‘คน’ หลายพันปีในพิธีกรรม ไม่ใช่ ‘ตุ้ม’ จับปลาที่ผาแต้ม อุบลฯ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘คน’ หลายพันปีในพิธีกรรม

ไม่ใช่ ‘ตุ้ม’ จับปลาที่ผาแต้ม อุบลฯ

 

ภาพเขียนอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว บนภูผา, เพิงผา, ผนังหิน เป็นหย่อมๆ กลุ่มๆ มีหลายกลุ่มหลายหย่อมบริเวณผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี

กลุ่มสำคัญสุดและเป็นที่รับรู้มากที่สุด คือภาพเขียนแนวยาวตามเพิงผามีรูปช้างขนาดใหญ่, ปลาขนาดใหญ่ พร้อมด้วยรูปสัญลักษณ์ส่วนบนเป็นสามเหลี่ยมคว่ำต่อเนื่องส่วนล่างทรงกระบอก แต่เรียกง่ายๆ ว่ารูป “หัวสามเหลี่ยมคว่ำ” นอกนั้นเป็นรูปมือแดงและสัญลักษณ์ต่างๆ

 

พิธีกรรมทางศาสนาผีในภาพเขียนที่ผาแต้ม

ภาพเขียนที่ผาแต้มเป็นพิธีกรรมทางศาสนาผีเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารเลี้ยงชุมชน โดยมุ่งแสดงความสําคัญของเพิงผาหินตรงนั้นว่ามีผีบรรพชนสิงสู่อยู่อย่างเฮี้ยนที่สุด ด้วยการวาดบนผาหินเป็นรูป “ผีขวัญ” บรรพชนซึ่งเป็นชนชั้นนําที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ รวมทั้งวาดรูปสัตว์สําคัญในพิธีขอความอุดมสมบูรณ์ โดยมีความเชื่อร่วมกันว่าต้องเซ่นผีบรรพชนเป็นประจำและสม่ำเสมอบนพื้นที่นี้ เพื่อผีบรรพชนมีพลังปกป้องคุ้มครองคนในชุมชนอยู่ดีกินดี

ผีบรรพชนบนภาพเขียนที่ผาแต้มเป็นชนชั้นนําที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ส่วนขวัญไม่ตายเรียก “ผีขวัญ” และดํารงวิถีตามปกติ (เหมือนก่อนตาย) เพียงอยู่ต่างมิติซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น ดังนั้นบนเพิงผาทั้งหลายจึงวาดรูปมีสัดส่วนไม่ปกติ เพราะไม่ใช่คนปกติที่มีชีวิต แต่เป็นคนตายแล้ว

[ภาพเขียนที่ผาแต้มไม่ได้วาดทุกอย่างเพื่อจำลองวิถีชีวิตของคนร่วมสมัยในชุมชนที่มีชีวิตอยู่สองฝั่งโขงเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว เพราะบางอย่างจำลองวิถีชีวิตบางเรื่อง แต่หลายอย่างไม่ใช่ ส่วนการวาดเพื่อแสดงวิถีชีวิตของคนร่วมสมัยอย่างแท้จริงเป็นแนวคิดสมัยหลังจากนั้นอีกนาน]

ผีบรรพชนบนภาพเขียนผาแต้มคือบรรดา “ร่างทรง” กําลังเข้าทรงรวมหมู่ด้วยการสวมหัวสามเหลี่ยมคว่ำ (หน้ากากสวมหัว) มีเครื่องคลุมยาวถึงตีนในพิธี “เข้าทรง” ผีฟ้า เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ (การแต่งตัวสวมหัวสามเหลี่ยมคว่ำ มีเครื่องคลุมยาวถึงตีน น่าจะสืบเนื่องจนปัจจุบันในการละเล่น “ผีตาโขน” ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย)

รูปสัตว์สําคัญที่มีขนาดตั้งแต่ใหญ่สุดถึงเล็กสุด เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ ช้าง, ปลา, เต่า เป็นต้น

นอกจากนั้น นักโบราณคดีรุ่นใหม่บอกเพิ่มเติมว่าอาจหมายถึงสังเวย “ผีช้าง” เพื่อการโพนช้างอย่างไร้อุปสรรค (ดังมีการสลักรูปช้างบนหินใหญ่ที่ปราสาทวัดพู จำปาสัก ในลาว ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากอุบลราชธานี) สังเวย “ผีปลา” ขนาดใหญ่ (เช่น ปลาบึกแม่น้ำโขง) เพื่อน้ำท่าข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ทุกฤดูกาล และ “ผีเต่า” เพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนในน้ำท่าพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร (ดังพบรูปเต่าแกะหินลอยตัวฝังบนเกาะบาราย เมืองพิมาย และหลายแห่งในกัมพูชา)

การใช้สัญลักษณ์เต่า, ปลา ฯลฯ ยังมีสืบเนื่องมาจนปัจจุบันในพิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ พบคำอธิบายในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน (พระราชนิพนธ์ ร.5)

 

“ผาแต้ม” ในพิพิธภัณฑ์อุบล

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี มีคําอธิบายภาพเขียนที่ผาแต้ม รูป “หัวสามเหลี่ยมคว่ำ” ว่าเป็นเครื่องมือจับปลาของคนสองฝั่งโขง เรียก “ตุ้ม” เมื่อเร็วๆ นี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เข้าชมพิพิธภัณฑ์ เมืองอุบล ได้สรุปคําอธิบายมา ดังนี้

“ภาพเขียนที่ผาแต้มมีรูปเครื่องมือจับปลาที่เรียก ‘ตุ้ม’

ลักษณะคล้ายไซหรือสุ่มทรงสูง เหมาะใช้ในน้ำลึก ซึ่งสะท้อนถึงสังคมก่อนยุคเกษตรกรรมอันเป็นยุคล่าสัตว์ซึ่งมีมาก่อน

น่าทึ่งที่เครื่องมือยังมีใช้กันอยู่ในทุกวันนี้…

ข้อมูลเหล่านี้แสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมืองอุบล”

[คัดจากคอลัมน์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 ก.ค.-4 ส.ค. 2565 หน้า 51]

ภาพเขียนที่ผาแต้มรูป “หัวสามเหลี่ยมคว่ำ” คือเครื่องมือจับปลาที่เรียก “ตุ้ม” เป็นคำอธิบายมากกว่า 30 ปีมาแล้วจากฝ่ายวิชาการ กรมศิลปากร ครั้งนั้นนักวิชาการมหาวิทยาลัยมีคำอธิบายแตกต่างได้ทักท้วงโดยเขียนบทความวิชาการลงพิมพ์ในนิตยสารวิชาการอย่างเปิดเผย แต่กรมศิลปากรไม่มีคำชี้แจงวิชาการ และยังรักษาคำอธิบายเดิมดังพบในพิพิธภัณฑ์อุบล

ภาพเขียนอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (คัดลอกโดยพเยาว์ เข็มนาค กรมศิลปากร)

“คน” หลายพันปีในพิธีกรรม

ไม่ใช่ “ตุ้ม” จับปลา สังคมทุนนิยม

ภาพเขียนที่ผาแต้มมีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว อยู่ในสังคมมี ระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ผู้คนหาอยู่หากินวันต่อวัน ต่างคนต่างจับปลาได้เองทั้งในแม่น้ำโขงและแหล่งน้ำต่างๆ ส่วน “ตุ้ม” จับปลามีขนาดใหญ่ เป็นเครื่องมือใหม่ในสังคมหลังจากนั้นไม่นานมานี้มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ต้องการจับปลามากๆ เอาไปขายเพื่อกำไร

ศรีศักร วัลลิโภดม (เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เป็นอาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เขียนบทความวิชาการไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายของฝ่ายวิชาการกรมศิลปากร ว่า “หัวสามเหลี่ยมคว่ำ” บนภาพเขียนที่ผาแต้ม ไม่ใช่ “ตุ้ม” ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีในสังคมทุนนิยม แต่เป็นภาพพิธีกรรมคนสวมหน้ากากหัวสามเหลี่ยมคว่ำตามความเชื่อหลายพันปีมาแล้ว จะคัดข้อความสำคัญทั้งหมดมาแบ่งปันให้ร่วมกันพิจารณา ดังต่อไปนี้

“ภาพสัญลักษณ์ของคนที่มีส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมคว่ำ หลายๆ ท่านตีความไปว่าเป็นตุ้มที่ใช้ในการจับปลา เพราะปัจจุบันก็พบว่ายังมีตุ้มขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายภาพวาดที่ผาแต้มนี้

ข้าพเจ้าเห็นว่าการแปลความหมายเช่นนี้ นอกจากล้าสมัยแล้วยังตื้นเขินอีกด้วยเพราะ

ประการแรก การที่จะเอาสิ่งที่เห็นในทางชาติพันธุ์ในปัจจุบันไปเปรียบเทียบกับหลักฐานทางโบราณคดีในอดีตที่ห่างไกลกว่าพันปีขึ้นไปเช่นนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลิกสนใจไปแล้ว เพราะคนในสมัยโบราณมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย

อย่างเช่นกรณีการใช้ตุ้มขนาดใหญ่ตามลำน้ำมูลในเขตอำเภอโขงเจียม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจับปลาเพื่อนำไปขายให้ได้เงินมานั้น เป็นเรื่องของสังคมในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ย่อมแตกต่างจากสังคมสมัยพันกว่าปีขึ้นไปที่มีระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพ ที่ยังไม่มีการจับปลากันเป็นจำนวนมากเพื่อการนำไปขายจนต้องใช้ตุ้มขนาดใหญ่กันอย่างแน่นอน

ประการที่สอง ผู้แปลความมองอะไรในลักษณะที่ขัดแย้งกันในตัวเอง ระหว่างภาพปลาที่เชื่อกันว่าเป็นปลาบึกอะไรทำนองนั้น กับภาพสัญลักษณ์ที่ทึกทักเอาว่าเป็นตุ้ม นั่นก็คือตุ้มนั้นไม่อาจจับปลาบึกหรือปลาขนาดใหญ่ได้ เป็นแต่เพียงเครื่องมือจับปลาขนาดเล็กเท่านั้น เพราะฉะนั้น ภาพปลากับภาพของสิ่งที่ทึกทักเอาว่าเป็นตุ้มนั้น ย่อมไม่มีความสัมพันธ์กันแม้แต่น้อย

ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่เสนอว่าภาพที่เรียกกันว่าเป็นตุ้มหรือเครื่องมือจับปลานั้น แท้จริงก็คือภาพของคนหรือภาพสัญลักษณ์ที่หมายถึงคนนั่นเอง การแต่งกายหรือการเขียนให้เป็นเช่นนี้อาจหมายถึงบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งบุคคลเหล่านั้นมักจะไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ หากเป็นคนที่มีความรู้ความชำนาญที่ทำหน้าที่เฉพาะ เช่น พวกหมอผี พ่อครูอะไรทำนองนั้น

บุคคลประเภทนี้พบในสังคมมนุษย์สมัยแรกเริ่มทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อสังคมมนุษย์มีพัฒนาการเป็นเมืองเป็นรัฐหรืออาณาจักรแล้ว ก็กลายเป็นพวกพระพวกพราหมณ์ไป มักปรากฏบ่อยๆ ทีเดียวในการประกอบพิธีกรรมของคนในสังคมที่มีระดับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีขั้นแรกเริ่มซึ่งมักพบทั่วไปแม้กระทั่งปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบพิธีกรรมดังกล่าวจะต้องแต่งกายให้มีอะไรเป็นพิเศษแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป”

[จากบทความเรื่อง “อุบลราชธานีกับความเป็นที่สุดแห่งวัฒธรรมอีสาน” (พิมพ์ครั้งแรกใน เมืองโบราณ พ.ศ.2535) ในหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน ของศรีศักร วัลลิ โภดม มติชน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2546 หน้า 552-553)]

 

ข้อมูลความรู้หยุดนิ่ง

ประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยเคลื่อนไหวไปข้างหน้าไม่มาก และส่วนมากเคลื่อนไหวอยู่กับที่ ทำให้ข้อมูลความรู้หยุดนิ่ง ส่งผลให้คำอธิบายไม่ก้าวหน้าและไม่สมเหตุสมผล คาดว่ามีต้นตอจาก

1. ระบบการศึกษาไทยทางประวัติศาสตร์โบราณคดีใน “รัฐราชการรวมศูนย์” หยุดนิ่งกับตำราของนักค้นคว้านักวิชาการตะวันตกสมัยล่าอาณานิคมราว 100 ปีที่แล้ว จึงไม่ “อัพเดต” ข้อมูลความรู้ก้าวหน้าที่พบสมัยต่อๆ มาโดยนักค้นคว้าและนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ

2. ประวัติศาสตร์โบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลป์ในไทยโดยรวม “ด้อยค่า” เรื่องราวของศาสนาผีและความเชื่อเรื่องขวัญ ทำให้อธิบายภาพเขียนหลายพันปีมาแล้วคลาดเคลื่อนไปมากจากหลักวิชาการ เช่นเดียวกับคำอธิบายแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ เช่น บ้านเก่า (กาญจนบุรี), บ้านเชียง (อุดรธานี) และที่อื่นๆ ยกแนวคิดพราหมณ์-พุทธอธิบายศาสนาผี ย่อมผิดฝาผิดตัวไปคนละขั้ว •