คำ ผกา | มันไม่ใช่คราวเคราะห์ มันคือความเฮงซวย

คำ ผกา

อ่านข่าวคานสะพานกลับรถยาว 10 เมตร หนัก 5 ตัน หน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ถนนพระราม 2 ที่กำลังปิดปรับปรุง หล่นทับรถยนต์ที่กำลังเข้ากรุงเทพฯ เสียหาย 4 คัน เสียชีวิต 1 รายติดอยู่ในซาก มีรายงานคนงานก่อสร้างเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ในสี่คันมีหนึ่งคันบรรทุกน้ำมัน อีกหนึ่งคันบรรทุกก๊าซ ลองจินตนาการว่า ถ้ารถสองคันนี้ระเบิดขึ้นมาอะไรจะเกิดขึ้น

อ่านข่าวต่อพบว่าผู้รับผิดชอบเรื่องนี้คือกรมทางหลวง และเท่าที่จับใจความจากข่าวกรมทางหลวงบอกว่า “ได้ย้ำเรื่องการระมัดระวังความปลอดภัยสูงสุด”

ก่อนจะจบด้วยการบอกว่า “ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต” เมื่ออ่านแล้ว ฉันอยากจะบอกว่า

“ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยสูงสุด” ไม่ใช่ทั้งคำตอบ ไม่ใช่ทั้งคำอธิบาย และที่สำคัญคือไม่ได้แสดงออกซึ่งความรับผิดชอบใดๆ เพราะความปลอดภัยจากโครงการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นโครงการไหน ไม่อาจจะปลอดภัยได้เพราะอธิบดีได้ “เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย”

แต่หน่วยงานนั้น หรืออธิบดี ต้องออกมาอธิบายให้สาธารณชนว่าคือ

หนึ่ง บอกว่าตามกฎหมาย และกติกาการรับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ กรมทางหลวงได้กำหนดสเป๊ก เงื่อนไขในการก่อสร้างและการทำงานให้เกิดความปลอดภัยสสูงสุดอย่างไรบ้าง

และหากทำผิดข้อตกลงจะต้องมีความผิดอะไร

มีเกณฑ์ต้องชดใช้ค่าเสียหาย และมีความผิดตามกฎหมายทั้งอาญาและกฎหมายแพ่งอย่างไร และต้องเอาทุกข้อนั้นมาเปิดให้สื่อมวลชนเห็น เพื่อสื่อมวลชนจะนำมารายงานข่าว

สอง อธิบดีต้องออกมาแจ้งให้เราทราบว่า บริษัทผู้รับเหมาชื่อบริษัทอะไร อ้างอิงตามข้อที่ 1 เขาทำผิดกฎข้อไหนหรือไม่อย่างไร ซึ่งอธิบดีได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า กรมทางหลวงดำเนินการปรับปรุง

สาม ความพังพินาศจนเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ปราศจากความผิดใดๆ ปราศจากความประมาทใดๆ แล้วต้องมาตาย มาเสียทรัพย์ มาเสียลูกเสียเต้า มีทั้งผลกระทบทางกาย ทางใจ ทางเศรษฐกิจ หากผู้ตายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว

ทั้งหมดนี้ใครเป็นคนรับผิดชอบ?

นี่คือสิ่งเราอยากได้ฟังจากอธิบดีกรมทางหลวง ไม่ใช่การมาบอกว่า มีคนตายกี่คน เจ็บกี่คน และมาบอกว่า ได้เน้นย้ำแล้วเรื่องความปลอดภัย

ลองนึกภาพเราไปกินข้าว สั่งข้าวผัดมาหนึ่งจานแล้วเจอข้าวผัดแฉะ และบูด เสร็จแล้วเจ้าของร้านเดินออกมาบอกว่า “ขอโทษจริงๆ แต่ทางเราได้เน้นย้ำพ่อครัวแล้วอย่าเสิร์ฟของบูด โอเคนะ”

อารมณ์เดียวกับประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชอบตอบคำถามนักข่าวว่า “ได้เน้นย้ำข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ไปตรวจสอบดูแลแล้ว” หรือ “ได้สั่งการและเน้นย้ำแล้วว่าให้ดูแลประชาชนดีๆ”

ฟังแล้วก็โมโห อยากจะร้องกรี๊ดออกมาให้ดังที่สุดว่า ประเทศไม่ได้บริหารด้วยคำสั่งและการกำชับ ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาของแพง ก็พูดได้แค่ว่า สั่ง รมว.พาณิชย์แล้วให้ไปดูแลอย่าให้ของแพง”

นี่ประเทศทั้งประเทศนะ ไม่ใช่การทำร้านอาหารตามสั่ง ที่อยากได้อะไรก็สั่งเอา

และหากย้อนดูข่าวเก่าๆ เรามีทั้งข่าวคนถูกสายไฟฟ้าแรงสูงข้างถนนดูดตาย วินมอเตอร์ไซค์ถูกกิ่งไม้หล่นใส่หัวตาย คนเดินตกท่อ บาดเจ็บ พิการ เรียกได้ว่ามีคนได้รับบาดเจ็บ ตาย พิการ สูญเสียทรัพย์สินจากความประมาท เลินเล่อของรัฐและหน่วยราชการเยอะมาก

แต่ดูเหมือนจะไม่มีไครได้รับการชดใช้ความเสียหายอย่างสาสมจากรัฐเลย

ย้อนกลับไปดูข่าวเก่า เป็นรายงานของบีบีซีไทย ปี 2019 มีกรณีเครนถล่มที่พระรามสาม มีคนงานเสียชีวิต 5 คน และนอกจากคนงานก่อสร้างสัญชาติกัมพูชาที่เสียชีวิตแล้ว มีเด็กหนุ่มลูกครึ่งชาวอังกฤษวัย 50 ปี ซึ่งผู้พ่อได้อยู่เมืองไทยมายาวนานถึง 50 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ด้วย

กรณีนี้ชัดเจนว่าผู้รับผิดชอบเครนก่อสร้างนี้คือบริษัทก่อสร้างที่รับผิดชอบก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรชื่อโกลเด้น โกรฟ

เรื่องแบบนี้ในวิถีไทยๆ ถ้าผู้ตายเป็นคนงานต่างด้าว เป็นคนงานก่อสร้างที่ไม่มีปากเสียงอะไร เราน่าจะพอเดาได้ว่า มากที่สุดคือ มีทนายบริษัทมางานศพพร้อมเงิน “ช่วยเหลือ” สักเล็กน้อยตามแต่เขาจะประเมินราคาชีวิตผู้ตายและครอบครัวเท่าไหร่

ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไร้อำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง หรือแย่กว่านั้นคือเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เผลอๆ อาจจะไม่ได้รับชดเชยอะไรเสียด้วยซ้ำ

แต่กรณีครอบครัวพ่อชาวอังกฤษ สิ่งที่เขาได้คือเงินใส่ซองมางานศพหนึ่งแสนบาท พร้อมการเจรจาของชดใช้เป็นเงินหนึ่ง-สองล้านบาท จากวิศวกร ซึ่งผู้พ่อไม่รับการต่อรองนี้เพราะเห็นว่าผู้รับผิดชอบต้องเป็นตัว “บริษัท”

มารดาของผู้เสียชีวิตบอกว่า

“ที่เกิดเหตุไม่มีการติดตั้งป้ายบอกเตือนว่าเป็นเขตก่อสร้าง และไม่มีการวางสิ่งกีดขวางเพื่อเป็นการบอกเตือนว่าเป็นเขตก่อสร้างอาคาร รวมถึงไม่มีพนักงานเกี่ยวกับความปลอดภัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเพื่อคอยแจ้งเตือนแต่อย่างใด…(ทำให้) ครอบครัวกอแวนได้ฟ้องร้องจำเลย 10 คน ซึ่งมาจากทั้งสามบริษัท คือ เจ้าของโครงการ บริษัทดำเนินการบริหารการก่อสร้างโครงการ และผู้รับเหมา ในคดีอาญาข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคดีแพ่งข้อหาละเมิด โดยเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายจ้างที่ต้องรับผิดจากการทำละเมิดของลูกจ้างเป็นจำนวนเงิน 44.56 ล้านบาท”

https://www.bbc.com/thai/thailand-47353784

ฉันไม่รู้ว่าครอบครัวกอแวนได้รับความเป็นธรรมจากเรื่องนี้แล้วหรือยัง แต่ที่แน่ๆ คนงานชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตนั้น – เขาย่อมถูกหลงลืมเป็นเพียงอีกชีวิตหนึ่งที่ตายไป ไม่ต่างอะไรจากที่เราเห็นหมาจรจัดสักตัวถูกรถชนตายบนถนน มันก็แค่หมาตัวหนึ่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามันตาย

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เรามองเห็นแรงงานข้ามชาติในประเทศของเราเป็นเช่นนั้น เราเห็นว่าเขาเป็นคนเหมือนเรานี่ล่ะ แต่เพื่อไม่ให้ชีวิตของเรายุ่งยากจากภาระทางมนุษยธรรมมากเกินไป เราพยายามที่จะไม่รับรู้ว่าพวกเขาคือใคร พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างเรา หากเป็นไปได้ เราอยากเห็นเขาเป็นหมือน “เครื่องมือ” ชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่ก่อสร้าง ตัดเหล็ก แบกปูน ปูกระเบื้อง

เราไม่อยากรู้ว่าเขามีพ่อแม่ที่เขารักเหมือนเรา มีลูกมีเต้าที่ต้องห่วงใยเหมือนเรา มีสุข มีเหงา มีหิว มีว้าเหว่ มีทดท้อ คล้ายๆ เรานี่แหละ เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้ เราเองจะทนอยู่กับสังคมนี้ไม่ได้ และเราก็แบกรับภาระต้นทุนของการไม่มีแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลของหลายหน่วยงานวิจัยบอกว่าแรงงานก่อสร้างร้อยละห้าสิบของไทยเป็นแรงงานต่างชาติ ในแต่ละปีมีเคสเรียกร้องค่าชดเชยจากรณีคนงานตายเป็นร้อย และบาดเจ็บถึงแปดพันกว่าราย

นี่นับเฉพาะที่มีการยื่นร้องขอความช่วยเหลือ และยังไม่นับแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตย่อมเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือนี้ และไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิด เรียกค่าเสียหายจากใครได้เลย

ข่าวคานสะพานกลับรถหนักห้าตันตกใส่รถของคนใช้รถใช้ถนน สะท้อนให้เห็นถึงความชุ่ย ความไม่รับผิดชอบ ทัศนคติของหน่วยงานราชการไทยที่ไม่เคยคิดว่าประชาชนั้น “สำคัญ” และพึงได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ มีมารยาท เคารพในสิทธิของเขา และอย่างน้อยที่สุด ข้าราชการก็คือประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน

ในประเทศโลกที่ประชาชนคือเจ้าของประเทศจริงๆ ไม่มีอะไรจะสำคัญเท่าความปลอดภัยของประชาชน ทุกโครงการก่อสร้างจะต้องอยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ เรื่องความปลอดภัย ความสะอาด เสียงที่ต้องไม่ดังรบกวน ไซต์ก่อสร้างจะต้องมิดชิด ปราศจากฝุ่น มีไฟ มีป้าย มีสัญญาณ มีทุกสิ่งที่โลกแห่งการออกแบบและวิศวกรรมออกแบบมาแล้วว่าให้มี

ส่วนไทยแลนด์แดนกะลานั้นอย่าว่าแต่มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐาน ทุกวันนี้ ฉันยังไม่เข้าใจว่า รถปูนนั้นสามารถวิ่งบนถนนในเมืองตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างไรกัน ไม่นับรถบรรทุกใหญ่ยักษ์ระดับลากตู้คอนเทนเนอร์ก็สามารถวิ่งบนถนนได้ทุกถนน รวมถึงในซอยขนาดกลางๆ ด้วย

เหล็กแหลมที่โผล่มาจากราวกั้นถนน เป็นสิ่งพบเห็นได้อย่างปกติ เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่พรั่งพร้อมไปด้วยความเลินเล่อเผอเรอเอื้อต่อการเกิดอุบัติเหตุในทุกรูปแบบโดยปราศจากความรับผิดชอบจากทุกฝ่าย

มันเป็นประเทศที่คนไม่เท่ากันในทุกมิติ ระบบราชการแบบเจ้าขุนมูลนายทำให้พวกเขาเห็นว่าประชาชนก็แค่มดปลวก อาจถูกรถชนตายบ้าง เหล็กตกใส่หัวตายบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา คนตั้งหกสิบล้าน เจ็ดสิบล้าน ตายไปสักคนสองคนไม่เป็นไรหรอก และพวกไอ้อีที่ตายก็ต้องรู้สิว่าเป็นความซวยของตัวเอง เป็นคราวเคราะห์ เป็นเพราะไม่ได้ไปบริจาคเลือด

“คราวเคราะห์” คำเดียวสั้นๆ ทำให้เราไม่จริงจัง ไม่คาดคั้นว่า อุบัติเหตุนี้ไม่ใช่เคราะห์ แต่เป็นความเฮงซวยของประเทศที่อยู่กับรัฐบาลที่เห็นประชาชนเป็นขี้ข้ามากกว่าเป็นเจ้าของประเทศ

มีคนตายก็เอาเงินใส่ซองฟาดๆ ไป คนจนพวกนี้เห็นเงินแค่นี้ก็ตาลุกวาวแล้ว หาเองทั้งชีวิตจะหาได้ไหม – นี่คือวิธีคิดของพวกเขา

ชีวิตคนไทยยังไร้ค่าขนาดนี้ นับประสาอะไรเราจะหาความเป็นธรรมให้ชีวิตคนงานก่อสร้างต่างด้าว

จำคำของฉันไว้เถอะ มันไม่ใช่คราวเคราะห์ แต่มันคือความเฮงซวยของสังคมที่ไม่รู้ว่าการได้เป็น “คน” มันสำคัญแค่ไหน