ปัญหาโอละแม่! ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ (1) : ข้อมูลเดิมที่เคยรับรู้ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ปัญหาโอละแม่!

ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ (1)

: ข้อมูลเดิมที่เคยรับรู้

 

ดิฉันเคยเขียนเรื่องราวของ “พระนางจิรประภามหาเทวี” หรือ “มหาเทวีจิรประภา” ตั้งแต่ปี 2554 มาแล้ว 1 ตอน ในคอลัมน์นี้ ชื่อหัวข้อว่า “การเมืองเรื่องสตรี ขัตติยนารีกับพื้นที่แห่งอำนาจ”

เมื่อย้อนกลับไปอ่านเรื่องเดิมที่เคยนำเสนอนานกว่า 11 ปีนั้น พบว่าข้อมูลเกือบทั้งหมดเริ่มจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะยังไม่เป็นปัจจุบันเท่าที่ควร เนื่องจากล่าสุด…

อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา ได้ค้นพบ “หลักฐานใหม่” ประเภทคัมภีร์ใบลาน พับสา ที่เขียนด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา ซุกซ่อนตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือจำนวนมากกว่า 10 ฉบับ

เมื่อนำมาอ่านอย่างละเอียด แล้วสอบทานกับเอกสารฉบับคลาสสิคทั้งหลายที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานสิบห้าราชวงศ์ พื้นเชียงแสน พงศาวดารโยนก ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 เป็นต้น

อาจารย์ชัยวุฒิพบว่า เอกสารหลักๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ยังขาด “จิ๊กซอว์” ย่อยๆ อีกหลายตัวที่รอคอยการเติมเต็ม ภาพรวมใหญ่ของประวัติศาสตร์ล้านนาที่ผ่านมานั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

โชคดีที่จิ๊กซอว์บางตัวซึ่งครั้งหนึ่งเคยหล่นหาย เพราะแอบไปซ่อนอยู่ตามเอกสารฉบับเล็กฉบับน้อยที่คนทั้งหลายมองข้าม บัดนี้คุณชัยวุฒิดั้นด้นไปค้นพบมาจนได้

กว่าอาจารย์ชัยวุฒิจักหยิบเอาหลักฐานใหม่เหล่านี้ เสนอถึง “ความน่าจะเป็นของประวัติชีวิตมหาเทวีจิรประภา” สู่สาธารณชนได้ เขาต้องรวบรวมความกล้าหาญชาญชัยอย่างมหาศาลเลยทีเดียว

เพราะมันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ละคนยังมีข้อมูลเก่าฝังอยู่ในหัว

วันนี้หลายท่านอาจยังตามเขาไม่ทัน ใครจะรู้ วันข้างหน้า วันใดวันหนึ่ง เมื่อนักประวัติศาสตร์กระแสหลักเปิดใจกว้าง ลองหยิบแนวคิดใหม่นี้มาพินิจพิเคราะห์ ถกหารือกันอย่างเป็นกระบวนการ มันอาจจะเป็นชนวนนำไปสู่การ “เปลี่ยนแปลง” เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ล้านนาขนานใหญ่ไปเลยก็เป็นได้

จิตรกรรมบนแผ่นไม้จาก “เวียงต้า” อ.ลอง จ.แพร่

จิรประภามหาเทวีที่เคยรับรู้

เรื่องราวของมหาเทวีแห่งล้านนาองค์นี้ มีหลักฐานที่กล่าวถึงพระนางเหล่านี้น้อยมาก น้อยเสียจนอาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ที่เราๆ ท่านๆ รับรู้กันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการ “ตีความ” ของนักประวัติศาสตร์ในยุคสมัยหนึ่งทั้งสิ้น

ทั้งนี้ มิได้กระทำไปแบบยกเมฆ หรือเขียนนิทานหลอกเด็ก แต่การคาดเดาบางเรื่องราวนั้น ก็เพียงเพื่อให้ “ประวัติศาสตร์มันพอเดินหน้าต่อไปได้บ้าง” ไม่ถึงกับตีบตัน มืดมนไปเสียทุกทิศทุกทาง หันไปทางไหน ก็มีแต่การอ้างตำนานแยกส่วนเป็นท่อนๆ จนถึงขั้นไม่อาจอธิบายอะไรให้ต่อเนื่องได้เลย

จากการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนสารคดี คอลัมนิสต์ หรือผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท” ก็คือ “ท่านมุ้ย” นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเอา “ความเห็นที่ผ่านฉันทามติระดับหนึ่ง” ของนักประวัติศาสตร์ มาขยายความต่อให้คนในวงกว้างเข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ดิฉันขอสรุปการรับรู้เรื่องราวของจิรประภามหาเทวี ในสายตาคนทั่วไปดังนี้

หนึ่ง พระนางเป็นพระมเหสีของ “พระเมืองเกษเกล้า” (กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12)

สอง พระนางเป็นพระราชมารดาของโอรส-ธิดาทั้งสาม ได้แก่ โอรสองค์โตชื่อ “ท้าวซายคำ” ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 13 ถัดมามีโอรสองค์รองชื่อ “ท้าวจอมเมือง” กับมีธิดาองค์เล็กชื่อ “นางยอดคำ” (บ้างว่ายังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดนักว่า ระหว่างธิดายอดคำกับโอรสจอมเมือง ใครจะมีอายุอ่อนแก่กว่ากัน)

สาม ในเมื่อพระนางเป็นมารดาของนางยอดคำ นางยอดคำเป็นมเหสีของพระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง พระนางจิรประภาก็ย่อมมีสถานะเป็น “แม่ยายของพระเจ้าโพธิสาลราช” และเป็น “ยายของพระไชยเชษฐาธิราช” ด้วย

สี่ พระนางขึ้นนั่งเมือง ขัดตาทัพช่วงสั้นๆ แค่ปีเศษ ขณะที่เชียงใหม่กำลังเจอวิกฤต ศึกสงครามรุมเร้า บัลลังก์ว่าง ยังหาผู้เหมาะสมไม่ได้ หลังจากที่ท้าวซายคำถูกลอบปลงพระชนม์ ตามมาติดๆ ด้วยการที่พระสวามีพระเมืองเกษเกล้าก็ถูกประหารชีวิตโดยขุนนาง

พูดง่ายๆ ก็คือพระนางเคยเป็นกษัตรีย์ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ.2088-2089

ห้า จิรประภามหาเทวี คือสตรีผู้ใช้เล่ห์มายาหญิง ยวนเย้าให้พระไชยราชาธิราช กษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาที่ยกทัพขึ้นมาหมายจะยึดล้านนาให้มาสวามิภักดิ์นั้น ตกหลุมเสน่ห์ของนาง จนพระไชยราชาหลงกลยอมใจอ่อน ถอยทัพกลับไปในที่สุด

หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ พระนางมีคุณูปการช่วยให้ล้านนาไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน

หก ยุคสมัยที่พระนางนั่งเมือง มีเหตุการณ์สำคัญคือ แผ่นดินไหว จนมหาธาตุกลางเวียงเชียงใหม่หรือ “เจดีย์หลวง” ถล่มลงมาจนยอดหักโค่น เป็นที่โจษจันสนั่นเมืองว่า “ขึด” หรือ “ลางร้าย” นี้เกิดขึ้นเนื่องจากปล่อยให้ “แม่ญิง” ขึ้นนั่งเมือง แถมตำนานเอกสารต่างๆ ไม่ยอมนับให้นางเป็นหนึ่งในทำเนียบกษัตริย์ราชวงศ์มังรายอีกด้วย จริงล่ะหรือ?

เจ็ด พระนางจิรประภาเป็นคนดึงเอาหลานชาย (ไชยเชษฐา) ที่เกิดจากลูกสาวของนาง (คือยอดคำทิพ) กับกษัตริย์ล้านช้าง (โพธิสาลราช) ให้มานั่งเมืองเชียงใหม่ 2 ปี จนทำให้พระไชยเชษฐากลายเป็นกษัตริย์สองแผ่นดิน

แปด เมื่อพระไชยเชษฐาจำเป็นต้องกลับไปล้านช้าง เหตุที่พระราชบิดาสวรรคต พระนางจิรประภาถือโอกาสติดตามหลานยายไปอยู่หลวงพระบางด้วย ซ้ำนางยังได้บงการให้รวบเอาพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลายองค์ อย่างน้อยก็สี่องค์ คือ พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วขาว และพระแทรกคำ จากเชียงใหม่รวบตึงนำไปไว้ที่หลวงพระบางทั้งหมด จนได้รับฉายาว่า “มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่”?

เก้า ในเมืองหลวงพระบางมีพระเจดีย์องค์หนึ่งชื่อ “ทาดน้อย” (ธาตุน้อย) มีรูปร่างหน้าตาละม้ายกับพระเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังที่วัดโลกโมลี ริมคูเมืองเชียงใหม่ เชื่อกันว่า จิรประภามหาเทวีผู้นี้ได้จำลองเอารูปแบบไปสร้างไว้ที่หลวงพระบาง เพื่อรำลึกถึงพระราชสวามีคือพระเมืองเกษเกล้า เนื่องจากเจดีย์ที่วัดโลกโมลีเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระเมืองเกษเกล้า และต่อมาเจดีย์ทาดน้อยที่จิรประภาสร้าง เมื่อพระนางสวรรคต ก็ได้นำอัฐิของพระนางบรรจุไว้ในนั้นด้วยเช่นกัน

ดิฉันขอหยิบยกปมปัญหาหลักๆ ที่เรารับรู้เกี่ยวกับพระนางจิรประภามาแค่เก้าข้อ ซึ่งทุกวันนี้คนไทยเกือบทั้งประเทศก็เชื่อโดยสนิทใจว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ทว่า หลังจากที่อาจารย์ชัยวุฒิได้พบหลักฐานใหม่ นำมาเผยแพร่ให้นักวิชาการด้านล้านนา-ล้านช้างศึกษา ช่วยกันวิเคราะห์ วิพากษ์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น บัดนี้เริ่มตกผลึกแล้ว และมันจะนำไปสู่การสร้างคำอธิบายชุดใหม่ อดใจรอดูหลักฐานทั้งหมดในตอนที่สอง

เก้าประเด็นที่เรารับรู้ ก็ทำท่าว่าจะ “โอละแม่” กันทีเดียวเจียวเอ๋ย

ภาพพระบฏ หรือจิตรกรรมบนผืนผ้า “ตุงค่าวธรรม” วัดพระยืน อ.เมือง จ.ลำพูน

จิรประภานั่งเมืองจริง แผ่นดินไหวจริง

รับศึกอยุธยาจริง แต่ไม่มีกล่องนม?

ไฉนเลยชีวิตของพระมหาเทวีจิรประภา ผู้มีชีวิตเมื่อเกือบ 500 ปีก่อน จึงมีสีสันฉูดฉาดได้ถึงเพียงนี้ ตกลงเรื่องราวของนางเป็นอย่างไรกันแน่ มีตัวตนจริงหรือ มีการบันทึกไว้ในเอกสารชั้นต้นเล่มใดบ้างไหม

เอกสารที่เขียนถึงจิรประภาแบบ “ระบุชื่อชัดๆ” มีน้อยมาก เพียงไม่กี่ชิ้น ดังนี้

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ในที่นี้ใช้ฉบับปริวรรตโดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค.วัยอาจ) กล่าวว่าหลังจากที่ขุนนางทั้งหลาย…

“พร้อมกันฆ่าเจ้าพญาเกศเชษฐราชนั้นไปฆ่าเสียนับเสี้ยง แล้วจึงพร้อมกันเอา มหาเทวีจิรประภา เป็น พญา ในปีดับไส้ สก 907 ตัว… ยามนั้น พญาใต้บรมไตรจักร เอาริพลมาเถิงเชียงใหม่ ตั้งทัพอยู่โท่งหนองผาแตบ วันออกสวนลาน พระเป็นเจ้ามหาจิรประภาเทวี จึงแต่งเจ้าขุนเอาบัณณาการไปถวายหั้นแล … เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ยามแตรค่ำ แผ่นดินไหวหวนร้องครังครางมากนัก ยอดมหาเจติยหลวงและเจติยวัดพระสิงห์หักพัง”

ข้อความนี้พบการเรียกชื่อที่ต่างกันอยู่สองจุด มีทั้ง “มหาเทวีจิรประภา” และ “พระเป็นเจ้ามหาจิรประภาเทวี” คำว่า “มหาเทวี” หมายถึงสตรีในราชสำนักที่มีสถานะสูงศักดิ์ หากไม่เป็นพระราชมารดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก็อาจเป็นมเหสีของกษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้

ในขณะที่เอกสารสำคัญอีกชิ้นของพม่าคือ “ซินเหม่ยาสะวิน” (Zimme Yazawin) เขียนพระนามว่า “จารประภาศรีมหาสุทธ มหาเทวี” (Jalapapha Sri Maha Suddha Mahadevi)

นอกจากนี้ ยังมีข้อความลักษณะเดียวกันใน “ตำนานสิบห้าราชวงศ์” (ฉบับสอบชำระ โดย รศ.ดร.สมหมาย เปรมจิตต์ สถาบันวิจัยสังคม มช.) เหตุที่ตำนานสิบห้าราชวงศ์กับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นเอกสารที่คัดลอกมาจากต้นฉบับชุดเดียวกัน ดังนั้น ในที่นี้จึงจะไม่ขอยกตัวอย่างข้อความของตำนานสิบห้าราชวงศ์ที่เขียนถึงจิรประภามหาเทวีมาให้ดู เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ซ้ำกันกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่

อย่างน้อยที่สุด จากข้อความที่ยกมานี้ ช่วยเราไขปริศนา (จากที่ดิฉันตั้งโจทย์ไว้เก้าข้อ) ได้มากถึงสามข้อเลย ได้แก่

ข้อสี่ จิรประภามหาเทวีเคยนั่งเมืองเป็นกษัตรีย์ของเชียงใหม่จริง ปี จ.ศ.907 ตรงกับ พ.ศ.2088 หลังจากการสวรรคตของพระเมืองเกษเกล้า (พญาเกศเชษฐราช) แต่น่าแปลก ที่ไม่มีข้อความตอนไหนระบุเลยว่า “พระนางเป็นมเหสีของพระเมืองเกษเกล้าด้วยหรือไม่”?

ข้อห้า ในระหว่างที่จิรประภานั่งเมือง มีกษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมาจริง เพียงแต่ในตำนานไปเรียก “พระไชยราชา” ว่า “พระบรมไตรจักร” ซึ่งฟังดูคล้ายกับพระนามของ “พระบรมไตรโลกนาถ” ไปสักนิด อาจเป็นความคุ้นชินของชาวล้านนาที่เคยรับรู้ถึงวีรกรรมระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับพระบรมไตรโลกนาถมาก่อนก็เป็นได้ ทว่า เหตุการณ์ช่วงนั้น กษัตริย์อยุธยาที่ขึ้นมาเชียงใหม่คือพระไชยราชา

น่าสนใจว่า เหตุการณ์ที่ภาพยนตร์สุริโยไท สร้างให้ “เพ็ญพักตร์ ศิริกุล” ผู้สวม “ฉลองนม” หรือ “กล่องนม” ออกไปต้อนรับพระไชยราชาบริเวณหน้าวัดโลกโมลีนั้น จะเป็นความจริงหรือไม่ประการใด ในเมื่อตำนานระบุชัดว่า “พระนางจิรประภาให้แต่งขุนเอาบรรณาการไปถวายแด่กษัตริย์อยุธยา” ดีไม่ดี พระนางจิรประภาไม่ได้ออกมาพบพระไชยราชาด้วยซ้ำ?

ข้อหก ยุคที่จิรประภามหาเทวีนั่งเมืองช่วงสั้นๆ เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจริง เจดีย์หลวงถล่มลงมาจริง ในเดือน 11 แรม 4 ค่ำ (มีการคำนวณว่าตรงกับวันที่ 28 กรกฎาคม 2088)

ส่วนปัญหาข้ออื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดอีก 6 ข้อ นับแต่ข้อหนึ่ง พระนางเป็นมเหสีของพระเมืองเกษเกล้าจริงหรือไม่ ข้อสอง พระนางเป็นพระมารดาของท้าวซายคำ ท้าวจอมเมือง และนางยอดคำจริงไหม ไปจนถึงข้อเก้านั้น สัปดาห์หน้า จักค่อยๆ ทยอยเฉลยพร้อมหลักฐานสำคัญ ให้ดูทีละเปลาะๆ จนหายคาใจกันไปข้างหนึ่ง •