ฝ่าละออง งานศิลปะที่เสียดสีตีแผ่กระบวนการลบเลือนความทรงจำ แห่งประวัติศาสตร์ของประชาชน / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ฝ่าละออง

งานศิลปะที่เสียดสีตีแผ่กระบวนการลบเลือนความทรงจำ

แห่งประวัติศาสตร์ของประชาชน

 

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย ความแปลกของนิทรรศการที่ว่านี้ก็คือ มันไม่ใช่นิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินตามปกติทั่วๆ ไป

หากแต่เป็นนิทรรศการที่ทำขึ้นโดยนักเขียนต่างหาก

นักเขียนคนที่ว่านี้ก็คือ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ที่นักอ่านหลายคนน่าจะคุ้นเคยจากผลงานอย่าง ฮาวายประเทศ, พิพิธภัณฑ์เสียง และประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า

ล่าสุด จิรัฏฐ์ผันตัวจากการทำงานเขียนมาทำงานศิลปะเป็นครั้งที่สอง (ต่อเนื่องจากนิทรรศการครั้งแรกของเขาอย่าง คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us) ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ที่คาเทล อาร์ทสเปซ) ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust) ที่แปรสภาพงานเขียนของจิรัฏฐ์ ที่เล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ขยันและซื่อตรงต่อหน้าที่ แต่กลับได้รับผลตอบแทนอันน่าอดสูและน่าสยดสยอง ให้กลายเป็นผลงานศิลปะจัดวางอันสุดแสบสัน ที่ยั่วล้อพิธีกรรมที่ยึดโยงกับสังคมแบบจารีต อันเป็นกระบวนการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชนชั้นนำ ผู้พยายามที่จะควบคุม หรือแม้แต่ลบประวัติศาสตร์และความทรงจำแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยของปวงชน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในรูปของข้อมูล ข่าวสาร วัตถุ อาคารสิ่งก่อสร้าง สถานที่ หรือแม้แต่ประชาชนผู้มีชีวิตและเลือดเนื้อ

ซึ่งจิรัฏฐ์มองว่ากระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงฉุดรั้งพัฒนาการของประชาธิปไตย แต่ยังส่งผลต่อรากฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ และนำมาซึ่งปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ในนิทรรศการนำเสนอผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากผลงานภาพเคลื่อนไหวหลายจอ พากย์ทับด้วยเนื้อหาจากเรื่องสั้นโดยเสียงคล้ายโปรแกรมสมองกล ในจอเป็นภาพของเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติสีทองอร่าม ที่มีชื่อว่า O-Robot โลดแล่นไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อดูดฝุ่นละอองในพื้นที่เหล่านั้น

ราวกับจะดูดความทรงจำที่ฝังอยู่ในพื้นที่ให้สูญหายไป

จิรัฏฐ์ นักเขียนผู้สวมบทบาทศิลปินกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากการที่ผมกำลังทำหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ให้กับสำนักพิมพ์แซลมอน ชื่อ ‘รักในลวง’ ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเชิงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และตัวนิทรรศการเองก็ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการครั้งที่แล้วของผมอย่าง ‘คิดถึงคนบนฝ้า’ ที่เกิดจากการเขียนเรื่องสั้น แล้วพัฒนาให้เป็นงานทัศนศิลป์”

“พอทาง VS Gallery ชวนให้ผมมาทำนิทรรศการ ก็เลยหยิบหนึ่งในเรื่องสั้นในชุดนี้ชื่อ ‘ฝ่าละออง’ ที่พูดถึงสำนึกทางการเมือง การจดจำ การลืม มาทำ ซึ่งเรื่องสั้นอีกเรื่องในหนังสือเรื่องนี้อย่าง ‘ลอก’ ก็เป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังอีกนิทรรศการที่จัดขึ้นพร้อมๆ กัน” (นิทรรศการ “แด่คนที่ยังอยู่” (The Leftovers) โดยพัชราภา อินทร์ช่าง)

“แรงบันดาลใจเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่หมุดคณะราษฎรหายไป เหตุการณ์นี้จุดประกายให้ผมเห็นว่าที่ผ่านมาสถานที่ต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับคณะราษฎร หรือเชื่อมโยงกับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้ กำลังถูกคนกลุ่มหนึ่งพยายามจะลบทิ้งหรือทำให้หายไป”

“ผมก็เลยเอาแนวคิดนี้มาทำงาน ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็พยายามจะล้อเลียนประโยคหนึ่งที่ติดปากคนไทยแทบทุกคน ที่บอกว่าเราไม่ต่างอะไรกับฝุ่นละออง เหมือนเราถูกโปรแกรมความคิดให้เป็นแบบนั้นมาตลอด”

“ผมก็เลยเล่นกับความเป็นฝุ่นละอองด้วยการใช้เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ ซึ่งมีความหมายอีกชั้นเกี่ยวกับการที่มนุษย์เป็นเหมือนฝุ่นที่ถูกดูดทิ้ง ถูกทำลายความเป็นมนุษย์ ความเป็นประชาชน ความเท่าเทียม และการดูดลบความทรงจำด้วยการรื้ออาคารสถาปัตยกรรมและอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎรหรือการอภิวัฒน์สยามลง”

จิรัฏฐ์เลือกพื้นที่ 6 แห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรอย่างสนามหลวง, ศาลฎีกา, วงเวียนหลักสี่ (ที่เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ติดกับวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” แต่ถูกเปลี่ยนในภายหลัง) และวัดปทุมวนาราม กับแยกราชประสงค์ (ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมและบิ๊กคลีนนิ่งเดย์) และโลหะปราสาท (ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของศาลาเฉลิมไทย สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับคณะราษฎร) และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาใช้เป็นพื้นที่ถ่ายทำวิดีโอที่บันทึกภาพเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติกำลังแล่นไปดูดฝุ่นในสถานที่เหล่านั้น และนำมาฉายเป็นผลงานวิดีโอจัดวางบนจอโทรทัศน์ 6 จอ เพื่อสื่อถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

โดยติดตั้งให้จอภาพโอบล้อมผู้ชม เพื่อสร้างความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความพยายามจดจำกับความพยายามหลงลืม และสภาวะของการจดจ้องจับตาโดยผู้มีอำนาจ ที่ปรากฏในเรื่องสั้นของเขา

เพราะในขณะเดียวกันกับที่ผู้ชมกำลังดูภาพบนจอโทรทัศน์ ก็เหมือนจอโทรทัศน์กำลังจดจ้องมองกลับมายังผู้ชมด้วยเหมือนกัน

“เรื่องราวในวิดีโอเล่าคู่ขนานไปกับเรื่องสั้นของผมที่แต่งขึ้นโดยล้อเลียนนวนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ โดยมีเหตุการณ์สองเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน เหตุการณ์แรกเป็นเรื่องราวของตัวละครคนหนึ่งหลุดเข้าไปในหอศิลป์ แล้วได้ไปเจอนิทรรศการที่ดูคล้ายกับนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่จริงๆ ตอนนี้ แล้วอยู่ๆ เขาก็โดนเครื่องดูดฝุ่นดูดร่างกายหายไป”

“ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องสั้นที่อยู่ในเรื่องสั้น ที่เล่าเรื่องของวินสตัน สมิทธิ (ดัดแปลงจากชื่อ วินสตัน สมิธ ตัวเอกในนวนิยาย 1984) เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในกระทรวงความจริง (Ministry of Truth) ที่คอยเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และเปลี่ยนแปลงเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ต่ออำนาจรัฐ อยู่ดีๆ วันหนึ่ง เขาก็ถูกปลุกขึ้นมากลางดึกเพื่อไปพบผู้บัญชาการ ซึ่งเขาเข้าใจว่าน่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น แล้วเขาต้องไปทำหน้าที่สอบสวนคนที่ก่อเหตุที่ว่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกเรียกตัวไปลงโทษในข้อหาไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ในขณะที่เขาทำงานให้รัฐอย่างแข็งขัน แต่กลับถูกลงโทษโดยที่ไม่รู้ตัวเองทำอะไรผิด แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้กับรัฐ ก็เป็นเหมือนแค่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่ถูกถอดทิ้งได้ตลอดเวลา แล้วนักเขียนก็เอาต้นฉบับเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปส่งบรรณาธิการ แต่กลับถูกบรรณาธิการปฏิเสธว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เชย และเหมือนนิยาย 1984 เกินไป”

“ผมก็เลยเอาเรื่องสั้นนี้มาเล่าเป็นเรื่องสั้นซ้อนเรื่องสั้นอีกที และนำมาใช้เป็นเรื่องราวที่เป็นเสียงบรรยายประกอบในงานวิดีโอจัดวางด้วย”

ท้ายสุด จิรัฏฐ์ยังกล่าวถึงแรงจูงใจเบื้องหลังการเปลี่ยนงานวรรณกรรมให้กลายเป็นงานศิลปะในนิทรรศการของเขาในครั้งนี้ว่า

“สำหรับผม การเปลี่ยนงานเขียนให้กลายเป็นงานทัศนศิลป์ ค่อนข้างจะเป็นเหตุผลส่วนตัว เพราะผมอยากทำเรื่องสั้นให้พัฒนาไปมากกว่าการเอามาทำเป็นภาพยนตร์หรือหนังสั้น แล้วผมก็ไม่ได้มองว่างานของผมเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอะไร ผมแค่มองสิ่งที่ผมเห็นแล้วถ่ายทอดออกมา ปกติเวลาเขียนเรื่องสั้น ผมก็เขียนเรื่องการเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว และประเด็นทางการเมืองในงานของผมก็ไม่ได้มีความตรงไปตรงมาขนาดนั้น แต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์ในเชิงกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเสียมากกว่า”

นิทรรศการ ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust) โดยจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ และภัณฑารักษ์ กิตติมา จารีประสิทธิ์ จากกลุ่ม Waiting You Curator Lab จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม-28 สิงหาคม พ.ศ.2565, เปิดทำการปกติวันพุธ-อาทิตย์ 12:30-18:00 น. (หยุดจันทร์-อังคาร), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @VSGalleryBangkok

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก VS Gallery •