ไทย-เขมรดราม่า : เมื่อฉันอยู่ในยุคกลาง!/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ไทย-เขมรดราม่า

: เมื่อฉันอยู่ในยุคกลาง!

 

ชื่อน่ะ บุพเพสันนิวาส 2 แต่ไม่มี “บุพเพสันนิวาส” ให้หรอกสำหรับ 2 ชาตินี้ และอาจจะชาติหน้า นั่นคือที่มาว่าทำไมหนังไทยอย่าง “บุพเพสันนิวาส 2” จึงถูกยกมาเป็นประเด็นอีกครั้งใน “อัญเจียแขฺมร์” ก่อนหนังเรื่องนี้จะออกฉายในพนมเปญในสัปดาห์นี้และคาดว่า ไม่น่าจะมีปรากฏการณ์ที่คนแห่ไปดูกันเหมือนที่กรุงเวียงจันทน์

เพราะนี่คือเขมรที่มีความเป็นอารยธรรมอันต่างจากชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะอะไรที่มาจากเสียมหรือไทยแล้วไม่เคยง่าย “บุพเพสันนิวาส 2” ก็เช่นกัน ถึงขนาดมีเพจออกมารณรงค์ไม่ให้ไปดูหนังเรื่องนี้

ไล่มาตั้งแต่ดอกไม้ประจำชาติไปจนถึงขอมอารยะและความเป็นชาติโดยทั้งหมดที่มักระบุว่าคือวัฒนธรรมเขมรที่ถูกชาติเพื่อนบ้านขโมยไป พลัน มิติอัตลักษณ์และความเป็นชาติก็ที่ลามไหลไปสู่เรื่องอื่นๆ

ตั้งแต่นักท่องเที่ยวเมืองเสียมเรียบ ที่ถูกเจ้าหน้าที่กัมพูชาออกคำสั่งให้เธอถอดเครื่องประดับในชุดทรงที่พวกเขากล่าวว่า “นี่เป็นชุดของไทยไม่ใช่เขมร” ออกทีละชิ้น ณ บริเวณปราสาทนครวัด

ในสายตาชาวโซเชียล สำหรับกัมพูชาแล้ว การปกป้องอารยธรรมเขมรที่ถูกย่ำยีจากคนต่างชาติ นี่คือสิ่งที่ชาวเขมรต้องหวงแหนและปกป้อง โดยเฉพาะเมื่อพบว่า นักท่องเที่ยวรายนั้นเป็นชาวเวียด เธอสวมใส่ชุดไทย! และมาทำอะไรที่นี่!

สำหรับทั้งเวียดนามและไทย พวกเขาช่างร้ายกาจพอๆ กัน! พลัน ข้อความประณามที่ชิงชังที่พุ่งออกมาราวสายน้ำ เธอย่ำยีเกียรติยศและขโมยทุกอย่างไปจากเรา!

มีความดราม่าที่เรื้อรังเสมอมาสำหรับพลเมืองเพื่อนบ้านกัมพูชาทั้งฝั่งตะวันตกและทิศตะวันออก น่าประหลาดที่การตีความคุณค่าศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์กลับถูกมองข้ามจากประเทศนี้

ในทางกลับกัน เกียรติยศของพวกเขากลับผูกติดกับ “อดีต” ที่มักวนเวียนไปกับการสูญเสียอย่างเรื้อรัง

ภาพคิดของชาวกัมพูชาแล้ว ที่มาของปัญหาเหล่านั้น ดูราวยิ่งกว่าละครย้อนยุคอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ผูกติดกับอดีต และเป็นมิติที่ไม่อาจย้อนไปได้

ในต่างกรรมต่างวาระ ดูเหมือนกัมพูชาจะไม่อาจยุติความคิดว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ความชอกช้ำในอดีตที่ซ้ำซากอันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน มิหนำซ้ำเรื่องส่วนใหญ่ยังมาจากสมัยยุคกลางที่ย้อนไปถึงอาณาจักรนครวัดนครธม

ความรู้สึกว่าถูกรังแกนี้ มิใช่แต่ไทยและเวียดนามเท่านั้น สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกชาติที่ก่อบาปไว้กับประวัติศาสตร์เขมรแม้จะร่วมสมัยและยุคหลัง แต่กระนั้น ความรู้สึกต้องการสะสางในประวัติศาสตร์เหล่านั้น เกิดขึ้นและดำเนินไปโดยฝ่ายอื่นเท่านั้น แต่มิใช่กัมพูชา

ดังนั้น สหรัฐจึงสมควรต้องชดใช้ “ความผิดพลาด” ในประวัติศาสตร์อันปวดร้าวกัมพูชาต่อกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แต่เชื่อไหม? ไม่ว่าอเมริกาและชาติตะวันตกผลักดันกัมพูชาผ่านยูเอ็นให้พ้นจากหล่มประวัติศาสตร์ยุค 70 และยุติบาดแผลอันเรื้อรังมาได้ด้วยขบวนการประชาธิปไตยจนกัมพูชาสามารถกลับมาได้ในระนาบเดียวกับประชาคมโลก แต่ไม่มีคำว่าสิ้นสุด

ตัวอย่างความพยายามส่งคืนวัตถุโบราณเขมรในยุคสงครามหลายรายการตลอดทศวรรษที่ผ่านมาจากการผ่านกฎหมายของสหรัฐที่สามารถบังคับส่งคืนต้นทางให้กัมพูชาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่รัฐบาลกลางและท้องถิ่นตลอดจนสถาบันมิวเซียมและศิลปะต่างแบกภาระค่าใช้จ่ายในการส่งคืนกัมพูชาโดยแทบไม่มีต้นทุนต้องจ่ายเลยนั้น

ราวกับไม่มีความหมายใดๆ ในปฏิกิริยาของประเทศนี้ที่มีต่อกรณีสหรัฐ ในไมตรีจิตและมิตรภาพที่มากกว่าการเมืองนั้น มันทำให้ฉันนึกถึงปีที่รัฐบาลไทยที่ส่งคืนวัตถุโบราณนับร้อยชิ้นจากปราสาทบันเตียฉมาและนายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับบินไปส่งมอบด้วยตนเองนั้น

ต้องเข้าใจว่า โบราณวัตถุของบันเตียฉมาขนาดใหญ่หลายสิบตันนี้เกิดขึ้นโดยการลักลอบโดยรู้เห็นเป็นใจจากทางการกัมพูชาที่เล่นแร่แปรธาตุกับสมบัติชาติโดยหมายเงินก้อนโตไปทำการเมือง แต่บังเอิญถูกจับได้ กระนั้น ในสายของชาวโลก ไทยกลับเป็นมาเฟียผู้ร้าย ที่ขมายขโมยศิลปะเขมรไปเสียนั่น

การส่งคืนประติมากรรมบันเตียฉมาล็อตใหญ่หนนั้นต่อกัมพูชา จึงไม่ต่างจากไทยเองต้องการ “ล้างมลทิน”

นอกจากนี้ ทันทีที่กรมศิลปากรไทยพยายามทวงคืนประติมากรรมสำริดพระบาทชัยวรรมันที่ 6 “โกลเด้นบอย” ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในนิวยอร์ก

การตั้งวงทวงคืนรูปปั้นโบราณวัตถุที่เชื่อว่าถูกขโมยไปจากพิมายชิ้นนี้ ได้กลายเป็นวิวาทะในโซเชียล

ตราบใดที่ภารกิจในลัทธิบูชาชาตินิยมยังท่วมบ่าไปด้วยความยืนยงยาวนานในชาวกัมพูชา และด้วยทัศนคติที่ว่า ไทยเป็นชาติที่ไม่มีอารยธรรม “พวกเขาขโมยทุกอย่างที่เป็นสมบัติของเขมร” ทั้งสองชาตินี้คงเปิดศึกแห่งศักดิ์ศรีในทุกๆ เวทีแห่งการทวงคืนซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งกรณีวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ รวมทั้ง “โกลเด้นบอย” ที่ท้าทายสหรัฐ

ดูจะไม่มีใครเลยที่ให้ความสนใจต่อสิ่งที่อเมริกันทำไว้เป็นมาตรฐานและเท่ากับคุ้มครองโบราณวัตถุของประเทศที่ 3 ที่ถูกนำเข้าสหรัฐอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนี้ การส่งคืนวัตถุโบราณเหล่านี้ต่อประเทศต้นทางและสร้างหมุดหมายในแง่อารยธรรมใหม่ของการอยู่ร่วมกัน การป้องกันการซื้อขายศิลปกรรมโบราณที่ผิดกฎหมายในตลาดมืดของนักสะสม ไม่ได้รับการใส่ใจ

บางที ความผิดพลาดของอเมริกากรณีสงครามเวียดนามอาจถูกชดเชยแล้วในข้อนี้ แต่กระนั้น ความซาบซึ้งใจและการให้เครดิตข้อนี้ต่อสหรัฐก็ยังเป็นเรื่องยากที่กัมพูชาจะมอบความซาบซึ้งให้

มันจึงเป็นความยากของประเทศนี้ที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและคุณค่าของความเป็นมนุษยชนพลเมืองน้อยกว่าความสูงส่งของอารยธรรมแห่ง “ยุคกลาง” ที่ล่วงผ่านไปราว 800 ปี

แต่ก็ยังเป็นทุกอย่างของประเทศนี้

ในผู้คนจำนวนมากที่ถูกเหยียบย่ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ราวกับเสมือนว่า เกิดมาเพียงเพื่อทำหน้าที่ประการเดียว คือบูชาอัตลักษณ์และภาคภูมิกับสังคมอดีตที่ตายจากไปหลายศตวรรษก่อน ราวกับว่า ชาติภพปัจจุบันของชาวกัมพูชาไม่มีอะไรให้จดจำ?

ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้แต่ประสบการณ์เลวร้ายที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติเดียวกันเอง ก็ยังถูกทำให้หลงลืมว่า มาจากลัทธิบูชาความยิ่งใหญ่ในอดีต

เหล่านี้ เราจะสำมะหาอะไรอีก? สำหรับโศกนาฏกรรมที่ยากจะจดจำ กระนั้น การวนเวียนไปสู่ระบอบประลัยที่สุดโต่งนั้น ก็ยังไม่สามารถนำมาถอดบทเรียนได้ และยังติด “หล่ม” ตรงจุดเดิมอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หรือนี่คือความไม่เป็นอื่นที่พบปรากฏแต่ชาวเขมรเท่านั้น พวกเขามาแต่อดีตกาลที่ไม่อาจเรียนรู้กระแสวัฒนธรรมใหม่ ทั้งในเชิงปัจเจกและวิถีอารยธรรมร่วมที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษนี้

ช่างเป็นความจริงอันย้อนแย้งของความเป็นชนชาตินี้ ในความหมกมุ่นแห่งยุคกลางจนสามารถ “ขีดฆ่า” และ “บงการ” ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทั้งหมดในความเป็นกัมพูชาปัจจุบันอย่างหมดจรดและจาบัลย์

เหมือนกับคำว่า “ปัญญา” ที่ไทยอ่านว่า “ปัญหา” ในภาษาประกิตแบบที่ชาวเขมรเขาเขียนกัน?

มันคือเรื่องราวแบบนั้น และการพูดถึงเรื่องนี้ ช่างเป็นสิ่งที่กล่าวได้ยาก ราวกับบางอย่างที่ยังไม่อาจพิสูจน์แม้แต่ในยุคกลางแห่งเมืองนครธม บางอย่างที่เปลี่ยนผ่านแต่ราวกับจองจำในกัมพูชา ราวกับว่าเป็นความยืนยงกันมาแต่แต่อดีตโพ้นแห่งยุคกลางที่ไม่อาจผันไปเป็นอื่น ซึ่งโปรดอย่าเฆี่ยนตี เจาะจงหรือค้นหากันเลย

จนทำให้ฉันไพล่คิดถึงข้อศึกษาหนึ่งในจารึกศตวรรษที่ 20 ของศาสตราจารย์จอร์จ เซเดส์ ที่ระบุว่า “อารยธรรมแห่งยุคกลางที่น่ามหัศจรรย์นี้ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่นหรือชาวเขมรปัจจุบัน…ซ้ำร้ายกว่านั้น บางเผ่าพันธุ์เหล่านั้นยังเป็นแค่แรงงานทาส”