ศรีลังกาภิวัตน์/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ศรีลังกาภิวัตน์

 

รายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือนเมษายนศกนี้ชี้ว่ามี 69 ประเทศใน 3 ทวีป แบ่งเป็น 19 ประเทศในทวีปละตินอเมริกา, 25 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ 25 ประเทศในทวีปแอฟริกา รวมประชากรราว 1.2 พันล้านคนที่กำลังเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดวงจรอุบาทว์แห่งวิกฤตสามมิติ (vicious cycles of a three dimensional crisis) ของระบบอาหาร, พลังงานและการเงินพร้อมกันราวพายุสมบูรณ์แบบ (perfect storm) (https://news.un.org/pages/global-crisis-response-group/)

ประเทศเหล่านี้แหละที่ล่อแหลมต่อศรีลังกาภิวัตน์ (go the Sri Lankan way) ในปัจจุบันเบื้องหน้าสภาพที่…

รายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกปีนี้ตกลงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด 5%

เศรษฐกิจตกยากกับภาระหนี้กำลังจุดปะทุการประท้วงในหลายประเทศ

วิกฤตเศรษฐกิจจึงอาจบรรจบเข้ากับการลุกฮือทางการเมืองของมวลชนในหลายประเทศแบบที่เกิดในศรีลังกา อาทิ (https://www.nzherald.co.nz/world/sri-lanka-crisis-what-countries-could-be-next-to-collapse/EBG2PG6WOCWF7OAQBU3HGCSSTA/) :-

ปากีสถาน

รัฐบาลปากีสถานกำลังเจรจาเร่งด่วนกับ IMF ด้วยความหวังที่จะรื้อฟื้นแพ็กเกจกอบกู้เศรษฐกิจมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นมาใหม่ซึ่งเก็บขึ้นหิ้งไปชั่วคราวหลังนายกฯ อิมราน ข่าน ถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจ และพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อเดือนเมษายนศกนี้

ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ราคาเชื้อเพลิงและข้าวของอื่นๆ พลอยเพิ่มไปด้วย ส่งผลให้เงินเฟ้อกว่า 21%

เงินสกุลรูปีของปากีสถานลดค่าลงราว 30% เมื่อเทียบกับ US$ ในรอบปีที่ผ่านมา

นายกฯ คนใหม่ เชบาซ ชารีฟ ได้ขึ้นราคาเชื้อเพลิงและเรียกเก็บภาษีพิเศษใหม่ (super tax) อีก 10% เอากับอุตสาหกรรมหลักๆ ทั้งหลายเพื่อซ่อมบำรุงระบบการเงินที่ผุพังของประเทศ

ถึงปลายเดือนมีนาคมศกนี้ เงินตราต่างประเทศสำรองของปากีสถานลดลงเหลือ 13.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งพอเป็นค่านำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแค่สองเดือนเท่านั้น

 

อาร์เจนตินา

ชาวอาร์เจนตินาประมาณสี่ในทุกสิบคนอยู่ในฐานะยากจน ธนาคารชาติมีเงินตราต่างประเทศสำรองต่ำอย่างน่าหวาดเสียวในสภาพที่ค่าเงินอาร์เจนตินาอ่อนตัวลง

คาดว่าเงินจะเฟ้อเกิน 70% ในปีนี้ คนอาร์เจนตินานับล้านๆ ต้องพึ่งพาอาศัยโรงทานและโครงการสวัสดิการของรัฐเพื่อยังชีพ ซึ่งจำนวนมากดำเนินการผ่านบรรดาขบวนการทางสังคมอันทรงพลังซึ่งเชื่อมโยงกับพรรครัฐบาล

ข้อตกลงที่รัฐบาลอาร์เจนตินาทำกับ IMF เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 44 พันล้านดอลลาร์ใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ถูกทักถามว่ารัฐบาลยอมอ่อนข้อมากไปจนจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภายภาคหน้าไหม

 

ตุรกี (ตุรเคีย)

ตุรกีเผชิญปัญหาทับซ้อนหลายอย่างตั้งแต่ฐานะการคลังรัฐบาลย่ำแย่ลง ขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีทุนเพิ่มขึ้น หนี้สูงและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เงินเฟ้อที่อัตราเกือบ 80% และคนตกงานมาก

ธนาคารชาติหันไปใช้เงินตราต่างประเทศสำรองมาปกป้องไม่ให้เกิดวิกฤตค่าเงินภายหลังเงินตราสกุลลีราตกต่ำสุดเมื่อเทียบกับ US$ และเงินยูโรเมื่อปลายปี 2021

รัฐบาลประธานาธิบดีแอร์โดอานดำเนินนโยบายนอกรีตฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ ไม่ยอมให้ธนาคารชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อ แต่กลับให้ลดดอกเบี้ย ลดภาษีและออกเงินอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทน พร้อมปลดผู้ว่าการธนาคารชาติที่อิดเอื้อนแข็งขืนไปแล้วถึง 3 คนในรอบ 2 ปี

ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลอ่อนเปลี้ยลง ครัวเรือนทั้งหลายดิ้นรนกระเสือกกระสนซื้อหาอาหารที่แพงขึ้นกว่า 90% หนี้ต่างประเทศของตุรกีตกราว 54% ของจีดีพี

ซึ่งก่อภาระอันเหลือจะแบกรับไหวในสภาพหนี้สาธารณะสูงลิ่ว

 

เมียนมา

โควิด-19 ระบาดและความโกลาหลวุ่นวายทางการเมืองได้ฟาดกระหน่ำเศรษฐกิจเมียนมา โดยเฉพาะหลังกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้งของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศตะวันตกพากันออกมาตรการแซงก์ชั่นพุ่งเป้าใส่บรรดาธุรกิจการค้าที่กองทัพควบคุมซึ่งครอบงำเศรษฐกิจเมียนมาอยู่

เหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวลง 18% เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าคงจะแทบไม่เติบโตขึ้นเลยในปีนี้ ชาวเมียนมากว่า 7 ล้านต้องหลบลี้หนีภัยหรือถูกบังคับขับไสจากถิ่นที่อยู่เนื่องจากการขัดแย้งต่อสู้ด้วยอาวุธระหว่างทหารรัฐบาลกับกองกำลังฝ่ายค้านและความรุนแรงทางการเมือง

สถานการณ์ในเมียนมาเอาแน่เอานอนคาดการณ์ไม่ได้ ถึงขั้นที่รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกของธนาคารโลกฉบับอัพเดตเมื่อเร็วๆ นี้ได้งดเว้นการวิเคราะห์ทำนายเศรษฐกิจเมียนมาสำหรับปี 2022-2024 ไป

 

เลบานอน

ข่าวร้ายเศรษฐกิจประเดประดังสุมมาทั้งค่าเงินล่มสลาย ขาดแคลนสินค้าข้าวของ เงินเฟ้อสาหัส ผู้คนอดอยากมากขึ้น ต้องไปเข้าคิวซื้อหาน้ำมันยาวเหยียด ส่งผลให้คนชั้นกลางเลบานอนตกชนชั้นกันระเนระนาด

ทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นบนภูมิหลังของสงครามกลางเมืองอันยาวนานระหว่างกลุ่มต่างศาสนา และการฟื้นฟูประเทศยังถูกขัดขวางโดยรัฐบาลที่ใช้การไม่ได้และการโจมตีก่อการร้ายกระหน่ำซ้ำเติมอีกเล่า

ปลายปี 2019 รัฐบาลเสนอเรียกเก็บภาษีใหม่หลายรายการ อาทิ จากยาสูบ น้ำมัน โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้ง WhatsApp ซึ่งกลายเป็นตัวจุดปะทุความอุกอั่งคับแค้นของมวลชนต่อชนชั้นปกครองให้ออกมาประท้วงต่อเนื่องนานหลายเดือน ค่าเงินปอนด์ของเลบานอนเริ่มตกดิ่งและรัฐบาลต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ตอนนั้นราว 90 พันล้านดอลลาร์ หรือ 170% ของจีดีพีซึ่งสูงลิ่วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ถึงเดือนมิถุนายนศกนี้ ในสภาพที่ค่าเงินปอนด์เลบานอนตกลงเกือบ 90% ธนาคารโลกได้ชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจเลบานอนปัจจุบันนับเป็นหนึ่งในสามสุดยอดวิกฤตเลวร้ายที่สุดเท่าที่โลกเคยประสบพบมาในรอบกว่า 150 ปี เทียบเคียงได้กับวิกฤตเศรษฐกิจชิลีปี 1926 และวิกฤตเศรษฐกิจระหว่างสงครามกลางเมืองในสเปนปี 1931

(“Lebanon Sinking (To the Top 3)”, Lebanon Economic Monitor, Spring 2021, https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2021/05/01/lebanon-sinking-into-one-of-the-most-severe-global-crises-episodes; โดยอาศัยฐานข้อมูลเปรียบเทียบจากบทความ Carmen M. Reinhart and Kenneth S. Rogoff, “Recovery from Financial Crises : Evidence from 100 Episodes”, American Economic Review : Papers & Proceedings 2014, 104(5): 50-55)

 

อียิปต์

เงินเฟ้อในอียิปต์ขึ้นไปถึง 15% เมื่อเดือนเมษายนศกนี้ ทำให้ทุกข์ยากเดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยเฉพาะคนยากจนที่คิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของประชากรทั้งสิ้น 103 ล้านคน รัฐบาลทหารได้ออกโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ทะเยอทะยานมาซึ่งรวมเอามาตรการรัดเข็มขัดที่เจ็บปวดแก่ประชาชนด้วย เช่น ปล่อยค่าเงินปอนด์ของอียิปต์ให้ลอยตัว ตัดทอนเงินอุดหนุนของรัฐแก่ค่าเชื้อเพลิง น้ำประปา ไฟฟ้าสำหรับประชาชน

ธนาคารชาติอียิปต์ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเหนี่ยวรั้งเงินเฟ้อไว้และลดค่าเงินปอนด์อียิปต์ลง ทำให้อียิปต์ลำบากมากขึ้นในการใช้หนี้ต่างประเทศก้อนเขื่องพอควรทึ่ติดค้างอยู่

เงินตราต่างประเทศสำรองสุทธิของอียิปต์ลดต่ำลง บรรดาประเทศเศรษฐีน้ำมันเพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบีย กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้สัญญาจะให้เงินฝากและเงินลงทุนโดยตรงมูลค่า 22 พันล้านดอลลาร์มาช่วยเหลือ

 

ลาว

ลาวเป็นประเทศขนาดเล็กและไม่มีพรมแดนติดทะเล แต่กระนั้นเศรษฐกิจลาวก็โตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจนกระทั่งเกิดโควิด-19 ระบาด

ปรากฏว่าระดับหนี้ภายนอกของลาวพุ่งสูง รัฐบาลลาวต้องเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อหาทางชำระหนี้สินหลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นปัญหาเร่งด่วนในสภาพที่การเงินการคลังของรัฐบาลลาวอ่อนแอ

เงินตราต่างประเทศสำรองของลาวเหลือพอเป็นค่าสินค้าเข้าไม่ถึงสองเดือน

การที่ค่าเงินกีบของลาวลดลง 30% ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ย่ำแย่เข้า เงินเฟ้อถึง 23.6% ซึ่งสูงสุดในรอบ 22 ปีทำให้ราคาข้าวของแพง

และสภาวะคนตกงานเนื่องจากโควิดระบาดส่อว่าจะยิ่งทำให้ปัญหาความยากจนหนักหน่วงขึ้น

 

ซิมบับเว

เงินเฟ้อในซิมบับเวพุ่งขึ้นกว่า 130% ทำให้หวั่นเกรงกันว่าจะเจอภาวะเงินเฟ้อไฮเปอร์อย่างปี 2008 ที่เงินเฟ้อทะลุทะลวงถึง 500 พันล้าน% อีก ทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วถูกสารพันปัญหาถล่มทับตามมา

ซิมบับเวต้องดิ้นรนหาเงินดอลลาร์สหรัฐเข้าประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งหันไปใช้เงินสกุล US$ ซื้อขายหมุนเวียนกันมาก ท่ามกลางความเปื่อยผุทางเศรษฐกิจจากการลดเลิกอุตสาหกรรม คอร์รัปชั่น การลงทุนต่ำ การส่งออกต่ำและหนี้สูงต่อเนื่องกันนานปี

ประสบการณ์เงินเฟ้อไฮเปอร์ทำให้ชาวซิมบับเวไม่ไว้ใจเงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเวของประเทศตนเอง (the Zimbabwe dollar หรือ ZWL) และเพิ่มความต้องการเงิน US$ มากขึ้น คนซิมบับเวมากมายต้องอดมื้อกินมื้อ ดิ้นรนชักหน้าไม่ถึงหลังกันวันต่อวัน

 

อัฟกานิสถาน

หลังฝ่ายทาลิบันยึดอำนาจรัฐได้เมื่อเดือนสิงหาคมศกก่อน การช่วยเหลือจากต่างประเทศซึ่งเป็นแหล่งหลักที่ค้ำพยุงเศรษฐกิจอัฟกานิสถานมานานปีก็มีอันสะดุดหยุดลงชั่วข้ามคืน รัฐบาลนานาประเทศพากันออกมาตรการแซงก์ชั่นต่ออัฟกานิสถานภายใต้รัฐบาลทาลิบัน สั่งระงับการโอนเงินผ่านธนาคาร ทำให้การค้าต่างประเทศ กลายเป็นอัมพาต

ข้างรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนก็สั่งแช่แข็งเงินตราต่างประเทศสำรองของอัฟกานิสถาน 7 พันล้านดอลลาร์ ที่เก็บไว้ที่อเมริกาด้วย

เหล่านี้ส่งผลให้ราวกึ่งหนึ่งของชาวอัฟกัน 39 ล้านคนเผชิญภาวะไม่มั่นคงทางอาหารถึงขั้นคุกคามชีวิต เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่รวมทั้งแพทย์ พยาบาล ครูอาจารย์ ไม่ได้เงินเดือนติดต่อกันหลายเดือนแล้ว

แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดเมื่อมิถุนายนศกนี้ซึ่งฆ่าคนไปกว่าพันคน ยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากแสนสาหัส จนรัฐบาลทาลิบันต้องออกมาวอนให้โลกช่วยเหลือ (https://www.matichon.co.th/foreign/news_3415071)

นี่คือตัวอย่าง 9 ประเทศอาการหนักที่ทำท่าจะต่อคิวศรีลังกาภิวัตน์รายถัดไป!