เพิ่ม ‘อุดหนุนรายหัว’ 4 ปี 4 สเตป เด็ก ‘เรียนฟรีทิพย์’ แต่ ‘รัฐบาล’ ได้หน้า?? / การศึกษา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

การศึกษา

 

เพิ่ม ‘อุดหนุนรายหัว’ 4 ปี 4 สเตป

เด็ก ‘เรียนฟรีทิพย์’

แต่ ‘รัฐบาล’ ได้หน้า??

ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยไปแล้ว สำหรับการ “ปรับ” อัตรา “เงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียน และเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถม ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก

โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2566-2569 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ

หลังจาก ศธ.ไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว มาเป็นเวลามากกว่า 10 ปี โดยครั้งหลังสุดที่มีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัว คือเมื่อปีการศึกษา 2553

การปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งล่าสุดนี้ จำแนกตามรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ

1. ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน อ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ผู้เรียนการศึกษาชั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป

และ 2. ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริง สำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุด เฉพาะนักเรียนยากจน ที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ส่วนค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่

1. ค่าจัดการเรียนการสอน

และ 2. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันได ในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2569 ซึ่งปัจจุบัน หรือปีงบฯ 2565 รัฐให้เงินอุดหนุนประมาณ 46.482 ล้านบาท

โดยปีที่ 1 หรือปี 2566 งบฯ 48,741.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 2,259.22 ล้านบาท ปีที่ 2 หรือปี 2567 งบฯ 50,399.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 1,657.50 ล้านบาท ปีที่ 3 หรือปี 2568 งบฯ 52,612.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 2,213.16 ล้านบาท และปีที่ 4 หรือปี 2569 งบฯ 54,548.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2568 จำนวน 1,936.58 ล้านบาท

รวมเงินอุดหนุนระยะเวลา 4 ปี 206,301.88 ล้านบาท!!

 

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงเหตุผลที่รัฐบาลปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวฯ 5 รายการ ว่า จากผลการสำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า อัตราเงินอุดหนุนปัจจุบันต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริง ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และสถานศึกษา ที่ไม่ได้ปรับมามากกว่า 10 ปี ยกเว้นค่าหนังสือเรียนที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ราคาสินค้าบริการ และค่าครองชีพ กลับปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้สถานศึกษาระดมเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ อาทิ เงินค่าบำรุงการศึกษา เงินบริจาคเงินรายได้สถานศึกษา ทำให้ผู้เรียน และผู้ปกครอง ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น

การปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนครั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ศธ.ใช้ข้อมูลจำนวนนักเรียน และข้อมูลนักเรียนยากจน ปี 2564 ที่มีนักเรียนยากจนคิดเป็น 18% ของนักเรียนทั้งหมด ในการนำมาประเมินแนวโน้มในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้เรียนการศึกษาในระบบ และนอกระบบ ซึ่งการศึกษาในระบบปี 2560-2563 มีจำนวนผู้เรียนลดลง 0.8% ขณะที่การศึกษานอกระบบ ปี 2561-2565 ผู้เรียนลดลงประมาณ 8.7% ต่อปี

ซึ่งรัฐบาลมองว่า การปรับอัตราเงินอุดหนุนครั้งนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา

ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แจกจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครม.อนุมัติเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯ ครอบคลุม 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้น 20% ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้น 15% ค่าเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมได้ไม่เต็มชุด รอบนี้ได้เต็ม 1 ชุด และเพิ่มอีก 1 ชุด สำหรับเด็กยากจน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิม 30%

ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียนมากกว่า 11.5 ล้านคน…

อย่างไรก็ตาม แม้ ครม.จะปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวแบบขั้นบันไดต่อเนื่องกัน 4 ปี แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับรายจ่ายพี่พุ่งพรวดขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้ปรับเพิ่ม 100% ครั้งเดียว หรืออย่างน้อยครั้งละ 50% ต่อเนื่อง 2 ปี แทนที่จะปรับเพิ่มปีละ 25% ต่อเนื่อง 4 ปี

เพราะนอกจากปัจจุบัน จะเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข้าวยากหมากแพง ค่าครองชีพพุ่งสูงปรี๊ดแล้ว ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ยาวนานต่อเนื่องถึง 3 ปี

แต่ดูเหมือนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยืนยันว่าการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนครั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปสำรวจค่าใช้จ่ายที่ “สะท้อน” ความเป็นจริง และต้องจัดทำควบคู่กับสำนักงบประมาณ เพื่อให้ได้ “ราคากลาง”!!

 

อย่างไรก็ตาม หากมองอัตราเงินอุดหนุนรายหัวที่นักเรียนระดับชั้นต่างๆ ได้รับอยู่ในปัจจุบัน ทั้ง 5 รายการ มีดังนี้

1. ค่าจัดการเรียนการสอน เงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนปกติ ก่อนประถม 1,700 บาท/คน/ปี ประถม 1,900 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 3,500 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 3,800 บาท/คน/ปี ระดับ ปวช.1-3 11,736 บาท/คน/ปี

2. ค่าหนังสือเรียน ก่อนประถม 200 บาท/คน/ปี ชั้น ป.1 656 บาท/คน/ปี ชั้น ป.2 650 บาท/คน/ปี ชั้น ป.3 653 บาท/คน/ปี ชั้น ป.4 707 บาท/คน/ปี ชั้น ป.5 846 บาท/คน/ปี ชั้น ป.6 859 บาท/คน/ปี ชั้น ม.1 808 บาท/คน/ปี ชั้น ม.2 921 บาท/คน/ปี ชั้น ม.3 996 บาท/คน/ปี ชั้น ม.4 1,384 บาท/คน/ปี ชั้น ม.5 1,326 บาท/คน/ปี ชั้น ม.6 1,164 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 2,000 บาท/คน/ปี

3. ค่าอุปกรณ์การเรียน ก่อนประถม 200 บาท/คน/ปี ประถม 390 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 420 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 460 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 460 บาท/คน/ปี

4. ค่าเครื่องแบบนักเรียน ก่อนประถม 300 บาท/คน/ปี ประถม 360 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 450 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 500 บาท/คน/ปี ระดับ ปวช.1-3 900 บาท/คน/ปี

และ 5. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ประกอบด้วย กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมคุณธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ทัศนศึกษา และการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ดังนี้ ก่อนประถม 430 บาท/คน/ปี ประถม 480 บาท/คน/ปี มัธยมต้น 880 บาท/คน/ปี มัธยมปลาย 950 บาท/คน/ปี และระดับ ปวช.1-3 950 บาท/คน/ปี

สำหรับเรตเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ที่เพิ่มจากปัจจุบันนั้น ที่ผ่านมา ผู้บริหาร สกศ.ระบุว่า วิเคราะห์การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวโดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) งบฯ รายจ่ายของประเทศ อัตราเงินเฟ้อของไทย บวกกับเรตที่ไม่ได้ปรับเพิ่ม 10 กว่าปี

จนเป็นที่มาของการเสนอให้ปรับเงินอุดหนุนรายหัว เพิ่มขึ้นเท่าตัว!!

 

ล่าสุด ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ออกมาขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ตรีนุช โดยระบุว่ามีนักเรียนโรงเรียนเอกชนกว่า 2 ล้านคน ที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้

แต่ได้ฝากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ช่วยผลักดัน “เงินอุดหนุนอาหารกลางวัน” ให้นักเรียนเพิ่มด้วย เพราะปัจจุบันได้หัวละ 21 บาท ในขณะที่ต้นทุนอาหารสูงขึ้น ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กลำบากมาก

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ฟันธงว่าการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนครั้งนี้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้แค่ 20% อีก 80% ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ สะท้อนว่าเรียนฟรี 15 ปี ไม่มีอยู่จริง เป็น “เรียนฟรีทิพย์”

พร้อมทิ้งท้ายว่า การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้ ถือเป็นการ “ซ่อม” ผลงานทางการเมืองของรัฐบาล เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีผลงานด้านการศึกษาเลย เมื่อใกล้จะหมดวาระ จึงผลักดันเรื่องนี้ เชื่อว่าผลงานนี้จะถูกนำไปใช้หาเสียงทางการเมือง…

เรียกว่าการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนฯ รอบนี้ นอกจาก “นักเรียน” จะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่แน่ๆ “รัฐบาล” ได้หน้าไปเต็มๆ!! •