เศรษฐกิจจะไปทางไหน | ก่อสร้างและที่ดิน

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

เศรษฐกิจจะไปทางไหน

 

ภาวะเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ นับว่าเป็นภาวะระทึกขวัญกันทีเดียว หากใครติดตามข่าวสารใกล้ชิด

เริ่มจากระดับโลก เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประเทศผู้นำเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมายาวนาน เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง 8-9% สูงสุดรอบ 40 ปี ธนาคารกลางสหรัฐหรือ Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อติดๆ กันภายใน 2 เดือน ครั้งหลังสุดขึ้นทีเดียวมากถึง 0.75%

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังมีคำถามว่า จะเอาอยู่ไหม จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก จะต้องปรับถึงครั้งละ 1.0% หรือเปล่า

และมาถึงขั้นที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาภาวะถดถอยแล้ว เพียงแต่จะเป็นถดถอยชั่วคราวหรือทางเทคนิค หรือเป็นการถดถอยใหญ่

 

ถัดมาเศรษฐกิจประเทศขนาดเล็กที่โครงสร้างไม่เข้มแข็งนัก อาทิ ศรีลังกาไม่มีเงินตราต่างประเทศซื้อน้ำมัน ไม่มีเงินซื้อเวชภัณฑ์ ประชาชนเดือดร้อนเดินขบวนยึดทำเนียบ ประธานาธิบดีต้องหลบหนี

ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงเช่นนี้

ยังไม่นับรวมประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าที่ทหารหวนยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ล่าสุดถึงขั้นประหารชีวิตด้วยวิธีการแขวนคอ คนหนุ่มสาวพม่าต้องหลบหนีไปร่วมกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ จับมืออาวุธต่อสู้

กรณีนี้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่าจะเลวร้ายขนาดไหน

 

สําหรับประเทศไทยเรานั้น ปัญหาไม่ได้รุนแรงเหมือนกับประเทศที่ยกตัวอย่างมา เพราะมี “บุญเก่า” ที่เทคโนแครตไทยยุคหลายทศวรรษก่อนวางโครงสร้างระบบการเงินการคลังของประเทศไว้ดี มีการวางรากฐานอุตสาหกรรมด้วยโครงการอีสต์เทิร์นซีบอร์ด

ถัดมายุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า และยุคการกระตุ้นธุรกิจเอสเอ็มจากหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลและกองทุนหมู่บ้าน

แต่ทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมาแทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอะไรเลย เมื่อก่อนไทยดึงดูดการลงทุนด้วยแรงงานราคาถูก แต่ปัจจุบันแรงงานประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนถูกกว่า

เมื่อก่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยโดดเด่นจนถูกขนานนามว่า “ดีทรอยต์” ตะวันออก แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนโฉมสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว ไทยพลาดโอกาสสร้างพื้นฐานดึงดูดอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมากระตุ้นด้วยการลดหย่อนภาษีผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากจะไม่มีการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ขณะนี้ยังต้องมาเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จ่อเข้ามาแล้ว

ที่สำคัญหัวหน้าทีมเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็น “ท่านนายพล” ที่ขาดความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ และมีความเชื่อใจหน่วยงานและบุคคลทางด้านความมั่นคง เห็นได้จากมอบหมายให้มาอำนวยงานการแพร่ระบาดโควิด-19 อำนวยงานวิกฤตพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องทางสาธารณสุข ทางเศรษฐกิจ

ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของโลกร้อนแรงมากขึ้นกว่านี้ รุนแรงมากขึ้นกว่านี้ จะเป็นยังไง •