ปัญหาโอละแม่! ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ (2) : จากอัครชายาของลูก สู่เทวีองค์หนึ่งของพ่อ? / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ปัญหาโอละแม่!

ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ (2)

: จากอัครชายาของลูก สู่เทวีองค์หนึ่งของพ่อ?

 

ยังเหลือโจทย์อีก 6 ข้อที่ต้องมาไขปริศนากันต่อเกี่ยวกับ “พระนางจิรประภามหาเทวี” ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นกษัตรีย์ศรีล้านนาอยู่ในช่วงสั้นๆ แบบ “ขัดตาทัพ” นั่นคือระหว่างเดือน 9 ปี พ.ศ.2088 ถึงเดือน 3 ปี 2089 รวมเวลา 7 เดือน

โดยดิฉันจะตัด 3 ประเด็นที่เฉลยตั้งแต่คราวก่อนทิ้งไป ก็จะเหลือโจทย์ 6 ข้อดังนี้

หนึ่ง พระนางเป็นพระมเหสีของ “พระเมืองเกษเกล้า” จริงหรือไม่

สอง พระนางเป็นพระราชมารดาของ “ท้าวซายคำ” “ท้าวจอมเมือง” และ “นางยอดคำ” จริงหรือไม่

สาม พระนางเป็น “แม่ยายของพระเจ้าโพธิสาลราช” และเป็น “ยายของพระไชยเชษฐาธิราช” จริงหรือไม่

หากข้อแรกได้คำตอบว่าไม่ใช่ ข้อสองกับข้อสามก็ไม่ต้องเสียเวลามาสาธยายอะไรให้เสียเวลาเปล่า และหากข้อสามไม่ใช่ มันก็น่าจะโยงไปถึงข้อ 4-6 ซึ่งพ่วงต่อกันเป็นโดมิโนอีกด้วย นั่นคือ

สี่ พระนางเป็นคนดึงเอาพระไชยเชษฐา หลานยายมานั่งเมืองเชียงใหม่ 2 ปี

ห้า พระนางติดตามพระไชยเชษฐาไปหลวงพระบางด้วย พร้อมย้ายพระคู่บ้านคู่เมือง จนถูกกล่าวหาว่าพระนางคือ “มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่”?

หก พระนางจำลองเอารูปแบบเจดีย์ที่วัดโลกโมฬีไปสร้างไว้ที่ทาดน้อยหลวงพระบาง

รูปหล่อสำริด พระนางจิรประภามหาเทวี ในศาลาด้านทิศใต้ วัดโลกโมฬี

จากอัครชายาพระเมืองเกษเกล้า

สู่เทวีของพระเมืองแก้วผู้พ่อ

เหตุไรจึงกล่าวว่า พระนางจิรประภามีแนวโน้มว่าน่าจะเป็น “เทวี” ของพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ผู้พ่อ มากกว่าที่จะเป็นอัครชายาของพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 ผู้ลูก

คำอธิบายนี้ ขออนุญาตอ้างอิงเอกสารและบทเสวนาในรายการคลับเฮาส์ของ “อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ” เนื่องจากท่านเป็นนักวิชาการรายแรก ที่ได้ค้นพบข้อมูลประเภทคัมภีร์ใบลานฉบับใหม่ๆ ตามวัดร้างโบราณ และเป็นคนแรกที่ตั้งคำถามให้นักวิชาการในแวดวงประวัติศาสตร์ล้านนาทบทวน ว่าตกลงแล้วพระนางจิรประภาคือใคร? หลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ตีความหลักฐานค้นพบใหม่อย่างละเอียด

เอกสารชิ้นแรกที่อาจารย์ชัยวุฒินำเสนอก็คือ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับวัดร้างแห่งหนึ่งของเวียงฮอด” โดยพ่อหนานอายุกว่า 80-90 ปี ชาวจอมทองคนหนึ่งนำมาให้อาจารย์ชัยวุฒิดู เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราว 4-5 ปีที่แล้ว ตอนอาจารย์ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแถววัดพระธาตุศรีจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

ข้อความหลักๆ โดยทั่วไปค่อนข้างคล้ายคลึงกับเนื้อหาในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับที่ปริวรรตโดย ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี หรือโดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว แต่ที่น่าแปลกก็คือ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับฮอด-จอมทองนี้ มีเนื้อหาที่พรรณนาถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายราชวงศ์ล้านนาละเอียดมากกว่าฉบับอื่น

นั่นคือ มีการระบุปีสวรรคตของพระมหาเทวีจิรประภาด้วย (ซึ่งฉบับอื่นไม่เคยมี) ว่าตรงกับปีระวายสะง้า จ.ศ.908 เทียบเป็นพุทธศักราชได้ 2089 อันเป็นตัวเลขที่สำคัญ

ตามที่เราทราบกันดีว่า พระนางจิรประภาครองเชียงใหม่จนถึงเดือน 3 ของปี 2089 เดือน 3 เหนือ หมายถึงเดือนอ้ายภาคกลาง คือราวๆ ธันวาคมย่างมกราคม

แสดงว่าหลังจากที่พระนางพ้นบัลลังก์ได้ไม่นานก็สวรรคต ถ้าเช่นนั้นพระนางจะตามหลานยาย พระไชยเชษฐาไปหลวงพระบางได้อย่างไรกัน จะบงการให้ขนเอาพระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วขาว พระแทรกคำ ไปไว้ที่หลวงพระบาง คงไม่ได้แล้วกระมัง รวมทั้งยังจะไปสร้างเจดีย์ทาดน้อยที่หลวงพระบางได้อีกล่ะหรือ?

ในเมื่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังไม่ทันจะได้ร่วมงานฉลองการครองราชย์ของพระไชยเชษฐาด้วยซ้ำ

เอกสารชิ้นนี้ระบุว่า พระนางจิรประภาได้รับการสถาปนาให้เป็น “เทวี” เมื่ออายุได้ 42 ปี และกินตำแหน่งนี้ในช่วงระยะเวลา 12 ปี จึงสิ้นพระชนม์ ก็เท่ากับว่าพระนางสวรรคตตอนมีอายุ 64 ปี

อ้าว! ผู้หญิงวัย 63-64 อายุมากแล้ว ยังจะไปฉลองพระองค์ในชุด “กล่องนม” ใช้เสน่ห์เย้ายวนอะไร สมเด็จพระไชยราชาอีกได้ไฉน?

เรื่องการนั่งเมืองเชียงใหม่แบบขัดตาทัพของพระนางจิรประภา 1 ปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิตตอนอายุมากนี้ สอดคล้องกับเอกสาร “กฎหมายมังรายศาสตร์” ที่ระบุถึงลำดับรัชกาลของราชวงศ์มังราย โดยเอกสารมังรายศาสตร์เขียนว่า หลังจากที่พระเมืองเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์แล้ว เทวีคนที่นั่งเมืองต่อมาก่อนที่เจ้าชายจากล้านช้างจะมาครองบัลลังก์นั้นมีลักษณะ “ทาตะ”

ทาตะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า ผมหงอก

อาจารย์ชัยวุฒิลองบวกลบคูณหารตัวเลขดู ยึดเอาปี 2089 ตอนจิรประภาเสียชีวิตเป็นตัวตั้ง เมื่ออายุ 64 ลบ 12 ออกไป ให้ได้ศักราชตอนที่พระนางมีอายุ 42 ปี ตามที่เอกสารระบุว่านางได้รับการสถาปนาให้เป็น “เทวี” ก็จะตรงกับ พ.ศ.2067 อันเป็นปีที่ “พระเมืองแก้ว” (พระราชบิดาของพระเมืองเกษเกล้า) มีอายุ 43 ปี (พระเมืองแก้วแก่กว่าพระนางจิรประภา 1 ปี) ปีนั้นพระเมืองแก้วกำลังกระทำพิธีราชาภิเษกอีกเป็นครั้งที่ 3 พอดี ซึ่งเรียกว่าพิธีอินทราภิเษก

ทำไมพระเมืองแก้วต้องทำพิธีราชาภิเษกถึง 3 ครั้ง เมื่อสอบถามอาจารย์ชัยวุฒิได้คำตอบว่า เดิมนั้นกษัตริย์ล้านนาทำพิธีราชาภิเษกเพียง 2 ครั้ง

ครั้งแรก ขึ้นนั่งแท่นแก้วรับเป็นพระญาปกครองบ้านเมือง

ครั้งที่สอง ไปกราบพระธาตุหริภุญไชย รับเป็น “มหาราช” และโดยมากมักปกครองร่วมกับพระราชชนนีหม้ายหลังจากพระราชสวามีสิ้นพระชนม์ พระราชชนนีจะถูกเรียกว่า “พระมหาเทวี”

เป็นระบบการปกครองคู่แบบ “มหาราช-มหาเทวี” หรือลูกชายกับแม่

การทำพิธีราชาภิเษก 3 ครั้ง เพิ่งจะมีขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา พระองค์หลงเชื่อหมอไสยศาสตร์ชาวพุกามชื่อ “มังหลุงหลว้าง” ที่ฝ่ายอยุธยาส่งมาป่วนราชสำนักล้านนา หมอพม่าแนะนำพระเจ้าติโลกราชว่าหากต้องการยิ่งใหญ่เหนือพระบรมไตรโลกนาถ จักต้องทำพิธีราชาภิเษกอีกเป็นครั้งที่สาม เพื่อประกาศความเป็นจักรพรรดิราช

ธรรมเนียมนี้กระทำกันแค่ 2 รัชกาล คือแค่พระเจ้าติโลกราช กับพระเมืองแก้วอีกองค์หนึ่ง (ตอนแรกพระยอดเชียงรายก็คงอยากดำเนินรอยตามเสด็จปู่ด้วยเช่นกัน ทว่า กระทำได้แค่ 2 ครั้ง ก็ถูกยึดอำนาจเนรเทศส่งไปอยู่เมืองปายเสียก่อน)

สรุปได้ว่า ปี 2067 ขณะที่พระเมืองแก้วกระทำการสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็น “พระจักรพรรดิราช” ตามรอยเสด็จทวดติโลกราช ในปีเดียวกันนั้นเอง สอดคล้องกับศักราชที่อาจารย์ชัยวุฒิคำนวณว่า พระนางจิรประภาก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “เทวี” เช่นเดียวกัน

ดั่งนี้แล้ว พระนางจิรประภาจะอยู่ในฐานะอัครชายาของพระเมืองเกษเกล้าคงไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุที่ขณะนั้น พระนางได้รับการสถาปนาให้เป็นเทวี เป็นเทวีของใครหรือ ในเมื่อปีนั้นพระเมืองเกษเกล้ายังไม่ได้ครองราชสมบัติ

หากเรามองแบบให้สมเหตุสมผลว่าพระนางจิรประภามีอายุอ่อนกว่าพระเมืองแก้วเพียงปีเดียว ในขณะที่พระนางแก่กว่าพระเมืองเกษเกล้าถึง 13 ปี ยิ่งคนสมัยก่อนนิยมแต่งงานกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ถึง 20 ปี จึงยิ่งยากที่จะให้เข้าใจได้ว่า พระนางจิรประภาเป็นชายาของพระเมืองเกษเกล้า

อ้าว! แล้วที่ผ่านๆ มา ใครเป็นคนระบุว่าพระนางคืออัครชายาของพระเมืองเกษเกล้ากันเล่า เรื่องนี้ดิฉันคิดว่าควรยกผลประโยชน์ให้จำเลย เหตุที่นักวิชาการในอดีตไม่เคยพบหลักฐานว่าพระนางสวรรคตตอนอายุเท่าไหร่กันแน่

หลักฐานที่เราทราบเท่าๆ กันก็คือปี 2088 จู่ๆ นางก็ถูกเชิญให้มานั่งเมืองหลังพระเมืองเกษเกล้าเสียชีวิต ดังนั้น พฤติเหตุแวดล้อมเช่นนี้ย่อมทำให้หลายท่านเชื่อโดยสนิทใจว่าพระนาง “น่าจะเป็น” พระมเหสีของพระเมืองเกษเกล้ากระมัง?

เอาล่ะ! ในเมื่อจิรประภาไม่ใช่อัครชายาของลูกเสียแล้ว แต่มีสถานะเป็น “เทวี” องค์หนึ่งของพ่อ ก็มาสู่คำถามที่ว่า หรือดีไม่ดีพระนางอาจเป็นพระราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้า?

เด็กสาวอายุ 13 นี่ พอจะเป็นแม่คนได้บ้างไหม? อันที่จริง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เองก็ถูกราชสำนักล้านนาถวายตัวให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ตั้งแต่อายุ 13 ขวบเช่นกัน

อันที่จริงพระเมืองแก้วอายุมากกว่าพระนางจิรประภาแค่เพียงปีเดียว ก็ย่อมแสดงว่าพระเมืองแก้วเป็นพ่อคนตอนอายุแค่ 14-15 เท่านั้น ดิฉันถามอาจารย์ชัยวุฒิว่าในเมื่อพ่อก็ยังเด็กแค่ 14 แล้วทำไมแม่จะเป็นเด็กสาวอายุแค่ 13 บ้างไม่ได้?

อาจารย์ชัยวุฒิบอกว่า เมื่อพิจารณาถึงบริบทเหตุการณ์ ประกอบกับข้อมูลจากเอกสารต่างๆ อย่างถี่ถ้วนแล้ว พบว่าพระนางจิรประภาแม้จะเป็นเทวีองค์หนึ่งของพระเมืองแก้วก็จริง ทว่า ยังมิใช่พระราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้าอยู่นั่นเอง

ปูนปั้นรูปเทวดาประดับเรือนธาตุพระเจดีย์ทรงปราสาท ณ วัดโลกโมฬี

เป็น “กุ้ยเฟย” มิใช่ “ฮองเฮา”

เห็นได้ว่า ตำนานไม่ได้เรียกพระนางจิรประภาสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นชายาองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว ว่าเป็น “พระราชเทวี” หรือ “อัครเทวี” แต่เรียกว่า “เทวี” เฉยๆ แสดงว่าพระเมืองแก้วย่อมมี “มเหสีหลัก” เป็นใครอีกคนหนึ่ง และสตรีผู้นั้นก็ควรจะเป็นแม่ของพระเมืองเกษเกล้านั่นเอง

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่าปี จ.ศ.896 หรือ พ.ศ.2077 มหาเทวีอโนชา ผู้เป็นพระราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้าสิ้นพระชนม์ เห็นได้ว่าศักราชการเสียชีวิตของพระมเหสีเอกของพระเมืองแก้วพระองค์นี้ เกิดขึ้นก่อนการที่พระมหาเทวีจิรประภาจะได้นั่งเมืองเชียงใหม่ ในปี 2088

ดังนั้น ตัดประเด็นที่ว่าจิรประภาเป็นแม่พระเมืองเกษเกล้าทิ้งไปได้เลย

มหาเทวีผู้เป็นแม่ของพระเมืองเกษเกล้า เรายังไม่พบหลักฐานว่ามีนามจริงอะไร เพราะคำว่า “อโนชาเทวี” เป็นตำแหน่งของอัครมเหสี

นอกจากพระเมืองแก้วจะมี “มหาเทวีอโนชา” เป็นอัครมเหสี (หรือ “ฮองเฮา” ในราชสำนักจีน) และมี “จิรประภาเทวี” (สถานะ “กุ้ยเฟย”) เป็นชายารองอีกองค์แล้ว ยังพบว่าพระเมืองแก้วมีชายาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญและมีสีสันไม่แพ้จิรประภาอีกด้วย นางชื่ออะไรนั้นขออุบไว้ก่อนในตอนนี้ เนื่องจากยังไม่จบประเด็นของจิรประภา

ฉบับหน้า เราจะมาเฉลยว่า “ใครคือมหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่” กันแน่ ตกลงแล้วมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงๆ หรือ? ฤๅทั้งหมดเกิดจากการอ่านและแปลเอกสารอักษรธัมม์ล้านนาจากต้นฉบับผิดพลาด จนทำให้เกิดเหตุการณ์โอละแม่

ลากจิรประภาเสียยาว จากคนที่ตายไปแล้ว ยังปลุกให้มาทิ้งเมืองเชียงใหม่ แถมหอบพระคู่บ้านเมืองหนีไปไกลสุดหล้าฟ้าหลวงพระบางโน่นเทียว •

ปัญหาโอละแม่! ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ (1) : ข้อมูลเดิมที่เคยรับรู้ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ