‘คนชนะเขียนประวัติศาสตร์ คนแพ้เขียนเพลง’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง
Mick Moloney / Credit: Getty Images - Getty

คนมองหนัง

 

‘คนชนะเขียนประวัติศาสตร์

คนแพ้เขียนเพลง’

 

“มิก โมโลนีย์” ศิลปิน-นักดนตรี นักคติชนวิทยา และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรม-เพลงพื้นบ้านไอริช เพิ่งเสียชีวิตเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในบ้านพักที่แมนฮัตตัน ขณะมีอายุ 77 ปี หลังจากก่อนหน้านั้นหนึ่งสัปดาห์ เขาเพิ่งเดินทางไปแสดงดนตรีที่รัฐเมน

มิก หรือ “ไมเคิล โมโลนีย์” เกิดที่ลิเมอริก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไอร์แลนด์ ในครอบครัวที่มีลูกๆ 7 คน พ่อของเขาทำงานเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยุการบินประจำท่าอากาศยานแชนนอน ขณะที่แม่เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง

โมโลนีย์เริ่มเรียนและฝึกฝนเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้ฟังการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านไอริชที่ลิเมอริกมากนัก เขาจึงต้องเดินทางข้ามไปฟังและอัดเสียงการแสดงดนตรีแนวนี้ตามผับต่างเมือง

ในวัยหนุ่ม “มิก โมโลนีย์” เป็นสมาชิกของวงดนตรีโฟล์ก ซึ่งได้เดินทางไปบันทึกเสียงและออกทัวร์ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน เขาก็จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ดับลิน และเคยทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือชุมชนผู้อพยพในกรุงลอนดอนอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ

ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานและศึกษาต่อที่สหรัฐ กระทั่งจบปริญญาเอกสาขาคติชนวิทยาและวิถีชีวิตพื้นบ้านจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

โมโลนีย์เคยสอนหนังสือวิชามานุษยดนตรีวิทยา คติชนวิทยา และไอริชศึกษา ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง แล้วไปบุกเบิกศูนย์ไอริช-อเมริกันศึกษา ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (เอ็นวายยู) กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น

 

ในฐานะคนดนตรี “มิก โมโลนีย์” ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดนักดนตรีผู้มีฝีมือรอบด้าน เขาร้องเพลงได้ รวมทั้งเล่นกีตาร์ แมนโดลิน และแบนโจได้ดี โดยเครื่องดนตรีที่เขามีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ก็คือ “เทเนอร์ แบนโจ”

โมโลนีย์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรื้อฟื้นบทเพลงพื้นบ้านไอริชจากศตวรรษที่ 19-20 (ซึ่งเพลงจำนวนมากไม่ได้ถูกบันทึกเสียงเอาไว้ หรือไม่เคยได้รับการบันทึกเป็นโน้ตเพลงลงในแผ่นกระดาษ) และพยายามเผยแพร่ดนตรีแนวนี้ไปยังกลุ่มผู้ฟัง-ผู้ชมวงกว้าง

จากเดิมที่ดนตรีพื้นบ้านแขนงดังกล่าวมักถูกจำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ เช่น ในเทศกาลวันนักบุญแพทริก ในไอริชผับ หรือในวัฒนธรรมการร้อง-เต้น-เล่านิทานยามเย็นตามวิถีชีวิตของชาวไอริช

นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี-คณะนักแสดงชื่อ “กรีน ฟิลด์ส ออฟ อเมริกา” ในปี 1978 เพื่อออกตระเวนเล่นดนตรีและโชว์เต้นระบำแนวไอริชไปทั่วสหรัฐ

“มิก โมโลนีย์” เป็นนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตผลงานเพลงมากกว่า 125 อัลบั้ม หนึ่งในบทบาทโดดเด่นของเขา ก็คือการพยายามผลักดันให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมดนตรีพื้นบ้านไอริชมากขึ้น

เพราะจนถึงทศวรรษ 1980 นักดนตรีส่วนใหญ่ในแวดวงนี้ก็ยังเป็นผู้ชาย แต่โมโลนีย์ชี้ว่าผู้หญิงหลายคนก็สามารถเล่นดนตรีได้ดีเช่นกัน นำไปสู่การก่อตั้งเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตเพลงพื้นบ้านไอริชที่ขับเน้นศักยภาพของนักดนตรีหญิง ตลอดจนการผลิตอัลบั้มของวงดนตรีหญิงล้วนที่ร่วมกันบรรเลงเพลงไอริช

 

ในฐานะนักวิชาการ “มิก โมโลนีย์” สนใจสำรวจตรวจสอบสายสัมพันธ์ระหว่างรากเหง้าของวัฒนธรรมดนตรีแบบไอริช แอฟริกัน กาลิเซียน (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปน) และอเมริกัน

เขาศึกษาเรื่องความขัดแย้งระหว่างชุมชนไอริชอเมริกันกับแอฟริกันอเมริกันในศตวรรษที่ 19-20 และเสนอว่าท่ามกลางภาพลักษณ์อันเป็นปฏิปักษ์ ทั้งสองชุมชนกลับมีวัฒนธรรมดนตรีและการเต้นที่คล้ายคลึงกัน

โมโลนีย์ยังใส่ใจกับความสัมพันธ์-ชะตากรรมร่วมของคนไอริชและคนยิว ซึ่งเป็นผู้อพยพกลุ่มใหญ่ในสังคมอเมริกัน

เมื่อปี 2002 เขาเคยเขียนหนังสือ (ขายคู่กับแผ่นซีดีเพลง) ที่บอกเล่าเรื่องราวการอพยพหลบหนีภาวะอดอยากของชาวไอริชอเมริกัน ผ่านมิติทางด้านเสียงเพลงภายหลังยุคสงครามกลางเมืองในสหรัฐเป็นต้นมา

โดยนักวิชาการผู้นี้ได้ให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทม์สว่า “สิ่งที่ดำรงอยู่ตรงใจกลางประสบการณ์ชีวิตของชาวไอริชอเมริกันก็คือความรู้สึกของการถูกบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐาน จากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศ จากสังคมชนบทสู่การมีวิถีชีวิตที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น… มันมีความรู้สึกที่เชื่อมโยงถึงกันข้ามผ่านมหาสมุทร แต่ก็มีความรู้สึกของการสูญเสียอันลึกซึ้งด้วย”

ในปี 1999 “มิก โมโลนีย์” ได้รับรางวัล “ภาคีสมาชิกมรดกแห่งชาติ” ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับพลเมืองอเมริกัน ที่มุ่งสร้างสรรค์-อนุรักษ์ผลงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและพื้นบ้าน

ในปี 2013 เขาได้รับรางวัลจากประธานาธิบดีของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ในฐานะคนไอริชนอกประเทศ ที่สร้างเกียรติคุณให้แก่บ้านเกิด

กระนั้นก็ตาม โมโลนีย์เลือกนิยามว่าตนเองมีความเป็น “นักดนตรี” มากกว่า “นักวิชาการ” ดังในบทสัมภาษณ์กับเดอะวอลล์ สตรีตเจอร์นัลเมื่อปี 2015 ซึ่งเขาบอกว่า “บนแผ่นหินเหนือหลุมฝังศพของผม ผมอยากให้พวกเขาจารึกข้อความไว้ว่า ผมเป็นนักเล่นแบนโจ”

 

ตลอดช่วงสองทศวรรษหลังของชีวิต “มิก โมโลนีย์” พำนักและเล่นดนตรีอยู่ที่บ้านสองหลัง หลังแรกคือบ้านในแมนฮัตตัน หลังถัดมาคือบ้านในกรุงเทพมหานคร

ที่กรุงเทพฯ โมโลนีย์มีคู่ชีวิตเป็นชาวไทย และเขาได้ทำงานเป็นอาสาสมัครด้านดนตรีบำบัด รวมทั้งสอนดนตรีให้กับเด็กกำพร้าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ “ศูนย์เมอร์ซี่” ในชุมชนแออัดคลองเตย

จึงไม่แปลกที่นักดนตรี-นักวิชาการผู้นี้จะเคยออกเล่นดนตรีตามไอริชผับในเมืองไทย ทั้งยังเคยขึ้นแสดงดนตรีและบรรยายเรื่อง “ดนตรีกับการเมือง” ในงานประชุมวิชาการหัวข้อ “ผู้คน ดนตรี ชีวิต” เมื่อปี 2552 ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นหลายคน จดจำ “มิก โมโลนีย์” ได้แม่นยำผ่านวรรคทองที่เขาเอ่ยขึ้นบนเวทีว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ ผู้แพ้ (ได้แต่) เขียนเพลง” ซึ่งอ้างอิงมาจากบทเพลงไอริชพื้นบ้านชื่อ “Those in Power Write the History, Those who Suffer Write the Songs” •

 

ข้อมูลจาก

https://www.nytimes.com/2022/08/01/arts/music/mick-moloney-dead.html

https://www.washingtonpost.com/obituaries/2022/07/29/mick-moloney-irish-music-dies/