คัดค้านสร้างเจ้าแม่กวนอิม : มองดูสัมพันธภาพจีน มลายูมุสลิมชายแดนใต้/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 

คัดค้านสร้างเจ้าแม่กวนอิม

: มองดูสัมพันธภาพจีน มลายูมุสลิมชายแดนใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

4 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น. มัสยิดตักญีดุลอาบิดีน (บ้านปากบางสะกอม) ม.1 ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เป็นประวัติศาสตร์มุสลิมสงขลาหลายพันคน (จากทุกมัสยิดในจังหวัดสงขลาซึ่งมีมัสยิดประมาณ 400 กว่ามัสยิด มัสยิดละ 10 คน นอกจากนี้ ยังมีจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) รวมตัวละหมาดขอพรต่อพระเจ้า แสดงตนอย่างสันติวิธี คัดค้านการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมที่สูงที่สุดในโลกของบริษัท TPIPP ในพื้นที่หมู่ 1 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา

จนทำให้เป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์ และปฏิเสธไม่ได้ว่า จะยิ่งสร้างความแตกแยกของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะในยุคการสื่อสารที่อยู่ในมือถือ

ดังนั้น ผู้เขียนคงจะไม่เขียนเรื่องเห็นด้วยหรือเห็นแย้งการคัดค้านในครั้งนี้ แต่อยากย้อนดูความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตคนจีน คนมลายูมุสลิมชายแดนใต้และมองอนาคตไปด้วยกันภายในทุนจีนข้ามชาติที่จะมาลงทุนในพื้นที่ชายแดนใต้ไปด้วยกัน

 

วิถีคนจีนและมลายูชายแดนใต้

ได้มีโอกาสคุยกับนายชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียน/นักวิชาการด้านวัฒนธรรมเชื้อสายจีนชาวนราธิวาสเกี่ยวกับวิถีคนจีนและมลายูชายแดนใต้ซึ่งให้ทัศนะว่า ชาวจีนที่มาตั้งรกรากในปัตตานีที่น่าสนใจ ชื่อ “หลินหยิ่นหลิน” และ “หลี่กุ้ย”

ในบันทึกของญี่ปุ่นที่บอกว่า เป็นตัวแทนการค้าและการทูตของกษัตริย์ปาตานี (ปัตตานี) ติดต่อกับโชกุนโทกุกาวะ อิเอยะสึ โดยคนจีนมีตำแหน่งเป็น “หน่าเต๋อ” หรือ “ดาโต๊ะ” ซึ่งเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีหรือขุนนางในปัตตานีและรัฐมลายูอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึง “การอยู่ร่วมกัน” ของคนต่างชาติพันธุ์ ศาสนา ในพื้นที่ปลายแหลมมลายู

รากความสัมพันธ์เหล่านี้ดำรงมาต่อเนื่องอย่างน่าสนใจ นับตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ กลายเป็นพลังสำคัญร่วมพัฒนาพื้นที่ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ร่วมกับชาวมลายูทั้งมวล

ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีเงื่อนไขปัจจัยแตกต่างกันตามยุคสมัย แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของการอพยพหนีภัยจากแผ่นดินเดิม มาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า หรือตั้งใจทำการค้าขายก่อร่างสร้างชีวิตใหม่ ใช้ความชำนาญเฉพาะตนที่มี

ส่วนใหญ่แล้วช่วงแรกมักมาเป็นกุลีกรรมกรรับจ้างตามเหมืองต่างๆ ทั้งฝั่งไทยและมาเลเซีย เพราะพื้นที่แถบนี้อยู่ในแนวสายแร่ดีบุกสายใหญ่ที่สุดของโลก

ต่อมาเมื่อคนจีนรู้ว่าที่ใดมีแหล่งแร่ดีบุกซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากในสมัยนั้น ก็จะทำการยื่นเรื่องขออนุญาตทำเหมืองแร่ ชาวจีนจึงเป็นทั้งเจ้าของเหมือง ผู้ควบคุมดูแล กุลีจีนกรรมกร ฯลฯ

ต่อเมื่อสมัยยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลก ชาวจีนจึงพากันอพยพบุกเบิกมาทำสวนยางพารากันมากขึ้น

ประกอบกับเมื่อนักธุรกิจชาวจีนแคะมีโอกาสรับเหมาก่อสร้างทางรถไฟสายใต้-กรุงเทพฯ (พ.ศ.2452-2467) ชาวจีนโพ้นทะเลจึงหนุนเนื่องสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น ทั้งจีนแคะ จีนแต้จิ๋ว หรือจีนกวางตุ้ง โดยมักอาศัยอยู่ตามสถานีรถไฟจนกลายเป็นชุมชนชาวจีนบุกเบิกรอบสถานี

“มลายูจีนอ” จากที่อพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในฐานะ “อาคันตุกะ” ดำรงความเป็นจีนไว้อย่างเข้มข้น ค่อยๆ ปรับตัวเปลี่ยนแปลงสถานภาพให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมใหม่ แต่งงานมีลูกหลานกับชาวมลายูพื้นเมืองเดิม นำภูมิปัญญาและเทคโนโลยีจีน มาใช้ในดินแดนแห่งใหม่เช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มอื่น

จากนี้ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะมั่นคง ส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ในเมืองหรือชุมชนใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ

ทุกวันนี้บรรดาลูกหลานทายาทรุ่นต่อๆ มา ต่างก็สามารถสานต่อธุรกิจของครอบครัว หรือไม่ก็หาแนวทางใหม่ของชีวิต รวมถึงการดำรงความสัมพันธ์ดีงามในฐานะ “มลายูจีนอ” ที่สามารถสื่อสาร “ภาษามลายูถิ่น” ได้อย่างคล่องปากสะดวกใจ

 

ในหนังสือ “จีนทักษิณ วิถีและพลัง” โดย อ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สะท้อนภาพวิถีและพลังการสร้างบ้านแปลงเมืองไว้ว่า

“เนื่องจากชาวจีนส่วนใหญ่ที่อพยพมาตั้งรกรากในภาคใต้ มีนิสัยรักทางการค้าและการจัดการ จึงมักเลือกทำเลสำหรับตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ที่เหมาะแก่การประกอบอาชีพค้าขาย มองด้วยสายตาที่กว้างไกล ว่าสถานที่ใดเหมาะที่จะเติบโตและเจริญมั่นคงในอนาคต มีปัจจัยต่างๆ เอื้อทั้งระยะแรกเริ่มและระยะยาว เช่น ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ มีปัจจัยเสี่ยงน้อย มีสิ่งรองรับอยู่แล้ว หรือเอื้อที่จะสร้างสิ่งใหม่ที่ให้ประโยชน์จากการจัดการคุ้มค่าและ/หรือเกินคุ้ม ความสามารถด้านการสร้างวิสัยทัศน์ และกล้าสู้กับปัจจัยเสี่ยงเพื่อริเริ่มสร้างสรรค์ตามลักษณ์นี้ คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในภาคใต้ กล้าเสี่ยง และกล้าสู้ มากกว่าคนพื้นเพเดิม”

“ผลจากการศึกษาพบว่า ที่ล้มลุกคลุกคลานก็มาก ที่กระทำได้สำเร็จให้เห็นวิถีและพลังในการสร้างบ้านแปลงเมืองอย่างเด่นชัดก็มี”

ความจริงแล้วทุกวันนี้ ทายาทของคนจีนโพ้นทะเลที่กลายเป็น “คนไทยเชื้อสายจีน” หรือ “มลายูจีนอ” ยังคงมีบทบาทสำคัญมากมายในพื้นที่ ทั้งในฐานะบุคคลธรรมดา นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ หรือภาคประชาสังคม

ผู้เขียนขอใช้พื้นที่นี้ยกตัวอย่างเพื่อสะท้อนภาพให้เห็นอย่างชัดเจนขึ้น พื้นที่แรก คือในเขตเมืองเบตง ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนถึงหลายครั้งในฐานะ “ต้นแบบเมืองสมานฉันท์” อ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคณะ สะท้อนว่า ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ พ.ศ.2343 เบตงเคยมีสภาพเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางมาจากมณฑลกว่างซี โดยสารเรือมาขึ้นฝั่งที่ประเทศมาเลเซีย แล้วเดินทางเข้ามายังเบตงเพื่อรับจ้างหักร้างถางป่า แปลงป่าเป็นสวนยางพารา โดยมีจีนเฝ๋อเชิง แซ่เจิ้น (ฟูศักดิ์ จันทโรทัย) เป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งรกรากทำการค้าขายจนกิจการเจริญก้าวหน้า

ส่วนนอกเมืองเบตงก็มีชาวจีนเข้าจับจองบุกเบิกเป็นสวนยางพารา ทั้งจีนกวางไส (กว่างซี) จีนแคะ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน “ในปี พ.ศ.2541 ในเขตเทศบาลมีประชากร 24,014 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงนับได้ว่า ชาวจีนเป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมืองของเมืองนี้”

นอกจากนี้ นายประมุข เลขะกุล ทายาทของนายจ๊าบ แซ่เล่ ซึ่งเป็นต้นตระกูลเลขะกุล เป็นผู้ริเริ่มใช้แพขนาดใหญ่ที่บังคับการใช้แพด้วยลวดสลิงขึ้น ณ บริเวณสะพานหงสกุลในปัจจุบัน (ที่ถนนสายยะลา-เบตง บริเวณกิโลเมตรที่ 35) จึงนับเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่มีบทบาทสำคัญในการใช้ภูมิปัญญาเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างตัวจังหวัดยะลา กับพื้นที่บริเวณ อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในระยะต่อมา

อีกพื้นที่หนึ่งคือ ปัตตานี-ยะลา กับความสัมพันธ์ผ่าน “ตระกูลคณานุรักษ์” ซึ่งต้นตระกูลคือ นายปุ่ย แซ่ตัน ซึ่งได้รับพระราชทานตำแหน่งจากรัชกาลที่ 3 ให้เป็น “หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง” ได้มาตั้งรกรากอยู่เมืองปัตตานีบริเวณ “หัวตลาดจีน” ในปัจจุบัน เป็นผู้ขอสิทธิ์สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในเมืองปัตตานี ยะลา และเมืองใกล้เคียงหลายแปลง หลายตำบล

ทายาทของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ได้รับพระราชทานนามสกุล “ต้นธนวัฒน์” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “คณานุรักษ์” จนเป็นหนึ่งในตระกูลที่มีบทบาทสำคัญร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองปัตตานี โดยยึดหลัก “คุณภาพและคุณธรรม” สร้างผลงานดีๆ ไว้มากมายจนเป็นที่ประจักษ์

สำหรับจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ติดชายแดนมาเลเซียซึ่งเดิมก็มีสภาพเป็นป่าดงดิบรกร้างว่างเปล่า ก่อนที่นายวงศ์ ไชยสุวรรณ ผู้นำคนสำคัญในพื้นที่ จะได้อาศัยที่ดินทั้งของคนจีน คนไทย คนมุสลิม มาร่วมกันพัฒนาเมืองจนกลายเป็นต้นแบบของ “สังคมพหุลักษณ์” อีกพื้นที่หนึ่ง

ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “มลายูจีนอ” ซึ่งมีสถานภาพและวิถีที่เป็นอิสระ มีแนวทาง มีอัตลักษณ์ชัดเจนในพื้นที่พิเศษ

ที่สำคัญยังคงมีบทบาทสำคัญมากมายร่วมกับคนมลายู เชื้อสายหรือศาสนาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็น “วิถีและพลัง” เปี่ยมสีสันชวนติดตามในสังคมที่ยึดโยงด้วยความหลากวัฒนธรรม

ขณะที่ยังคงมีความพยายามจากใครบางคนที่จะตอกลิ่มให้เกิดความแตกแยก บาดหมาง ชิงชัง นำไปสู่การเป็นศัตรูกันโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ในร่างกายทุกคนต่างถูกหลอมรวมด้วยกันผ่านอิทธิพลและสายเลือดหลากหลายชาติพันธุ์ศาสนาจากสารพัดที่มาเนิ่นนาน

 

การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทุนข้ามชาติจีน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันทุนใหญ่จีนมีเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนในประเทศไทย

หวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2564 มูลค่าการลงทุนจีนในไทยอยู่ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 27% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และคาดว่าปี 2565 จะยิ่งทำให้การลงทุนจากจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมใน https://www.bangkokbiznews.com/business/993216)

ส่วนชายแดนภาคใต้นั้นทุนจีนจะลงทุนในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนโดยเฉพาะจะนะเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีข้อขัดแย้งกับคนในพื้นที่และกำลังเป็นข่าวดังในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลทุนใหญ่จีนจะมาฮุบเศรษฐกิจชุมชน และสามารถยึดแผ่นดินไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มเห็นเชิงประจักษ์จากหลากหลายทั้งบนดินและใต้ดินดั่งที่นักวิชาการและนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เคยเปิดโปง

อีกทั้งบทเรียนสีหนุวิลล์ของกัมพูชาที่เต็มไปด้วยตึกที่หยุดก่อสร้างนับพันแห่งโดยทุนจีนทิ้งไปแล้วไม่กลับมาจนกำลังเกิดวิกฤตฟองสบู่ภาคอสังหาฯ

ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลตระหนักถึงความมั่นคงของชุมชน ความมั่นคงทางวัฒนธรรม ความมั่นคงทางทรัพยากรของไทยให้มากกว่าความมั่นคงของนายทุนจากต่างประเทศและนายทุนที่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืน

โดยยึดโมเดลคนจีนกับมลายูมุสลิมในพื้นที่ร่วมออกแบบพัฒนาไปด้วยกันเหมือนบรรพบุรุษตามที่นายชุมศักดิ์ได้สะท้อนและสอดคล้องกับข้อเสนอแนะทางวิชาการ เพื่อการประคับประคองและปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนใต้ นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสันติภาพที่กินได้ในที่สุด

จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า ปัญหานโยบายเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมาคือมุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจหลัก เน้นพื้นที่มีศักยภาพ แต่ละเลยพื้นที่ยากจน ถ้าหากข้อตกลงทางเศรษฐกิจ (economic deal) ที่รัฐไทยทํากับคนจีน คือเปิดกว้างให้จีนพัฒนา เศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจแล้ว

มลายูมุสลิมก็ควรพึงปรับเปลี่ยนเป็นสร้างเศรษฐกิจโดยรวมให้สมดุล โดยเปิดทางให้ชาวบ้านเลือกเข้าสู่เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชีวิตเดิมของตน