มัมมี่ ‘ร่างเสมือน’ ในโลกหลังความตาย ของชนชาวอียิปต์ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Khnum : Egyptian god /© Paul Vinten/Dreamstime.com

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

มัมมี่ ‘ร่างเสมือน’ ในโลกหลังความตาย

ของชนชาวอียิปต์

 

ในประวัติศาสตร์อันเนิ่นนานหลายพันปีของอียิปต์นั้น แนวคิดเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายมีความเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา แต่ทั้งหมดนั้นก็อยู่ในโครงสร้างความเชื่อรวมๆ กันว่า ชีวิตนั้นเป็นนิรันดร์ จึงทำให้เกิดมีการถนอมซากศพไม่ให้เน่าเปื่อยอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อว่า “มัมมี่” นั่นแหละนะครับ

แต่ความเป็นนิรันดร์ของชาวอียิปต์นั้นไม่ได้หมายความเขาทำมัมมี่ขึ้นเพื่อให้ วิญญาณสามารถกลับมาฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้งในร่างเดิม จึงต้องมีการถนอมศพไว้เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุด อย่างที่มักจะเข้าใจผิดกัน แถมยังเห็นได้บ่อยๆ ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด

เพราะที่จริงแล้ว ชาวอียิปต์ในยุคที่ปกครองกันด้วยฟาโรห์ถือว่าอะไรที่เรียกว่า “ชีวิต” นั้น เต็มไปด้วยความซับซ้อนสารพัดสารพันสิ่งเกี่ยวพันกันกว่าจะประกอบเป็นชีวิตขึ้นมา แต่ที่เกี่ยวของกับเราในที่นี่คืออะไรที่เรียกว่า “กา” (ka) ซึ่งก็คือคำที่ชาวไอยคุปต์โบราณนั้นใช้เรียก “พลังชีวิต”

ปรัมปราคติของไอยคุปต์โบราณนั้นอ้างว่า คนุม (Khnum) เทพเจ้าเศียรแกะผู้สรรค์สร้างสรรพสิ่ง ควบตำแหน่งเทพผู้ปกปักรักษาทรัพยากรทั้งมวลแห่งแม่น้ำไนล์ จะสร้าง “ร่างกาย” ของมนุษย์ขึ้นมาจากแป้นหมุน ไม่ต่างอะไรจากช่างปั้นหม้อที่ขึ้นรูปภาชนะดินเผา ซึ่งก็เป็นการเปรียบเปรยว่า มนุษย์ในดินแดนที่วัฒนธรรมอียิปต์โบราณกระอยู่นั้น เกิดขึ้นด้วยอำนาจของแม่น้ำไนล์อยู่ในที

จากนั้น เฮเก็ต (Heqet/Heket) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ผู้มีเศียรเป็นกบ จะสร้างพลังชีวิตคือ “กา” แล้วเสกเป่า (breathing) พลังชีวิตที่ว่านี้เข้าไปในร่างกายของแต่ละบุคคลที่เทพคนุมสร้างขึ้น (บางตำนานว่า เทพเจ้าผู้สร้างกาคือ เมสคาเน็ต [Meskhanet] เทพีการคลอดและอนุบาลทารก ที่มีเศียรเป็นมนุษย์ผู้หญิง)

สำหรับชาวอียิปต์แล้ว “กา” จึงเป็นแก่นแท้แห่งชีวิต มนุษย์ตายลงเพราะกาออกไปจากร่างกาย แต่กาก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงมีชีวิตอยู่ในโลกหน้า แถมกานั้นยังดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร และเครื่องดื่ม ไม่ต่างอะไรกับเมื่อครั้งที่ยังอยู่ในกายหยาบของมนุษย์

ดังนั้น จึงต้องมีการเซ่นสรวงผู้ตายด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ต่างกับผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น “กา” จึงแตกต่างจาก “วิญญาณ” เพราะไม่ได้ไปเกิดเป็นชีวิตใหม่ อย่างในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู และไม่ตรงกันทีเดียวกับคำว่า “soul” ในภาษาอังกฤษ เพราะตามความเชื่อของชาวอียิปต์ ตัวตนในเชิงนามธรรมของมนุษย์ อย่างที่เรียกว่า soul (ซึ่งมักจะแปลว่า วิญญาณ ในโลกภาษาไทย) นั้น ยังต้องประกอบไปด้วยอะไรอีกหลายสิ่ง ที่สำคัญคือ “บา” (ba, บุคลิกภาพ) และ “อัคฮ์” (akh, ปัญญา) จึงจะประกอบกันขึ้นเป็นตัวตนในเชิงนามธรรมได้

และเอาเข้าจริงแล้ว “กา” ในวัฒนธรรมอียิปต์ยุคที่ยังก่อสร้างปิระมิดกันอยู่นั้น ดูจะใกล้เคียงกับอะไรที่เรียกว่า “ขวัญ” (ซึ่งก็คือ “พลังชีวิต” และไม่ใช่วิญญาณ เช่นเดียวกับ กา แถมยังต้องประกอบเข้ากับ หิง, มิ่ง และแนน จึงจะนับรวมเป็นตัวตนในเชิงนามธรรมของบุคคลขึ้นมาได้) ตามความเชื่อในศาสนาผีของอุษาคเนย์มากกว่า

 

แต่เมื่อ “กา” คือ พลังชีวิต ได้ออกไปจากร่างกายแล้วจะไปเซ่นสรวงกาได้ที่ไหนล่ะครับ?

คำตอบก็คือเซ่นไหว้มันที่ “ร่าง” ของผู้ตายเหมือนกับอีกสารพัดวัฒนธรรมทั่วโลก ที่เซ่นสรวงบูชากันที่สุสานอันเป็นที่สถิตของผู้ตายนั่นแหละ

อย่าลืมนะครับว่า อันที่จริงแล้ว “พีระมิด” ซึ่งก็คือที่บรรจุมัมมี่ของฟาโรห์นั้น ก็คือสุสานของฟาโรห์คือ กษัตริย์ นั่นเอง

แต่ก็ดูเหมือนว่า ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณจะมีร่องรอยของพัฒนาการความคิด ที่แสดงให้เห็นถึงโยงใยระหว่าง “ร่าง” ของผู้ตาย กับ “พลังชีวิต” ที่หลุดลอยออกไปจากร่างแล้ว ในความเชื่อแบบดั้งเดิมของมนุษยชาติให้เห็นมากกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลก โดยจะสังเกตได้จากแนวคิดเรื่อง “หัวใจ” หรือที่วัฒนธรรมอียิปต์โบราณเรียกว่า “อิบ” (ib)

เพราะชาวอียิปต์โบราณใช้คำว่า “อิบ” ทั้งในความหมายของหัวใจที่เป็น “อวัยวะ” ชิ้นหนึ่งจริงๆ และหมายถึงความหมายเชิงนามธรรม เช่น ความรู้สึกนึกคิด, อารมณ์ หรือเจตจำนง (ทำนองเดียวกับคำว่า ‘ใจ’ ในภาษาไทย) อย่างมีนัยยะสำคัญ

ข้อความจาก “คัมภีร์ของผู้วายชนม์” (Book of the Dead) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมบทสวด และเวทมนตร์คาถาต่างๆ บนม้วนกระดาษปาปิรุส ที่ชาวไอยคุปต์โบราณใช้วางไว้ในสุสาน เพื่อใช้ปกป้องและช่วยเหลือผู้ตายในปรภพ ซึ่งเริ่มใช้เมื่อราว 3,600 ปีที่แล้ว (แต่ภายในบทสวดต่างๆ ในคัมภีร์ของผู้วายชนม์ประกอบขึ้นจาก “บทสวดโลงศพ” [Coffin Texts] และ “บทสวดพีระมิด” [Pyramid Texts] ซึ่งมีอายุเก่าแก่ไปถึงช่วงราว 4,100 ปี และ 4,400 ปีตามลำดับ หมายความว่า กระบวนความคิดเกี่ยวกับความตายในคัมภีร์ที่ว่านี้ ก่อร่างมาก่อนหน้าที่จะมีการประกอบบทสวดทั้งสองนี้เข้าด้วยกันแล้ว) ทำนองเป็น “คู่มือในการเดินทางสู่ชีวิตนิรันดร์” ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น มีข้อความอ้างว่า ก่อนที่กาจะไปถึงดินแดนสุดท้ายแห่งชีวิตนิรันดร์ที่มีชื่อว่า “เซ็กเฮต-อารู” (Sekhet-Aaru) อันเป็นทุ่งกว้างที่เขียวชอุ่มไปด้วยต้นกกนั้น จำเป็นที่จะต้องข้ามผ่านอะไรที่เรียกว่า “ห้องโถงแห่งสัจจะทั้ง 2” (The Hall of the Two Truths)

“กา” ทั้งหลายที่มุ่งหมายจะไปให้ถึงชีวิตอันนิรันดร์นั้น จะต้องเข้าไปรับฟังคำพิพากษาจากคณะทวยเทพทั้ง 42 องค์ โดยมี “โอซิริส” (Osiris) เทพบดีแห่งปรภพและความตาย เป็นประธานอยู่ในพลับพลากลางสระบัว

เหล่าเทพตุลาการทั้ง 42 องค์นี้จะไต่สวนบาป 42 ประการ ถ้ากาสามารถยืนยันความบริสุทธิ์จากบาปทั้งหมดทุกข้อได้ เทพอนูบิสจะนำกาไปอยู่ที่หน้าตาชั่งทองคำ โดยมีเทพบดีโอซิริส, ธอธ (Thoth) เทพเจ้าแห่งปัญญา และมาอัต (Ma’at) เทพีแห่งสัจจะ ควบตำแหน่งเทพีแห่งระบบระเบียบ และการตัดสิน ร่วมเป็นสักขีพยานที่หน้าตาชั่ง จากนั้นอนูบิสจะยื่น “อิบ” คือหัวใจของ “กา” ให้โอซิริสเป็นผู้วางลงบนตาชั่ง โดยชั่งคู่กับขนนกของเทพีมาอัต

ชาวอียิปต์ในยุคโน้นเชื่อกันว่า หัวใจที่บริสุทธิ์นั้นย่อมมีน้ำหนักเบาเท่ากับขนนก และเมื่อผ่านด่านนี้ได้แล้ว กาก็จะเข้าสู่ทุ่งกกกว้างเซ็กเฮต-อารู ไปอยู่ร่วมกับคนรัก ในดินแดนนิรันดร์ ที่ไม่มีความเจ็บไข้ สิ้นหวัง มีแต่ความสุขตลอดกาล แต่หากชั่งแล้วหัวใจหนักกว่าขนนก หัวใจที่หนักหนาไปด้วยบาปนั้นจะถูกโยนทิ้งลงในทะเลเพลิง ส่วนกาจะถูกกลืนกินเข้าสู่ห้วงแห่งความว่างเปล่า

ดังนั้น “อิบ” หรือ “หัวใจ” จึงเป็นอวัยวะสำคัญ ที่ต้องถูกเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี เพราะเป็นอวัยวะสำคัญที่ผู้ตายยังต้องใช้งานอยู่ แม้จะลาโลกนี้ไปแล้ว ที่สำคัญคือ เป็นร่องรอยสำคัญของโยงใยเรื่องการรักษาสภาพร่างกายของศพ ด้วยการทำมัมมี่

 

หลักฐานต่างๆ ทำให้เราในปัจจุบันรู้ว่า ชาวอียิปต์มองภาพชีวิตหลังความตาย คล้ายคลึงกับโลกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ พระอาทิตย์เมื่อลาลับขอบฟ้าในโลกของคนเป็นแล้ว ก็จะโคจรไปส่องสว่างอยู่ในโลกของคนตายที่เรียกว่า “ดูอาท” (Duat) ซึ่งมีประชากรทั้งที่เป็น เหล่าทวยเทพ ปีศาจ และกาทั้งหลาย

แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า อะไรที่เรียกว่า “กา” นั้นเป็นเพียง “พลังชีวิต” ดังนั้น พวกเขาจึงต้องมีพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการทำศพ (ที่มีการทำมัมมี่เป็นส่วนหนึ่งในนั้น) ที่ในบทสวดพีระมิดเรียกว่า “พิธีเบิกโอษฐ์” (Opening of the mouth ceremony) เพื่อจะทำให้ “บา” (บุคลิกภาพ) กลับมารวมเข้ากับ “กา” แล้วกลายเป็น “ชาห์” (sha) คือ “ร่างเสมือน” (substitute body) ในชีวิตหลังความตาย ที่มีมัมมี่ และพีระมิด (หรือหลุมศพต่างๆ) นั่นแหละ เป็นบ้านหรือที่พำนักของร่างเสมือนที่ว่านี้

ชาวอียิปต์ในยุคโน้นยังเชื่ออีกว่า มัมมี่คนแรกนั้นก็คือ โอซิริส ผู้เป็นเทพบดีแห่งปรภพ และชีวิตหลังความตายนั้น ยังสามารถจะตายได้อีก (เช่น การถูกตัดสินว่าเป็นคนบาปที่ห้องแห่งสัจจะทั้ง 2 จนถูกทำหายไปในความว่างเปล่า) แถมคราวนี้ยังเป็นการตายอย่างถาวรอีกด้วย

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เมื่อมัมมี่ถูกบรรจุไว้ในโลง แล้วนำไปเก็บไว้ในพีระมิด หรือสุสานแล้ว ชีวิตใหม่ในดูอาท หรือโลกหลังความตายก็ได้บังเกิดขึ้น ชนชาวไอยคุปต์ในยุคโน้นไม่ได้ถนอมร่างกายของศพไว้เพื่อรอให้ผู้ตายกลับมาฟื้นคืนชีพในโลกนี้ แต่เพื่อให้เป็นร่างเสมือน สำหรับดำรงชีวิตในโลกหลังความตายต่างหาก •