คุยกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เรื่อง ‘ชัชชาติ’ และ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

คุยกับ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’

เรื่อง ‘ชัชชาติ’ และ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’

 

1เมษายน 2565 คณะก้าวหน้าเปิดตัวข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 14 ว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้ชื่อแคมเปญว่า “ปลดล็อกท้องถิ่น” มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหา 4 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง “ปลดล็อกงาน” คือ เพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยหลักในการจัดทำงานบริการสาธารณะ

สอง “ปลดล็อกเงิน” คือ เพิ่มงบประมาณและการหารายได้ใหม่ให้ท้องถิ่น

สาม “ปลดล็อกคน” คือ เพิ่มความดึงดูดของงานการเมือง-ราชการในส่วนท้องถิ่น

และสี่ “ปลดล็อกอำนาจ” คือ เพิ่มอำนาจประชาชน คืนอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คณะก้าวหน้าเดินหน้าประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสามเดือน โดยลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้พวกเขาได้รับทราบถึงความสำคัญในการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ตัวแทนคณะก้าวหน้าและเครือข่ายจึงได้นำรายชื่อประชาชน 80,772 คนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

 

หลังจากนั้น ทีมข่าวการเมืองมติชน ทีวี มีโอกาสสนทนากับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” (มีคลิป) ประธานคณะก้าวหน้า ซึ่งคาดหวังกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นอย่างสูง

“คาดหวังมากๆ ครับ ด้วยความเชื่อส่วนตัว ผมว่าการกระจายอำนาจเป็นทางที่จะปลดปล่อยศักยภาพของประเทศไทยออกมาได้ ถ้าเราไม่ปลดปล่อยเรื่องอำนาจ งบประมาณ ให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง เราก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทที่ค่อยๆ ทิ้งห่างกันไปมากขึ้นอย่างนี้”

“ผมเชื่อว่านี่เป็นทางรอด นี่เป็นการระเบิดพลังทางเศรษฐกิจ ระเบิดพลังทางความคิดสร้างสรรค์ของคนทั้งประเทศออกมา”

“เมืองต่างๆ ในต่างประเทศเขาจะเจริญได้ แม้จะไม่ใช่เมืองหลวงก็ตาม อย่างญี่ปุ่นเมืองหลวงคือโตเกียว แต่โอซากาก็เจริญไม่แพ้กัน ฮิโรชิมา โยโกฮามา ก็เจริญไม่แพ้กัน”

“ดังนั้น ถามว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เมืองต่างๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวงในต่างประเทศเจริญเติบโตได้ คำตอบก็คือเมืองแต่ละเมืองมีอำนาจ มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการตัวเอง”

“ผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุน เพราะว่าพรรคการเมืองหลายพรรค เมื่อครั้งหาเสียงการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ก็หาเสียงเรื่องการกระจายอำนาจเรื่องนี้เหมือนกัน”

“ก็หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากประชาชนไม่ช่วยกันเปล่งเสียง” ธนาธรเกริ่นนำก่อนลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“เนื้อหาในการแก้ไขของเราพูดง่ายๆ คือปลดล็อกอำนาจ สิ่งต่างๆ ที่ท้องถิ่นทำไม่ได้หรือเกรงว่าทำไปแล้วจะผิดกฎ ก็จะเปิดล็อกให้บริการสาธารณะในท้องถิ่นทั้งหมด อำนาจเต็มอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล อบจ. ดังนั้น ปลดล็อกแรก คือ ปลดล็อกเรื่องอำนาจ”

“ปลดล็อกที่สอง คือ เรื่องงบประมาณ เราเห็นการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ที่รัฐบาลส่วนกลางถึง 70% อยู่ที่รัฐบาลท้องถิ่น 30% ทำให้การบริการสาธารณะที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายทำได้ไม่เต็มที่”

“ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการเรื่องขยะ เรื่องศูนย์เด็กเล็ก หรือว่าเรื่องน้ำประปา ดังนั้น ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณเพียงพอ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการปรับปรุงแก้ไข ประชาชนจะเข้าถึงการบริการสาธารณะ การพัฒนาเมือง การจัดการเมืองที่ดีขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ประธานคณะก้าวหน้ายอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านี้นั้นมีอุปสรรคอยู่มากมาย ซึ่งโดยส่วนตัว เขามีความกังวลใจสองข้อ

ข้อแรก คือ การถูกต่อต้านจากระบบราชการส่วนกลาง เพราะการปลดล็อกอำนาจให้ท้องถิ่นย่อมหมายถึงการที่ส่วนกลางเองจะมีอำนาจและงบประมาณลดลง ซึ่งหากไม่มีคำอธิบายที่ดี เชื่อว่าจะเกิดกระแสไม่เห็นด้วยจากข้าราชการส่วนกลางแน่นอน

ต่อประเด็นนี้ ธนาธรสื่อสารไปยังข้าราชการส่วนกลางว่า จริงๆ แล้วการเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการปลดล็อกอำนาจท้องถิ่น ถูกตั้งไข่มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 แต่กลับต้องชะงักงันลงหลังเกิดการรัฐประหาร 2549 ซ้ำร้ายยังเข้าสู่ภาวะถอยหลังหลังรัฐประหาร 2557

สิ่งที่คณะก้าวหน้าเสนอจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ไม่มีใครกล้าออกมายืนยันว่า เรื่องนี้คืออนาคตของประเทศ และเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาต่อไปได้

ข้อกังวลถัดมา คือ ปัจจัยทางด้านการเมืองอันสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะการโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

การรณรงค์แคมเปญ “ปลดล็อกท้องถิ่น” ผ่านพรรคการเมืองบางพรรคจึงยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้ ส.ว. และพรรคการเมืองทุกพรรคเห็นชอบไปในทิศทางเดียวกันด้วย

 

เมื่อถามว่า กระแส “ชัชชาติฟีเวอร์” หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด จะเป็นแรงสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจได้เร็วขึ้นหรือไม่? ธนาธรกล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการ “ปลดล็อกท้องถิ่น” นั้นวางพื้นฐานอยู่บน “สปิริต” แบบเดียวกัน

โดยในกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ กทม. คือผู้บริหารเมืองที่มีตำแหน่ง-อำนาจสูงสุดเพียงคนเดียว และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

สิ่งที่คณะก้าวหน้าเสนอ คือ จังหวัดอื่นๆ ก็ต้องมีผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียว ที่ได้รับอำนาจเต็ม ไม่ว่าเราจะเรียกชื่อตำแหน่งนั้นว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือประธานจังหวัดก็ตาม

ที่สำคัญ พวกเขาต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมทั้งมีอิสระในการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ของตัวเอง มิใช่รอรับคำสั่งจากราชการส่วนกลาง

“ต้องเข้าใจก่อน เวลาเราพูดถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือ เลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นแบบนี้หมด ต่างกับการเลือกตั้งระดับชาติที่คุณเลือกสมาชิกสภา เพื่อให้สมาชิกสภาไปเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม

“แต่เลือกตั้งท้องถิ่นมันเลือกตั้งโดยตรงเลย ดังนั้น ความคาดหวังมันสูงมาก ซึ่งเรื่องนี้ดี มันส่งเสริมประชาธิปไตย ถ้าถามว่าผมมองกระแสคุณชัชชาติอย่างไร ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าคุณชัชชาติจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ดี”

“เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด คุณชัชชาติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนเป็นคนแต่งตั้งคุณชัชชาติให้เข้าไปดำรงตำแหน่ง”

“นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมนักการเมืองจึงเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่แต่งตั้งโดยประชาชน ใช้อำนาจในนามประชาชน เพื่อรับใช้ประชาชน จะมากจะน้อยเขาต้องฟังประชาชน และยิ่งเราอยู่ในยุคที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างนี้ ประชาชนจะเป็นคนควบคุมตรวจสอบและถ่วงดุลคุณชัชชาติ”

 

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เราได้สอบถามอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ว่า หากโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีสิ้นสุดลง เขาจะหวนคืนสู่การเมืองสนามใหญ่อีกหรือไม่?

“ผมยืนยันอีกครั้งว่า ถ้าผมไม่จำเป็นทางการเมืองเมื่อไหร่ ก็ไม่มีความคิดที่จะกลับมา ไม่จำเป็นทางการเมืองในความหมายว่าประเทศไทยกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีประชาธิปไตย ประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคง รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ถูกแก้ไขกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นประชาธิปไตย”

“ถ้าทุกอย่างเดินไปในครรลองที่ถูกต้อง เดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องมีธนาธร ถ้าเป็นแบบนั้นไม่จำเป็นต้องมีผม มีคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าผมอีกเยอะแยะเลย ที่ถ้าการเมืองปกติเมื่อไหร่ (พวกเขา) พร้อมที่จะเข้ามารับใช้ประเทศชาติ”

“ดังนั้น ถ้าบ้านเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง อยู่ในครรลองคลองธรรมที่เป็นประชาธิปไตยเรียบร้อยก่อน 10 ปี ผมก็ไม่จำเป็นต้องกลับมา แต่ถ้าเกิดว่าครบ 10 ปีแล้ว ประเทศไทยก็ยังอยู่ในลักษณะแบบนี้ ถ้าจำเป็นทางการเมือง (ผม) ก็พร้อมที่จะทำต่อ”

ธนาธรให้คำตอบทิ้งท้าย

ชมคลิป