เพิ่มภาษีที่ดิน ‘ปลูกกล้วย’ ในซีบีดี / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

เพิ่มภาษีที่ดิน ‘ปลูกกล้วย’ ในซีบีดี

 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ทำหนังสือหารือคณะกรรมการวินิจฉับภาษีที่ดินฯ เมื่อเดือนกรกฏาคม 2565 ที่ผ่านมา หารือเพื่อยืนยันว่า กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากตามที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 นั้น กำหนดเพดานอัตราภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) ไว้ไม่เกิน 0.15% (ล้านละ 1,500 บาท) ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังแนะนำอัตราจัดเก็บช่วงผ่อนผันที่ 0.01-0.10% (ล้านละ 100-1,000 บาท)

ขณะที่อัตราภาษีที่ดินว่างเปล่า อัตราเพดานที่ 3.0% (ล้านละ 30,000 บาท) อัตราแนะนำ กระทรวงการคลัง 0.3% (ล้านละ 3,000 บาท) ทำให้เจ้าของที่ดินหรือแลนด์ลอร์ดที่มีที่ดินว่างเปล่าในย่านธุรกิจซึ่งมีราคาสูงตารางวาละหลายแสนบาทถึงตารางวาละ 1-2 ล้านบาทที่ยังไม่ได้พัฒนา ใช้วิธีจ้างคนมาปลูกกล้วยหรือมะนาวบนที่ดินดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราที่ดินว่างเปล่า และยอมเสียภาษีในอัตราเกษตรกรรม

กรุงเทพมหานครจึงต้องการที่จะแก้ไขโดยจะจัดเก็บที่ดินที่หันมาปลูกกล้วยปลูกมะนาวดังกล่าวในอัตราภาษีสูงสุดของเกษตรกรรมคือ 0.15% (ล้านละ 1,500 บาท) สำหรับการปลูกพื้นเกษตรกรรมในพื้นที่เมืองตามผังเมืองที่เป็นพาณิชยกรรม (สีแดง) พื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) และพื้นที่คลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง)

ถ้าทำได้ตามนี้ กทม.ก็จะเก็บภาษีได้จากอัตรา 0.01 (ล้านละ 100 บาท) เป็นอัตรา 0.15% (ล้านละ 1,500 บาท)

แนวทางนี้ จะว่าไปแล้วแม้จะต้องการได้ภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือเป็นการประนีประนอมเพราะไม่ได้ชี้ไปที่ประเด็นการเลี่ยงภาษี ที่ดินย่านธุรกิจในเมืองราคาตารางวาละหลายแสนบาทจนถึง 1-2 ล้านบาท นำไปปลูกกล้วย ยังไงก็ไม่คุ้ม เห็นเจตนาชัดเจนว่าเพื่อเลี่ยงภาษีอัตราที่สูงกว่า โดย กทม.ยอมตีความให้เป็นเกษตรกรรม แต่ขอเก็บในอัตราเพพานสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้

 

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่อารยะประเทศต่างๆ มักเรียกว่าภาษีทรัพย์สินนี้ เป็นกฎหมายที่มีแนวคิดในด้านความยุติธรรมทางสังคม โดยคิดว่า ใครได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐและบริการของรัฐมาก ก็ควรเสียภาษีมากกว่า เช่น ที่ดินในเมืองที่รัฐลงทุนถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์มหาศาลควรเสียภาษีมากกว่าที่ดินท้องไร่ท้องนาที่เป็นถนนลูกรัง

แต่พอจะนำกฎหมายนี้มาใช้ในประเทศไทย ระยะแรกๆ ก็ถูกคัดค้านตั้งแต่ยังเป็นแนวคิด ผ่านไปหลายยุคสมัยหลายสิบปี ผลักดันเข้าสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข จนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

แลนด์ลอร์ดเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆ ไม่ได้มีผลกระทบหรือมีภาระภาษีมาก และยังสามารถหลบเลี่ยงได้ไม่ยาก

ขณะที่คนทำธุรกิจจริงๆ อย่างนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ทำโครงการที่อยู่อาศัยบ้าน คอนโดฯ หรือผู้ที่ทำนิคมอุตสาหกรรม คลังสินค้า ซึ่งต้องซื้อที่ดินมาเก็บไว้เป็น “วัตถุดิบ” ในการผลิตสินค้า อาจจะต้องสต๊อกวัตถุดิบที่ว่าเผื่อล่วงหน้า 1-3 ปีสำหรับโครงการเฟสต่อไปหรือโครงการในอนาคต ที่ดินที่เป็นวัตถุดิบถูกตีความเป็นที่ดินว่างเปล่า ก็มีภาระภาษีในอัตราสูง

อย่างไรก็ดี เวลานี้ ขอแค่ได้ตามเจตนารมณ์ของ กทม.ที่ทำหนังสือหารือไป ก็นับว่าก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง •