เพโลซีเยือนไต้หวัน ปมแตกหักจีน-มะกัน?!/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

เพโลซีเยือนไต้หวัน

ปมแตกหักจีน-มะกัน?!

 

บรรยากาศในช่องแคบไต้หวันที่ตึงเครียดอยู่แล้ว ยิ่งระอุหนักขึ้นในทันทีที่ล้อเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาที่มีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวัย 82 ปี อยู่บนเครื่อง ได้ร่อนลงแตะรันเวย์สนามบินซงชานในกรุงไทเปของไต้หวันในช่วงกลางดึกคืนวันอังคารที่ 2 สิงหาคมตามเวลาท้องถิ่น

เป็นการตอกย้ำกระแสข่าวที่มีมาตลอดหลายวันที่ผ่านมาจนเป็นจริงว่า เพโลซีจะเดินทางมาเยือนไต้หวัน ในระหว่างการทัวร์หลายชาติในเอเชียครั้งนี้ ซึ่งเลื่อนออกมาจากกำหนดเยือนเดิมเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากเพโลซีติดเชื้อโควิด-19 แม้ในแถลงการณ์เปิดฉากการเยือนที่ออกโดยสำนักงานของเพโลซี ขณะเจ้าตัวอยู่บนเครื่องบินที่กำลังหันหัวมายังเอเชีย จะระบุถึงประเทศที่อยู่ในแผนการเยือนอย่างเป็นทางการของเพโลซีว่ามีสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยไม่มีการเอ่ยถึงว่ามีไต้หวันรวมอยู่ด้วยก็ตาม

การมาไต้หวันครั้งนี้ของเพโลซี ที่ถือเป็นนักการเมืองระดับสูงสุดของสหรัฐที่มาเหยียบดินแดนไต้หวันในรอบ 25 ปี หรือนับจากนายนิวต์ กิงริช ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในขณะนั้นเยือนไต้หวันเมื่อปี 1997

เท่ากับเป็นการเหยียบจมูกจีน โดยไม่สนใจต่อคำเตือนอย่างแข็งกร้าวของรัฐบาลปักกิ่งที่ออกมาส่งสัญญาณเตือนถี่ยิบก่อนหน้าทั้งด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้าประชิดเส้นแบ่งเขตที่เป็นที่รับรู้กันในช่องแคบไต้หวัน

หรือการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) เพื่อตั้งใจแสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐจะเท่ากับเป็นการยั่วยุคุกคามจีนและจะสั่นคลอนรากฐานความสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน

พร้อมเน้นย้ำว่าสหรัฐจะต้องเผชิญผลลัพธ์อย่างร้ายแรงและจะต้องชดใช้อย่างสาสม

แม้กระทั่งในการโทรศัพท์พูดคุยกันโดยตรงที่แทบจะเกิดขึ้นได้ยากในยามนี้ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายสีได้ย้ำเตือนกับไบเดนแล้วว่า “สหรัฐอย่าเล่นกับไฟ” ในประเด็นปัญหาไต้หวัน ดินแดนที่ทั้งโลกรับรู้ว่าจีนถือสิทธิอธิปไตยว่าเป็นจังหวัดหนึ่งของตนเองภายใต้นโยบายจีนเดียว

โดยที่การสนทนากันครั้งนั้นไบเดนเองยังกล่าวรับว่ากองทัพสหรัฐเชื่อว่าการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี ไม่ใช่ความคิดที่ดีนักในตอนนี้

ทว่า จอห์น เคอร์บี้ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐออกมาย้ำว่านโยบายของสหรัฐที่มีต่อไต้หวันไม่เปลี่ยนแปลง และการเยือนไต้หวันของนางเพโลซีก็เป็นสิทธิของเธอ

 

นั่นเป็นการตอกย้ำการดำเนินนโยบาย “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ที่รัฐบาลสหรัฐยึดมั่นมาโดยตลอด โดยขณะที่รัฐบาลสหรัฐให้การรับรองรัฐบาลปักกิ่งว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมมาตั้งแต่ปี 1979

แต่ขณะเดียวกันสหรัฐยังคงสานสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการและให้ความสนับสนุนช่วยเหลือแก่รัฐบาลไต้หวันไปพร้อมกัน รวมถึงการจัดหาอาวุธให้กับไต้หวันในการปกป้องตนเองจากภัยคุกคามใดๆ ที่มีนัยสำคัญหมายถึงจีนด้วย

การกระทำที่ย้อนแย้งดังกล่าวของสหรัฐ สร้างความไม่พอใจให้กับจีน ดังนั้น สิ่งใดหรือการกระทำใดที่จะเป็นการสร้างความชอบธรรมหรือแสดงถึงการรับรองการมีตัวตนของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ ย่อมทำให้จีนเกิดความขุ่นเคืองใจ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการมาเยือนไต้หวันของคณะผู้แทนสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในระดับเจ้าหน้าที่และสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อยู่ในตำแหน่งหรือเกษียณอายุไปแล้ว ต่างก็สร้างความไม่พอใจให้กับจีนด้วยกันทั้งสิ้น

โดยจีนจะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ให้เห็นอยู่เสมอ ที่รวมถึงการส่งเครื่องบินรบรุกเข้าไปในเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defence Identification Zone : ADIZ) ของไต้หวัน

แต่การมาเยือนไต้หวันของเพโลซีในครั้งนี้ สร้างความเดือดดาลหนักที่สุดให้กับจีน เพราะด้วยสถานะของเพโลซี ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นตำแหน่งผู้นำทางการเมืองสูงสุดลำดับที่ 3 ของสหรัฐ โดยเป็นรองเพียงประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเท่านั้น ถึงทำให้จีนเต้นหนัก

นอกจากนี้ เพโลซียังเป็นนักการเมืองแถวหน้าของสหรัฐที่มีประวัติยาวนานในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์จีนและก่นประณามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีน

เพโลซียังเคยพบปะกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต ที่จีนถือเป็นหอกข้างแคร่ของตนเอง

ขณะที่ในปี 1991 เพโลซีก็ยังเคยเยื้องกรายเข้าไปร่วมรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 1989 ด้วยตัวเองมาแล้ว

 

ในความเห็นของนักวิเคราะห์บางรายมองว่า บริบทการเยือนไต้หวันของนางเพโลซีครั้งนี้ ต่างไปจากกิงริช ที่แม้จีนจะไม่พอใจ แต่การตอบโต้ส่วนใหญ่ของจีนยังจำกัดวงอยู่ในการใช้วาทกรรมตอบโต้

แต่ครั้งนี้ปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยมองว่า 25 ปีผ่านไป จีนมีความแข็งแกร่ง ทรงอิทธิพลและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และจีนภายใต้การนำของผู้นำอย่างสี จิ้นผิง ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจีนจะไม่อดกลั้นต่อความท้าทายใดๆ ที่มีต่อผลประโยชน์ของจีน

หลังการปรากฏตัวที่ไต้หวันของเพโลซี เราได้เห็นปฏิกิริยาตอบโต้ของจีนอย่างแข็งกร้าวในทันที โดยจีนได้ส่งเครื่องบินรบกว่า 25 ลำรุกเข้าเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันในกลางดึกคืนนั้นทันที

ขณะที่กองทัพพีแอลเอของจีนก็ได้ประกาศจะซ้อมรบด้วยกระสุนจริงทั้งทางอากาศและทางทะเล และการทดสอบขีปนาวุธในน่านน้ำฝั่งตะวันออกของไต้หวันด้วย นอกเหนือจากมีการงัดมาตรการทางการค้ามาเล่นงานไต้หวันแล้ว

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจีนจะงัดอาวุธอะไรขึ้นมาตอบโต้สหรัฐและไต้หวันอีก

ที่สำคัญการเยือนไต้หวันของเพโลซี ที่มีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนที่เสื่อมทรามลงหนักอยู่แล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

จะก้าวไปถึงขั้นแตกหักสู่จุดที่เราคาดไม่ถึงหรือไม่ ต้องจับตา!