เกษียร เตชะพีระ : “รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนกลาง)

เกษียร เตชะพีระ
(งานอภิปรายเมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ถึงแก่อสัญกรรมราว พ.ศ. ๒๕๒๖ จากซ้ายไปขวา มารุต บุนนาค, สุวัฒน์ วรดิลก, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, สุภา ศิริมานนท์)

ระหว่างผมกำลังนั่งอ่านนั่งคิดเรื่อง “รัฐพันลึก” (Deep State) ของไทยจากข้อเขียนของ อาจารย์เออเชนี เมริโอ, ผาสุก พงษ์ไพจิตร และนิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่นั้น มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เรียนกับผมคนหนึ่งเอาภาพถ่ายเก่าที่เขาพบเข้าโดยบังเอิญมาโพสต์ไว้บนหน้าเฟซบุ๊ก (ดูรูป)

ภาพนี้ดลใจให้คิดถึงสิ่งที่ผมใคร่เรียกว่า “สังคมพันลึก” (Deep Society) อันเป็นคู่ประกบประชันต่อสู้ขัดแย้งทัดทานกับ “รัฐพันลึก” มาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่!

มันเป็นภาพงานอภิปรายที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อกว่า 30 ปีก่อน ในโอกาส ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี องคมนตรีและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อาจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม ราว พ.ศ.2526 โดยปรากฏผู้ร่วมเวทีอภิปรายบางท่านได้แก่ :-

คุณมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีหลายกระทรวงแห่งพรรคประชาธิปัตย์ อดีตกบฏสันติภาพ พ.ศ.2494

คุณสุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร นักเขียนนิยาย บทละครและแต่งเพลงชื่อดัง อดีตคอมมิวนิสต์ลาดยาว พ.ศ.2501

อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สมัยยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวผมดกงามอยู่

และ คุณสุภา ศิริมานนท์ ผู้อาวุโสแห่งวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยและนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองแคปิตะลิสม์ของมาร์กซ์ อดีตเจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์นอันเป็นประทีบปัญญาก้าวหน้าล้ำยุคแห่งพุทธทศวรรษที่ 2490 อดีตผู้ต้องสงสัยกบฏสันติภาพ พ.ศ.2494

ทวีป วรดิลก
ทวีป วรดิลก

แน่นอนว่าสายสัมพันธ์เฉพาะหน้าที่เชื่อมโยงท่านเหล่านี้ให้มาร่วมกิจกรรมบนเวทีเดียวกันในวาระนั้นได้แก่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยที่คุณสุภาได้เคยทำงานเป็นผู้ช่วยใกล้ชิดอาจารย์ปรีดีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อคุณสุภาลงทุนลงแรงจัดทำเผยแพร่นิตยสารอักษรสาส์น (พ.ศ.2492-2495) จนป่วยหนักเป็นวัณโรคและโรคกระเพาะอาหารแทบสิ้นชีวิต ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่องแสงสว่างทางปัญญาให้แก่นักศึกษา มธก. ท่ามกลางความมืดมิดของระบอบเผด็จการทหารที่หวนกลับมาคุกคามหลังรัฐประหาร 2490 นั้น

มือกวีหลักเจ้าประจำของอักษรสาส์นได้แก่ “ทวีปวร” หรือ คุณทวีป วรดิลก น้องชายของคุณสุวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษา มธก. และเคลื่อน ไหวทำกิจกรรมนักศึกษาต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่จนถูกเล่นงานคราวกบฏสันติภาพและลบชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษาพร้อมกับ คุณมารุต บุนนาค ในปี พ.ศ.2494 นั่นเอง

คุณทวีปยังเป็นเพื่อนกับ จิตร ภูมิศักดิ์ เจ้าของผลงานบทความขนาดยาว “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ในนามปากกา “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” ที่คุณทวีปช่วยรับต้นฉบับและจัดพิมพ์ออกมาครั้งแรกในวารสาร นิติศาสตร์ รับศตวรรษใหม่ (ปีที่ 7 ฉบับที่ 4, 2500)

โดยที่ทั้งคู่รวมทั้ง ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และร่วมงานหนังสือพิมพ์มากับคุณทวีป อีกทั้งยังเคยไปใช้บริการรับเลี้ยงเด็ก ณ กระท่อมปักเป้าของ คุณจินดา ศิริมานนท์ ภรรยาคุณสุภาด้วยนั้น ล้วนถูกกวาดล้างจับกุมคุมขังอยู่หลายปีโดยเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์แห่งคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ พ.ศ.2501 และคุณทองใบเขียนเล่าประสบการณ์ครั้งนั้นไว้ในหนังสือชื่อดัง คอมมิวนิสต์ลาดยาว (2517)

จากรุ่นคณะราษฎร 2475 เชื่อมต่อมายังรุ่นเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง, รุ่นกบฏสันติภาพ 2494, รุ่นคอมมิวนิสต์ลาดยาว 2501

ก่อนที่จะโยงใยเข้ากับรุ่นคนเดือนตุลาฯ…

คุณสุภา & จินดา ศิริมานนท์,
คุณสุภา & จินดา ศิริมานนท์,
 ทนายทองใบและจิตร ภูมิศักดิ์ท่ามกลางชาวคอมมิวนิสต์ลาดยาว
ทนายทองใบและจิตร ภูมิศักดิ์ท่ามกลางชาวคอมมิวนิสต์ลาดยาว

เมื่อขบวนการนิสิตนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราช ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถูกกลุ่มอันธพาลการเมืองขวาจัดและเจ้าหน้าที่ล้อมปราบสังหารหมู่และกวาดล้างจับกุมอย่างโหดเหี้ยมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนเกิดรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นั้น

สุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คนถูกฟ้องข้อหาก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และรวมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ในคดี 6 ตุลาฯ ต่อศาลทหารโดยไม่อนุญาตให้มีทนายความพลเรือน

ต่อมาเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนชุดและยอมตามแรงกดดันทั้งในและนอกประเทศ ให้จำเลยตั้งทนายพลเรือนได้ คุณทองใบ ทองเปาด์ ก็รับเป็นหัวหน้าคณะทนายช่วยว่าความสู้คดีจนรัฐบาลนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นิรโทษกรรมให้ในที่สุดในปี พ.ศ.2521

และเมื่อนิสิตนักศึกษาประชาชนคนเดือนตุลาฯ ที่เข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้เผด็จการหลังรัฐประหาร 6 ตุลาฯ ประสบความขัดแย้งแบ่งแยกระส่ำระสายจนป่าแตกคืนเมือง อยู่ในสภาพ “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” ที่อกหักผิดหวังกับอุดมการณ์และการจัดตั้ง เคว้งคว้างหลักลอยกับชีวิตนั้น

เราก็ได้คนรุ่นกบฏสันติภาพอย่างพี่ทวีปและอาจารย์สุภานี่เองที่เปิดประตูบ้านต้อนรับ โอภาปราศรัย พูดคุยให้กำลังใจอย่างอบอุ่นกันเอง ให้สัมภาษณ์ พาไปดูห้องสมุดส่วนตัว เผื่อแผ่เอกสารข้อมูลประสบการณ์คติข้อคิดความรู้ความเห็นแก่ “นักศึกษาคืนสภาพ” และ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ที่เพิ่งออกจากป่าและหิวกระหายทั้งน้ำใจไมตรีและความรู้ความเข้าใจอย่างพวกเรา

และในหนังสือที่ระลึก ธรรมศาสตร์ 50 ปี (พ.ศ.2527) คุณทวีป วรดิลก ในนามปากกา “ทวีปวร” ผู้ต่อมาได้รับประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ใน พ.ศ.2538 ได้รจนาบทรำพึงลักษณะกลอนเปล่าชื่อ “ห้าทศวรรษแห่งความหวัง” ไว้ตอนหนึ่งถึงคนเดือนตุลาทั้งหลายว่า…

(ต่อตอนจบสัปดาห์หน้า)