อาณฑาฬ : มาลัยคล้องใจของพระเจ้า / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

อาณฑาฬ

: มาลัยคล้องใจของพระเจ้า

 

“สาวน้อยเกเร เจ้าไม่ได้ยินเสียงนกน้อยร่าเริงส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ไม่ได้ยินเสียงประกาศโหวกแหวกในยามอรุณหรือ? เจ้าไม่ได้ยินเสียงกุกกักของนางโคปี ที่กำลังปั่นกวนนมเปรี้ยวด้วยไม้เพื่อทำเนย เสียงกรุ๋งกริ๋งยามเมื่อเครื่องประดับของพวกนางกระทบกัน และกลิ่นบุปผาผกามาลย์ที่มัดไว้บนผมของนางหรือไร? อารยบุตรีผู้มีโชค ไฉนยังคงห่อตัวอยู่บนเตียงนอนนั่น แม้เมื่อได้ยินพวกเราร้องสรรเสริญพระเกศวัน ผู้มิใช่ใครอื่นนอกจากองค์นารายณัน มาเถิด กันยาผู้เริงร่า เปิดประตูออกเถิด!”

 

กวีข้างต้นมาจากบทประพันธ์ชื่อ “ติรุปาไว” (Tiruppavai) ในภาษาทมิฬ ซึ่งเป็นบทกวีชื่อเดียวกันกับพระราชพิธี “ตรีปวาย” ของพราหมณ์สยาม ประพันธ์โดย “อาณฑาฬ” (Andal) นักบุญสตรีเพียงหนึ่งเดียวของกลุ่มนักบุญอาฬวาร์ (ผมไม่ทราบภาษาทมิฬจึงพยายามหาคำสะกดด้วยอักษรโรมัน หากมีข้อผิดพลาดต้องขออภัย)

ติรุปปาไวว่าด้วยการที่บรรดาหญิงสาวหรือนางโคปีถูกปลุกแต่เช้าตรู่ เพื่อจะทำพิธีถือพรตปาไวนอนพู เป็นพรตบูชาที่จะทำให้ได้สามีที่ดี จากนั้นพวกนางพากันไปหาพระกฤษณะ ไปปลุกพระองค์ให้ตื่นมาเช่นกัน เพราะสามีที่ดีที่พวกนางใฝ่ฝันคือพระกฤษณะนั่นเอง

อาณฑาฬเป็นคำนามเพศหญิงของคำว่าอาฬวาร์ นามจริงๆ ของนักบุญท่านนี้คือ โคทาหรือโคทาเทวี (Goda devi) ท่านมีชีวิตอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่แปด ณ เมืองศรีวิลลิปุตตุร์ ไม่ไกลนักจากมทุไร

บิดาเลี้ยงของอาณฑาฬเป็นหนึ่งในนักบุญอาฬวาร์เช่นเดียวกัน ท่านอยู่ในวรรณะพราหมณ์และถูกขนานนามว่า เปริยาฬวาร์ (อาฬวาร์อาวุโสหรืออาฬวาร์ผู้เป็นที่รัก) หรือ “วิษณุจิตตะ” เพราะมีจิตเฝ้าครุ่นคิดถึงพระวิษณุตลอดเวลา

เปริยาฬวาร์ไม่ได้มีความรอบรู้พระเวทและศาสตร์ต่างๆ อย่างพราหมณ์คนอื่น เพราะท่านใช้เวลาทั้งวันไปกับการปลูกดอกไม้ ร้อยมาลัยและกระทำบูชาพระวิษณุด้วยความรัก

ครั้งหนึ่งวัลลภาเทวะ กษัตริย์วงศ์ปาณฑยะแห่งมทุไรได้พบโศลกสันสกฤตว่า “ทำงานแปดเดือนในหนึ่งปีเพื่อหน้าฝน ทำงานระหว่างวันเพื่อกลางคืน ทำงานวัยเยาว์เพื่อยามแก่เฒ่า ทำกิจต่างๆ ในชาตินี้เพื่อชาติหน้า” กษัตริย์ครุ่นคิดว่า ตนเองได้กระทำสิ่งต่างๆ เพียงพอสำหรับชาติหน้าแล้วหรือไม่ จีงป่าวประกาศให้หานักปราชญ์มาช่วยไขในเรื่องนี้

พระวิษณุได้มาเข้าฝันเปริยาฬวาร์ให้เข้าร่วมการชุมนุม และสัญญาว่าจะมอบความปราดเปรื่องให้แม้ไม่ได้เล่าเรียน เปริยาฬวาร์จึงสามารถเทศนาจนเป็นที่พอพระทัย พระเจ้าวัลลภาเทวะจึงพระราชทานยศศักดิ์และเงินทองให้อย่างมากมาย แต่เปริยาฬวาร์มิได้สนใจสิ่งเหล่านั้น ท่านยังคงกลับไปใช้ชีวิตปรนนิบัติพระเป็นเจ้าตามเดิม

วันหนึ่งขณะกำลังดูแลสวนต้นตุลสี (กะเพรา) ใกล้เทวาลัยวฏปัตรสายี (พระกฤษณะผู้นอนบนใบไทร) เปริยาฬวาร์ก็ได้พบทาริกาน้อยคนหนึ่งนอนอยู่ในห่อผ้า เขาจึงตั้งชื่อเด็กหญิงคนนี้ว่า “โคทา” ซึ่งหมายถึง พระแม่ธรณีประทานให้

ด้วยเหตุนี้ ชาวไวษณพนิกายในอินเดียภาคใต้จึงเชื่อว่า โคทาเทวีหรืออาณฑาฬเป็นพระภูเทวีหรือพระแม่ธรณีอันเป็นชายาองค์หนึ่งของพระวิษณุมาบังเกิด

 

โคทาค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างร่าเริงด้วยความรักของพ่อเลี้ยงซึ่งรักเธอเหมือนลูกในไส้ อีกทั้งยังได้พร่ำสอนถึงพระเป็นเจ้าที่เขาศรัทธา ด้วยเหตุนี้ รักแรกของโคทาคือพระกฤษณะ เทพเจ้าอันหล่อเหลาเจ้าเสน่ห์ที่พ่อเล่าให้ฟัง

ความรักภักดีต่อพระเจ้าของอาณฑาฬจึงมิใช่อย่างบิดาของเธอ เธอรักพระเจ้าอย่างคู่รัก รักอย่างลุ่มหลงคลั่งไคล้ อย่างผู้ที่รอคอยคนรักที่จากกันไกล เธอถึงกับประพันธ์บทกวีชื่อ “วรนัม อายิรัม” ซึ่งจินตนาการถึงงานแต่งงานของเธอกับพระกฤษณะอย่างโอฬาริก

“ปวงเทวารวมทั้งพระอินทร์ หลังจากที่ได้หารือและทำการสู่ขอแล้ว ก็เลือกฉันเป็นว่าที่เจ้าสาวของพระกฤษณะ พระเทวีทุรคาพี่สะใภ้ประดับประดาฉันด้วยเครื่องประดับมงคลและอาภรณ์เจ้าสาว มิตรรัก ฉันเห็นสิ่งนี้ในความฝัน”

ในโลกแห่งความเป็นจริง อาณฑาฬกังวลว่าเธอจะสวยงามคู่ควรกับพระกฤษณะหรือไม่ วันหนึ่งเธอจึงนำพวงมาลัยที่พ่อตระเตรียมไว้ถวายพระเป็นเจ้ามาสวม เพราะคิดว่ามาลัยจะทำให้เธองดงามขึ้น

เปริยาฬวาร์เห็นดังนั้นก็รู้สึกเสียใจ และไม่นำพวงมาลัยดังกล่าวไปถวายเทวรูป เนื่องจากมันถูกผู้อื่นสวมเสียก่อน จึงไม่เหมาะจะถวายอีกต่อไป

คืนนั้นพระวฏปัตรสายีมาเข้าฝันเปริยาฬวาร์ ถามสาเหตุที่เขาไม่เอามาลัยไปถวายเช่นทุกๆ วัน เขาจึงเล่าเรื่องดังกล่าวให้พระเป็นเจ้าฟัง เมื่อพระองค์ฟังแล้วก็ทรงมีบัญชาว่า นับแต่นี้ไป พวงมาลัยที่จะถวายให้พระองค์ต้องให้อาณฑาฬสวมก่อนเสมอ

ทุกวันนี้ยังคงมีประเพณีที่จะส่งพวงมาลัยจากเทวสถานของอาณฑาฬในเมืองศรีวิลลิปุตตุร์ ไปยังเทวสถานพระวิษณุเวงกเฏศวรที่ติรุปติเพื่อให้พระวิษณุสวม ในช่วงเทศกาลครุโฑสวัม

 

เมื่อถึงวัยที่จะต้องออกเรือน บิดาถามอาณฑาฬว่าเธอประสงค์จะแต่งงานกับใคร อาณฑาฬยืนยันว่าจะแต่งงานกับพระวิษณุเท่านั้น มิใช่ชาวโลก บิดาจึงเล่าถึงทิพยเทศต่างๆ ว่า เธอประสงค์จะไปพบพระวิษณุยังที่ใดเป็นพิเศษ (แม้จะเป็นพระวิษณุทั้งหมด แต่ละพระองค์มีบุคลิกและเอกลักษณ์ต่างกัน)

อาณฑาฬเลือกเทวาลัยรังคนาถสวามีแห่งศาสนนครศรีรังคัม ทว่า จะเป็นไปได้อย่างไร ทั้งระยะทางอันยาวไกลและการจัดเตรียมพิธีต่างๆ ที่ยุ่งยาก

พระวิษณุในรูปพระรังคนาถสวามีแห่งศรีรังคัมจึงได้มาเข้าฝันเปริยาฬวาร์ พระองค์ยินดีที่จะรับบุตรีของเขาเป็นชายา และพระองค์จะได้ส่งพราหมณ์ของพระองค์เองมาเตรียมการต่างๆ ให้

ข่าวนี้แพร่ไปถึงพระเจ้าวัลลภาเทวะ พระองค์จึงจัดขบวนแห่แหนอันยิ่งใหญ่เพื่อส่งอาณฑาฬไปยังศรีรังคัม

เมื่ออาณฑาฬในชุดเจ้าสาวอันงดงามมาถึงเทวาลัยศรีรังคัมแล้ว เธอก้าวลงจากราชยานคานหามตรงไปยังห้องครรภคฤหะ แล้วหายวับไปหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศรีรังคนาถ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่ออาณฑาฬอายุได้สิบหกปี

เปริยาฬวาร์ได้ยินเสียงจากเทวรูปว่า “นับแต่นี้เราถือว่าเจ้าเป็นพ่อตาของเรา จงกลับไปประดิษฐานเทวรูปของเราเคียงคู่กับอาณฑาฬ และนำมาลัยคล้องให้อาณฑาฬก่อนจะบูชาเราเช่นเดิม”

 

ว่ากันว่าในสมัยอาณฑาฬยังมีชีวิตอยู่ เธอได้บนบานกับพระวิษณุในเทวสถานติรุมาลิรุมโสไรว่าหากเธอได้แต่งงานกับพระวิษณุรังคนาถ เธอจะถวายหม้อที่เต็มเปี่ยมไปด้วยข้าวหุงด้วยนมเนยจำนวนร้อยหม้อ

เป็นเวลาร่วมร้อยปีต่อมา รามานุชาจารย์ นักปรัชญาไวษณพที่ยิ่งใหญ่ได้ค้นพบเรื่องนี้ แต่ไม่มีหลักฐานใดระบุว่าอาณฑาฬได้แก้บนแล้ว รามานุชะจึงช่วยแก้บนเพื่อให้ความปรารถนาของอาณฑาฬสัมฤทธิผล ตำนานเล่าต่อว่า เทวรูปอาณฑาฬที่เมืองศรีวิลลิปุตตุร์พึงพอใจมากและเรียกว่ารามานุชะว่าพี่ชาย รามานุชะจึงมีอีกนามว่า “โคทาครชะ” หรือพี่ชายของโคทา

อาณฑาฬเป็นกวีนักบุญที่ชาวอินเดียใต้รักใคร่มากที่สุดท่านหนึ่ง เช่นเดียวกับชาวอินเดียเหนือที่รักนักบุญมีราพาอี มิเพียงเพราะท่านเป็นสตรีในสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ความรักของท่านนั้นเปิดเผย ร้อนแรง และยังท้าทายขนบของสังคมในยุคนั้น

ผลงานของอาณฑาฬขนาดยาวมีสองเรื่อง เรื่องแรกคือติรุปาไว แม้พราหมณ์สยามจะใช้ชื่อนี้เป็นพระราชพิธี แต่ก็มิเคยกล่าวถึงอาณฑาฬ คงเป็นเพียงร่องรอยความเชื่อมโยงกับอินเดียภาคใต้มากกว่า

ส่วนอีกเรื่องคือนาจิยาร์ ติรุโมลิ (Nachiyar Tirumoli) หมายถึงคำศักดิ์สิทธิ์ของชายาหรือสตรี บทประพันธ์นี้ถูกรวมไว้ในทิพยปรพันธัมของอาฬวาร์ ทว่า ถูกกล่าวถึงน้อยกว่าติรุปาไว เนื่องจากเนื้อหาของบทประพันธ์ชิ้นนี้กล่าวถึงความรักแบบหนุ่มสาวที่เร้าร้อนเป็นพิเศษ มีบทอัศจรรย์และมีนัยทางเพศสัมพันธ์มากกว่าผลงานอื่น

ผมขอยกบางส่วนมาเป็นตอนจบของบทความนี้

“ชีวิตฉันจะยังคง เมื่อพระองค์ให้สัญญา

แม้พักหนึ่งราตรี ก็สุดที่สิเน่หา

พระองค์ทรงเข้ามา เพียงเพื่อลาจากไปไกล

รอยเจิมนลาฏนั้น ประทับถันของฉันไว้

ปั่นกวนป่วนภายใน ความสดใสของวัยสาว

อมฤตหกเรี่ยราด แสนผุดผาดสุกสกาว

เนื้อเลือดอันแรงร้าว ก็เบ่งพราวราวดอกบาน” •