ด่านช้าง 8 ปี เขย่าเก้าอี้ ‘ประยุทธ์’ ’99 พลเมือง’ กดดันเรียกร้องลาออก รักษา รธน.-วัดใจสปิริตทางการเมือง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ด่านช้าง 8 ปี เขย่าเก้าอี้ ‘ประยุทธ์’

’99 พลเมือง’ กดดันเรียกร้องลาออก

รักษา รธน.-วัดใจสปิริตทางการเมือง

 

ถึงศึกใหญ่อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจจบลงไปแล้ว แต่เหมือนมรสุมลูกใหม่จะยังคงเข้ามาถาโถมการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างหนักอีกครั้ง ที่ล่าสุด “วาระครบ 8 ปี” กำลังถูกสังคมจับตารอดูว่าจะจบลงแบบใด เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดเอาไว้ว่า “ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ไม่ว่าจะเป็นต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม”

หนึ่งสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมาก ก็คือการนับวาระครบ 8 ปี ที่ท้ายที่สุดจะต้องตีความไปแนวทางใด

เรื่องนี้มีหลายภาคส่วนวิเคราะห์แนวทางความเป็นไปได้ออกมา 3 แนวทางด้วยกันคือ

1. เริ่มนับวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ คือ 6 เมษายน 2560 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพ้นตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 5 เมษายน 2568

2. นับตั้งแต่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปี พ.ศ.2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในยุครัฐบาล คสช. และจะครบวาระ 8 ปี ใน 23 สิงหาคม 2565

3. นับเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 วันที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ

หากยึดโยงตามหลักนี้ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงเป็นนายกฯ ได้อีก 4 ปี โดยจะครบกำหนดวาระ 8 ปี ในปี พ.ศ.2570

เรื่องนี้คนที่สังคมรอดูท่าทีมากที่สุดนอกจากตัวของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ยังคงนิ่งและสงวนท่าที ก็คงหนีไม่พ้น “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ที่ส่งสัญญาณวาระประยุทธ์ 8 ปี ว่าประเด็นนี้มีคนสงสัยว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ คนที่สงสัยสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ซึ่งทราบว่าทางฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่ในส่วนของรัฐบาลไม่ได้เป็นฝ่ายส่งเพราะไม่ได้สงสัย เป็นเพียงฝ่ายตั้งรับเท่านั้น

และเมื่อถูกถามย้ำว่า หากศาลรับคำร้องเรื่องนี้ นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การจะหยุดหรือไม่อยู่ที่ศาลจะสั่งว่าอย่างไร สามารถพิจารณาเองได้ ไม่ต้องมีใครมาสอนศาล

นอกเหนือจากฝ่ายค้านที่เตรียมจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กลุ่มการเมืองและภาคสังคมก็ออกมารวมตัวกันกดดันการลาออกของ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างหนักเช่นกัน โดยการเคลื่อนขบวนของ 99 พลเมืองและนักวิชาการ ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

เพื่อรักษาหลักการรัฐธรรมนูญและหยุดความขัดแย้งในสังคม

“รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว” หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม 99 พลเมือง ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง มติชนทีวี” หลังออกมายื่นหนังสือเรียกร้อง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก่อนครบ 8 ปี เพื่อรักษาหลักรัฐธรรมนูญ และแสดงสปิริต-มโนสำนึกทางการเมือง

“99 พลเมืองออกมาเรียกร้อง เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนคนธรรมดาที่อยากจะเห็น พล.อ.ประยุทธ์แสดงความรับผิดชอบในทางการเมือง แม้ว่าเรื่องนี้จะมีข้อถกเถียงกันทางกฎหมาย ว่าจะเอากันยังไง จะครบวาระตอนไหน คิดว่าสิ่งสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพิจารณาก็คือคำว่าสปิริตและมโนสำนึกทางการเมือง ถ้าไม่ได้มองในตัวกฎระเบียบ กฎหมายเป็นตัวตั้ง ดูการดำรงตำแหน่งของท่านก็ครบ 8 ปีแล้ว”

“อันนี้คิดว่าเป็นสปิริตและเป็นมโนสำนึกทางการเมือง แล้วท่านก็บริหารเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดทางให้คนอื่นๆ บ้าง เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง ถ้าทุกอย่างมองเป็นเรื่องกฎหมาย โอเคเราก็ถกเถียงกันได้ แต่มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่ข้างหน้า พลเมือง 99 จึงได้แสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองว่าตรงนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์”

“ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล เป็นนักการเมือง วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี หรือ 2 สมัย ผมคิดว่ามันเพียงพอแล้ว เปิดทางให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศบ้าง ถามว่าใช้กฎหมายแบบนี้อ้างได้ไหม อ้างได้ เพราะสุดท้ายก็ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้เกณฑ์กติกาแบบนี้มันทำลายบรรทัดฐานทางการเมือง กติกาที่จะสืบทอดอำนาจ ผูกขาดยาวนาน แล้วบวกกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ว่าถูกร่างขึ้นมาสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับรัฐบาลชุดนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับคนกลุ่มนี้กลุ่มเดียว สร้างกติกา อ้างความชอบธรรมจากการลงประชามติ แต่ถ้าใครเห็นต่างก็จับเขาเข้าไปติดคุก ปิดปากคนทุกคนเพื่อที่จะใช้กติกาสืบทอดอำนาจ เห็นไหม มันเป็นวัวพันหลัก สุดท้ายกลับมาที่ปมความขัดแย้งเดิมของสังคม”

“ซึ่งทำให้คณะพลเมือง 99 เห็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า จึงวิงวอนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ตัดสินใจลาออกเสียก่อน ก่อนที่บ้านเมืองจะเกิดปัญหาที่ยุ่งเหยิงไปมากกว่านี้”

“เอาง่ายๆ ตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบันก็ 8 ปี ผมคิดว่าในทางการเมืองต้องประเมินทั้งในแง่มโนสำนึกทางการเมือง สปิริตทางการเมือง มิติทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ และที่สำคัญความรู้สึกคนในสังคมเวลานี้ ผมรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องประเมินทั้งหมด ถ้าใช้บรรทัดฐานใดบรรทัดฐานหนึ่งผมคิดว่าก็จะสร้างปมปัญหา”

“เพราะอย่างที่บอก กติกาฉบับนี้ก็ถูกร่างขึ้นมาเพื่อที่จะช่วงชิงความได้เปรียบของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งที่ไปทำรัฐประหารมาเมื่อปี 2557”

เมื่อถามถึงแนวทางการตีความการครบกำหนด 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์สามารถตีความแนวทางไหนได้บ้างในมุมมองของ “รศ.ดร.โอฬาร” กล่าวว่า หากอธิบายบนฐานของหลักคิด เรื่องนี้มองได้สองแนวทาง คือยึดโยงตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 158 วรรคที่ 4 และอีกทางคือยึดตามวันที่โปรดเกล้าฯ แต่สิ่งสำคัญคือมโนสำนึกและสปิริตทางการเมืองของ “พล.อ. ประยุทธ์” ที่สังคมอยากจะเห็นมากกว่า

“คิดว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้ถ้าอธิบายบนฐานของหลักคิด มันมีอยู่ 2 เรื่องเท่านั้น คือ ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญมาตราที่ 158 วรรคที่ 4 เขาไม่ได้ระบุเอาไว้ว่า 8 ปีใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับไหน ซึ่งแน่นอนก็ตีความได้ว่าใช้ได้ทุกฉบับ รวมกันแล้ว 8 ปี ถูกไหมครับ เพราะไม่ได้เขียนล็อกเอาไว้ อันนั้นก็คือกลุ่มหนึ่ง กลุ่มสองซึ่งเขามีเหตุผลว่ารัฐธรมนูญฉบับปี 2560 ประกาศใช้แล้วก็ต้องนับวันที่โปรดเกล้าฯ กฎหมายมันย้อนหลังไม่ได้ กฎหมายต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งอันนี้ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ทางนิติศาสตร์เขามอง ปัญหาคือถ้าเรามองบนหลักคิดแบบนี้จะเห็นทางออกแค่ 2 ทาง แต่ถ้าเรามองในทางรัฐศาสตร์แบบแผน ประเพณีของรัฐบาลในประเทศอารยะเขาก็จะรู้ว่าสิ่งสำคัญก็คือมโนสำนึกทางการเมือง สปิริตทางการเมือง ถ้าผู้นำอยู่มา 8 ปีแล้ว ก็น่าจะเปิดโอกาสให้กับคนอื่นๆ บ้าง”

“อย่าคิดว่าตัวเองสำคัญ อย่าคิดว่าประเทศขาดตัวเองไม่ได้ จงเชื่อมั่นว่าคนไทยจำนวนมากเขาก็มีความสามารถมีศักยภาพที่ทำหน้าที่ตรงนี้แทนได้ นี่จริงๆ พล.อ.ประยุทธ์จะสร้างคุณูปการเลยนะถ้าลาออก จะเป็นแบบอย่างให้กับตำแหน่งอื่นในการเมือง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญกับกระบวนการการพัฒนาการเมืองระยะยาวเลย” รศ.ดร.โอฬารกล่าว

“รศ.ดร.โอฬาร” ยังกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า ประเทศที่มีความเป็นอารยะทางการเมือง การดำรงตำแหน่งของผู้นำทางการเมืองจะให้ความสำคัญที่ 8 ปี 2 วาระ เพราะถือว่าเป็นตำแหน่งสาธารณะ จะผูกขาดกติกาด้วยเงื่อนไขและข้อบังคับไม่ได้ ที่สำคัญ 8 ปีผลงานการบริหารประเทศก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้สร้างผลงานเป็นที่พอใจให้กับสังคมมากแค่ไหน

 

เรื่องนี้เสมือนเป็นระเบิดที่รอเวลาชี้เป็นชี้ตาย การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าท้ายที่สุดแล้วอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือต้องจบที่วาระครบ 8 ปี

และทั้งหมดขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในอนาคตต่อจากนี้

ท่ามกลางสังคมที่พร้อมจับตาและเฝ้าติดตามบทสรุปของเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแน่นอน