ธุรกิจพอดีคำ : “สมอ”

อย่างที่หลายๆ ท่านพอทราบ

ผมเองเรียนจบ “วิศวะ” ตอนปริญญาตรีครับ

ที่ “จุฬาฯ” นี่เอง

เรียนสาขา “ปิโตรเลียม”

ไม่ใช่ “ปิโตรเคมี” นะครับ ไม่ได้ทำงาน “โรงกลั่นน้ำมัน”

วิศวะปิโตรเลียม เรียนเรื่องการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบใต้ดินครับ

เราหาว่า น้ำมันดิบสีดำๆ อยู่ตรงไหน

พอหาเจอก็เจาะหลุม ต่อท่อ ผลิตมันขึ้นมา

ถึงบนดินเมื่อไร ก็เป็นอันจบงานวิศวกรปิโตรเลียมครับ

เรียนจบปุ๊บ ผมก็เข้าทำงานเป็นวิศวกรแท่นเจาะน้ำมันเลย ที่บริษัทฝรั่งแห่งหนึ่ง

ทำงานทุกที่ในประเทศ ต่างประเทศ บริเวณที่ไม่ค่อยจะมีผู้คนอาศัยครับ

แต่ว่ามี “น้ำมันดิบ” นอนรออยู่ใต้ดิน

ป่าเขา ลำเนาไพร ทะเลทราย

หรือแม้แต่ “กลางทะเลอ่าวไทย”

อยากรู้ว่า ที่ทำงานของผมเป็นยังไง

ลองดูหนังเรื่อง “DeepWater Horizon” ได้

แบบนั้นเลยครับ

ไปอยู่สัปดาห์หนึ่งบ้าง เดือนหนึ่งบ้าง

กลับมาอยู่ฝั่ง กลับบ้าน สลับกันไปมาแบบนี้

ผมทำงาน “วิศวกรแท่นน้ำมัน” อยู่สองปี ก็ถึงจุดอิ่มตัวครับ ตัดสินใจ “ลาออก”

ตอนนั้นตัดสินใจว่า อยากทำงาน “สาขา” อื่นแล้ว

พี่ชายเอาหนังสือพิมพ์มาให้ดูว่า บริษัทน้ำมันสัญชาติไทย กำลังรับสมัครคนอยู่ ตำแหน่ง “นักวางแผนกลยุทธ์” หรือ Strategic Planning ครับ

พอสมัครไป ก็โชคดีที่เขารับเข้าทำงานเลย

ในทางทฤษฎีก็ถือว่า จบอาชีพ “วิศวกร” ของผมเลยก็ว่าได้

เรียนมา 4 ปี ทำงานวิศวกร 2 ปี เท่านั้นเอง

พอเข้าทำงานวันแรก ตอนนั้นจำได้แม่นเลยครับ

พี่ๆ เขากำลังยุ่งอยู่กับทำสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำ “แผนกลยุทธ์”

เขาเรียกมันว่า…

เมื่อสองวันก่อน ผมได้มีโอกาสสอนหนังสือน้องๆ ที่จุฬาฯ

เรื่อง “Design Thinking”

เราเรียนกันมาถึงส่วนที่หลายๆ คนสนใจ

นั่นคือ “การคิดนอกกรอบ”

ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Ideate” ครับ

คำนี้ถ้าไปเปิด “พจนานุกรม” หาไม่เจอนะครับ

มันเกิดจากคำสองคำรวมกัน

พอเดาออกใช่มั้ยครับ

Ideate = Idea (ความคิด) + Create (สร้าง)

การระดมสมอง หรือ คิดนอกกรอบ นั้น ต้องมีทักษะที่เรียกว่า “การสร้างความคิด” ครับ

“ลีนัส พอลลิ่ง (Linus Pauling)” นักเคมีชื่อดัง ผู้เคยได้รับรางวัล Nobel Prize ถึงสองครั้ง เคยบอกเอาไว้

“The best way to get a good idea is to have a lot of ideas”

(ถ้าคุณอยากมีความคิดที่ดีนะหรือ คุณต้องมีปริมาณความคิดที่เยอะก่อน)

ฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่ทำจริง “ท้าทาย” มากครับ

ผู้ใหญ่อย่างเราๆ กว่าจะคิดได้สัก “ความคิด” หนึ่ง

คิดทบทวน วนไปวนมาในหัว หลายตลบทีเดียว

พอได้โอกาสมาสอนน้องๆ ผมจึงต้องใช้ “เทคนิค” ครับ

“พี่อยากได้ 200 ไอเดีย ให้เวลา 20 นาทีนะ เริ่มได้เลย”

น้องๆ “เหวอ” ครับ

พี่ต้องจะบ้ารึเปล่า มันจะทำได้ยังไง นั่นมันนาทีละ 10 ไอเดียเลยนะ

ผมไม่สนใจ “พี่อยากได้ 200” ทำให้ได้

น้องๆ เห็นว่าผมเอาจริง เลยตั้งใจทำกันเต็มที่

ผมคอยเตือนตลอดว่า

“เหลืออีก 10 นาที ตอนนี้น่าจะได้ 100 ไอเดียแล้วนะ”

“เหลืออีก 5 นาที ตอนนี้น่าจะสัก 150 ละ”

“เหลืออีก 1 นาที ขออีก 10 ไอเดีย”

น้องๆ เครียดไปตามๆ กัน

สุดท้าย หมดเวลา มาลองนับกันดู

น้องๆ ก็ “ทำไม่ได้” ครับ

120 บ้าง 100 บ้าง 90 บ้าง

“ยากจังเลยพี่ต้อง” น้องๆ บอก

ผมยิ้ม แล้วบอกให้น้องๆ มองไปดูรอบๆ ห้อง

ไอเดีย “เยอะมาก” เลยน้องๆ ปรบมือให้ตัวเองหน่อย

น้องๆ งง

ผมถามต่อ “ถ้าพี่บอกว่า ขอสัก 30 ไอเดีย มีเวลาให้ 20 นาที มันจะง่ายกว่ามั้ย”

“ง่ายกว่าครับ” น้องๆ ตอบ

“แล้วมันจะมีทางได้เกิน 30 ไอเดียมั้ย” ผมถามต่อ

น้องๆ เริ่มเห็นภาพ และตอบพร้อมๆ กัน “ไม่น่าจะได้นะพี่”

“แต่นี่พวกเราทำได้เป็น 100 ไอเดียเลยนะ” ผมแหย่น้องๆ ต่อ

น้องคนเดิม สถานที่เดิม ทุกอย่างเหมือนเดิม

พี่พูดว่าจะเอา 200 น้องทำได้ 120 อาจจะรู้สึก “ล้มเหลว” เล็กน้อย

กับพี่พูดว่าจะเอา 30 น้องทำได้ 30 เต็ม แต่รู้สึก “สำเร็จ” ภูมิใจมากมาย

น้องจะเลือกแบบไหนล่ะ

นี่แหละเขาเรียกว่า “สมอเรือ (Anchoring Effect)”

ที่บริษัท “กูเกิล” เขาก็มีการ “ตั้งเป้าหมาย” เรียกกันว่า OKR ย่อมาจาก “Objectives and Key Results”

เขาบอกว่า การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้น ไม่ใช่ตั้งให้คนทุกคนในองค์กรทำได้ทั้งหมด “100%”

แต่ต้องตั้งเป้าให้ “ท้าทาย” จนสุดท้าย คนสามารถทำได้เพียงแค่ 70%

ยิ่งเป้าท้าทายมากเท่าไร ศักยภาพพนักงานก็จะถูก “ดึง” ออกมามากเท่านั้น

เทคนิคทาง “จิตวิทยา” เล็กๆ ที่มีผล “ยิ่งใหญ่”

สร้างบริษัทให้มีมูลค่า “หลายแสนล้าน” มาแล้ว

กลับมาที่ “บริษัท” ของผมเอง

สิ่งทีพี่ๆ กำลังทำอยู่ผมได้ยินครั้งแรก เรียกว่า “KPI”

ชื่อเต็ม “Key Performance Indicator”

เป็นการ “ตั้งเป้าหมาย” ชนิดหนึ่งเช่นกัน

ได้ยินเสียงแว่วออกมาจากอีกห้องหนึ่ง

“ปีนี้ เยี่ยมมากทุกคน บริษัทเราได้ KPI คะแนน 5 เต็ม 5 เลย”