‘การเดินทางของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘การเดินทางของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ’

 

ตีห้า

แสงไฟฉายวับแวม เคลื่อนที่ไปมา อยู่ในป่ายางพารา ที่ตะคุ่มอยู่ในความมืด ดาวศุกร์ส่องประกาย แม้ขอบฟ้าด้านตะวันออกเริ่มมีสีส้มอ่อนๆ สายลมพัดเอื่อยๆ ด้านทิศเหนือ ฟ้าแลบเป็นทาง ก่อนเสียงคำรามดังตามมา

ท้องฟ้าสว่างขึ้น ไกลจากเนินเตี้ย ซึ่งมีต้นยางพาราอายุราวสองปี ความสูงท่วมหัว ต้นสะเดาเทียมสามต้นใบหน้าทึบ เป็นที่นอนของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ กว่า 500 ตัว

พวกมันทยอยบินมาเป็นกลุ่ม เสียงปีกแหวกอากาศดังเหมือนพายุ ก่อนทิ้งตัวลงเกาะปลายกิ่ง ส่งเสียงจอแจ ตั้งแต่ก่อนพลบค่ำเมื่อวาน

ฟ้าสว่างขึ้น นกสองสามตัวโผขึ้นจากต้นสะเดาเทียม บินวนๆ ส่งเสียงคล้ายกับเรียกให้สมาชิกในฝูงตื่น

และการปลุกได้ผล นกเริ่มบินขึ้นเป็นกลุ่ม บินวน และมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พวกมันจะใช้เวลาทั้งวันหากิน และกลับมาที่นี่อีกในตอนเย็น

สวนยางพารานี้เป็นที่พัก ระหว่างการเดินทางจากผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จุดหมายปลายทางที่ป่าเบรุ่ม พื้นที่อนุรักษ์ในประเทศมาเลเซีย ใช้เวลาที่นั่นจนกระทั่งหมดช่วงฤดูฝน ก่อนเดินทางกลับป่าตะวันตก

เพื่อวางไข่

การเดินทางนับพันๆ กิโลเมตร ตลอดเส้นทาง พวกมันโปรยพันธุ์ไม้ที่กินหลากหลายชนิด

การเดินทางเช่นนี้ เป็นมาเนิ่นนาน คล้ายเป็นหน้าที่ เป็นงานที่ได้รับมอบหมายมาให้ทำ

 

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เมื่อนำมาใช้กับการศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตของเหล่าสัตว์ป่า ช่วยให้เรารู้มากยิ่งขึ้น

“รู้” และความสงสัยเริ่มน้อยลง

ก่อนหน้าที่จะมีการใช้เครื่องส่งสัญญาณวิทยุในระบบผ่านดาวเทียมติดไว้ที่ตัวนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ไม่มีใครรู้ว่าในช่วงฤดูฝนพวกมันหายไปไหน นักวิจัยพบว่าพวกมันใช้โพรงต้นไม้ที่เหมาะสมในป่าตะวันตก เป็นที่วางไข่ เลี้ยงลูก แบบเดียวกับนกเงือกชนิดอื่นๆ ตัวเมียเข้าไปขังตัวเองในโพรง ตัวผู้ทำหน้าที่หาอาหารมาให้

เมื่อลูกโตพอ ออกจากโพรง พวกมันก็หายไป วิถีชีวิตพวกมันเป็นปริศนาอยู่นาน

วิทยุในระบบผ่านดาวเทียมช่วยไขปริศนานี้ นักวิจัยทึ่งกับข้อมูลที่ได้ เส้นทางที่ยาวไกลข้ามประเทศ บางช่วงเข้าไปในพม่า และวกกลับเข้ามาในเขตไทย พวกมันแวะพักหลายแห่ง และย้ายที่เมื่อรู้ถึงความไม่ปลอดภัย

เดินทางยาวไกล แม้ร่างกายได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสม แต่พวกมันหลายตัวก็เดินทางไปไม่ถึงจุดหมาย

 

“สถานการณ์ของนกเงือกยังไม่ค่อยดีนักหรอกครับ” ปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก บอก เขาใช้ชีวิตอยู่เชิงทิวเขาบูโดมายาวนาน โครงการเปลี่ยนคนล้วงลูกนกเงือกไปขาย ให้มาเป็นคนดูแลนกเงือกแทน เริ่มต้นมานาน เป็นวิธีอันได้ผล ลูกนกเงือกหลายชนิดมีโอกาสออกมาโบยบิน ได้ทำหน้าที่ของพวกมันอย่างที่ควรเป็น

“ซากนกเงือกมีราคาสูงขึ้นครับ ยังมีคนล่า โดยเฉพาะนกชนหินนี่น่าห่วงมาก เพราะหัวที่ตันของมัน นำไปแปรรูปเป็นเครื่องประดับได้ รวมทั้งต้นไม้ที่มีโพรงเหมาะสำหรับใช้ทำรังเลี้ยงลูก ก็หายากขึ้น” ปรีดาพูดต่อ

หางยาวๆ ของนกชนหิน ไม่เอื้อให้พวกมันมาเกาะที่ลำต้นไม้ ปากโพรงต้องมีปุ่ม ให้ตัวผู้ใช้เกาะเพื่อป้อนอาหารให้

ปรีดาพูดถึงความหนักใจในงานที่เขาทำ

มีคนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า สัตว์ป่าที่มีชีวิต มีประโยชน์

และมีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันเชื่อว่า สัตว์ป่าที่ดี คือซากของพวกมัน

นกเงือกกรามช้างปากเรียบ – ทุกปีในช่วงฤดูฝน พวกมันจะเดินทางยาวไกลมุ่งหน้าลงใต้ ในระยะทางนับพันกิโลเมตร

บ้านช่อนทอง หมู่บ้านเล็กๆ ไม่ไกลจากชายแดนมาเลเซีย

บ้านสร้างด้วยอิฐบล็อก ติดพื้น กว้างราว 4 ตารางเมตร ล้อมรอบด้วยสวนยาง มีป้ายเล็กติดหน้าบ้าน “ศูนย์นกเงือกบ้านช่อนทอง” เป็นบ้านที่ปรีดาใช้พักเมื่อเข้ามาทำงานที่นี่

ฝนทิ้งช่วงไปหลายวัน มีเพียงเมฆครึ้ม และฟ้าแลบไกลๆ อากาศช่วงบ่ายร้อนอบอ้าว

ผมนั่งคุยกับปรีดา กลางวันเป็นช่วงว่าง เช้ามืดตีสี่ เราออกไปที่เนินเขา และตอนบ่ายสี่โมงเย็นเฝ้าดูฝูงนกเงือกกรามช้าง กลับมานอนบ้าน มีคนเดินเข้า-ออกตลอด ทุกคนหิ้วผลไม้ กล้วย, ทุเรียน บางคนเป็นแกง

“นกมันมาที่นี่ ตั้งแต่ยายยังเด็กๆ อยู่เห็นมานานแล้ว” คุณยายวัย 80 บอก

“ยายบอกทุกคนแหละว่า อย่าไปทำอะไรนกนะ ถ้าใครไม่เชื่อ จะโดนประหาร” แกประกาศ

ลูก 9 คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ ทำให้คุณยายกว้างขวาง พูดอะไรคนต้องฟัง

“คนที่นี่เข้มแข็งมาก เข้าใจและช่วยกันดีครับ” ปรีดายิ้ม

สำหรับนกที่นี่ คล้ายเป็นความหวังที่ดี เป็นจุดแวะพักอย่างปลอดภัยก่อนเดินทางต่อ

 

บ่ายห้าโมงยี่สิบนาที นกทยอยบินมาเป็นกลุ่ม บินวน ทิ้งตัวลงเกาะที่กิ่งต้นสะเดาเทียม เสียงจ้อกแจ้ก

หลายวันกับการเฝ้าดู ผมชื่นชมกับความเป็นนักเดินทางของพวกมัน จุดหมายข้างหน้าอีกไม่ไกล หลายตัวอาจเป็นการเดินทางครั้งแรก หลายตัวอาจไม่ใช่

การเดินทางยาวไกลไม่ง่าย ผมไม่รู้ว่าอะไรกระตุ้นให้นกเหล่านี้ออกเดินทาง

เป็นเพราะหน้าที่ หรือสัญชาตญาณ

แต่ที่รู้ก็คือ จะมีนกบางตัวไปไม่ถึงจุดหมาย และมีนกบางตัวไม่มีโอกาสกลับไปสร้างรัง

พวกมันอาจเดินทางเพราะมีความหวัง อย่างแหล่งอาหารรออยู่ข้างหน้า ถึงเวลาต้องเดินทาง

การเดินทางของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ บอกผมอย่างหนึ่ง

ไม่ว่าจะไปไกลเช่นไร “รัง” คือสถานที่อันอบอุ่น

และเป็นความหวังที่จะได้กลับมา… •