นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความแปลกหน้าของมุสลิม (จบ)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน ความแปลกหน้าของมุสลิม (1) 

ดังที่กล่าวแล้วว่า มุสลิมเคยอยู่ร่วมกับคนศาสนาอื่น หรือคนศาสนาอื่นเคยอยู่ร่วมกับมุสลิม มาด้วยความสงบสุขเกือบตลอดประวัติศาสตร์ แต่พอถึงศตวรรษที่ 20 มุสลิมกับคนในศาสนาอื่นกลับอยู่ร่วมกันได้ยากขึ้น บางครั้งถึงกับฆ่าฟันกันล้มตายเป็นหลายแสน จนต้องพากันอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในที่ใหม่ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ร่วมศาสนากับตน

หนึ่งในคำอธิบายที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ ความแตกแยกอย่างรุนแรงเช่นนี้เป็นผลมาจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่งแน่ เพราะความบาดหมางอย่างรุนแรงเช่นนี้พบได้ในอาณานิคมหลายแห่ง นับตั้งแต่อิสราเอล-ปาเลสไตน์ในตะวันออกกลางถึงอินเดีย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ก็พบได้ในดินแดนที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยตรงของตะวันตกด้วย

ผมพบว่าความบาดหมางที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของจักรวรรดินิยมโดยตรงนี้น่าสนใจ และขอพูดถึงบางกรณี

มุสลิมในแคว้นซินเกียงของจีนหรือที่เราเรียกว่าชาวอุยกูร์เป็นตัวอย่างหนึ่ง อันที่จริงจีนมีอิทธิพลครอบงำแคว้นนี้มานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยมีผลอะไรนัก เพราะไม่มีการอพยพใหญ่ของจีนฮั่นเข้ามาตั้งภูมิลำเนาจำนวนมากในซินเกียง รัฐบาลคอมมิวนิสต์เองต่างหากที่สนับสนุนให้ชาวฮั่นอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่ในซินเกียง จนบัดนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของแคว้นไปแทนชาวอุยกูร์แล้ว

การเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจตลาด ทำให้การแย่งชิงทรัพยากรเป็นไปอย่างเข้มข้นระหว่างคนสองชาติพันธุ์ ทั้งทรัพยากรใหม่ที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจตลาด และทรัพยากรที่มีอยู่เดิมแต่ถูกเปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์

ความขัดแย้งด้านทรัพยากรถูกแปรให้ออกมาในรูปของความขัดแย้งด้านศาสนาและชาติพันธุ์ เพราะศาสนาและชาติพันธุ์เป็นอาวุธทางอัตลักษณ์อันเดียวที่ชนส่วนน้อยซึ่งกำลังสูญเสียสิทธิที่เคยมีมาแต่เดิมใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ได้ดี นี่ไม่ได้พูดเฉพาะเมืองจีนแห่งเดียว เมืองไทยก็ใช่ และฟิลิปปินส์ก็ใช่

เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับคนในศาสนาอื่นหลายกรณี ไม่เกี่ยวอะไรกับศาสนา อย่างน้อยก็ไม่เกี่ยวโดยตรง แต่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ซึ่งกระทบต่อทุกฝ่ายมากน้อยต่างกัน

อีกเหตุหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่ทำให้มุสลิมกับคนศาสนาอื่นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ยาก ก็คือการสร้างเส้นพรมแดนทางศาสนาให้ชัดขึ้น

ศาสนาในโลกตะวันออกไม่มีพรมแดนที่ชัดเจนนัก มุสลิมในอินเดียซึ่งที่จริงคือคนที่เคยเป็นฮินดูมาก่อน แต่มาเปลี่ยนศาสนาภายหลัง อาจไม่รู้สึกเลยว่าตัวเปลี่ยน “ศาสนา” เพราะแม้ในศาสนาฮินดูเอง ก็มีความแตกต่างเหลื่อมกันระหว่างฮินดูที่นับถือพระศิวะ, พระวิษณุ, พระคเณศ, ฯลฯ ไปจนถึงหนุมาน หรือแม้แต่ทศกัณฐ์ แม้แต่ถือพุทธก็ยังจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ศาสนา” เดียวกัน ดังนั้น การเข้ารีตนับถืออิสลาม ก็เป็นเพียงแต่มีพิธีกรรมและวิถีชีวิตบางอย่างที่แตกต่างจากลัทธิอื่นๆ ในอินเดียเท่านั้น การไม่กินหมู ไม่ทำให้มุสลิมแตกต่างจากฮินดู ซึ่งมีตั้งแต่เป็นมังสวิรัติ หรืออย่างน้อยก็ไม่กินสัตว์ใหญ่

มุสลิมในอินเดียยังใช้ระบบวรรณะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของตน เช่น เป็นมุสลิมด้วยกัน แต่ไม่มีวันแต่งงานข้ามวรรณะกันเป็นอันขาด

ผมคิดว่าการเปลี่ยน “ศาสนา” ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ก็น่าจะเหมือนกัน คือกระทบต่อชีวิตของประชาชนไม่สู้จะมากนัก วัฒนธรรมด้านจิตวิญญาณของชวาก็ยังอยู่กับมุสลิมชวาสืบมาจนทุกวันนี้ เพียงแต่การเข้าถึงสุญญตากลายมาเป็นเข้าถึงพระเจ้าแทนเท่านั้น

นักศึกษาตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ต่างหากที่เห็นว่าการเปลี่ยนศาสนาในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนชาวบ้านทั่วไปรู้สึกแต่ว่าตัวลื่นไหลไปสู่พื้นที่ต่างๆ อย่างไม่รู้สึกตัวเลยด้วยซ้ำ

ในภาคใต้ของไทยไปจนถึงตอนเหนือของมาเลเซีย การผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมและพุทธ กลายเป็นลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมของคนแถบนั้น ชาวพุทธรับเอาประเพณีและคำมลายูมาใช้โดยไม่รู้สึกผิดแปลกอะไร เช่นเดียวกับชาวมุสลิมมลายูก็รับเอาทั้งประเพณีและคำไทยไปใช้โดยไม่รู้สึกอะไรเหมือนกัน

แต่การลื่นไหลในพื้นที่ซึ่งถูกเรียกในภายหลังว่า “ศาสนา” นี้ มาสิ้นสุดลงเมื่อมิชชันนารีฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์เพิ่มมากขึ้น เพราะมิชชันนารีนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในยุโรปมาเผยแพร่ปลูกฝังคนตะวันออก ทั้งคนที่ยอมเปลี่ยนเป็นคริสเตียน และคนอื่นๆ โดยทั่วไปด้วย นั่นคือจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งความเชื่อของตนเองกับของผู้อื่นให้ชัด เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มที่เป็นคาทอลิก กับกลุ่มที่ประท้วงต่อต้านคาทอลิก สองกลุ่มนี้นับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน ยึดถือคัมภีร์เล่มเดียวกัน ซ้ำยังรับเอาพิธีกรรมเก่าหลายอย่างมาปฏิบัติเหมือนกันอีกด้วย แตกต่างกันที่ “นักบวช” เท่านั้น จึงจำเป็นต้องขีดเส้นความเชื่อของตนให้ชัดว่าแค่ไหนเป็นคาทอลิก แค่ไหนไม่ใช่

คนในโลกตะวันออกไม่รู้จะขีดเส้นอย่างนี้ไปทำไม แต่เมื่อศาสนาที่มีเส้นพรมแดนแบบคริสต์เผยแผ่ในเอเชีย ย่อมเกิดเส้นพรมแดนระหว่างศาสนาพื้นเมืองกับศาสนาคริสต์ขึ้นโดยปริยาย และเพื่อจะปกป้องตนเองมิให้ถูกคริสเตียนครอบงำ นักปราชญ์ของศาสนาพื้นเมืองทั้งหลายก็ต้องพัฒนาเส้นพรมแดนในศาสนาของตัวขึ้นด้วย พื้นที่ความเชื่อทางศาสนาที่คนเคยลื่นไหลได้อย่างเสรี ก็เริ่มชนกับเส้นพรมแดนนี้ เริ่มมองเห็นว่ามีคนอยู่อีกฟากหนึ่ง และเริ่มเหม็นขี้หน้าของคนอีกฟากหนึ่งด้วยความไม่ไว้วางใจ

ในขณะที่ศาสนากลายเป็นก้อน ที่ไม่อาจกลืนเข้าหากันได้อย่างในอดีต นักปราชญ์ของศาสนาต่างๆ ในเอเชีย ก็พยายามรื้อฟื้นคำสอนของศาสดาขึ้นใหม่ให้มีพลังที่จะเผชิญกับคริสต์ศาสนา อันที่จริงหากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นักปราชญ์เอเชียทำอย่างนี้ตลอดมาก่อนหน้าที่มิชชันนารีจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์อย่างกว้างขวางด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร ที่จะดำรงอยู่สืบเนื่องมาเป็นพันๆ ปีถึงปัจจุบันได้ ก็เพราะมีนักปราชญ์คอยตีความคำสอนให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ

แต่การรื้อฟื้นศาสนาในเอเชียช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาจแตกต่างจากการกระทำอย่างเดียวกันในอดีต ตรงที่ว่า ต่างก็อาศัยกรอบโครงของการตีความที่มีในศาสนาของตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน นักปราชญ์ฮินดูพบว่าเทคโนโลยีที่มีฐานอยู่บนวิทยาศาสตร์นั้น มีมาแล้วตั้งแต่ในคัมภีร์พระเวท เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผู้แต่งกิจจานุกิจบอกว่ากำเนิดโลกในคติของพระพุทธศาสนา ตรงกับวิทยาศาสตร์เสียยิ่งกว่าทฤษฎีพระเจ้าสร้างโลกของคริสเตียนเสียอีก ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหลายก็เป็นเพียงอุบายในการสื่อคำสอนให้ง่ายสำหรับสามัญชนเท่านั้น คำสอนของขงจื๊อถูกนักปราชญ์จีน, เวียดนาม, เกาหลี ประณามว่าเป็นเหตุให้บ้านเมืองล้าหลังก็มี

แต่บางคนก็พยายามดึงเอาแก่นแกนของคำสอน ซึ่งเน้นวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และโลกวิสัย ว่าคือหัวใจของความเข้มแข็งของบ้านเมือง หากรื้อฟื้นกลับขึ้นมาได้

ผมขอสรุปความพยายามของนักปราชญ์ทางศาสนาในศตวรรษที่ 19 ของเอเชียนี้ว่า การทำศาสนาให้เป็นตะวันตก (Westernization) ผลก็คือ ศาสนากลายเป็นเพียงส่วนเดียวของวิถีชีวิตเหมือนคริสต์ศาสนาของตะวันตก คิดถึงชาวพุทธไทยแล้วกันครับ เรากินเหล้ากินยาร่วมกับฝรั่งได้ โดยไม่มีใครเอะใจว่า เฮ้ยวันนี้วันพระ ผมขอนั่งเฉยๆ ไม่ร่วมดื่ม ซึ่งอาจทำให้ทุกคนในวงรู้สึกอึดอัดไปหมด อันที่จริง แม้แต่ใครนับถือศาสนาอะไรเราก็ไม่เคยสนใจด้วยซ้ำ เกือบจะไม่ต่างอะไรกับการกลัวผี-ไม่กลัวผี กลัวก็คบกันได้ ไม่กลัวก็คบกันได้ หรือแต่งงานกันได้

อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้วน่ะครับว่า มิติทางฆราวาสวิสัยท่วมทับศาสนาทุกศาสนาไปหมด แม้ไม่ได้สมาทานวิทยาศาสตร์และลัทธิปัจเจกชนนิยมเท่าฝรั่งก็ตาม

แต่ทั้งนี้ยกเว้นมุสลิม เพราะเหตุใด ผมมีความรู้ไม่พอจะอธิบายได้ เพียงแต่จะชี้ให้เห็นพัฒนาการที่ต่างกันบางอย่างระหว่างอิสลามในโลกยุคใหม่กับศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย

ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ก็เหมือนศาสนาอื่นๆ ของเอเชีย นักปราชญ์มุสลิมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์และซีเรีย ซึ่งต้องเผชิญกับการครอบงำของจักรวรรดินิยมตะวันตก ต่างพากันเสนอการปรับศาสนาอิสลามให้เข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ตะวันตกนำเข้ามา แต่ความคิดเช่นนี้แพร่หลายอยู่เฉพาะมุสลิมที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่หรือแผนตะวันตกจำนวนไม่มากนัก แม้จะแผ่ลงมายังสถาบันการศึกษาตามจารีตอยู่บ้าง แต่ไม่เข้มข้นนัก ตำราฝรั่งมักเรียกความเคลื่อนไหวทางสติปัญญาและวิชาความรู้ในสังคมมุสลิมช่วงนี้ว่า modernism หรือลัทธิทันสมัยนิยม

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ขยายจากตะวันออกกลางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ปอเนาะของโต๊ะครูที่เป็น modernist มีตั้งขึ้นทั้งในชวา, สุมาตรา, รัฐมลายูของอังกฤษ และบางส่วนก็เลยจากกลันตันข้ามเข้ามายังรัฐมลายูของไทยบ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังมีปอเนาะประเภทนี้น้อยกว่าปอเนาะที่สอนศาสนาตามประเพณี

หากดูข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาของหะยีสุหรง ก็จะเห็นว่าได้อิทธิพลจากความเคลื่อนไหวทันสมัยนิยมอยู่บ้างเหมือนกัน ผมจำหนังของอัฟกานิสถานได้เรื่องหนึ่ง ที่พ่อมุสลิมซึ่งคงเป็นคนหัวใหม่สอนลูกชายว่า พิธีกรรมต่างๆ นั้นไม่สู้สำคัญนัก ให้ดำเนินชีวิตด้วยกฎตายตัวข้อเดียวก็พอ คืออย่าขโมย แล้วอธิบายเพิ่มว่าฆ่าคนก็คือขโมยชีวิตเขา เป็นชู้ก็คือขโมยเมียเขา โกหกคือขโมยความจริง และเมาเหล้าคือขโมยสติของตนเอง

แต่จะด้วยเหตุใด ผมก็อธิบายไม่ได้ ความเคลื่อนไหวนี้ซบเซาลงในโลกอิสลาม คล้ายกับมีปฏิกิริยาพลิกกลับของนักปราชญ์มุสลิมในสายประเพณี จนผมได้ยินนักวิชาการอิสลามในภาคใต้ท่านหนึ่งพูดในทำนองว่า นักคิดมุสลิมในสายทันสมัยนิยมเหล่านี้บิดเบือนคำสอนในศาสนา

ดังนั้น ผมจึงคิดว่ากระบวนการปรับศาสนาให้สอดคล้องกับตะวันตกของศาสนาอื่นๆ นั้น เอาตะวันตกเป็นเกณฑ์ (หรือพูดให้ชัดคือเอาวิทยาศาสตร์ตะวันตกและลัทธิปัจเจกชนนิยมของตะวันตกเป็นเกณฑ์) แล้วปรับคำสอนทางศาสนาให้สอดรับกับค่านิยมใหม่ที่เป็นของตะวันตก ในขณะที่กระบวนการเดียวกันนี้ของศาสนาอิสลามเป็นตรงกันข้าม คือเอาคำสอนของอิสลาม (หรือที่ถือกันมาว่าเป็นคำสอนของอิสลาม) เป็นเกณฑ์ ส่วนใดของตะวันตกที่เข้ากันได้ ก็รับเข้ามา แต่ที่เข้าไม่ได้ก็ไม่รับ เช่นผู้หญิงเล่นกีฬาก็ได้ เพราะพระคัมภีร์ไม่ได้ห้าม แต่ก็ยังต้องแต่งกายรัดกุมตามคำสั่งทางศาสนาอยู่นั่นเอง

ในชีวิตของมุสลิมตามอุดมคติ มิติทางฆราวาสวิสัยต้องเป็นรองมิติทางศาสนาอยู่เสมอ

 

และด้วยเหตุดังนั้น วิถีชีวิตของชาวมุสลิมที่ดีจึงไม่แยกออกจากศาสนา ต่างจากศาสนิกของศาสนาอื่น มุสลิมจึงเป็น “คนแปลกหน้า” ของศาสนิกอื่นๆ จะกิน, จะนอน, จะแต่งงาน, จะเล่นกีฬา, จะแต่งกาย, จะนับพวก, จะพูดภาษาอะไร, จะแสดงความเคารพอย่างไร ฯลฯ จะทำอะไรก็ตามต้องทำให้ถูกตามหลักศาสนา

ศาสนาของศาสนิกอื่นๆ เหลือแต่เพียงความเชื่อ (หรือไม่เหลืออะไรเลย) ในขณะที่มีวิถีชีวิตที่อาจปรับเปลี่ยนไปในทางเดียวกันได้ แต่ไม่ใช่มุสลิม อิสลามเป็นมากกว่าความเชื่อ ยังรวมแทบจะทุกด้านของวิถีชีวิตอยู่ด้วย ความเป็น “คนแปลกหน้า” ของมุสลิมเช่นนี้ต่างหาก ที่ผมอยากสรุปว่าทำให้เกิดอคติในทางร้ายแก่ชาวมุสลิม ชาวพุทธ, ชาวฮินดู หรือแม้แต่ชาวคริสต์ในสมัยหนึ่ง อาจไม่มีอคติเช่นนี้กับมุสลิมเลย เพราะพวกเขาเองก็ไม่อาจแยกศาสนาออกจากวิถีชีวิตได้เหมือนมุสลิมเช่นกัน จึงเป็นเพียงคนที่ถือประเพณีต่างกันเท่านั้น

ผมควรกล่าวด้วยว่า หากศาสนามีความสำคัญแก่ผู้คนในสังคมมากอย่างเช่นสังคมอิสลาม จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำทุกฝ่ายย่อมอ้างศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งนั้น ทั้งฝ่ายที่ครองอำนาจและฝ่ายที่อยากจะแย่งอำนาจ อันที่จริงศาสนิกอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่อ้างไม่เกี่ยวกับ “ศาสนา” เท่านั้น เช่น อ้างคอมมิวนิสต์, อ้างชาตินิยม, อ้างเสรีภาพและประชาธิปไตย, อ้างทุนนิยม, อ้างความเป็นไทยหรือความเป็นอเมริกัน, อ้างเสาหลัก ฯลฯ แล้วก็จับอาวุธฆ่ากันอยู่เสมอ

เพียงแต่มุสลิมย่อมอ้างอิสลาม จึงฟังดูแปลกกว่าที่คนอื่นเขาอ้างกันเท่านั้น