ผจญภัยไปกับ ‘ฉันในวงกตมหาสมุทรบันไดงู’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

ผจญภัยไปกับ ‘ฉันในวงกตมหาสมุทรบันไดงู’

 

“เพราะการอ่านคือการผจญภัยไม่รู้จบ”

จึงคงไม่ล่าช้านัก กับการย้อนไปเมื่อค่ำวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 สำนักพิมพ์ผจญภัยและร้านพันธุ์หมาบ้า ตรัง จัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือกวีนิพนธ์และร่วมพูดคุยในบรรยากาศเป็นกันเอง ท่ามกลางกวี นักเขียน นักอ่าน ศิลปินและเพื่อนพ้อง

กวีนิพนธ์ 4 เล่ม ได้แก่

มหาสมุทรว่ายผ่านฝูงปลา พจนาถ พจนาพิทักษ์

ประเทศในเขาวงกตและบริบทอื่นๆ (ฉบับปรับปรุงใหม่) ศิริวร แก้วกาญจน์

ดินแดนบันไดงู วิสุทธิ์ ขาวเนียม

กัดกินฉันอีกสักคำสิ สันติพล ยวงใย

โดยมีชาคริต แก้วทันคำ เป็นผู้ดำเนินรายการและเรียบเรียงคำถาม

คำตอบบางส่วน (ใหม่) ดังนี้

: มหาสมุทรแห่งถ้อยคำใน “มหาสมุทรว่ายผ่านฝูงปลา” มีความหมายและเนื้อหาต้องการสื่ออะไรบ้าง

พจนาถ : งานส่วนใหญ่ในเล่มนี้ เป็นบทกวีในรอบ 10 ปีของผม ซึ่งมีความเป็นสัญลักษณ์ค่อนข้างสูง เป็นงานเขียนที่ต้องการสนทนากับผู้อ่าน แต่งานเล่มนี้จะเป็นการสนทนาในเชิงสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อให้มีความแตกต่างจากสิ่งที่ตัวเองเคยเขียน คืออยากเขียนงานให้ดูงงๆ

ชื่อ “มหาสมุทรว่ายผ่านฝูงปลา” หลังจากได้พูดคุยกับศิริวร จึงนำวรรคหนึ่งในบทกวีมาปรับแต่งจาก “ประวัติศาสตร์ว่ายผ่านฝูงปลา” รู้สึกชอบ และตอบโจทย์ เพราะมันชวนตีความ ตั้งคำถามสำหรับงานเชิงสัญลักษณ์เล่มนี้

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เขาวงกต” ถูกนำมาใช้เป็นชื่อหนังสือ เช่น ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภา หรือในเขาวงกต ของมุกหอม วงษ์เทศ อยากทราบว่านิยามของเขาวงกตเกี่ยวโยงกับประเทศหรือถ้อยคำในผลงานเล่มนี้อย่างไร

ศิริวร : ก่อนจะพูดถึงงานของตัวเอง ผมขอขยายประเด็นของพจนาถที่ว่า ความซับซ้อนอยู่ที่วิธีคิดของกวี แต่พจนาถก็คลี่คลายความซับซ้อนนั้นออกมาให้เรียบง่ายที่สุด พูดในฐานะเพื่อน บรรณาธิการ และพจนาถเองก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับผม เพราะเราเรียนศิลปะที่นครศรีธรรมราชมาด้วยกัน รุ่นเดียวกัน

ความซับซ้อนของงานเล่มนี้ (มหาสมุทรว่ายผ่านฝูงปลา) จึงต่างจากงานวรรณกรรมทางปัญญาหรือนัยยะที่ซ่อนไว้ลึกจนไม่สนุก เล่มของพจนาถมีสีสัน รอบด้านในความเป็นยุคสมัยใหม่ กับนัยทางปรัชญา การเมืองที่โอบอุ่นและอบอุ่น

ถ้าย้อนกลับไป ผมกับเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ เริ่มทำสำนักพิมพ์ผจญภัยเมื่อปี 2549 ผลงานเล่มแรกคือ “กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด” ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นผลงานที่ทำลายความมั่นคงของชาติ

: กว่าจะมาเป็นชื่อเล่ม “ดินแดนบันไดงู” มีการตั้งหรือใช้ชื่ออื่นก่อนหรือไม่ การทำงานหนังสือเล่มนี้มีความเป็นมาอย่างไร

วิสุทธิ์ : งานเล่มนี้ ครั้งแรกตั้งชื่อว่า “ที่อยู่ของขอบฟ้า” (นิทรรศการเรื่องเล่าดินแดนบันไดงู) พี่ศิริวรในฐานะบรรณาธิการบอกว่าชื่อมันยาวมาก จึงตัดออก เหลือแค่ “ดินแดนบันไดงู”

เล่มนี้เป็นงานที่ผมตั้งใจออกแบบเพราะไปเห็นเด็กๆ เล่นเกมบันไดงู และบางครั้งเมื่ออยู่ในเกม เล่นไปถึงจุดสูงสุด อยู่ๆ ก็ร่วงลงมาที่เดิม วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้ว่าจุดแพ้ชนะอยู่ตรงไหน ผมจึงเอามาเปรียบเทียบกับสภาวะการณ์บ้านเมืองในห้วงเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันเกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย เหมือนเราเล่นเกมบันไดงู

ทีนี้จึงคิดว่าจะทำยังไงดีให้มันออกมาเป็นเรื่องเล่า จึงไล่ดูเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านพบมา แต่ละเรื่องผมจะเอาความคิดเข้าไปจับกับปรากฏการณ์หรือเรื่องนั้นๆ แล้วก็สร้างมันออกมา

อีกอย่าง ผมตั้งใจให้เจือกลิ่นของเรื่องเล่า คล้ายๆ เรื่องสั้นในบทกวี บางชิ้นจึงต้องตีความ อ่านแบบรวดเร็วอาจไม่ค่อยเข้าใจ ต้องอ่านซ้ำๆ เพื่อถอดรหัส แกะแต่ละชิ้นให้เห็นถึงเนื้อใน

: “กัดกินฉันอีกสักคำสิ” เป็นกวีนิพนธ์เล่มแรกของสันติพล ยวงใย อยากจะถามว่าหนังสือเล่มนี้ต้องการสื่อถึงอะไร และมีธีมเล่มอย่างไรบ้าง

สันติพล : หนังสือบางๆ เล่มนี้ มีเนื้อหาเป็นบันทึกส่วนตัว ด้วยความเป็นมุสลิม จึงมีเรื่องของมิติศาสนามาเกี่ยวโยง รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้โฟกัสแต่เรื่องความรุนแรง ยังมีเรื่องของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีด้วย

: การเขียนบทเพลงกับบทกวีมีความแตกต่างกันหรือไม่ อาศัยวัตถุหรือแรงบันดาลใจอะไรบ้าง

พจนาถ : แตกต่างกัน ถ้าพูดถึงเรื่องเพลง ต้องอาศัยท่วงทำนองที่เปล่งออกมา เนื้อหาจะซ่อนอยู่ในท่วงทำนองอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่า เพลงจะถูกนำโดยท่วงทำนองแล้วเนื้อหาตาม แต่ถ้าเนื้อหาเด่นพอ เนื้อหาก็จะขยับมาอยู่เหนือท่วงทำนอง ตัวอย่างเพลงเหล่านี้ก็จะเป็นที่นิยมกันมาอย่างยาวนาน หรือเพลงอมตะ เพลงเหล่านั้นก็จะเป็นที่ยอมรับในเรื่องของเนื้อหา…

ดังนั้น การเขียนเพลงของผมจึงไม่ค่อยมีอิสระในถ้อยคำเท่าไร พอทำงานด้านนี้มาหลายปีก็คิดเยอะมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของทำนอง ยอมรับว่าเพลงต้องเขียนทำนองก่อนแล้วเนื้อหาตาม ทำนองจึงมีอิทธิพล ซึ่งต่างจากการเขียนบทกวี ผมเขียนมา 30 ปี เริ่มต้นด้วยฉันทลักษณ์ ศึกษาจากแบบเรียนด้วยตนเอง จึงเขียนตามกรอบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนเป๊ะๆ ทีนี้พอเขียนมายาวนานหรือติดอยู่ในโครงสร้างนั้น ผมมีเสรีภาพมากกว่าการใช้ถ้อยคำ ผมสามารถคิดอะไรออกมาโดยไม่ต้องติดกับฉันทลักษณ์ หรือไม่ต้องถูกบังคับด้วยกลอนแปด กาพย์ยานี 11 ต่างจากบทเพลงที่มีเนื้อหา โครงสร้างทำนองมากดผมอีกที แต่บทกวี ผมว่าผมเขียนจนมันไม่มีกรอบ ทั้งที่มีกรอบอยู่

ผมไม่เชื่อว่าฉันทลักษณ์บังคับเรา ฉันทลักษณ์บังคับผมไม่ได้ ผมเขียนอย่างที่อยากเขียน ผมจึงสื่อสารได้อย่างเสรีมากกว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับผมคือทุกคนมีความเข้มข้น มีแนวทาง ลายเซ็นของตัวเอง ด้วยระยะเวลาทำงานมายาวนาน กรอบจึงไม่มีปัญหาสำหรับผม แต่จะสร้างเนื้อหายังไงให้แตกต่าง จึงต้องคิดหนัก ทำงานหนัก ผมไม่ยอมพ่ายแพ้กับมันด้วย แม้พื้นที่กวีนิพนธ์เปลี่ยนจากหน้ากระดาษสู่ออนไลน์ รู้สึกเขินเวลาต้องโพสต์อะไรลงไป มันจึงเป็นแค่แคปชั่น ผมว่าการทำงานต้องขับเคี่ยวมันให้เข้มข้น

ในส่วนไร้ฉันทลักษณ์ มีคนบอกว่ามันไม่มีกรอบ เขียนยากนะ ถ้าให้มีจังหวะและดูดี ผมไม่มีปัญหากับเนื้อหา ก็สู้กับเนื้อหาว่ามันแสดงตัวตน รสนิยม ความคิดของเรายังไง อยากจะบอกอะไร นี่เป็นข้อที่หนึ่ง ข้อที่สองจะสร้างความแตกต่างจากจอมยุทธ์ทั้งหลายได้ยังไง

: ในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ มีความคิดเห็นยังไงเมื่อต้องส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการ และบรรณาธิการมีความสำคัญในความคิดของเราหรือไม่

สันติพล : สำหรับผม การมีบรรณาธิการสำคัญมาก บรรณาธิการในความหมายผมมี 2 แบบ หนึ่งคือ การรวบรวมต้นฉบับแล้วส่งให้บรรณาธิการสำนักพิมพ์เลย อีกแบบคือบรรณาธิการส่วนตัว

ผมคิดว่า ถ้าหากนักเขียนหรือคนที่เริ่มเขียนมีคนช่วยอ่านต้นฉบับสักคนเป็นอย่างน้อยก็จะดีมาก ช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มเขียน สมัยเป็นนักศึกษา จะเขียนเองโดยไม่ได้ส่งให้ใครอ่าน อาศัยส่งมติชนสุดสัปดาห์ ผมจะรู้ว่ามันผ่านหรือไม่ผ่านก็ต่อเมื่องานได้ตีพิมพ์ แต่ชิ้นที่ไม่ได้พิมพ์ ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

อีกอย่างคือ การรวมเล่มทำมือแล้วส่งประกวดสองสามเวที แบบนี้กรรมการก็ไม่ได้คอมเมนต์อะไรมา แค่ตัดสิน ผมก็ไม่รู้ว่าชิ้นไหนดี ไม่ดี พอผมได้เจอเพื่อนนักเขียนในสามจังหวัดชายแดนหรือห้าจังหวัดภาคใต้ เช่น วิศิษฐ์ ปรียานนท์ อานนท์ นานมาแล้ว มูบารัด สาและ แรกๆ ก็พบปะพูดคุยผ่านเฟซบุ๊ก พอมีเวลาว่างก็นัดเจอกันบ้าง แล้วรวมกลุ่มรวมแก๊งกัน ประมาณว่า “กลุ่มวรรณกรรมนกกระดาษ” จึงมีทั้งคนที่เขียนหนังสือด้วย ที่ไม่ได้เขียนจริงจัง แต่เป็นนักอ่าน ก็รวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เหมือนคณะบรรณาธิการ คือเราไม่ได้ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม เราจะบอกว่าตรงนี้ยังด้อยอยู่ จะพูดคุยกัน แล้วยิ่งช่วงส่งต้นฉบับให้พี่ศิริวร ก็มีส่งแบบรายชิ้นและเป็นชุด หรือแม้แต่เรื่องสั้นด้วย ก็จะได้รู้ว่ามีข้อด้อยตรงไหน แล้วมีส่งให้ท่านอื่นอ่านด้วย เช่น พี่จำลอง ฝั่งชลจิตร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2561) หนึ่งคือช่วยเปิดมุมมองว่าตรงไหนเชย ตรงไหนดีแล้ว ตรงไหนที่ปรับได้ หรือตรงไหนควรรื้อเลย มันทำให้เราพัฒนาฝีมือได้ส่วนหนึ่ง แล้วมันช่วยปรับลดอีโก้ด้วย เวลามีเพื่อนคอยบอกว่าตรงนียังไม่ดี มีจุดอ่อน ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่ง ทำให้เราพัฒนางานตัวเองต่อไปได้

: อยากให้กวีแต่ละท่านเล่าถึงที่มา กว่าจะเป็นกวีได้ทุกวันนี้ มีใครเป็นครู ต้นแบบ หรือแรงบันดาลใจในการทำงาน

ทุกคนตอบชื่อกวีท่านหนึ่งตรงกันว่า : พนม นันทพฤกษ์ หรือสถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2548

ขอขอบคุณ คลิปวิดีโอและภาพถ่ายจากเพจร้าน Phanmaba Trang