PERSUASION ‘ผู้ดีตีนแดง’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

PERSUASION

‘ผู้ดีตีนแดง’

 

กำกับการแสดง

Carrie Cracknell

นำแสดง

Dakota Johnson

Richard E. Grant

Henry Golding

Cosmos Jarvis

Nikki Amuka-Bird

 

เช่นเดียวกับนวนิยายยอดนิยมเรื่องอื่นๆ ของเจน ออสเตน (Pride and Prejudice, Emma, Sense and Sensibility) Persuasion ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิตของนักเขียนหญิงยุควิกตอเรียผู้นี้ ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หรือโทรทัศน์มาหลายเวอร์ชั่นแล้ว

และนี่คือเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด ที่ว่ากันว่า ได้อิทธิพลจาก Bridget Jones’ Diary (ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก Pride and Prejudice ของเจน ออสเตน) และหนังชุดทางโทรทัศน์ Bridgerton (ซึ่งใช้นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติผิวดำผิวสีผิวขาวในบทชนชั้นสูงย้อนยุคของอังกฤษ แม้แต่ควีนยังใช้นักแสดงผิวดำให้เป็นที่ขัดตาของคนดูหลายคนเลย)

เวอร์ชั่นนี้นำแสดงโดยดาราสาวสวยใสผู้ร้อนแรง ดาโกต้า จอห์นสัน (Fifty Shades of Grey) หนังเดินเรื่องด้วยการมีนางเอกเป็นผู้เล่าเรื่องราวของเธอเอง ด้วยคารมประชดประชันเสียดสี อารมณ์อ่อนไหว ความสิ้นหวังท้อใจในชีวิต และไหวพริบคมกริบ

นิยายของเจน ออสเตน สะท้อนภาพของ “สังคมผู้ดี” ในอังกฤษเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 จากมุมมองหลักของตัวละครผู้หญิง และบอกให้เรารู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า สตรีผู้ดีในสมัยนั้นตั้งเข็มไว้อย่างเดียวในชีวิต คือ การหาสามีดีที่มีอันจะกินพอที่จะไม่ต้องไปตกระกำลำบากในชีวิตแต่งงาน

การอยู่เป็นโสด ทึนทึกหรือสาวเทื้อไปจนตลอดชีวิตนั้นย่อมเป็นชะตาชีวิตที่ชวนสังเวช โดยเฉพาะหากสตรีผู้นั้นไม่ได้มีทรัพย์สินมรดกไว้เจือจุนใช้จ่าย ก็แทบไม่มีโอกาสหาอาชีพการงานอะไรได้ นอกจากการเป็นครูพี่เลี้ยงตามคฤหาสน์คนร่ำรวย หรือคนดูแลเศรษฐินีชราที่ต้องการเพื่อนเดินทางไปไหนมาไหนด้วย

ตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อสาว กุลสตรีผู้มีชาติตระกูลก็มุ่งหน้าหาคู่ เพื่อจะได้แต่งงานแต่งการไปกับชายที่มีชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติพอที่จะเลี้ยงดูเธอไปได้ตลอดชีวิต

ย้อนกลับไปแปดปีก่อนหน้าเรื่องราวปัจจุบันในหนัง คือนางเอกของเราคือ แอนน์ เอลเลียต (ดาโกต้า จอห์นสัน) ในวัยที่สมควรจะเป็นฝั่งเป็นฝาได้ ได้ผูกสมัครรักใคร่อยู่กับชายหนุ่มชื่อ เฟรเดริก เวนต์เวิร์ธ (คอสมอส จาร์วิส) ด้วยความรักอันแบ่งบานในใจทั้งสองหนุ่มสาว

ทว่า ครอบครัวและญาติสนิทมิตรสหายต่างพากันไม่เห็นด้วยกับชายหนุ่มที่แอนน์เลือกมาเป็นคู่ครอง และเกลี้ยกล่อมให้เธอบอกเลิกกับเขา ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือเวนต์เวิร์ธเป็นผู้ชายที่ไม่มีสมบัติพัสถานที่จะเป็นหลักประกันมั่นคงในชีวิตให้แก่เธอ

พูดง่ายๆ คือเขาเป็นผู้ชายที่ไม่มีสกุลรุนชาติ แถมยังไม่มีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งมั่นคงพอที่สตรีจากตระกูลขุนนางจะเอาอนาคตไปฝากไว้

แอนน์เป็นผลผลิตของการอบรมบ่มนิสัยด้วยค่านิยมของสังคมผู้ดียุคนั้น

สมัยผู้เขียนยังเด็ก มีคำเรียกอย่างล้อเลียนในสำนวนไทยว่า “ผู้ดีตีนแดงตะแคงตีนเดิน” ยังจำได้ว่าตอนเด็กยังเคยเล่นตะแคงตีนเดินดูมั่ง และไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ดีจะต้องตีนแดงและต้องเดินให้ลำบากลำบนแบบนั้นด้วยก็ไม่รู้!!

แอนน์ผู้กำพร้าแม่มาแต่เล็ก ยอมเชื่อฟังเพื่อนรักของแม่ เลดี้รัสเซลล์ (นิกกี อามูกา-เบิร์ด) ผู้หวังดีและเกลี้ยกล่อมให้เธอตัดความสัมพันธ์กับเวนต์เวิร์ธเสีย

แปดปีให้หลัง แอนน์ยังคงไม่ได้แต่งงาน และทำท่าเหมือนอาจจะขึ้นคาน โดยเฉพาะในยุคนั้น หญิงใกล้วัยสามสิบย่อมหาผู้ชายดีๆ มาทาบทามแทบไม่ได้

และเซอร์วอลเตอร์ (ริชาร์ด อี. แกรนต์) บิดาผู้ใช้เงินมือเติบและหลงตัวเองอย่างสุดๆ กำลังประสบปัญหาหนี้สินใหญ่หลวง ซึ่งไม่สามารถตัดทอนค่าใช้จ่ายอะไรได้เลย จนในที่สุดได้รับคำแนะนำให้ “ลดขนาด” โดยการย้ายไปอยู่เมืองชนบท และให้เช่าคฤหาสน์อันอัครฐานประจำตระกูลเสีย

ปรากฏว่าผู้เช่าเป็นครอบครัวของนายพลเรือเอกผู้มั่งคั่ง

และปรากฏอีกว่าภรรยาของท่านนายพลมีน้องชายชื่อ นายร้อยเอก เวนต์เวิร์ธ แห่งราชนาวี ผู้มีทรัพย์สินไม่น้อยหน้าใครและมีอนาคตรุ่งโรจน์

เวนต์เวิร์ธกลายเป็นหนุ่มเนื้อหอมไปในพริบตา

แต่แอนน์รู้ตัวว่าหมดหวังที่จะให้เวนต์เวิร์ธกลับมารักตนได้อีก เพราะเธอเคยอยู่ในกลุ่มคนหัวสูงที่บูชาเงินยิ่งสิ่งใด และตัดเยื่อใยกับเขาด้วยเหตุผลเรื่องเงินๆ ทองๆ ซึ่งแสดงให้เขารู้เช่นเห็นชาติแล้วว่าเธอตาโตเห็นเงินสำคัญกว่าความรัก

นี่จะเป็นโอกาสครั้งที่สองของแอนน์ที่ยังฝังใจอยู่กับรักแรกที่ไม่เคยเลือนหายไปจากใจตลอดเวลาแปดปีที่ผ่านมาหรือไม่…เชิญดูกันเองดีกว่านะคะ เว้นแต่สำหรับคนที่เคยอ่านนวนวนิยายเรื่องนี้มาแล้ว ก็คงจะรู้ตอนจบอยู่แล้วล่ะ

ถ้าจะให้บอกใบ้สักนิด ก็ขอบอกอย่างที่ทุกคนในวงวรรณกรรมรู้อยู่แล้วว่า หนังสือของเจน ออสเตน มีแฮปปี้เอนดิ้งทุกเรื่องค่ะ

สิ่งหนึ่งที่ต่างจากนวนิยายคือ เสียงของผู้เล่าเรื่องเป็นเสียงของแอนน์ และเธอมีมุมมองที่แหลมคมในการมองโลกด้วยลักษณะที่เห็นขันกับสิ่งรอบตัว ดังเช่นที่เธอแนะนำตัวบิดาเจ้าสำอางและหลงรักตัวเอง เหมือนเป็นผู้สังเกตการณ์ที่นั่งมองอยู่ห่างๆ ด้านหลัง

และบรรยายถึงบุคลิกนิสัยใจคอของน้องสาวผู้ชอบโวยวายและเอาแต่นึกสงสารตัวเอง ด้วยการทำนายล่วงหน้าว่าน้องสาวของเธอจะทำอะไรบ้าง

ซึ่งเป็นการกำหนดสไตล์การเล่าเรื่องจากมุมมองของแอนน์ และแอนน์ยังเล่าเรื่องด้วยการหันมาพูดกับคนดูโดยตรงเป็นครั้งเป็นคราว ในลักษณะของละครเวทีแบบที่เรียกว่า ทำลายแบบแผนของการใช้ “ฝาที่สี่” (the fourth-wall convention)

หลังๆ นี้หนังมีแนวโน้มไปในทางความเท่าเทียมกันของเชื้อชาติ สีผิว เพศและประเด็นความขัดแย้งทางสังคมมากขึ้นทุกที ผลก็คือเราเห็นนักแสดงผิวดำ ผิวสี ผิวเหลือง มากขึ้นในบทบาทสำคัญ ทำให้หนังย้อนยุคดูไม่ค่อยจะสอดคล้องกับความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ บทบาทของตัวละครในวรรณกรรมที่เราเคยวาดภาพไว้จึงผิดเพี้ยนไปหมด

แบบที่เรียกว่าผิดยุคผิดสมัยผิดกาล (anarchronistic)

สมัยนี้อะไรๆ ก็กลายเป็น woke ไปหมด ศัพท์คำนี้คงยังไม่มีคำไทยบัญญัติ ด้วยความเป็นสแลงที่เริ่มเข้ามาใช้กันมากขึ้นจนจะอยู่ในกระแสหลักไปแล้ว

woke ซึ่งคงจะมาจากการตื่น หรือตื่นรู้ เป็นกระแสนิยมของการตื่นรู้ในสังคมที่ปราศจากการเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ หรือความอยุติธรรมทางสังคมประเด็นอื่นๆ

ดูจากการแคสต์นักแสดงหลากหลายเชื้อชาติและผิวสีในหนังเรื่องนี้ พูดได้คำเดียวว่า

woke จังเลย! •