บทเรียน ก.ล.ต.สางปม ‘ซิปเม็กซ์’ เดินหน้า ไล่เช็กบิลผู้บริหาร เร่งออกกฎคุ้มครองรายย่อย/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

บทเรียน ก.ล.ต.สางปม ‘ซิปเม็กซ์’

เดินหน้า ไล่เช็กบิลผู้บริหาร

เร่งออกกฎคุ้มครองรายย่อย

 

การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังถูกสั่นคลอน หลังเกิดกรณีปัญหาบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ผู้ถือใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ที่เริ่มจากบริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) (Zipmex Thailand) ประกาศขอระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซี่ชั่วคราว

ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังบานปลายไม่จบ ถึงขั้น Zipmex ประเทศสิงคโปร์ ได้ยื่นขอพักชำระหนี้ (Moratorium Relief) ต่อศาลสิงคโปร์ โดยศาลนัดพิจารณาคำขอพักชำระหนี้ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

โดยจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายในประเทศไทยหลายพันราย ซึ่งได้รวมตัวกันเข้าขอคำปรึกษาจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (สอท.1) ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียหายดังกล่าวระบุว่า สมาชิกในกลุ่มมีมูลค่าเสียหายรวมกันกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต่อมากลุ่มผู้เสียหายได้รวมตัวกันบุกไปที่สำนักงาน ก.ล.ต.ด้วย

นอกจากความเสียหายแล้ว อีกมุมหนึ่งก็คือ บริษัทยังมีความเชื่อมโยงกับหลายตระกูลดัง ที่เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง และผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จนทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าผู้กำกับจะกล้าจัดการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

 

ขณะที่นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า ก.ล.ต.ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อ Zipmex ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิด 3 ประการ

1. ผิดกฎ Trading Rules คือระงับการซื้อขายในบัญชีซื้อขายโดยไม่มีเหตุอันควร เนื่องจากบริษัทขออนุญาตซื้อขาย 24 ช.ม. 7 วัน

2. เข้าข่ายประกอบธุรกิจอื่นที่ ก.ล.ต.ไม่ได้อนุญาต โดยเฉพาะ ZipUp+ ซึ่งเชื่อมโยงกับการโอนเงินไปที่บริษัทแม่ที่สิงคโปร์

และ 3. ความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องพิจารณาทีละประเด็น เนื่องจากความผิดอื่นจะไม่เข้าตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.

“ตามกฎหมายประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ ที่มีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวยืนยัน

 

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทซิปเม็กซ์ พยายามชี้แจงว่า ที่ผ่านมา บริษัทปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อย่างเคร่งครัดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ ZipUp ในอดีต หรือ ZipUp+ นอกจากนี้ หลังเกิดปัญหาบริษัทก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการจัดตั้งศูนย์บริการลูกค้าพิเศษ (Hotline) ขึ้นมาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

พร้อมยืนยันว่า จะทยอยเปิดให้บริการ Z Wallet โดยจะเป็นการเครดิตไปที่ Trade Wallet เริ่มจาก 5 เหรียญ ได้แก่ ADA, SOL, XRP, BTC และ ETH ภายใน 2 สัปดาห์นี้

หลังเกิดปัญหาขึ้น เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม คณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้ประชุมกันอย่างเคร่งเครียดยาวนานถึง 4 ชั่วโมง เกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยสั่งให้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ไปพิจารณาว่า Zipmex มีการกระทำผิดตามข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องดำเนินการเอาผิดอย่างตรงไปตรงมา แม้จะมีความเกี่ยวข้องกับตระกูลนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก็ตาม

ทั้งนี้ บอร์ด ก.ล.ต.มีแผนที่จะปรับแก้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากกฎหมายที่ออกมาในยุคก่อนหน้านี้ เน้นให้ผู้รับใบอนุญาต self regulation คือ กำกับตัวเอง ซึ่งไม่สอดรับกับผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ที่มุ่งในเรื่องของการหาผลตอบแทน ขณะที่บทลงโทษในกฎหมายที่มีอยู่ก็เบาเกินไป

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีปัญหา Zipmex Thailand ตอนนี้ ทาง ก.ล.ต.ได้ประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองปราบปราม รวมถึงประสานหน่วยงานกำกับในประเทศสิงคโปร์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเรียกผู้บริหาร Zipmex มาชี้แจง

“การกำกับดูแลที่เข้มงวด และการดูผลประโยชน์ของผู้ลงทุน เป็นหลักการสำคัญที่ได้ฝากไว้ ขณะที่การดูแลนักลงทุนผู้เสียหาย อาจจะต้องไปดูขอบเขตของกฎหมายว่า Zipmex ได้ทำธุรกรรมนอกเหนือขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ก.ล.ต.ที่เป็นหน่วยงานดูแลกำกับอย่างใกล้ชิด และกระทรวงการคลังได้กำชับมาโดยตลอดว่า ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อสินทรัพย์ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดตามใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด” นายอาคมกล่าว

โดยตอนนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต.รายงานเข้ามาเป็นระยะถึงสถานการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเข้าไปดูทั้ง 2 ด้าน คือ บริษัทและลูกค้า แต่จะเน้นไปทางด้านบริษัทมากกว่า

“จะต้องให้บริษัทรับผิดชอบผู้เสียหายรายย่อย หน่วยงานกำกับก็ต้องดูแลใกล้ชิด อย่างสถาบันการเงินก็จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำกับ ในด้านตลาดทุน คริปโตเคอร์เรนซี่ เราก็มีกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2561 ดังนั้น คนที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ก็คือ ก.ล.ต.” นายอาคมกล่าว

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า ส่วนจะมีการปรับปรุงกฎหมายหรืออะไรเพิ่มเติมนั้น ก็อยู่ระหว่างให้ ก.ล.ต.ดูอยู่ว่าจะต้องมีการปรับปรุงจุดไหน ทั้งในเรื่องของคริปโตฯ และสินทรัพย์ดิจิทัล

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญกฎหมายให้ความเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่ไม่มีการออกกฎเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้บริการผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างชัดเจนและเหมาะสม จึงเกิดเป็นสุญญากาศทางการกำกับดูแลที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการทดลองให้บริการผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอน หรือการตรวจสอบที่เข้มงวดดังเช่นการตรวจตรากำกับธุรกิจการเงิน

ซึ่งทางออกในการแก้ปัญหา ทางสำนักงาน ก.ล.ต.อาจต้องอาศัยมาตรา 27 ที่เปิดช่องให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดเงื่อนไขทั่วไปเพิ่มเติมได้ เพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากมีกรณีจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

นอกจากนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต.อาจพิจารณาอำนาจตามมาตรา 35 ซึ่งให้อำนาจสั่งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ดำเนินการ หรือหยุดดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน

ทั้งนี้ คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ทาง ก.ล.ต.จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปอย่างไร ซึ่งสังคมต่างกำลังจับตาการทำงานของหน่วยงานกำกับแห่งนี้อย่างจดจ่อ ว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมาเพียงใด และสุดท้ายแล้ว จะหาวิธีใดมาล้อมคอกปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้