำไมหลายพรรคการเมือง ออกหาเสียงล่วงหน้า/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

พรรคร่วมรัฐบาล แย่งกันใหญ่

ส่งสัญญาณอะไร ทำไมรีบหาเสียง?

ทำไมหลายพรรคการเมือง

ออกหาเสียงล่วงหน้า

พรรคร่วมรัฐบาลหลักขณะนี้ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา รวมพลัง และที่แตกหน่อออกมาคือ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคเศรษฐกิจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ

แม้รัฐบาลยังไม่หมดวาระ 4 ปี และก็ไม่ได้ยุบสภา แต่หลายพรรคการเมืองได้ส่งกำลังหลักไปตามจังหวัดต่างๆ ออกหาเสียงแข่งกัน เพื่อไทยและภูมิใจไทยออกเปิดสนามระดมมวลชนปราศรัยกันแล้ว

ตามด้วยพลังประชารัฐ ต้องลงพื้นที่ต่างจังหวัดใช้แนวปราศรัยและปรากฏตัวของผู้นำสำคัญคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เรียกว่างานนี้หามไปสู้ก็ต้องสู้

การหาเสียงล่วงหน้าเกิดจากการชิงตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต เกรด A และ B ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเปิดฉากรุก ดึง ส.ส.จากก้าวไกลและเพื่อไทย จึงเกิดการโต้กลับด้วยเกมแลนด์สไลด์ของเพื่อไทย และยกทัพไปไล่หนู ตีงูเห่า เพื่อปกป้องเขตแดนและขุนพลของจังหวัด

ใครออกตัวช้า ถ้าจะไปแย่งคนเด่นคนดัง ที่มีโอกาสชนะก็ต้องไปเกทับ เหมือนซื้อตัวนักฟุตบอลที่เป็นดาราดัง

ให้ดูก้าวต่อไปในการวางกำลังของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้ามีเวลายิ่งยาวนานก็น่าจะสะสมกำลังได้เพิ่มขึ้น สะสมคนและผู้สมัคร ส.ส.ได้เพิ่มขึ้น

การออกตัวช้าเช่นนี้ทำให้เสียเปรียบไปขั้นหนึ่ง เพราะภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐกวาดคนเอาไปแล้ว เพื่อไทยก็ออกไปตีกันไว้ในหลายจังหวัด ประชาธิปัตย์ก็ตั้งรับในเขตฐานที่มั่นตัวเอง

ส่วนพรรคไทยสร้างไทยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะวิ่งไปไขว่คว้าหามาเติมเสริมกำลังเพื่อความเข้มแข็ง ไปเปิดตัว ส.ส.ในภูมิภาคได้ ส.ส.เกรด B เกรด C ก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน

เหตุผลที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีเป้าหมายอยู่ยาวเหมือนเดิม แต่ใครจะแน่ใจการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 100% อำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญจะมาช่วยได้หรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี

การเปิดเกมของภูมิใจไทยและเพื่อไทย จึงกลายเป็นไฟต์บังคับให้ทุกพรรคโดดลงสนามเลือกตั้งทั้งๆ ที่กฎหมายยังไม่เสร็จ

แต่หลายคน หลายพรรคมีความจำเป็นเฉพาะตัวบังคับ

 

พรรครวมไทยสร้างชาติ

คือทางถอยลงหลังเสือของ พล.อ.ประยุทธ์

จากการรัฐประหาร 2557 และอยู่ในอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่คิดจะถอยก็ถอยได้ง่ายๆ ถ้าหันหลังถูกถล่มทันที การแยกกำลังสู้ศึกการเลือกตั้งพอจะเป็นทางออก โดยมีพรรคการเมืองของตนเอง พรรครวมไทยสร้างชาติจึงเป็นพรรคหลักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะใช้ต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป ตอนนี้มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และบุตรบุญธรรมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนแรมโบ้นั้นออกไปแล้ว แต่อาจจะไปตั้งพรรคใหม่

พรรครวมไทยสร้างชาติน่าจะเป็นที่รวมของพวกขวาแบบ กปปส. และน่าจะดึง ส.ส.เก่าจากประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ภาคใต้มาจำนวนหนึ่ง จึงกล้าประกาศว่าจะบุกยึดพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ว่าผลออกมาจะชนะหรือแพ้ งานนี้ประชาธิปัตย์จะต้องชนกับรวมไทยสร้างชาติในหลายเขตทั่วทั้งประเทศ

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังมีเป้าหมายอยู่ยาวเหมือนเดิม แต่อาจไม่ไว้ใจการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 100% ตอนนี้ยังคิดว่าด้วยอำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญมาช่วย ใครก็ไม่อาจโค่นตัวเขาได้

เรื่องอยู่ครบ 8 ปี แต่ถ้าเขาอยากจะอยู่ต่อก็คงผ่านเดือนสิงหาคมนี้ไปได้ แต่จะอยู่ต่อสองปีครึ่ง หรือ 4 ปีก็รับได้ทั้งนั้น

แต่ในทางการเมืองกระแสการคัดค้านจากประชาชนที่ตามมาจะหนักแค่ไหน และถ้ากระแสต้านยาวต่อเนื่องไปจะมีผลต่อการเลือกตั้ง ถ้าหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ยังจะมีพรรคไหนกล้าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

การมีพรรคการเมืองของตัวเอง จึงถือเป็นระดับความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง แต่เลือกตั้งแล้วจะต้องได้ ส.ส.อย่างน้อย 25-30 คน จึงจะมีโอกาสได้เสนอชื่อเป็นนายกฯ

ถ้ากระแสการคัดค้านแรงมากเชื่อว่าพรรคอื่นๆ ก็จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคตัวเอง ไม่กี่วันนี้ รัฐมนตรีอนุทิน ชาญวีรกูล ก็พูดบนเวทีปราศรัยว่าช่วยกันเลือกๆ พรรคภูมิใจไทยเยอะๆ ผมก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้

การออกตัวช้าของพรรครวมใจสร้างชาติ ไม่เป็นผลดีในการเตรียมการเลือกตั้ง แต่มันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว สถานการณ์ต่อจากนี้ให้ดูการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาอย่างไร นั่นจึงจะเป็นตัวชี้เส้นทางเดินของ พล.อ.ประยุทธ์และอนาคตของพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

พล.อ.ประวิตร

ต้องจำเป็นยึดพรรคพลังประชารัฐ

ไว้เป็นฐานที่มั่นสุดท้าย

ปรากฏการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐต้องลงพื้นที่ต่างจังหวัดโดยใช้แนวทางปราศรัยและปรากฏตัวของผู้นำสำคัญคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บนเวทีหลายครั้ง แม้งานนี้จะหามไปสู้ก็ต้องสู้ เพราะต้องแข่งกับพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลด้วยกันเอง เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ หรือฝ่ายตรงข้ามเช่นเพื่อไทย

พลังประชารัฐคือฐานที่มั่นสุดท้าย ทีมงานใกล้ชิดของ พล.อ.ประวิตรต้องออกแรงดันเต็มที่และไม่มีทางเลือกมาก

พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเป็นเพียงแค่แนวร่วมที่ทั้งต้องร่วมและต้องแข่งขัน ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ผลประโยชน์และอำนาจการเมืองจะตกอยู่กับคนของพรรครวมไทยสร้างชาติมากกว่า

มองกระแสการเมืองอนาคต คนของพลังประชารัฐประเมินว่า พล.อ.ประยุทธ์มีจุดอ่อนเยอะและจะถูกโจมตีอย่างหนัก ไม่น่าจะได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง ถ้ากระแส พล.อ.ประยุทธ์ตกลงเรื่อยๆ กำลังของฝ่ายขวาก็จะไหลกลับมาอยู่กับพลังประชารัฐ

พล.อ.ประวิตรยังหวังว่า แม้กระแสของประยุทธ์ตกลง แต่ตัวเขาและพรรคพลังประชารัฐจะยังพอแยกตัวออกมาได้ ไม่ถูกลากจมน้ำไปด้วย ยิ่งแยกไปคนละพรรคยิ่งเสียหายน้อย และถ้าในการเลือกตั้งแบบเขตเขาสามารถชนะ ได้ ส.ส.จำนวนมากพอสมควรที่จะใช้ต่อรองในการจัดตั้งรัฐบาลได้

ที่สำคัญ พล.อ.ประวิตรยังมีอิทธิพลอยู่ใน ส.ว.จำนวนมาก ถ้ารวมกับ ส.ส.ที่ได้มาต้องมีเสียงในรัฐสภา ร้อยกว่าคน

 

พรรคภูมิใจไทย คิดเป็นใหญ่ ต้องใจถึง

เนื่องจากไม่มีอำนาจมาก แต่พอมีเสบียง การสะสมกำลังสร้างฐานอำนาจจึงจำเป็น

ภูมิใจไทยใช้แผนลอยตัวออกมาจากความขัดแย้ง เพราะถือว่าไม่ว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาลน่าจะต้องมาเรียกตนเองไปเข้าร่วม แต่ภูมิใจไทยจะมีความมั่นใจมาก ถ้าได้ ส.ส.ถึง 70 คน สิ่งที่ภูมิใจไทยทำอยู่และจะทำต่อไปคือดึงและดูด ส.ส.เก่าที่เป็นตัวเต็งเข้ามาในสังกัดของตนเอง ทั้งเปิดเผยและปิดลับ พอใกล้เลือกตั้งจึงจะเห็นชัดเจนว่าสะสมกำลังไว้ได้กี่คน

วันนี้ภูมิใจไทยต้องการบัตร 2 ใบเอา 100 หาร เพื่อให้ผู้นำพรรคได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ถ้ากระแสการคัดค้านประยุทธ์แรงมาก เชื่อว่าภูมิใจไทยก็ไม่เอาประยุทธ์เหมือนพรรคอื่นๆ และก็จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคตัวเองอย่างจริงจัง

ไม่กี่วันนี้ รัฐมนตรีอนุทินก็พูดบนเวทีปราศรัยว่าช่วยกันเลือกๆ พรรคภูมิใจไทยเยอะๆ ผมก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ (บรรหาร ศิลปอาชา ก็เป็นนายกฯ มาแล้ว)

ส่วนพรรคการเมืองเล็กๆ นั้นไม่ว่ากติกาเลือกตั้งจะออกมาเป็นแบบไหน โอกาสจะเกิดยากมาก แต่ก็หวังว่าพรรคกล้าที่เป็นขวาใหม่จะยืนหยัดจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และพรรคอนุรักษนิยมขวาแบบไทยภักดีจะไม่ยุบไปรวมกับรวมไทยสร้างชาติ แต่ดูแนวโน้มแล้ว พรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเป็นที่รวมของ กปปส.และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลังเฉยๆ ฝนตกหนักๆ อย่างนี้น้ำไหลแรงคงจะไหลไปรวมไทยสร้างชาติแน่

พรรคการเมืองที่เป็นตัวยืนในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ

1.พรรคเพื่อไทย 2.พรรคก้าวไกล 3.พรรคภูมิใจ 4.พรรคประชาธิปัตย์ 5.พรรคพลังประชารัฐ 6.พรรครวมไทยสร้างชาติ 7.พรรคประชาชาติ (ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา) 8.ชาติไทยพัฒนา (กัญจนา ศิลปอาชา) 9.พรรคชาติพัฒนา (สุวัจน์ ลิปตพัลลภ) 10.พรรคเสรีรวมไทย 11.พรรคไทยสร้างไทย 12.สร้างอนาคตไทย 13.เศรษฐกิจใหม่

(ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่าไปจำสับสนกับพรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งมีคุณอุตตม สาวนายน และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ออกจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคโดยมีแนวโน้มว่าจะเสนอ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเป็นเป็นแคนดิเดตนายกฯ)

การประเมินสถานการณ์การเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะให้แน่นอนก็ต้องดูผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการครบวาระ 8 ปีของนายกฯ ประยุทธ์เป็นอย่างไร ถ้ายังไม่หมดอำนาจในเดือนสิงหาคมนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังเป็นการต่อสู้กันดุเดือดแต่มีหลายขั้ว

ทุกพรรคประเมินได้ว่าหลังเลือกตั้งจะเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ใครได้ ส.ส.มากต่อรองได้มาก ครั้งนี้ ส.ว.จะไม่โหวตเหมือนกันทั้ง 250 เสียง แต่ประยุทธ์และประวิตรจะมี ส.ว.หนุนอีกคนละ 100 เสียง ฝ่ายค้านต้องจับมือกันให้ถึง 250 เกมจึงจะเปลี่ยน