“มุมมืด!” รับจ้างหิ้วสินค้าผ่านระบบออนไลน์ “เซลส์” ที่ไหน เจอ “ไลฟ์” ที่นั่น แถมรบกวนเบียดบัง “ผู้บริโภค” รายอื่น

มาแรงแซงโค้งในแทบทุกธุรกิจยามนี้คือการ “หิ้วของ” ผ่านออนไลน์และเฟซบุ๊กไลฟ์

ธุรกิจนี้เป็นรูปแบบที่เริ่มทำมาพักใหญ่ๆ แล้ว และปัจจุบันยิ่งพัฒนาไปมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเดือดร้อนให้ผู้ซื้อรายอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ในอดีตการ “หิ้วของ” มักเป็นที่คุ้นเคยในกลุ่มสินค้าต่างประเทศ ฮิตสุดไม่พ้นการหิ้วสินค้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

เรียกว่าหิ้วกันมาเป็นล่ำเป็นสัน

จากอดีตมักเป็นการหารายได้เสริมของคนที่ทำงานด้านการบิน เช่น แอร์โฮสเตสหรือสจ๊วต ที่หิ้วสินค้ายอดฮิต ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำอางจากประเทศผู้ผลิต แล้วนำมาขายให้ลูกค้าที่สั่งจอง

หรือที่รู้จักกันในชื่อสินค้า “พรีออเดอร์” คือสั่งจองก่อนแล้วมีคนไปหิ้วกลับมาให้

จนต่อมาเมื่อระบบการสื่อสารทางออนไลน์ไม่ว่าเฟซบุ๊ก ไอจี หรืออื่นๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้การค้าลักษณะ “พรีออเดอร์” แพร่หลายในวงกว้าง เริ่มมีบุคคลทั่วไปที่เดินทางไปท่องเที่ยว รับหิ้วของกลับมาให้ผู้ซื้อ

ถือเป็นค่าตั๋วเครื่องบินหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เรียกว่าเป็นกึ่งๆ ธุรกิจ

แต่ด้วยความฮ็อตฮิตและการเดินทางไปต่างประเทศง่ายขึ้น มีค่าใช้จ่ายถูกลง ทำให้พ่อค้าแม่ค้าพรีออเดอร์ เริ่มรับหิ้วของอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

มีจำนวนมากที่เจตนาไปซื้อสินค้าที่ลูกค้าสั่งของแล้ว (แอบ) นำกลับมาส่งให้ โดยบวกราคาสินค้าและค่าหิ้ว

ยิ่งการสื่อสารระบบอินเตอร์เน็ตก้าวล้ำมากเท่าใด การค้าออนไลน์ยิ่งทำได้ง่ายขึ้น หลากหลายขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และได้รับความเชื่อถือ

นอกจากรับพรีออเดอร์ก่อนเดินทางไปแล้ว เมื่อเดินทางไปถึงจุดหมาย หากเห็นสินค้าใดน่าสนใจ ก็สามารถถ่ายภาพแล้วโพสต์ลงไอจีหรือเฟซบุ๊กของตัวเอง เพื่อรอรับออเดอร์จากลูกค้าที่ติดต่อกลับมาได้ทันที

ในปัจจุบันการพรีออเดอร์ ไม่ได้ขีดวงเฉพาะสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น เพราะตอนนี้ในเมืองไทยก็รับหิ้วของกันเองแล้วด้วย

เน้นไปที่กลุ่มสินค้าแบรนด์เนมลดราคา หรือสินค้าแบรนด์เนมเปิดตัวใหม่ๆ

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ร้าน “LOUIS VUITTON” สาขาในเมืองไทย เปิดตัวสินค้าใหม่ที่ร่วมกับ “Supreme” ผลิตออกมาเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ มีคนจำนวนมากแห่แหนไปรอตั้งแต่กลางดึก เพื่อเข้าไปเลือกซื้อในตอนเปิดร้าน

หรือก่อนหน้านี้มี “Adidas” ออกรองเท้ารุ่นพิเศษ คนก็แห่กันไปแย่งซื้อกันร้านแทบถล่ม

ว่ากันว่าส่วนหนึ่งไม่ใช่ซื้อเพื่อใช้เอง แต่ซื้อเพื่อขายต่อหรือได้รับออเดอร์มาหิ้วของโดยเฉพาะ

เพราะลูกค้าที่มีฐานะอาจไม่ต้องการไปเบียดแย่ง หรือไม่ต้องการเสียเวลาไปรอคิว รวมถึงคนที่อยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งยอมเสียเงินจ้างพ่อค้า-แม่ค้าเหล่านี้ไปลำบากลำบนแทน

แน่นอนหากสินค้าแบรนด์เนมนั้นๆ เป็นที่ต้องการมากเท่าไหร่ ต้องแย่งชิงกันมากเท่าใด ราคาค่า “หิ้ว” ย่อมต้องสูงตาม

ส่วนรูปแบบการค้าออนไลน์ที่กำลังฮิตที่สุด แต่ก็ถูกประณามมากที่สุดเช่นกัน จนถูกมองว่าเป็น “มุมมืด” หรือรอยด่างของการค้าออนไลน์ในยุคปัจจุบัน นาทีนี้ต้องยกให้การรับจ้างหิ้วสินค้าแบรนด์เนมลดราคา

เป็นที่ทราบกันดีว่าห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าตามเทศกาลต่างๆ หรือบางครั้งแหล่งขายสินค้าแบรนด์เนมราคาถูกกว่าปกติ หรือ “Outlet” ที่ส่วนใหญ่อยู่ตามหัวเมืองท่องเที่ยว ก็จัดมหกรรมลดราคา

ตรงนี้เองกลายเป็นช่องทางให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์หัวใสจำนวนมาก ปฏิบัติการ “ด้านได้ อายอด” ด้วยการแห่เข้าไปจับจองสินค้าไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็เริ่มถ่ายภาพหรือวิดีโอแบบถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กหรือไอจี ของตัวเอง เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าของจริงกันสดๆ และรับออเดอร์กันแบบนาทีต่อนาที

ลูกค้ารายใดสนใจสินค้าตัวไหนก็ติดต่อผ่านการสื่อสารออนไลน์ โดยสั่งซื้อสินค้า แล้วโอนเงินกันทันที

ยิ่งปัจจุบันการโอนเงินทางออนไลน์ทำได้ง่ายผ่านสมาร์ตโฟน จึงทำให้สะดวกมากขึ้น

เมื่อพ่อค้า-แม่ค้าได้รับออเดอร์ก็นำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินแล้วแพ็กเก็บไว้ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหรือร้านปิด ก็ขนสินค้าทั้งหมดมาส่งให้ลูกค้าแลกกับค่าหิ้วชิ้นละ 100-200 บาท (ไม่รวมค่าส่ง)

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นมุมมืด และสร้างภาพลบก็คือขั้นตอนก่อนการสั่งซื้อ

เพราะเมื่อพ่อค้า-แม่ค้า หมายตาสินค้าตัวไหนเอาไว้แล้วถ่ายภาพหรือวิดีโอเผยแพร่ในระบบออนไลน์ของตัวเองเพื่อรอคำสั่งซื้อ หากมีลูกค้าคนอื่นๆ ที่เข้ามาในร้านเกิดถูกใจสินค้าชิ้นเดียวกัน พ่อค้า-แม่ค้าเหล่านี้จะอ้างว่าจับจองไว้แล้ว ให้ไปหาสินค้าชิ้นอื่นแทน

กรณีที่เกิดปัญหามากที่สุดคือการลดราคาเสื้อผ้า เพราะนักหิ้วสินค้าไม่สามารถจัดเก็บเสื้อผ้าที่จับจองไว้ทั้งหมดได้ แต่ต้องแขวนไว้บนราว เมื่อมีลูกค้า “วอล์กอิน” เข้ามาหยิบจับ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เหล่านี้ก็จะแสดงความเป็นเจ้าของ

หรือหากเป็นสินค้ารองเท้า ถึงขั้นแอบเอารองเท้าข้างหนึ่งไปซ่อนเอาไว้ก็มี

ทำให้ลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ และไม่เป็นธรรม รวมถึงเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเนื่องจากบางครั้งไม่ได้มีผู้ค้าออนไลน์แค่รายเดียว แต่แห่เข้าไปจำนวนมาก หรือถึงขั้นปักหลักนำอาหารเข้าไปกินระหว่างรอออเดอร์ก็มี

แม้จะเริ่มมีการร้องเรียนไปยังเจ้าของห้างสรรพสินค้าหรือเจ้าของแบรนด์ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ลักษณะนี้ยังไม่ดีขึ้น

วิเคราะห์กันว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจนี้เฟื่องฟู

ประการแรก พ่อค้า-แม่ค้าถือว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนซื้อสินค้ามาสต๊อกเอาไว้ หากประกาศขายแล้วไม่มีคนสนใจก็ไม่ต้องไปจ่ายเงินซื้อ แต่หากมีคนสนใจและโอนเงินก็ได้ค่าหิ้ว 100-200 บาท วันหนึ่งๆ ได้สัก 30-50 ชิ้น นับเป็นรายได้ไม่น้อย แถมไม่ต้องเสียภาษีด้วย

นอกจากนี้ เวลาชำระเงิน ส่วนใหญ่จะใช้บัตรเครดิตเนื่องจากต้องเตรียมเงินไว้จำนวนมาก การพกเงินสดอาจไม่สะดวกและปลอดภัยนัก จึงได้ทั้งเครดิตเพิ่มและคะแนนสะสมสามารถแลกของรางวัลจากสถาบันการเงินเจ้าของบัตรได้อีกต่อหนึ่ง

สิ่งที่เสียจริงๆ ก็แค่ “เวลา” เท่านั้น

ขณะที่ร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าของมักไม่ได้มาดูแลด้วยตัวเอง มีเพียงพนักงานประจำร้าน ที่หากได้ส่วนแบ่งเล็กน้อยจากพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ แถมยังได้เปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า ก็จะทำเป็นมองไม่เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้

และบางครั้ง เจ้าของร้านเองยังเป็นใจกับพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ด้วย เพราะถือว่ามีช่องทางการขายมากขึ้น

ส่วนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มองว่าได้ความสะดวก เพราะไม่ต้องเดินทางไปเอง หรืออยู่ไกลเกินกว่าจะเสียเวลาไป จึงยอมจ่ายแพงกว่าเล็กน้อยเพื่อสั่งซื้อสินค้าลักษณะนี้ ซึ่งลูกค้าที่คิดแบบนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อหลายๆ ฝ่ายสมประโยชน์ ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย และร้านค้า (บางแห่ง)

ผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบคงได้แต่ “ทำใจ” เท่านั้น

หรือหากจะลุกฮือขึ้นมาจริงๆ คงต้องใช้มาตรการทางสังคม ด้วยการไม่อุดหนุนสินค้าที่ปล่อยให้พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ เข้ามาเอาเปรียบผู้บริโภครายอื่นๆ