‘เรื่องบันเทิง’ กับ ‘เรื่องการเมือง’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘เรื่องบันเทิง’ กับ ‘เรื่องการเมือง’

 

การปรากฏตัวของ “สินจัย เปล่งพานิช” ที่งานฉายหนัง “รักแห่งสยาม” ในเทศกาล “กรุงเทพฯ กลางแปลง” สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างสูง

เพราะนั่นคือการปรากฏตัวอย่างค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ท่ามกลางผู้ร่วมงานและคณะผู้จัดงานคนรุ่นใหม่ ที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างจากเธอโดยสิ้นเชิง

ขณะเดียวกัน มุมมองเรื่องการเมืองของสินจัยก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงโอนอ่อนไปสู่ทิศทางอื่นๆ

เธอมิได้เป็นหนึ่งในคนดังที่ล่องไหลไปตามกระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” อันเชี่ยวกราก และท่าทีสุดท้ายที่เธอมีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้แก่ การประกาศสนับสนุน “สกลธี ภัททิยกุล”

สื่อหลายสำนัก-นักวิเคราะห์การเมืองหลายคน เพ่งมองปรากฏการณ์การฉายหนัง “รักแห่งสยาม” ด้วยกรอบความเข้าใจที่ว่าชัยชนะอันล้นหลามของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ช่วยเปิดพื้นที่ทางการเมือง (ตลอดจนพื้นที่ทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ) ให้ขยับขยายกว้างขวางขึ้น

“กรุงเทพฯ ในยุคชัชชาติ” จึงกลายเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างหรือโอบรับ “ความหลากหลายทางอุดมการณ์”

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นบทสรุปจากการพิจารณาสายสัมพันธ์ระหว่าง “การเมือง” กับ “เรื่องบันเทิง” โดยใช้ “การเมือง” เป็นตัวนำ

 

หากใครได้ตามข่าวบันเทิงระยะหลังๆ อยู่บ้าง ก็อาจพบปรากฏการณ์บางเรื่องที่น่าสนใจในระดับใกล้เคียงกัน

เช่น เรื่องที่สินจัยไปร่วมงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยของ “ชมรมวิจารณ์บันเทิง” สองปีซ้อน

ด้านหนึ่ง เป็นเพราะ “ครูการแสดง” คนแรกๆ ของเธอ คือ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” (หม่อมน้อย) และ “กฤษฏ์ บุณประพฤทธิ์” (แจ๊สสยาม) ได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จในปี 2564 และ 2565

แต่อีกด้าน เราก็ได้เห็นภาพแปลกตา เมื่อสินจัยต้องไปยืนอยู่ท่ามกลางคนบันเทิงที่มีโลกทัศน์ทางการเมืองผิดแผกจากเธอ

ปี 2564 สินจัยขึ้นเวทีไปรับรางวัลแทนหม่อมน้อย ขณะที่คนทำหนังส่วนใหญ่ซึ่งได้รับรางวัลในปีนั้น (และต้องยืนถ่ายรูปหมู่บนเวทีร่วมกับนักแสดงหญิงมากประสบการณ์) ต่างมีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร-อำนาจอนุรักษนิยม และสนับสนุนม็อบเยาวชน-หลักการประชาธิปไตย ทั้งยังแสดงจุดยืนดังกล่าวผ่านผลงานของพวกเขาอย่างไม่ซ่อนเร้น

โดยเฉพาะหนังสารคดีเรื่อง “School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน” ที่กวาดรางวัลไป 7 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย)

น่าสนใจว่า จนถึงปัจจุบัน บุคคลต้นเรื่องของหนังสารคดีเรื่องนี้ คือ “บุ๊ค Elevenfinger” หรือ “เเร็ปเปอร์คลองเตย” นั้นมีคดีการเมืองติดตัวรวมทั้งสิ้น 7 คดี

ปี 2565 นอกจากไปร่วมแสดงความยินดีกับแจ๊สสยามแล้ว สินจัยยังขึ้นไปมอบรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมให้ “อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี” (จ๋าย ไททศมิตร) จากหนังเรื่อง “4 Kings อาชีวะยุค 90”

“จ๋าย ไททศมิตร” คือ นักร้อง-นักแต่งเพลง-นักแสดงหนุ่ม ที่ไปร่วมม็อบสามนิ้วอย่างไม่เคอะเขิน และเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุมว่า “ถ้าเรานิ่งเฉย เราคงไม่มีหน้าขึ้นไปร้องเพลงอีก”

พร้อมกันนั้น “สุกัญญา มิเกล” นักร้อง-นักแสดงหญิง ที่เคยเป็นแนวร่วมเสื้อเหลือง-นกหวีดในระดับเข้มข้น ก่อนจะกลับหลังหันมาร่วมม็อบคนรุ่นใหม่อย่างแข็งขันในหลายปีหลัง ก็ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (จากหนังเรื่อง 4 Kings เช่นกัน)

เราไม่ได้เห็นรูปคู่ของ “สินจัย-มิเกล” ในงานชมรมวิจารณ์บันเทิงครั้งล่าสุด อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ได้ขึ้นไปถ่ายภาพหมู่ร่วมกันก่อนจบงาน (แม้จะยืนอยู่คนละฟากเวทีก็ตาม)

 

อยากชวนให้ทุกท่านทดลองมองกรณีศึกษาเหล่านี้ โดยไม่ยึดติดสมมติฐานเดิมๆ บางประการ

เช่น หนึ่ง การคาดคะเนว่าดาราคนนู้นคนนี้อาจเริ่มเปลี่ยนแนวคิดหรือสำนึกผิดทางการเมืองกันบ้างแล้ว (ราวกับว่าคนอย่าง “สุกัญญา มิเกล” นั้นหาได้ง่ายในสังคมไทย)

สอง การตื่นตูมว่า “ดาราฝ่ายไม่ประชาธิปไตย” กำลังโดน “มวลชนผู้บริโภคฝ่ายประชาธิปไตย” ลงโทษอย่างหนัก จนถึงคราวสิ้นไร้ไม้ตอก (ตรงกันข้าม ดาราฝ่ายโน้นหลายคนยังได้รับงานดีๆ ต่อเนื่อง และบริษัทของพวกเขายังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ)

สาม การทึกทักว่าแนวคิดหลวมๆ เรื่องการสร้าง “พื้นที่ทางการเมือง” ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย เป็น “คาถาวิเศษ” ซึ่งใช้อธิบายอะไรได้ทุกเรื่อง

แล้วหันไปพิจารณาสายสัมพันธ์ระหว่าง “เรื่องบันเทิง” กับ “การเมือง” โดยใช้วิธีคิด “บันเทิงนำการเมือง” ดูบ้าง

ด้วยมุมมองแบบหลังนี้ เราอาจเข้าใจได้ว่า ทำไม “นก สินจัย” จึงต้องร่วมสังฆกรรมกับคนบันเทิงรุ่นใหม่ที่ “ชูสามนิ้ว” และในทางกลับกัน ทำไมคนบันเทิงยุคปัจจุบันที่คาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลงมหาศาลในอนาคต จึงไม่อาจปฏิเสธบุคลากรรุ่นพี่ที่ผูกติดตัวเองเข้ากับอดีตซึ่งไม่มีวันย้อนคืน ได้อย่างเด็ดขาด

 

เมื่อลงรายละเอียด แม้การแบ่งสีเสื้อ การแยกกลุ่มความคิดทางการเมือง จะเป็นพลังร้อนแรงที่ขับเคลื่อนสังคมการเมืองไทยให้เปี่ยมล้นไปด้วยพลวัตมาได้เกินทศวรรษ และบางคนอาจเชื่อว่า “วัฒนธรรมการเมือง” ทำนองนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงได้ (เช่น หนัง/ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ต้อนรับสลิ่มตัวแม่)

แต่ถ้าเราพินิจพิเคราะห์ “วงการบันเทิง” ในฐานะ “สังคม” รูปแบบหนึ่ง หรือ “สมาคมวิชาชีพ” แขนงหนึ่ง เราจะพบว่าการแบ่งข้างแยกขั้วตามอุดมการณ์ทางการเมือง มีแนวโน้มจะละเลยองค์ประกอบสำคัญชนิดอื่นๆ ของสังคม/สมาคมวิชาชีพนี้ไปมากพอสมควร

อาทิ ละเลยประสบการณ์ ละเลยฝีมือ-คุณภาพงาน ละเลยทักษะในการร่วมงานกับคนหมู่มาก และละเลยความเข้าใจในเรื่องธุรกิจ เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว ถ้าเราอยากทำหนัง-ซีรีส์ดีๆ ที่มีรสชาติดราม่ากลมกล่อมและสร้างประเด็นถกเถียงทางสังคมได้อย่างทรงพลัง เช่น “รักแห่งสยาม” เราจะเหลือตัวเลือกนักแสดง “บทแม่” ที่มีคุณภาพสูงอีกสักกี่คน ซึ่งก้าวพ้นข้อหา “เคยใส่เสื้อเหลือง เคยเป็นสลิ่ม เคยเป่านกหวีด” (โดยที่ “สุกัญญา มิเกล” หรือ “ทราย เจริญปุระ” ก็รับบท “แม่” ไม่ได้ทุกแบบ)

นี่คือ “ความเป็นจริง” ของ “วงการมายา” ที่ผิดเพี้ยนจาก “ความเป็นจริง” ใน “การต่อสู้ทางการเมือง”

บางครั้ง การจินตนาการถึง “พื้นที่ทางการเมือง” ที่รองรับความหลากหลาย และการคาดหวังถึง “คนบันเทิง” ที่สมบูรณ์พร้อมในมาตรฐานการทำงานและคุณภาพเชิงวิชาชีพ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน

แต่ทั้งสองกระบวนการกลับวางตัวอยู่บนฐานคิดที่ต่างกันคนละชุด

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ฝังรากลึกมายาวนาน อาจส่งผลให้คนบันเทิงไทยหลายกลุ่มต้องหวนมาใช้แนวคิด “บันเทิงนำการเมือง” กันมากขึ้น

หมายถึงการประเมินผู้คนในแวดวงวิชาชีพนี้ ด้วยเรื่องคุณภาพการทำงานเป็นหลัก

จวบจนเมื่อจอภาพขนาดต่างๆ ดับมืดลง ต่างฝ่ายจึงค่อยกลับไปฟาดฟันกันต่อ (หรือหาทางขยายแนวร่วมเพิ่มเติม) ในสังคมการเมืองภายนอกอีกที •