อยู่ด้วย ‘มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

อยู่ด้วย ‘มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน’

 

แม้จะเชื่อว่าโครงสร้างอำนาจที่ดีไซน์ไว้เพื่อ “สืบทอดการควบคุมศูนย์อำนาจรัฐ”

จะ “มั่งคั่ง” ด้วยกฎหมายสารพัดระดับและรูปแบบ

“มั่นคง” ด้วยการวางบุคคลากรที่มีภูมิต้านทานเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงจริยธรรมสูงยิ่ง

และ “ยั่งยืน” ด้วยด้วยกำองกำลังที่ได้รับการเกื้อหนุนดูแลอย่างดียิ่งในยุคสมัยนี้ และนายทุนที่ได้โอกาสเข้าผูกขาดกิจการรัฐสามารถสร้างผลประโยชน์ให้เครือข่ายพวกพ้องมหาศาล

จะเป็นแรงสนับสนุนและคุ้มกันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สานปรารถนาให้สำเร็จได้ทุกเรื่อง โดยไม่มีอะไรจะมาต้านทานได้

ยิ่ง “การสืบทอดอำนาจ” ถูกวางเป็นวาระสำคัญของยุคสมัย

แม้ “รัฐธรรมนูญ” จะบัญญัติไว้ชัดเจน “ไม่ให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี” ห้ามกระทั่งไม่ได้เป็นติดต่อกัน

แต่สำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์” แล้ว “อำนาจที่ดีไซน์มาอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” อย่างที่ว่า แทบทุกฝ่ายเชื่อว่าหาก “จะเอาเสียอย่าง” ไม่มีทางที่ใครจะขัดขวางได้ ไม่มีกฎหมายระดับใดจะศักดิ์สิทธิ์พอจะหยุดยั้งห้ามปรามไม่ให้สำเร็จในสิ่งที่หมายปองต้องการได้

“อยากได้ต้องได้”

 

กระนั้นก็ตาม ในประเทศที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเท่าเทียมดำเนินมายาวนาน แม้จะอยู่ในสภาพลุ่มๆ ดอนๆ เดิน เดี๋ยวเดินได้ เดี๋ยวถูกกวาดล้าง สลับกันไปไม่หยุดหย่อน

แต่สำนึกแห่งเสรีชนยังงอกงาม และยืนหยัดในกระแสความคิดของประชาชนไม่เคยดับสูญ

ทำให้เสียงติเตียนเรียกร้องให้มี “สามัญสำนึก” จึงเกิดขึ้น และดังขึ้นเรื่อยๆ อย่างท้าทาย “ความสูงส่งของอำนาจ” ที่กระบวนการ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ควบคุมให้เป็น “เรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้”

ในความชัดเจนของ “รัฐธรรมนูญ” ในเรื่องวาระ 8 ปีของ “นายกรัฐมนตรี” นี้ ไม่เพียงเสรีชนยังหลงเหลือ “สามัญสำนึก” อยู่ในความคิด จิตใจ แม้กระทั่งประชาชนทั่วไปที่ชีวิตสำเนินอยู่กับการดิ้นรนอยู่รอดจากปัญหาปากป้องที่ทับถม ยังดูเหมือนที่จะเห็นไปในทิศทางเดี่ยวกันคือ

“ตู่ควรพอเสียที”

 

“นิด้าโพล” ล่าสุดสำรวจเรื่อง “8 ปีนายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป.”

ในคำถาม “ท่านคิดว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี”

แม้กระทั่งจะโยนต้นเหตุของปัญหาไปให้ “ความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ” แต่ความคิดของประชาชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 64.5 ยังยืนยันว่า “นายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปี คืออยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม 2565” มีแค่ร้อยละ 32.93 บอก “นายกฯ ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี” มีร้อยละ 2.82 ไม่ทราบ ไม่ตอบ ไม่สนใจ

ไม่ว่าผลของโพลอันหมายถึงความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีภาระกับปัญหาปากท้องอยู่หนักหนาสาหัส จะผสมอยู่ด้วยทัศนะของเสรีชนที่มีอิทธิพลจาก “สามัญสำนึก” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติหรือไม่ก็ตาม

แต่คนส่วนใหญ่ต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า “ไปได้แล้ว”

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของ “ความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ ความสามารถในการแก้ปัญหาประชาชน” หรือผลงานที่สร้างความ “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ให้จน “ความเหลื่อมล้ำ” ถูกขยายกว้าง และได้รับการสถาปนาจนยากจะเปลี่ยนแปลง หรือด้วยปรารถนาจะอยู่ร่วมกันอย่างมี “สามัญสำนึก” ก็ตาม

บทสรุปของประชาชนสวนใหญ่คือ “ตู่ไม่ควรจะอยู่ต่อแล้ว”

คำถามที่เกิดขึ้นจึงเหลือเพียง ประเทศชาติในยุคสมัยเช่นนี้ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนส่วนใหญ่ ยังมีความหมายต่อจิตสำนึกของผู้ได้รับประโยชน์จาก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อย่างที่ว่าหรือไม่