มนัส สัตยารักษ์ : INVESTIGATION REPORT

เมื่อหลายวันก่อน แหล่งข่าวจากกรรมการปฏิรูปตำรวจรายงานว่า ในการประชุมคณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้เกิดวิวาทะระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการ ในประเด็น “กระจายอำนาจตำรวจ”

เนื่องจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่เห็นด้วยในบางกรณี เพราะจะทำให้การทำงานของตำรวจยาก เช่น การสั่งการใช้ตำรวจหลายร้อยคนคุมฝูงชน การรักษาความปลอดภัย อย่างในกรณีโครงการรับจำนำข้าว ฯลฯ หากมีการกระจายอำนาจจะทำให้สั่งการได้ยากขึ้น

นักข่าวอิสระฯ บรรยายสถานการณ์ของวิวาทะครั้งนี้ว่า “ซัดกันนัว”…

นายเสรีสวนกลับว่า อย่าเอาเหตุการณ์เดียวมาเป็นเหตุผลให้ไม่ปฏิรูปตำรวจ ซึ่งคงจะทำให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ไม่พอใจที่ถูกหาว่าต่อต้านการปฏิรูป

ทำให้ทั้งสองฝ่ายพาดพิงถึงแต่ละฝ่าย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์พูดว่า “ทุกอาชีพมีคนไม่ดีปะปนอยู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับอาชีพทนายความก็มีคนเลวปะปนอยู่ด้วย”

ทำให้นายเสรีสวนกลับทันทีว่า “ในห้องประชุมนี้ไม่มีทนายความเลวแน่นอน”

อันที่จริง เท่าที่ทราบมา นายเสรีแทบจะไม่ได้ “ว่าความ” ตามประสาของทนายความอาชีพสักเท่าใด ส่วนใหญ่จะเป็นนักเคลื่อนไหวของสังคมและการเมืองมากกว่า

นายเสรีเคยสมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกสภาทนายหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือก ทั้งนี้ อาจจะด้วยบุคลิกที่ดูแข็งกร้าว หน้าตาซีเรียส มีภาษากายที่ทำให้คนรอบข้างระวังตัว ไม่สุขุมเยือกเย็นและมีหลักการอย่าง นายสัก กอแสงเรือง (ผู้ได้รับเลือก) ก็อาจเป็นได้

ผมเดาว่าวิวาทะครั้งนี้อาจจะมาจากภาษากายของนายเสรี ทำให้ ผบ.ตร. อ่านได้ทำนองว่า “บ้านเมืองวิกฤตมีปัญหาเพราะตำรวจ!”

อย่างไรก็ตาม หลังจากโต้ตอบกันไปมา สุดท้ายที่ประชุมก็แขวนประเด็น “การกระจายอำนาจตำรวจ” ไว้ก่อน

ทีนี้ก็ถึงเวลาถกแถลงเรื่อง “งานสอบสวน” กันเสียที

เป็นการถกแถลงอีกครั้ง (หลังจากเขียนมาหลายครั้งแล้ว) โดยที่คราวนี้จะถือว่าเป็นการ “สรุป” ก่อนคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะมีมติออกมาเป็นครั้งสุดท้ายว่าจะเอาอย่างไร

ซึ่งผมจะแยกออกเป็น 3 เซ็กชั่นหรือ 3 ส่วน เพื่อไม่ให้สับสนกัน ดังนี้

ส่วนแรก เป็นข้อเสนอของ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเสนอให้แยกงานปฏิรูปตำรวจออกจาก สตช. ไปอยู่กับ สนง.อัยการสูงสุด

ส่วนที่สอง เป็นข้อเสนอจากการแถลงของ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ กรรมการปฏิรูปตำรวจ เสนอรวมงานสืบสวนสอบสวน คงสังกัด สตช. แต่ต้องมีความเป็นอิสระ

ส่วนที่สาม เป็นข้อคิดหรือความเห็นของคนที่ไม่ได้เป็นกรรมการปฏิรูปฯ… เป็นบางส่วนในบางบทความของ พล.ต.ท.อมรินทร์ เสียมสกุล ผู้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับงานสอบสวน และ พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลปวุฒิ มือกฎหมายของตำรวจ

ส่วนความเห็นของ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช และคนอื่นๆ ซึ่งกล่าวมาหลายครั้งแล้ว ขอยืนยันว่ายังคงอยู่และจะไม่ยกมากล่าวซ้ำอีก

นายเสรี สุวรรณภานนท์ โพสต์ไว้ในเพจของตัวเอง อ้างเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่ให้มีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนคfuอาญา ให้มีการถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม

ดังนั้น จึงเสนอให้มีหน่วยสอบสวนที่ขึ้นตรงกับสำนักงานอัยการสูงสุด แยกออกมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ซึ่งเท่ากับว่า สนง.อัยการสูงสุดจะมีพนักงานสอบสวนเป็นของตัวเอง ที่จะคอยตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของพนักงานสอบสวนของ สตช. โดยพนักงานสอบสวนของพนักงานอัยการ (ไม่มีชั้นยศ) มีอำนาจเข้าไปทำหน้าที่สอบสวนคดีที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือคดีที่อัยการเห็นควรให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมหรือคดีสำคัญที่อัยการเห็นควรเข้าไปร่วมสอบสวนด้วย

นายเสรีเสนอว่า ในเบื้องต้นหรือในวาระเริ่มแรกคงให้สิทธิพนักงานสอบสวนเดิมสามารถเลือกได้ว่าประสงค์จะเป็นพนักงานสอบสวนที่ขึ้นอยู่กับ สตช. หรือไปขึ้นอยู่กับ สนง.อัยการสูงสุด

ในอนาคตหากพนักงานสอบสวนของ สตช. ทำงานแล้วไม่มีประสิทธิภาพจริง หรืองานสอบสวนควรแยกออกจาก สตช. ทั้งหมด ก็จะเกิดการพัฒนาให้มีการแยกงานสอบสวนทั้งหมดออกไปจาก สตช. ไปขึ้นอยู่กับ สนง.อัยการสูงสุดได้ คือ เป็นการเอาผลงานมาวัดกันเป็นเครื่องพิสูจน์

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ กรรมการปฏิรูปฯ อีกท่านหนึ่งแถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ เกี่ยวกับโครงสร้างของพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในเบื้องต้น

กรรมการปฏิรูปตำรวจเห็นด้วย รวมงานสืบสวน-สอบสวน คงสังกัด สตช. แต่ต้องมีความเป็นอิสระ

“เหตุผลที่ต้องนำเรื่องสืบสวนสอบสวนมารวมกันนั้น เพราะว่าทั้ง 2 เรื่องนี้แยกจากกันไม่ออก การได้มาซึ่งหลักฐานไปสู่การสอบสวนนั้นต้องมาจากการแสวงหาหลักฐานที่เรียกว่าการสืบสวน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกที่แยกออกจากกันจึงต้องให้มาอยู่รวมกันเพื่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่”

เมื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะทำให้งานสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซง พล.ต.อ.ชัชวลาย์กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอในเรื่องนี้แต่ยังไม่ยุติ โดยให้หัวหน้าสถานีไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อคดี แต่อาจเข้าไปช่วยดูแลเรื่องบุคลากร งบประมาณ เป็นต้น

“จะต้องคิดหาวิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไร ไม่ให้ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหัวหน้าก้าวก่ายทำให้รูปคดีเสียหาย การทำเพื่อช่วยใคร จะต้องทำไม่ได้ ต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้การปฏิรูปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร”

พล.ต.ท.อมรินทร์ เนียมสกุล นักเขียน/นักแปล, อดีต ผบช.สตม. เขียนให้ความรู้ไว้ว่า “ไปดูงานมาหลายประเทศ เอาเฉพาะที่ใช้ภาษาอังกฤษก็เห็นได้ชัดว่า ตำรวจเขาส่ง Investigation report (สำนวนการสืบสวน หรือจะเรียกว่ารายงานการสืบสวนก็ได้) ไปให้อัยการ ไม่มีที่ไหนเขาส่ง Enquiry report (สำนวนการสอบสวน) กันเลย ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่สามารถพานายตำรวจนักเรียนไปศึกษาดูงานเรื่องการสอบสวนที่ไหนเลย มีแต่ไปดูเทคนิคการสอบปากคำผู้ต้องหาหรือพยาน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานสืบสวน ไอ้กันใช้คำว่า interview ด้วยซ้ำไป ไม่ได้ใช้คำว่า interrogation แบบอังกฤษ

ส่วน พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลปวุฒิ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กว่า “การปฏิรูปตำรวจโดยไม่ได้ศึกษาว่าระบบกฎหมาย ระบบบริหารงานตำรวจ และปัญหาอุปสรรค กับตัวแบบของโลกที่เขาใช้ในการบริหารงานตำรวจ คืออะไรบ้าง ผมมองว่าตลกหกฉาก”

“องค์กรตำรวจคือองค์กรสำคัญที่สุดในการดำรงอยู่ของสังคม การทำลายประเทศหรือความมั่นคงของชาติ อันดับแรก คือ ต้องทำลายความเชื่อถือขององค์กรตำรวจก่อน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมทราม จนกลายเป็นรัฐล้มเหลว” ดร.สรุป