ท่องไปในไตรปิฎก : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

แม้ในตัวบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” จะนำร่องด้วยคำว่า “พุทธะ” และเน้นย้ำในคำว่า “พระศรีศากยมุนี” และรวมทั้ง

ถ้าผู้ใดอยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้างก็เป็นได้ แต่จะต้องบำเพ็ญคุณความดีให้เสมอดังพระพุทธเจ้า

“เพราะพุทธภาวะนี้เป็นคุณชาตอันหนึ่งซึ่งตั้งอยู่อย่างไม่รู้จักสุดสิ้นและเป็นนิจนิรันดร สัตว์ทั้งหมดก็เป็นผู้มีส่วนร่วมของคุณชาตอันนั้น” (สัทธัมมปุณฑริกสูตรของพระพุทธศาสนามหายาน)

หลักอันนี้แสดงให้เห็นว่าธรรมะของพระพุทธศาสนาไม่จำกัดบุคคล ชั้นวรรณะ หรือจำกัดความดีให้มีขอบเขตดังศาสนาอื่น ซึ่งแม้ผู้ใดบำเพ็ญความดีแสนดีเท่าไรก็คงยังต้องเป็นทาสของพระเจ้า จะเป็นดังพระเจ้าไม่ได้

อีกประการหนึ่ง หลักของพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุดคือหลักแห่งเหตุและผลตามเป็นจริง

พระพุทธองค์ผู้เป็นพระบรมศาสดาของเราพระองค์ทรงสอนซึ่งธรรมะทั้งหลายนั้นไม่ต้องการให้เชื่ออย่างงมงาย ที่พระองค์เทศนาสั่งสอนตลอดเวลา 44 ปีแห่งพระชนมายุก็เพื่อปลุกให้ตื่นจากความงมงายอันไร้เหตุผลของมนุษย์

แต่กระบวนการอธิบายจากนี้ไป ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ กอดแน่นอยู่กับพระไตรปิฎกอันเป็นสดมภ์หลักแห่งเถรวาท

ก่อนที่จะเชื่ออะไรนั้น พระพุทธองค์ตรัสสอนให้พิจารณาหาเหตุผลนั้นก่อน ดังปรากฏในกาลามสูตร (ติกกินิบาต อัง.) พระสูตรนี้แสดงถึงการเชื่ออย่างไม่งมงายอันเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของพวกเราชายหนุ่มทั้งหลาย

ยังมีพระสูตรอีกสูตรหนึ่งแสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการให้ใครเชื่อพระองค์อย่างงมงาย คือวัปปสูตร (อังคุตรนิกาย จตุถกนิบาต)

พระพุทธเจ้าของเราทรงเปิดโอกาสให้ผู้ไม่รู้ซักถามหรือคัดค้านได้อย่างไม่ต้องเกรงอกเกรงใจหรือเกรงว่าถ้าขืนคัดค้านจะถูกพระองค์หรือใครลงโทษ และการที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์นั้นพระองค์ไม่ได้อ้างว่าเป็นผู้แทนของใครหรือใครดลใจให้พูด

ความตรัสรู้ที่ได้นั้นเป็นด้วยความพากเพียรของพระองค์เอง

ที่พระองค์ได้บรรลุสัมโพธิญาณก็ไม่ใช่ว่าได้มาอย่างลอยๆ หรือมีใครบันดาล หากด้วยความดีงามที่พระองค์อุตสาหะสั่งสมมาในอเนกชาติจนสามารถบรรลุธรรมอันนี้

พระองค์ช่วยได้ก็เฉพาะผู้ที่ประพฤติตนดีเชื่อฟังคำสอนของพระองค์แล้วปฏิบัติ

พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นเพียงผู้บอกทางให้เราไปถึงที่อันเกษม การไปนั้นเราจะต้องไปด้วยตนเอง (คณกโมคคัลลานสูตร)

มีบางคนเข้าใจว่า ผู้ที่จะปฏบัติตามธรรมในพระพุทธศาสนานั้นต้องเป็นภิกษุ และธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นลึกซึ้งเกินไปจนตัวผู้ไม่ได้บวชเป็นภิกษุจะปฏิบัติไม่ได้

การเข้าใจดังนี้เป็นความเข้าใจผิดมาก

ความจริงธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเหมาะกับชนทุกชั้นทุกวัย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนผู้ครองเรือนหรือผู้ยังเกี่ยวด้วยโลกทรงสอนว่า

ดูก่อน พยัคฆปัชชะ ทางดี 4 อย่างคือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงเหล้า ไม่เล่นการพนัน คบคนดี ทั้ง 4 อย่างนี้ย่อมเป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์

ความเป็นผู้ศึกษามาก ศิลปะ ระเบียบวินัยที่ฝึกฝนแล้วเป็นอย่างดี และถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต การบำรุงมารดาและบิดา การสงเคราะห์ลูกเมีย การงานทั้งหลายไม่อากูล ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด (พยัคฆปัชชะสูตร และมงคลสูตร)

นี่คือธรรมะชั้นต้น มีศัพท์เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์” คือประโยชน์ในปัจจุบัน พวกหนุ่มๆ ก็สามารถประพฤติปฏิบัติได้

นี่คือความเรียงจากยุวชนซึ่งมีอายุเพียง 17 ปี และเพิ่งจบชั้น ม.5 มา

เป็นไปได้ว่า ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ อ่านหนังสืออย่างแตกฉาน ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือด้าน “เถรวาท” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือด้าน “มหายาน”

เพียงแต่จำกัดกรอบอยู่ในเงื่อนไขที่ว่าเป็นหนังสือ “ภาษาไทย” และเมื่อได้รับการช่วยเหลือชี้แนะจาก สุชีโว ภิกขุ แห่งวัดกันมาตุยาราม ก็ยิ่งทำให้ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ ได้ท่องไปในโลกแห่งพระไตรปิฎก

จึงสะท้อนออกมาเป็นบทความ “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม”