ทวงคืน Instagram ให้คนรักภาพนิ่ง/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ทวงคืน Instagram

ให้คนรักภาพนิ่ง

 

‘วิดีโอ’ เป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเพราะวิดีโอมักจะมีเอนเกจเมนต์ที่ดีกว่า ซึ่งก็หมายถึงการได้ยอดวิว ยอดไลก์ และยอดแชร์มากกว่าโพสต์ประเภทอื่นๆ อย่างข้อความ หรือภาพนิ่ง

ดังนั้น โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มจึงพร้อมใจกันหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานสร้างคอนเทนต์ประเภทวิดีโอขึ้นมาเยอะๆ

ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘Instagram’ ที่เติบโตมาจากคอนเซ็ปต์ของการเป็นโซเชียลมีเดียที่เน้นการแชร์ภาพนิ่งเป็นหลัก

Instagram เปิดตัวครั้งแรกเมื่อราว 11 ปีก่อนในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์ภาพนิ่งโดยเฉพาะ

เสน่ห์ที่ทำให้ผู้ใช้งานหันมาสนใจแพลตฟอร์มน้องใหม่แพลตฟอร์มนี้ก็คือการที่เราสามารถใช้ฟิลเตอร์ที่หลากหลายเพื่อเปลี่ยนมู้ดและโทนของภาพถ่ายเราได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิกเท่านั้น

แต่ละฟิลเตอร์ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาพถ่ายมือสมัครเล่นที่ถ่ายด้วยกล้องมือถือซึ่งสเป๊กก็ไม่ได้สูงมากมายนักในช่วงนั้นออกมาดูดีราวกับภาพที่ถ่ายมาด้วยกล้องมืออาชีพ

แถมเมื่อใส่ฟิลเตอร์เข้าไปเราทุกคนก็กลายเป็นนายแบบ นางแบบ ขึ้นมาเฉยๆ โดยแทบจะไม่ต้องพยายามเลย

ฟิลเตอร์ที่หลากหลายผนวกกับการเป็นแพลตฟอร์มนิชสำหรับกลุ่มคนเท่ๆ กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เซเลบบริตี้สนใจใช้งานอินสตาแกรมกันมากขึ้น

และแน่นอนว่าที่ไหนมีเซเลบ ที่นั่นก็จะมีแฟนคลับที่ไปไหนไปกันตามมาด้วยติดๆ

Instagram เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยยอดผู้ใช้งาน 1 ล้านคนภายใน 2 เดือน และพุ่งทะยานขึ้นเป็น 10 ล้านคนภายในเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่เปิดตัว

ในที่สุดก็กลายเป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังและได้รับความนิยมมากที่สุดภายใต้การบริหารของ Facebook หรือ Meta ที่เข้าซื้อ Instagram ในปี 2012 ในราคา 1,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อดึงดูดคนเข้ามาด้วยคำสัญญาว่าจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง จึงทำให้ผู้ใช้งานเริ่มรู้สึกไม่พอใจว่า Instagram ที่พวกเขาหลงรักไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

เรื่องมีอยู่ว่าช่วงหลังๆ มานี้ผู้ใช้งานเริ่มสังเกตเห็นว่า Instagram ปรับเปลี่ยนสไตล์ของตัวเองไปจนแทบจะจำไม่ได้

จากเดิมที่เคยให้ความสำคัญกับภาพนิ่งสวยๆ ของเพื่อนหรือคนที่เราติดตาม จู่ๆ หน้าฟีดก็เต็มไปด้วยวิดีโอสั้นในสไตล์แบบเดียวกับ TikTok

ยังไม่พอแค่นั้น Instagram ยังเลือกที่จะแสดงผลภาพและวิดีโอของคนที่เราไม่ได้ติดตามให้เราเห็นมากขึ้นจนผู้ใช้งานงงไปตามๆ กันว่าทำไมจู่ๆ หน้าฟีดก็คลาคล่ำไปด้วยโพสต์ของคนแปลกหน้าที่ไม่เคยกดติดตามมาก่อน

ในขณะเดียวกันโพสต์ของคนที่ติดตามไว้บางคนก็หายวับ ไม่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าฟีดอีกเลย

ความไม่พอใจที่มีต่อฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่โผล่ขึ้นมายุ่บยั่บในช่วงหลังและการหันไปให้ความสำคัญกับวิดีโอมากจนลืมรากเหง้าตัวเองก่อให้เกิดแคมเปญเรียกร้องให้ Instagram กลับมาเป็น Instagram อีกครั้ง ภายใต้ชื่อแคมเปญว่า “Make Instagram Instagram again”

โดยขอร้องให้ Instagram เลิกพยายามเป็นเหมือน TikTok เสียที และให้สร้างอัลกอริธึ่มที่เน้นรูปภาพเป็นหลักเหมือนเดิม

 

เมื่อแคมเปญได้รับความสนใจเป็นวงกว้างจนเพิกเฉยไม่ได้อีกต่อไป ผู้บริหารของ Instagram ก็ออกโรงชี้แจงด้วยการบอกว่า Instagram ยังสนับสนุนภาพนิ่งเหมือนเดิม แต่ก็ยืนยันที่จะเน้นวิดีโอให้เยอะขึ้นด้วย และถ้าไม่ชอบให้แนะนำโพสต์ของคนที่ไม่ได้กดติดตาม ผู้ใช้งานก็สามารถกดปิดไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้

แต่ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ Instagram ก็ยังเชื่อว่านี้คือทิศทางที่จะมุ่งไปอยู่ดี

ความดื้อรั้นของ Instagram มาถึงจุดจบเมื่อเซเลบบริตี้ตัวจริงอย่าง Kim Kardashian และ Kylie Jenner ซึ่งมีผู้ติดตามบน Instagram รวมกันกว่า 300 ล้านคนออกมาร่วมส่งเสียงสนับสนุนด้วยการแชร์ภาพมีมของแคมเปญนี้

Instagram จึงเบรกตัวโก่ง กลับลำ พร้อมยกธงขาวว่าจะยอมลดการแนะนำโพสต์และวิดีโอลงจากหน้าฟีดของผู้ใช้งาน

และจะไม่แสดงผลวิดีโอแบบเต็มหน้าจอเหมือนที่ TikTok ทำอีกแล้ว

ถึงจะดูเหมือนกับเป็นชัยชนะของผู้ใช้งาน แต่ก็มีคนเตือนว่านี่เป็นเพียงแค่การยอมถอยสองสามก้าวเพื่อตั้งหลักใหม่เท่านั้น

เพราะ Mark Zuckerberg เชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจว่าเมตาเวิร์สและวิดีโอสั้นจะเป็นอนาคตของบริษัท

 

เอาน่า อย่างน้อยๆ Instagram ก็ยอมถอยให้สักก้าวสองก้าว ในขณะที่อีกแพลตฟอร์มเจ้าของเดียวกันอย่าง Facebook ก็ยังคงเดินหน้าสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้งานไม่เว้นวัน ทั้งเปลี่ยนรูปแบบใหม่ สลับซ้ายขวา เพิ่มเมนูนั้น ตัดลดเมนูนี้

วันนี้บอกว่าจะปรับอัลกอริธึ่มใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นแค่โพสต์ของเพื่อนและครอบครัว แล้วพรุ่งนี้ก็เปลี่ยนใหม่บอกว่าไม่เอาแล้ว จะปรับให้กลับมาเห็นโพสต์ของเพจต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่จะสอดไส้โพสต์ของเพจที่ไม่ตามเข้ามาให้ด้วยแบบเนียนๆ ไม่บอกอะไรกันล่วงหน้า

โฆษณาที่เคยแทรกอยู่ในทุกๆ 5 โพสต์ ก็ปรับเป็น 3 โพสต์

ทุกอย่างถูกเปลี่ยนกันรายวันจนผู้ใช้ปรับตัวตามไม่ทัน

ผู้ใช้งาน (รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานด้วย) ถือเป็นรากฐานของการสร้างโซเชียลมีเดียและเป็นตัวบ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มนั้นๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ การปรับกลยุทธ์ให้เป็นไปตามกระแสก็เป็นเรื่องสำคัญในแง่การดำเนินธุรกิจ

แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นที่จะทำให้แพลตฟอร์มอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็คือการยอมรับฟังเสียงของผู้ใช้งานว่าพวกเขาต้องการอะไร และคาดหวังอะไรบ้าง

หากทำหูทวนลมใส่ไปเรื่อยๆ ความภักดีต่อแพลตฟอร์มก็จะลดน้อยถอยลงทุกวัน เหลือเพียงแค่การทนใช้ต่อไปเพราะยังไม่มีตัวเลือกอื่นที่ทดแทนกันได้ในตอนนี้เท่านั้น

Facebook และ Instagram เน้นย้ำถึงความสำคัญของวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมและมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้บริษัทต้องพัฒนาไปตามทิศทางนั้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉันชอบการตอบกลับของอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งที่ชื่อว่า James Charles เขาบอกว่า

“เหตุผลที่วิดีโอเติบโตสูงมากก็เพราะว่าพวกเราถูก ‘บังคับ’ ให้ทำวิดีโอยังไงล่ะ โพสต์ภาพนิ่งไปก็แป้กมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ครีเอเตอร์อย่างเราก็เลยต้องหันมาทำวิดีโอแทน ไม่ใช่ว่าเพราะชอบหรอกนะ แต่เพราะว่าพวกเราถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่านี่เป็นโอกาสเดียวที่เราจะโตได้ต่างหากล่ะ”